Skip to main content
sharethis
  • รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีย์ ชุดสื่อพลเมือง-ทางเลือกภายใต้การคุกคาม (Alternative and Thai citizen media under threat) เป็นหนึ่งในซีรีส์ของโครงการวารศาสตร์ที่สร้างสะพานหรือ Journalism that Builds Bridges โดยผู้เขียนเป็นผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการจาก Lanner
  • ชวนคุยกับสื่อทางเลือกอย่าง Lanner นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจการฟ้องปิดปากทั้งโดยกฎหมายหมิ่นประมาท ม.112 และ ม.116 ในพื้นที่ภาคเหนือจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการปกป้องฐานทรัพยากร

รู้ทัน SLAPP หยุดฮับความจริง

"SLAPP" การฟ้องปิดปากหรือฟ้องกลั่นแกล้ง ดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือ Strategic Litigation against Public Participation จากคู่มือ ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ที่เผยแพร่เมื่อ ก.ย. 2565 อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ฟ้องคดีประกอบด้วยกลุ่มทุนรือบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วยบุคคลใดๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยรวมถึงผู้ที่ดำรงสถานะเป็นนักข่าวโดยไม่คำนึงว่าได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการหรือไม่ ส่วนการฟ้องนั้นไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา โดยมีมูลเหตุการถูกฟ้องคดีเกิดจาการใช้สิทธิเพื่อปกป้องประโยชน์หรือข้อห่วงกังวลสาธารณะ

ซึ่งคดีรูปแบบนี้มักจะเกิดเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะของรัฐ หรือกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้าไปพัวพันกับท้องถิ่นต่างๆ ฉะนั้น SLAPP ไม่ใช่คำใหม่ แต่เป็นคำเดิมที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ใหม่และใช้ง่ายที่สุดมาโดยตลอด (แถมยังไม่มีท่าทีจะลดลงด้วย) ปัจจุบันยังพบว่าเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือพุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียอ้างอิงจากเวทีแนวทางการจัดการกับ SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความท้าทายและบทเรียนที่ได้รับ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมาที่องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย[1]   นอกจากนี้ SLAPP ไม่เพียงแต่นำมาใช้ในมาตราฐานหมิ่นประมาทเพียงอย่างเดียว เพราะได้มีการนำไปขยายผลพวงคดีทางการเมืองด้วยเช่นกัน 

ที่มา: ภาพและข้อมูล ของ Pochoy Labog – BHRRC

โดยในเวทีแนวทางการจัดการกับ SLAPP ดังกล่าว Pochoy Labog นักวิจัย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้แทนศูนย์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2566 พบว่ามีคดีความถึง 437 คดี โดยที่เป็นคดี SLAPP เกี่ยวข้องกับธุรกิจ จำนวนถึง 146 คดี โดยสถิติปัจจุบันจำนวนคดี SLAPP ในเอเชีย-แปซิฟิก พบว่าประเทศไทยมีจำนวนมากที่สุด (51 กรณี) รองลงมาคือประเทศกัมพูชา (28 กรณี) และประเทศอินเดีย (16 กรณี) ที่เกิดจากการฟ้องปิดปากทั้งสิ้นนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งปัจจุบันตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจได้หมดวาระลงแล้ว ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของชาวบ้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการที่ออกมาคัดค้านหรือนำเสนอข้อมูลในประเด็นต่างๆ[2] 

 

 

ภาพลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ลงพื้นที่บ้านเบอกะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2562

ยกตัวอย่างทางภาคเหนือกับการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา เช่น เดือน พ.ย.2562 นักวิชาการอิสระ และกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวม 7 คน ถูกบริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ภายหลังเผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้จากการลงพื้นที่บ้านเบอกะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ กรณีหากมีการสร้างเหมืองถ่านหินในพื้นที่ และฟังความวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ แม้ภายหลังคดีฟ้องหมิ่นประมาทดังกล่าวตำรวจมีความเห็นไม่ส่งฟ้องก็ตาม

ขณะที่คดีที่ประชาชนในพื้นที่การฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานกำรวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัทเอกชนแห่งนั้น[3] ซึ่งปัจจุบันคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส. 1/2565 ยังคงอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดๆ ออกมา ส่วน ก.ค.2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทำ EIA โครงการนี้ ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเสนอหน่วยงานทบทวนด้วย

ความน่ากังวล คือการออกหมายจะกระทบถึงทีมงาน

ภาพกิจกรรม“คณะก่อการล้านนาใหม่” ได้จัดงานเสวนา "แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ" ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2566 (ที่มาภาพเพจ neo Lana)

หรือกรณีของ วันที่ 24 มิ.ย.2566 “คณะก่อการล้านนาใหม่” ได้จัดงานเสวนา "แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ" ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ พลตรีสันติ สุขป้อม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจให้ ร้อยเอกกิตติศักดิ์ ศิริภาพ เข้าแจ้งความกับ สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ดำเนินคดีกับชาติชาย ธรรมโม, วัชรภัทร ธรรมจักร, ธีราภรณ์ พุดทะสี, เบญจภัทร (สงวนนามสกุล) รวมทั้งเพจเฟซบุ๊กชื่อ Lanner และเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ NEO LANNA โดยระบุข้อหา ม.116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และ พ.ร.บ.ชุมนุม

โดย วัชรพล นาคเกษม (นุ๊ก) บ.ก. Lanner เล่าว่า จากคดีความที่ปรากฏในข่าวผู้ที่ได้รับคำสั่งจากหมายศาลมีด้วยกัน 4 คน คือบุคคลที่ออกไปปราศรัยในวงเสวนาและขบวนการอื่นๆ ซึ่งในงานไม่มีใครพูดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน[4] ส่วน Lanner ยังไม่ได้รับหมาย แต่โดน พรบ.คอมฯ และ มาตรา 116 ร่วมด้วย

“เขาคิดว่า Lanner และกลุ่มผู้ขึ้นไปปราศรัยคือขบวนการเดียวกัน เลยฟ้องด้วยกันไปเลย ไม่แน่ใจว่าเขามองว่า Lanner เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวหรือว่าเป็นสื่อมวลชน ตอนที่เขาฟ้อง แต่กลายเป็นว่า Lanner ก็โดนไปด้วย” บ.ก. Lanner กล่าว

วัชรพล นาคเกษม (นุ๊ก) บ.ก. Lanner 

วัชรพล ประเมินว่า หมายศาลที่จะออกคนที่จะโดนคือ ตนเอง ในฐานะของบรรณาธิการ แต่ความน่ากังวลของการฟ้องร้องครั้งนี้อาจจะรวมไปถึงการออกหมายจับบุคคลที่กำลังถ่ายทอดสด Live ข่าวด้วย ซึ่งทีมงานที่ออกไปทำหน้าที่ถ่ายทอดสด Live ข่าวไม่ได้อยู่ในสังกัดของกองบรรณาธิการหลัก รวมไปถึงในวันที่เกิดเหตุ Lanner ได้จัดกระบวนการ Workshop (การประชุมเชิงปฏิบัติการ) อยู่ กรณีดังกล่าวจึงเกิดความไม่ชัดเจน[5] ซึ่งในช่วงที่ประเมินผลกระทบหากถูกฟ้องก็จะชวนสื่อมวลชนมาร่วมผลักดันทำแถลงการณ์ทำให้เป็นเคลื่อนไหว(Movement)เพื่อบอกว่า “สื่อภาคประชาชนหรือว่าสื่อมวลชน แม่งเป็นคนถูกคุกคาม” ในลักษณะแบบนี้ แต่พอหลังจากนั้นมาเรื่องก็เงียบ แล้วอยู่ๆ ศูนย์ทนายความก็แจ้งว่าจะโดนหมายออกมา

เพราะไม่รู้ว่าจะพุ่งเป้าไปที่ใคร มันเหมือนการปล่อยให้ต้องรอ

“พอเราไม่รู้ว่ามันจะเป็นใคร จะพุ่งเป้าหรือเล่นไปที่ใคร มันเหมือนแบบกับปล่อยเวลาให้เราต้องรอ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีท่าทีกับเรายังไงต่อ มันเหมือนกับเป็นการปล่อยให้เราอ้างว้างในมหาสมุทร” วัชรพล กล่าวถึงผลกระทบ พร้อมมองว่าทำให้ต้องตั้งรับและประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาว่าจะเอายังไงกับกรณีนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ 

การวิพากษ์วิจารณ์เป็น ‘สิทธิ’ โดยชอบธรรมของประชาชน

สุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน

 สุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวถึง คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่เขาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม คือ คดีเหมืองแร่ป่าอมก๋อย จังหวัด เชียงใหม่ ปี 2562 โดยว่าความให้กับนักศึกษา และชาวบ้านที่ได้ออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งปัจจุบันขั้นตอนสอบสวนก็เข้าไปให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมยื่นหลักฐาน ยื่นคำให้การต่อสู้ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท สิทธิการวิพากษ์วิจารณ์โครงการที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิ์ที่สามารถวิจารณ์ตามคลองธรรม เพราะเราให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท 

 

ที่มา: ศาลปกครอง

ปัญหามันคือแค่คำว่า “น่าจะ”

ในแง่ของข้อกฎหมาย สุมิชัย กล่าวว่า มาตรา 326 มาตรา 327 และมาตรา 328 เป็นกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนบุคคล (protect privacy) ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายข้อนี้คือ ไม่ต้องการให้เกิดการใส่ความกัน แต่ตัวบทข้อกฎหมายเขียนคลุมเครือบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 326 ว่าด้วย ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง ปัญหามันอยู่ที่คำว่า “น่าจะ” ในสุดท้ายการตีความของศาล ไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายแค่น่าจะเสียหาย ถือเป็นความผิด สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหายใด 

“ในกรณีข้อยกเว้น กฎหมายก็มีบทยกเว้นโทษให้ ในมาตรา 329 ที่ว่าถ้าเป็นเรื่องการติชมเพื่อความเป็นธรรม ติชมตามคลองธรรม สื่อ ประชาชนทั่วไปสามารถมีสิทธิ์ที่จะติชมได้อะไรได้ วิจารณ์ได้เป็นเหตุให้ยกเว้นโทษได้” นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าว

มันไม่ใช่แค่ว่าเราจะได้อะไรจากการเสียสละของพวกเขา แต่คือเราจะเสียอะไรไปต่างหาก

 

พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวถึง การพยายามปิดปาก มักถูกนำมาใช้กับประเด็นเรื่องที่ดิน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบอันดับแรกๆ คือ ชาวบ้าน/คนในชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ ที่ต้องดิ้นรนต้องสู้ให้ได้สิทธิ์คืนจากโครงการพัฒนาฯ ของรัฐ ภาคเอกชน หรือกลุ่มนายทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนในชุมชนแทบไม่มีอำนาจในการสื่อสาร ทั้งที่จริงสังคมควรจะรับฟังคนกลุ่มนี้ก่อน ซึ่งในการทำงานเชิงสื่อสารในพื้นที่ กลายเป็นจะต้องได้รับความเสี่ยง ในการที่ต้องคอยรับมือกับความไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับการปกป้อง เพราะส่วนตัวแล้ว พชร ก็เคยมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน

“เรื่องมันเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง กรณีที่ชุมชนกำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อุทยานในเรื่องของการเข้าไปยึดไม้ ที่เป็นไม้จากป่าชุมชนออกมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นความชอบธรรมของเขา แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปดำเนินคดีชาวบ้าน ก็พาสื่อกันมาลงพื้นที่ PR เต็มไปหมด ข่าวล้วนเป็นการให้ร้ายชาวบ้านทั้งสิ้น ผมรู้สึกว่าสถานการณ์มันไม่ดีก็เลยเข้าไปพื้นที่ แล้วเราก็สื่อสารในมุมของชาวบ้านออกมา แล้วเจ้าหน้าที่ก็มาข่มขู่ให้ผมลบ ไม่อย่างนั้นจะฟ้อง เราก็เลยได้แต่ตั้งคำถาม แต่ทางฝ่ายนั้นกลับพยายามใช้ช่องทางสื่อในการสื่อสารโจมตีชาวบ้าน แล้วทำไมถึงมาข่มขู่กัน เราไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการตามสิทธิ์ของเราหรือ?” ก็จะเห็นว่ามันเป็นการพยายามทําให้เรื่องราวในพื้นที่ไม่ได้ถูกสื่อสารออกมา ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่มีความจําเป็นต่อทั้งคนในชุมชนและประชาชนในสังคมด้วย ที่จะได้รู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ว่ามันมันเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ตรงนั้น แล้วก็สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่แค่ว่า “เราจะได้อะไรจากการเสียสละของพวกเขา แต่คือเราจะเสียอะไรไปต่างหาก” จากการที่กดดันให้ชุมชนหนึ่งจะต้องเสียที่ดินหรือว่าถูกบีบให้ต้องรับโครงการพัฒนา

ก่อน - หลัง เปลี่ยน ครม. สถานการณ์ฟ้องปิดปาก ยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง

พชร กล่าวว่า ช่วงหลังการทำรัฐประหารปี 2557 เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงกับการขยายตัวของโครงการ กฎหมายการฟ้องร้องปิดปาก จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโดยเอกชน รัฐ และนายทุนในโครงการต่างๆ เพื่อใช้ในจัดการกับชาวบ้านในช่วงเวลาขณะนั้น หลังจากมีรัฐบาลใหม่ ภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็น สื่อสาร มีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก็ตาม แต่ภาพรวมสถานการณ์ของการฟ้องร้องลักษณะนี้ ก็ยังไม่ลดลงหรือหายไป ซึ่งจริงๆ แล้ว หน้าตาของ ครม. ชุดที่ผ่านมาได้มีการเซ็นอนุมัติโครงการพัฒนาไปเยอะมาก ในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วผ่านออกมาเป็นมติ ครม. หลังยุบสภาเพียงไม่กี่วัน แล้วจึงเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ฉะนั้นเรายังคงต้องสู้กับโครงการพวกนี้ต่อ และเมื่อมองนโยบายของพรรคเพื่อไทย ก็มีท่าทีที่จะสานต่อโครงการพัฒนาเหล่านี้ จากการมอบหมายให้ ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นคนดูแลเรื่องการจัดน้ำ ซึ่งพูดตรงๆ ว่า คุณปลอดประสบ ถือว่าเป็นคู่พิพาทกับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ฐานทรัพยากรมาอย่างยาวนานแล้ว เราฟันธงได้เลยว่านโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยหลังจากนี้ ก็จะเอื้อกลุ่มทุนและโครงการต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเราก็จะต้องสู้กันต่อไปอย่างหนักหน่วงหลังจากนี้

112 + 116 = SLAPP 

นัทมน คงเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และคณบดีคณะนิติศาสตร์

นัทมน คงเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึง คดีการฟ้องร้องเพื่อปิดปาก ที่นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พบว่า การฟ้องปิดปากแต่เดิมโดนนำมาใช้ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร แรงงาน ฯลฯ  แต่ในช่วงหลังจากรัฐประหาร 2557 คดีฟ้องปิดปากยิ่งฟ้องเพิ่มขึ้น เพราะถูกนำมาใช้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองพ่วงมาด้วย ซึ่งมีความคาบเกี่ยวเนื่องกันระหว่างมาตรา 112 และมาตรา 116 เพื่อปิดปากไม่ให้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การฟ้องปิดปากจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นมา ในปี 2562 ได้มีการแก้ไขประมวลวิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) มาตรา 161/1 หรือที่เราเรียกว่ามาตรการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อที่สามารถให้ศาลสามารถยกฟ้องได้ทันที ถ้าหากเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริต ซึ่งก็จะมีช่องโหว่อยู่บ้างที่แม้กฏหมาย จะมองว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต แต่ในแง่ของศาลก็จะระมัดระวัง ไม่กล้าที่จะยกฟ้องทันที ยังต้องมีการไต่สวนอยู่ ซึ่งปัญหาคือกว่าจะพิสูจน์ไปจนถึงได้ว่าจำเลยแสดง ความคิดเห็นโดยสุจริต มันก็สร้างภาระให้อย่างมากเสียแล้ว และช่องโหว่ที่ชวนสังเกตว่า ในส่วนของคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องปิดปากนั้น สื่อ ประชาชน นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการเหล่านี้ มักจะถูกเล่นโดยอีกฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นมาฟ้อง ฝ่ายที่ฟ้องอาจจะเป็นกลุ่มทุนหรืออาจจะเป็นคนทั่วไป แต่ทว่าคดี 112 จริงๆ ผู้เสียหายไม่ใช่คนฟ้อง ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย อยู่ๆ ก็หยิบขึ้นมาฟ้องได้ ซึ่งมันง่ายมากที่จะถูกนำมาใช้ปิดปาก

หากยังไม่เปลี่ยนโครงสร้างที่บิดเบี้ยว การปกป้องสื่อ ประชาชน นักวิชาการก็ยังยาก

นันทมน ชวนให้สังเกตว่า หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา การฟ้องปิดปากยังคงเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อมูลสถิติอ้างอิง แต่ทว่าเราที่พึ่งมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนั้น หน้าตาก็ไม่ต่างจากเดิม เงาของ คสช. ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่รัฐบาลชุดใหม่แค่สลับเก้าอี้ไปมาเท่านั้น ตนจึงไม่สู้ที่จะแน่ใจได้ว่า ภาพของการฟ้องร้องเพื่อปิดปากในรัฐบาลชุดนี้จะหมดไป ถ้าคณะทำงานยังเหมือนเดิม โครงสร้างเดิม เพราะว่าในโครงสร้างสังคม ณ ปัจจุบัน มันคือจุดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น กลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจผูกขาดประกอบกับการเข้ามาของผู้มีอำนาจที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ ทหาร ทั้งในวุฒิสภา และ สมาชิสภาผู้แทน ในแง่ของการแก้โครงสร้าง ณ วันนี้เรายังไม่ได้แก้จุดนั้น ซึ่งจะแก้ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แก้ไขตัวโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยว ไปในเรื่องของอำนาจที่ไม่ได้มาจากพื้นฐานของประชาชนอย่างแท้จริง การ Protect สื่อ ประชาชน นักวิชาการก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เข้าร่องเข้ารอยได้อยู่ดี ซึ่งตามหลักแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ มันควรจะเป็นการเปิด มันควรจะเป็นสังคมที่เราสามารถเปิดเผย แล้วเป็นบทสนทนา เพื่อแลกเปลี่ยน ให้เกิดการตรวจสอบ พฤติกรรมของคนที่อยู่ในสังคม ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่ามันจะเป็นความคาดหวังว่า เราคาดหวังที่จะเห็นสังคมที่ สามารถมีบทสนทนา อย่างเปิดเผย เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะได้ อันนี้คงจะเป็นส่วนที่อยากจะเล่าแลกเปลี่ยน

อนึ่งข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมการดำเนินคดีความด้วย ม.116 หลังจากที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก.ค.63 - 31 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 130 คน หรือ 41 คดี ส่วน ม.112 ช่วงแรกของการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่ถูกนำมาใช้ แต่ภายหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้ทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ประท้วงขณะนั้น เมื่อวันที่ 9 พ.ย.63 จนถึงขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินกว่า 257 คน จาก 278 คดี

เอกสารอ้างอิง : 
  • [1] ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ. (2566). ไทยขึ้นอันดับ 1 เอเชีย ฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิฯ - แนะควรมีกฎหมายป้องกัน SLAPP. สืบค้นวันที่ 7 ก.ย. 66, จาก https://prachatai.com/journal/2023/06/104599
  • [2] ilaw-freedom. (2562). รายงานวิจัย SLAPP คดีการฟ้องปิดปากเพื่อจำกัดเสรีภาพการพูด.สืบค้นวันที่ 7 ก.ย. 66, จาก https://freedom.ilaw.or.th/blog/SLAPPreport
  • [3] 4 น.ศ.แม่โจ้ ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทเหมืองอมก๋อย เหตุข่าวลงพื้นที่ในเว็บประชาไท (2562). สืบค้นวันที่ 7 ก.ย. 66, จาก https://tlhr2014.com/archives/14644
  • [4] ประชาไท, มิถุนายน 2566:'เพนกวิน - ภิญญพันธุ์' ร่วมถก การต่อสู้ทาง 'ประวัติศาสตร์ล้านนา' กับ 'อำนาจส่วนกลาง' จาก  https://prachatai.com/journal/2023/06/104809
  • [5] ประชาไท, มิถุนายน 2566: มทบ.33 เอาผิด 'คณะก่อการล้านนาใหม่' เหตุจัดงาน 'กระจายอำนาจ' เชียงใหม่ ม.116 - พ.ร.บ.คอมฯ จาก https://prachatai.com/journal/2023/06/104788
  • ilaw-freedom. (2562). รายงานวิจัย SLAPP คดีการฟ้องปิดปากเพื่อจำกัดเสรีภาพการพูด.สืบค้นวันที่ 7 ก.ย. 66, จาก https://freedom.ilaw.or.th/blog/SLAPPreport 
  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ. (2566). SLAPPs: เหตุใด กลุ่มวิพากษ์สังคมและธุรกิจตกเป็นเป้าฟ้องปิดปากมากขึ้น. สืบค้นวันที่ 19 ก.ย. 66, จาก https://www.bbc.com/thai/articles/c4n4qlpg0ggo
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (2562). มองการ ‘ฟ้องปิดปาก’ ผ่าน 3 คดีสิทธิฯ: คดีค้านบ้านป่าแหว่ง-คดี CMU06-คดีนายทุนกล่าวหาทนายสิทธิ. สืบค้นวันที่ 19 ก.ย. 66, จาก https://tlhr2014.com/archives/11932 
  • ราชกิจจานุเบกษา. (2562). พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับ 34). สืบค้นวันที่ 19 ก.ย. 66,  จาก https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/034/T_0018.PDF 
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สิงหาคม 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,925 คน ใน 1,241 คดี https://tlhr2014.com/archives/59179 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net