Skip to main content
sharethis

โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ เผยข้อเสนอคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แนะกรณี"โรฮิงยา" รัฐบาลควรยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศไม่ผลักดันบุคคลออกไปสู่ความตาย ใช้อำนาจตาม ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวแทน

 

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.52 โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐเผยแพร่ความเห็นของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ต่อสื่อมวลชน เรื่องข้อเสนอกรณีผู้หนีภัยความตายกลุ่มโรฮิงยา ระบุไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเผชิญการเข้าเมืองผิดกฎหมายของผู้หนีภัยความตาย แนะรัฐบาลยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่ามนุษยธรรมที่จะไม่ผลักดันบุคคลออกไปสู่ความตาย ใช้อำนาจตาม ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองจัดการปัญหาเฉพาะหน้าผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวแทนวิธีการผลักดัน

 

 

 

 

ข้อเสนอ

"ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเราเผชิญกับการเข้าเมืองผิดกฎหมายของผู้หนีภัยความตาย

ขอให้กำลังใจรัฐบาลในการคงรักษาไว้ซึ่งหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่ามนุษยธรรม

ที่จะไม่ผลักดันบุคคลออกไปสู่ความตาย

โดยใช้อำนาจตาม ม.๕๔ แห่งกฎหมายคนเข้าเมือง ในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า

กรณีผู้หนีภัยความตายกลุ่มโรฮิงยา"

 

 

โดย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ

แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น  สภาทนายความ

28 มกราคม 2552

 

 

จากการที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการดำเนินการกับผู้หนีภัยความตายกลุ่มโรฮิงยา จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงการละเมิดหลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และล่าสุดสื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวว่า รัฐบาลไทย โดยอัยการจังหวัดระนองจะนำตัวกลุ่มโรฮิงยาที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดระนองในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อการผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

 

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ มีความเข้าใจในการกระทำของรัฐบาลไทยที่จำต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้

 

อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการฯ สภาทนายความขอย้ำเตือนรัฐบาลไทยด้วยว่า รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติและคำนึงถึงหลักสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ โดยจัดให้มีทนายความ ล่าม การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และยึดหลักสิทธิมนุษยชน

 

เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติและคำนึงถึงหลักสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมิใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยเผชิญกับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของคนหนีภัยความตาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการจัดการกับกลุ่มผู้หนีภัยความตาย กรณีกลุ่มจีนฮ่ออิสระ จีนก๊กมินตั๋ง กลุ่มคนลาว เวียดนาม หรือกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอินโดจีน ฯลฯ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ว่าคนกลุ่มนี้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลไทยตระหนักถึงด้วยเช่นกันก็คือ การส่งคนกลุ่มนี้ออกนอกราชอาณาจักร ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการไม่ส่งกลับหากบุคคลนั้นจะเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกาย (Non-Refoulement) ซึ่งผูกพันรัฐไทยในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และรัฐบาลไทยก็ไม่ดำเนินการเช่นนั้น

 

นี่ ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ที่ย้ำเตือนว่า รัฐไทยได้ดำเนินนโยบายและใช้กฎหมาย โดยยึดมั่นใจการเคารพในสิทธิเสรีภาพในชีวิตของบุคคล ตามหลักกฎหมาย หลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน มาโดยตลอด

 

ประเทศไทยในระบบกฎหมายทวินิยม ได้ยอมรับหลักกฎหมายมนุษยธรรมซึ่งเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงวันที่รัฐบาลประกาศรับปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนในปี 2491 จวบจนทุกวันนี้ที่ประเทศไทยยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ

 

ต่อกรณีของกลุ่มผู้หนีภัยความตายจากโรฮิงยา คณะอนุกรรมการฯ สภาทนายความขอให้กำลังใจที่รัฐบาลจะยังคงรักษาไว้ซึ่งหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่ามนุษยธรรมที่จะไม่ผลักดันบุคคลออกไปสู่ความตายดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา โดยช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลไทยสามารถดำเนินการได้ ทั้งยังเป็นอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายรับรองก็คือ การใช้มาตรา 54 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยการผ่อนผันให้กลุ่มโรฮิงยาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในระหว่างรอการส่งกลับ และเพื่อให้กลไกตามมาตรา 54 เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ควรมีการกำหนดให้ประชาสังคมโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมรับผิดชอบกับรัฐบาลไทยในสถานการณ์ยากลำบากที่กำลังเกิดขึ้น โดยคณะอนุกรรมการฯ สภาทนายความพร้อมและยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมที่อาจจะเกิดขึ้น

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net