Skip to main content
sharethis

วานนี้ (21 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) นำโดยนายสมชาย หอมลออ นางอังคณานีละไพจิตร และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครส.เข้าพบนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช.เพื่อยื่นหนังสือให้กำลังใจในการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสนับสนุนให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิด โดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ถูกแทรกแซงทางอำนาจ

อีกทั้ง เร่งรัดคดีที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างบรรทัดฐานแห่งความยุติธรรม เช่น คดีไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน คือ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร. กับพวก 10 คน ข้อหาเป็นพนักงานสอบสวนได้ร่วมกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดีปล้นปืนของกองพันทหารที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวพันถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังมีกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหาย ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. และคดีการอุ้มฆ่าเยาวชนและประชาชนหลายสิบคดีที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพบว่าหลายคดีผู้เสียหายและพยานถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง

ด้านนายวิชา กล่าวว่า กรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ละเลยปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเป็นหน้าที่ดูแลเรื่องการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ เพราะถ้ากรณีใดมีหลักฐานเบื้องต้น ก็จะตั้งกรรมการขึ้นไต่สวน ซึ่งหลายคดีก็เดินหน้าไปพอสมควร แม้ว่าจะมีอุปสรรคมาก แต่ก็พยายามทำต่อไป ป.ป.ช.ทำงานตามหน้าที่และจะทำอย่างสุดความสามารถ

 

 

 
ที่ (พิเศษ) / 2552
 
21 ตุลาคม 2552
 
เรื่อง ขอให้กำลังใจในการปฏิรูปงานตำรวจและเร่งรัดคดีสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างบรรทัดฐานแห่งความยุติธรรม
 
เรียน นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการ ป.ป.ช.ทุกท่าน
 
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน คือ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับพวก รวม 10 คน ในข้อหาเป็นพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาในคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้แก่ นายมะกะตา ฮารง นายสุกรี มะเม็ง นายอับดุลเลาะ อาบู คารี นายมะนาเซ มามะ และนายซูดือรือมัน มาและ เพื่อให้รับสารภาพ เหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสนั้น
 
เนื่องด้วยคดีนี้มีความเกี่ยวพันต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เชื่อมโยงถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากนโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยระบอบอำนาจนิยมโดยละเลยกระบวนการยุติธรรมในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่สังคมจะต้องร่วมกันตรวจสอบมูลเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ทั้งที่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาด และจากการกระทำโดยลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้การซ้อมและทรมานผู้ต้องหาดังกล่าว ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการบังคับให้นายสมชาย นีละไพจิตร สูญหาย ในคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 เนื่องเพราะวันที่ 11 มีนาคมนั้น นายสมชายได้ทำจดหมายร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากไปรับรู้ข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาทั้ง 5 คนว่า ถูกตำรวจชุดจับกุมซ้อม ทำร้ายร่างกาย และขู่บังคับให้รับสารภาพ ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ต.ตันหยง จังหวัดนราธิวาส และได้รับการยืนยันว่ามีนายตำรวจที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายและยืนดูด้วยทั้งหมด 10 คน ซึ่งมีตำรวจระดับสูงรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ
 
1. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ส่งสำนวนการสอบสวน คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน คือ นายมะ กะตา ฮารง นายสุกรี มะมิง นายมะนาแซ มามะ นายซูดีรือมัน มาเละ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาส ไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมี พันเอก ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นคดีต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร ด้วย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการ ป.ป.ช. และทราบว่าได้มีการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนกว่า 10 นาย ไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้วและอยู่ระหว่างการแก้ข้อกล่าวหา
 
นายมะกะตา ฮารง กับพวกทั้ง 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมร่วมกันทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ กัน และใช้ไฟช๊อตตามร่างกายหลายแห่ง เพื่อให้รับสารภาพว่าร่วมกันปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไร้มนุษยธรรม โดยมิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่ประการใด อีกทั้งได้กระทำการใดๆ อันเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้รับโทษทางอาญา เช่น
 
1. ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกใช้ผ้าผูกตาทั้งสองข้าง และถูกเตะบริเวณปากและใบหน้า ผลักให้ผู้ต้องหาที่ 1 ล้มลงและใช้เท้าเหยียบหน้า และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก ใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณลำตัวและบริเวณอวัยวะเพศถึง 3 ครั้ง
 
2. ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และเตะบริเวณลำตัว ใช้รองเท้าตบหน้าและบังคับให้นอนแล้วให้คนปัสสาวะรดหน้า
 
3. ผู้ต้องหาที่ 3 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ถูกเตะบริเวณลำตัวหลายแห่ง ใช้มือตบบริเวณกกหูทั้งสองข้าง ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เชือกมัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และใช้ไฟฟ้าช็อตตามลำตัวและหลัง
 
4. ผู้ต้องหาที่ 4 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง บีบคอ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง และใช้ไม้ตีด้านหลังจนศีรษะแตก ได้ใช้เชือกแขวนคอกับประตูห้องขัง ใช้มือทุบบริเวณลำตัวและได้ใช้ไฟฟ้าช็อตด้านหลัง
 
5. ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และถูกตบด้วยเท้าบริเวณหน้าและปาก ตบบริเวณกกหู ต่อยท้อง และใช้ไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง
 
นอกจากนั้นขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่อีกด้วยว่าหากกลับคำให้การในชั้นศาล ครอบครัวของพยานผู้เสียหายทั้ง 5 คน จะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ปรากฏว่าในคดีปล้นอาวุธปืน ฯ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ส่วนคดีพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ที่ผู้ต้องหาถูกกลั่นแกล้งเช่นเดียวกัน ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษายกฟ้อง นายมะนาแซ มามะ นายซูดีรือมัน มาเละ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ขณะนี้คงมีนายสุกรี มะมิง เท่านั้นที่ยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีพยายามฆ่าผู้อื่นฯ อยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ผู้เสียหายทั้ง 5 คน ล้วนมีความหวาดวิตกกังวลและหวาดกลัวต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างยิ่ง เกรงว่าตนเองและครอบครัวอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือถูกกลั่นแกล้งด้วยวิธีการต่างๆ นานาอีก จึงร้องขอรับการคุ้มครองพยานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระหว่างที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาของอนุกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนพยายามเข้าไปพบกับญาติของนายมะนาแซ มามะ นายซูดีรือมัน มาเละ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี เพื่อขอยุติคดี แต่ญาติของบุคคลดังกล่าวไม่ยินยอม
 
ในคดีนี้แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ส่งเรี่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการเป็นเวลาสองปีแล้ว แต่การไต่สวนยังไม่เสร็จ ทำให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่าน พลตำรวจตรี จักรทิพย์ ชัยจินดา จึงได้ยื่นฟ้องนายซูดีรือมัน มาเละ ซึ่งเป็นผู้ชี้ยืนยันตัว พลตำรวจโท ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา กับ พลตำรวจตรี จักรทิพย์ ชัยจินดา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาด้วย ต่อศาลอาญาในข้อหาแจ้งความเท็จ และมีการพยายามขอสำนวนจากป.ป.ช.ด้วย โดยศาลนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยผู้แทนพันเอกปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้ยื่นเรื่องขอเลื่อนคดีออกไปเนื่องเพราะเห็นว่า พยานอาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยและหรืออาจถูกคุกคามถึงชีวิตได้ ซึ่งศาลก็นัดไต่สวนใหม่เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ที่จะถึงนี้
 
ดังนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องเพราะคดีสิทธิมนุษยชนนที่มีความเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มักไม่มีความคืบหน้า หลายคดีผู้เสียหายและพยานยังถูกคุกคามกลั่นแกล้ง รวมทั้งคดีดังกล่าวข้างต้น จึงเรียนมายังท่าน เพื่อดำเนินการให้ ป.ป.ช.เร่งรัดการไต่สวนคดีดังกล่าวเพื่อสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม ก่อนที่จะสายเกินไป
 
2. ครส. ขอเรียนต่อไปว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังละเลยไม่นำพาต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นคดีการอุ้มฆ่าเยาวชนและประชาชนหลายสิบคดีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ คดีนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์บางคน จับกุมและต่อมาถึงแก่ความตาย จากการทำงานของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นเวลา 4 ปี สามารถสรุปผลและออกหมายเรียก เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์จำนวน 6 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ท. สำเภา อินดี พ.ต.ต. สุมิตร นันสถิตย์ พ.ต.อ. มนตรี ศรีบุญลือ และชั้นประทวน 3 นาย ได้แก่ ด.ต. อังคาร คำมูลนา ด.ต.สุดธินัน โนนทิง และ ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ มารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งสำนวนให้อัยการรับไปพิจารณาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา เช่นมีการรื้อค้นตู้เหล็กเก็บเอกสารและสำเนาสำนวนสอบสวนในยามวิกาล ภายในสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมถึงคดีการอุ้มหายนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ หายกลางโรงพักสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ภายหลังร้องเรียนปัญหาคอร์รัปชั่นและมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งคดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า ในการสืบสวนสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องดำเนินคดี เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดยังลอยนวลและอยู่ในอำนาจ จนพยานหลายรายในคดีตกอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามความปลอดภัยในชีวิตมาโดยตลอด
 
3. แม้ในคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันซ้อมผู้ต้องหาคดีปล้นปืน ที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการ ป.ป.ช. และคดีการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้มีการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 6 นายเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาร้ายแรงแล้ว แต่ทั้งสองคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้ดำเนินการทางวินัย หรือดำเนินการใดๆเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยกระทำการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการยุติธรรมแต่อย่าง ครส. จึงขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อให้มีการสั่งพักราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกกล่าวหาหรือตกเป็นจำเลย หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ลงโทษทางวินัย หรือสั่งให้ย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปอย่างได้ผล
 
 ครส. ขอเป็นกำลังใจและขอสนับสนุนให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีบทบาทในการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างจริงจัง โดยดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิด โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ถูกแทรกแซงทางอำนาจใดๆ และผลักดันแนวทางปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการซ้อม-ทรมาน การฆ่านอกระบบกฎหมาย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถมีบทบาทในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเพื่อสร้างองค์กรตำรวจให้เป็นต้นธารของความยุติธรรมอย่างแท้จริง
 
ครส. เห็นว่า ป.ป.ช. ยังคงเป็นความหวังของประชาชนที่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้ จึงขอสนับสนุนและขอให้กำลังใจในการทำงานของ ป.ป.ช. อย่างเต็มที่ เนื่องเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันถึงเจ้าหน้าที่แห่งรัฐระดับสูง และผลพวงดังกล่าวทำให้เกิดการคุกคามสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก โดยที่กฏหมายไม่สามารถเอาผิดได้ด้วยการถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
 
                                                ขอแสดงความนับถือ
 
 
                                     (นายสมชาย หอมลออ)
                         ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net