Skip to main content
sharethis

วานนี้ (3 ก.ค.52) เวลา 10.00 – 12.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “โฉนดชุมชนกับการแก้ไขปัญหาที่ดินในสังคมไทย” ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยวิทยากรประกอบด้วย นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) นายเหมราช ลบหนองบัว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน นางกันยา ปันกิตติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และนายสุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

“โฉนดชุมชน” การปฏิรูปที่ดินเพื่อความมั่นคงของเกษตรกร

นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของรัฐที่ผ่านมาว่า นโยบายปฏิรูปที่ดินมีมาตั้งแต่ปี 2518 ด้วยแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีที่ดินทำกิน แต่ระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือที่ดินไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร เนื่องจากปัญหาต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรที่สูง ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินอยู่ตลอดเวลา โดยมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ความล้มเหลวในการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร และการที่ที่ดินกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ที่โตวันโตคืน

นายไพโรจน์ กล่าวต่อมาว่า นโยบายที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นการกระจายการถือครองที่ดินเป็นรายๆ เพื่อให้เกษตรกรมีที่ทำกิน แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินได้ เพราะความมั่นคงในที่ดินไม่มี แต่การจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่ให้ชุมชนถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน และเข้าใช้ประโยชน์ร่วมในที่ดินแบบแยกแปลง โดยมีการวางกติกา มีแผนการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ให้ที่ดินไม่สามารถขายได้ ถ้าขายก็ขายให้กับชุมชน หรือสมาชิกคนไหนจะปลูกพืชชนิดใดต้องนำเสนอและได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มเสียก่อน

โฉนดชุมชนมีหลักการสำคัญคือ การให้สิทธิ์ชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน ตัดสินใจร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายการถือครองโดยการใช้ประโยชน์ที่เป็นจริง และเป็นหลักประกันว่าที่ดินจะไม่หลุดมือจากเกษตรกร ช่วยปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งป้องกันปัญหาการลงทุนกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและการกระจุกตัวในที่ดิน ในส่วนข้อแตกต่างกับโฉนดทั่วไป คือ โฉนดชุมชนมีการคิด เข้าใจ สร้างร่วมกัน ที่สำคัญคือต้องมีพลังรวมหมู่ ซึ่งจะเป็นพลังต่อรองกับอำนาจต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ณ ตอนนี้ การจัดการที่ดินในลักษณะของโฉนดชุมชน ยังไม่มีรูปแบบการจัดการที่ชัดเจน เนื่องจากแต่ละชุมชนยังอยู่ในช่วงของการทดลองหาแนวทางที่สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองให้มากที่สุด แต่ประเด็นสำคัญ คำว่าโฉนดชุมชนไม่ได้อยู่ที่การออกเอกสารรับรองสิทธิ์แบบโฉนดที่ดินที่มีตราครุฑทั่วไป เนื่องจากความหมายที่แท้จริงของโฉนดชุมชนคือ คนในชุมชนต้องมีสำนึกร่วมที่จะวางแผนบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน

“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เอกสาร ความหมายของโฉนดชุมชนไม่ใช่ใบๆ แต่ให้ชุมชนมีจิตสำนึกร่วม ร่วมกันคิดและร่วมกันดูแลจัดการผืนดินรวมไปถึงทรัพยากรต่างๆ ทั้งดิน น้ำ ป่า อย่างนี้ถึงจะยั่งยืน” นายไพโรจน์กล่าว พร้อมย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องโฉนดชุมชนอยู่ที่การจะปฏิบัติจริงของชาวบ้านเอง

บทเรียน 2 ปี โฉนดชุมชนพื้นที่ “ทุ่งซำเสี้ยว” บทเรียนการพึงตัวเองของประชาชน

นายเหมราช ลบหนองบัว นำเสนอบทเรียน 2 ปี ของการทำโฉนดชุมชนบ้านทุ่งซำเสี้ยว ต.สระโพนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ว่า ชุมชนทุ่งซำเสี้ยว มีปัญหากรณีการประกาศเขตที่สาธารณประโยชน์ทับที่ราษฎร พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 กว่าไร่ โดยชุมชนได้ต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินทำกินตั้งแต่ปี 2475 ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการ แนวทางการต่อสู้หลากหลายรูปแบบ ได้เรียนรู้ว่าการต่อสู้แบบหวังพึ่งบุคคลภายนอกให้มาช่วยแก้ไขปัญหาให้นั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้จริง หลายครั้งยังพบว่า นอกจากบุคคลภายนอกไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้แล้วกลับสร้างปัญหาให้กับชุมชนหนักขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงสรุปร่วมกันว่า ปัญหาของชุมชน ชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ไขเอง

นายเหมราชเล่าต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้ ชุมชนทุ่งซำเสี้ยวได้จัดเวทีในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การการทำโฉนดชุมชนกับชุมชนบ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้กลุ่มชาวบ้านได้กลับมานั่งคุยแลกเปลี่ยนถึงคำนำยามของคำว่าโฉนดชุมชน และเริ่มลงมือปฏิบัติการ “โฉนดชุมชนทุ่งทุ่งซำเสี้ยว” อย่างจริงจัง จนทุกวันนี้โฉนดชุมชนทุ่งซำเสี้ยวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ

จากประสบการณ์การต่อสู้ร่วม 80 ปี สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นผลพวงจากการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน คือ กลุ่มชาวบ้านมีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด กล้าที่จะลุกขึ้นพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ กล้าที่จะเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อพบความไม่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ เช่น กรณีโครงการกำจัดขยะของจังหวัดชัยภูมิ ได้มีการเสนอให้เทศบาลตำบลสระโพนทอง นำที่ดินบางส่วนในบริเวณพื้นที่ทุ่งซำเสี้ยวมาทำเป็นที่ทิ้งขยะ แต่กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงเข้าแสดงตน พร้อมทั้งอ้างสิทธิ์ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของชุมชนบ้านทุ่งซำเสี้ยว คนข้างนอกไม่มีสิทธิ์เข้าทำอะไรได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากชุมชน วิธีการที่ใช้ในตอนนั้นคือ การเข้าไปพูดคุยและเจรจากับนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพัฒนาการดังกล่าว

“ต้นทุนการต่อสู้ที่ยาวนานทำให้ทุกคนเห็นว่าที่ดินแบ่งแปลงของใครของมันที่ยังสามารถทำประโยชน์อยู่ได้ ไม่ใช่เพราะเป็นมรดกที่พ่อแม่ให้มาอย่างเดียว สิ่งที่ทำให้สิทธินั้นคงอยู่เพราะการร่วงกันต่อสู้ของคนในชุมชน ชุมชนร่วมกันให้ได้มา” นายเหมราชบอกเล่าความรู้สึกในฐานะคนในพื้นที่ซึ่งร่วมต่อสู่เพื่อสิทธิในการทำอยู่ทำกินของชุมชนทุ่งซำเสี้ยว

ในเรื่องโฉนดชุมชน นายเหมราชกล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนทุ่งซำเสี้ยวได้พยายามที่จะทำให้สิทธิในที่ดินทำกินของชุมชนให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น กล่าวคือ การทำให้โฉนดชุมชนมีความชัดเจนมากขึ้น มีระบบการจัดการที่ดินแบบองค์รวม ทุกคนในชุมชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งหลักการดังกล่าวแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโฉนดที่ดินของทางราชการ ในส่วนของระบบการผลิต ชุมชนได้มีการพูดคุยถึงแผนการจัดการที่ดิน ค้นหาวิธีการทำการผลิตในรูปแบบที่จะทำให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้ รวมถึงวิธีการผลิตที่ช่วยลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดค่อนข้างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าโฉนดชุมชนคือคำตอบ คือทางออกที่สามารถแก้ปัญหาที่ดินหลุดมือจากชุมชนได้

รายงานผล คณะทำงานร่วมรัฐบาล-เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เรื่องโฉนดชุมชนคืบ เตรียมทำพื้นที่นำร่อง
 
นางกันยา ปันกิตติ กล่าวถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลว่า ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลได้มีการทำงานจริง โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่บ้านทับเขือ ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง รวมทั้งที่บ้านคลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อตรวจสอบสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้เสนอให้จัดทำเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนแล้ว และรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระจายพื้นที่อย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ในส่วนคณะอนุกรรมการที่ดูเรื่องแนวนโยบายการถือครองที่ดินและโฉนดชุมชน (คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน) ก็มีความก้าวหน้าในการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา

ส่วนปัญหาจากการดำเนินงานที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ไปไหน ชาวบ้านยังติดคดีเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง โดยยังคงใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา เช่นในกรณีการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกิน ก็ยังคงยึดมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ นอกจากนี้ชาวบ้านยังคงถูกจับกุม เฉพาะกรณีชาวบ้านในเขตเทือกเขาบรรทัด มีผู้ถูกจับกุมจำนวนถึง 70 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากและยังไม่ได้นับรวมชาวบ้านที่ถูกจับกุมในภาคอื่นๆ

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ หนุนภาษีที่ดินก้าวหน้า พร้อมแบ่ง 2 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินทุนแก้ปัญหาที่ดิน

ด้านนายสุรพล สงฆ์รักษ์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะทำงานศึกษาโครงสร้างระบบภาษีที่ดิน มาตรการการเงินการคลังและแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ ประการแรก รัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างจริงจัง เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น ประการที่สอง การจัดเก็บภาษีที่ดิน ควรจัดเก็บภาษีกับที่ดินที่ผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ทำประโยชน์ ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าเป็นเวลานานในอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีที่ดินที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ประการที่สาม ควรมีการยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่มีที่ดินถือครองในมูลค่าน้อยหรือเกษตรกรที่ยากจน เพื่อไม่ให้ภาระภาษีตกแก่กลุ่มคนที่มีฐานะยากจนและต้องอาศัยที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตเพื่อดำรงชีพ

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างแท้จริง ควรมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน แต่ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาว่าขนาดการถือครองที่ดินที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ในแต่ละประเภทควรจะเป็นเท่าไร จึงจะสามารถกำหนดอัตราภาษีแบบก้าวหน้าได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ในเรื่องธนาคารที่ดิน นายสุรพล กล่าวว่า ธนาคารที่ดิน คือมาตรกรที่เสนอควบคู่มากับการปฏิรูปที่ดิน เป็นกลไกกลางในการจัดการที่ดินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รัฐต้องสร้างกลไกตัวนี้ขึ้นมา โดยให้ธนาคารที่ดินมีรายรับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 2 เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับจัดตั้งและบริหารจัดการของธนาคารที่ดิน เพื่อใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยต่อไป

นายสุรพลทิ้งท้ายว่า พื้นที่ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยจำนวน 40 พื้นที่ จะมีการนำเสนอนายกรัฐมนตรีในช่วงเย็นของวันนี้ (16.00 น.) รัฐบาลต้องมีการรองรับสิทธิของชุมชนเหล่านี้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้ได้ปฏิบัติการและเดินตามแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนอย่างแท้จริง
 

 

ที่มา: http://blogazine.prachatai.com/user/ontheland/post/2279

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net