Skip to main content
sharethis

หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน และป้องกันผลกระทบต่อประชาชนรวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะประกอบการอุตสาหกรรม”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ร่วมกับกลุ่มพลังไท เครือข่ายจับตานิวเคลียร์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์เปิดผนึก คัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับดังกล่าวและร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 13 ต.ค. 2552

โดยแถลงการณ์ฯ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ บังคับใช้โดยที่ไม่มีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติฉบับใดให้อำนาจแก่กระทรวงอุตสาหกรรมในการออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ได้ ประกาศกระทรวงฉบับนี้จึงเป็นประกาศกระทรวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ยังเป็นประกาศกระทรวงที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลและไม่อาจทำให้เจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนตามรัฐธรรมนูญบรรลุผลได้ เพราะไม่มีการดำเนินการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านก่อน

ขณะที่แถลงการณ์ระบุด้วยว่า รัฐบาลเพิกเฉยและมิได้ดำเนินการเสนอร่างกฎหมายตามที่คณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจัดทำไว้ โดยผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในทางตรงกันข้ามกลับรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติบางคน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ แถลงการณ์เปิดผนึกได้ระบุข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว และไม่นำประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ไปเป็นข้ออ้างในการอนุมัติ อนุญาตโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ

รวมถึงให้รัฐบาลยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. (การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และเร่งดำเนินการนำร่างองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ.... ที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับจากคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้เป็นกฎหมายโดยเร่งด่วน เพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง

 

แถลงการณ์เปิดผนึก
ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 15 ตุลาคม 2552

คัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง
โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรม
ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
และ
ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ฉบับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 13 ต.ค. 2552

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อประเภท กิจการที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงตามหลักการมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยอ้างว่า “เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน และป้องกันผลกระทบต่อประชาชนรวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะประกอบการ อุตสาหกรรม”

องค์กรภาคประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ มีความเห็นต่อประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวด ล้อมที่ดีของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชนและชุมชน

2. เพื่อเป็นการประกันให้สิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน เป็นจริง รัฐธรรมนูญมาตรา 67 ได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญไว้ว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ กระดำเนินการไม่ได้เว้นแต่ ได้ดำเนินการตามกลไกที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งให้มีองค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ

3. การที่สิทธิตามข้อ 1 และหลักประกันตามข้อ 2 จะบรรลุผลได้นั้น สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดคือ โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะ ดำเนินการได้

4. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้

4.1 ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ประกาศออกมาบังคับใช้โดยที่ไม่มีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติฉบับใดให้ อำนาจแก่กระทรวงอุตสาหกรรมในการออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ได้ ประกาศกระทรวงฉบับนี้จึงเป็นประกาศกระทรวงที่ออกโดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ตาม กฎหมาย จึงเป็นประกาศกระทรวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4.2 ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้เป็นประกาศกระทรวงที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลและไม่อาจทำให้เจตนารมณ์ ในการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนตามรัฐ ธรรมนูญบรรลุผลได้ เพราะ การกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิชาการและต้องมีรับฟัง ความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านก่อน แต่การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม กลับไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มี ส่วนได้เสียอย่างรอบด้านก่อนแต่อย่างใด ส่งผลให้ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง ร้ายแรงจำนวนมาก เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตซ ในจังหวัดอุดรธานี โครงการโรงถลุงเหล็ก ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ ในจังหวัดสระบุรี โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ในจังหวัดระยอง และโครงการเหมืองทองคำ ในจังหวัดพิจิตร เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่โครงการเหล่านี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อ ชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งนี้โดยไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักมารองรับ ผลของประกาศกระทรวงฉบับนี้จึงไม่อาจทำให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญใน การคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นประกาศกระทรวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งเป็นประกาศที่เป็นเสมือนใบอนุญาตให้มีการทำลายชุมชนและทรัพยากร ธรรมชาตินั่นเอง

5. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. (กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 มีหลักการและเนื้อหาที่จะส่งผลให้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนไม่สามารถ บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ ในสาระสำคัญ กล่าวคือ ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น ผู้มีอำนาจกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง โดยทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่มีอำนาจ อนุมัติอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรง และอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นอาจเกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่ต้องการให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องมีองค์ประกอบและความ เป็นอิสระในการดำเนินการขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญมาตรา 67 ได้ ซึ่งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ ได้จัดทำร่างกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับหลักความเป็นอิสระดังกล่าวไว้แล้วโดยการ มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยและมิได้ดำเนินการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาแต่ อย่างใด มิหนำซ้ำในทางตรงกันข้ามกลับรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการในกระทรวง อุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติบางคน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยไม่นำพาต่อความเห็นของประชาชนภาคส่วนอื่นที่ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมาย องค์การอิสระและสุขภาพ
 

ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. ให้รัฐบาลยกเลิกประกาศกระทรวง เรื่อง โครงการหรือกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ฉบับวันที่
14 กันยายน 2552 และไม่นำประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ไปเป็นข้ออ้างในการอนุมัติ อนุญาตโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ

2. ให้รัฐบาลยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. (การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

3. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ.... ที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับจากคณะกรรมการศึกษาและ ยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้เป็น กฎหมายภายในสมัยประชุมนิติบัญญัติพระราชบัญญัติโดยเร่งด่วนต่อไป เพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดชนิดหรือประเภทของโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ที่มาจากฐานความรู้ทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย อย่างรอบด้าน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีสิทธิร้องขอให้มีการแก้ไขเปลี่ยน แปลงการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรงเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลไปได้ และให้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นต่อโครงการหรือกิจกรรมฯ ก่อนที่โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวจะดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง โดยพิจารณาจากร่างที่มีการจัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวตั้ง

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
กลุ่มพลังไท
เครือข่ายจับตานิวเคลียร์
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net