Skip to main content
sharethis

 

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าระนอง หวังยุติการผลักดันไม่ให้ผู้อพยพโรฮิงยาขึ้นฝั่ง ชี้ควรช่วยเหลือให้ที่พักพิงตามหลักมนุษยธรรมสากล
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ได้ยืนจดหมายเปิดผนึกถึง นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กรณีการผลักดันผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพโรฮิงยาออกสู่น่านน้ำสากลอันขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากล โดยได้ทำสำเนาถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย
 
จดหมายระบุร้องขอให้ทางจังหวัดยุติการผลักดันผู้อพยพโรฮิงยา และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยร่วมมือกันกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพตามมาตรฐานมนุษยธรรมสากล อย่างเร่งด่วน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ได้ยืนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการไต่สวนที่เปิดเผยและเป็นอิสระต่อกรณีข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยละเมิดและสังหารชาวโรฮิงยาโดยเจ้าหน้าที่ไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องความมั่นคงทางชีวิต ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวโรฮิงยาผู้ซึ่งขณะนี้ได้แสวงหาความปลอดภัยและที่หลบภัยในดินแดนไทย โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวได้สำเนาถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
 
(ANM/MMN จดหมายเปิดผนึก )
 
ประเทศไทย: ข้อเรียกร้องให้มีการไต่สวนที่เปิดเผยและเป็นอิสระต่อกรณีข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยละเมิด
และสังหารชาวโรฮิงยา
 
                                                                        ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒
 
เรื่อง                  ข้อเรียกร้องให้มีการไต่สวนที่เปิดเผยและเป็นอิสระต่อข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยละเมิดและสังหารชาวโรฮิงยา
 
เรียน                  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 
สำเนาถึง             คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
 
เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ในประเทศไทย และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งขัดแย้งและมิได้ยึดมั่นตามหลักการที่มีอยู่ของมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล หากปราศจากนโยบายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล การปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติจำต้องตกไปอยู่ที่การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ปฏิบัติงานเฉกเช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
เรามีความห่วงใยโดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่มีการรายงานว่าในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ มีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไทยได้บังคับส่งกลับชาวโรฮิงยาจำนวน ๔๒๗ คน ซึ่งหลังจากนั้นมีผู้รอดชีวิตแค่จำนวน ๑๐๒ คน จากการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ควบคุมชายฝั่งของอินเดีย ที่เหลือเกรงว่าจะเสียชีวิตแล้ว กลุ่มสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นที่ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต กล่าวว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาจากพม่า ได้ถูกกักตัวในพื้นที่ห่างไกลอย่างเกาะทรายแดงในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยในเดือนธันวาคม พวกเขาได้ถูกบังคับให้ลงเรือโดยที่มือถูกมัดไว้และถูกปล่อยให้ลอยในทะเลโดยที่มีอาหารและน้ำเพียงน้อยนิด รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เรื่อง "Alleged abuse of refugees probed, Thai Military Accused of Role in Deaths of Hundreds of Burmese Boat People"
 
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับเดียวกันได้เปิดเผยถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันปีใหม่ คือเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ไทยได้ปล่อยให้แรงงานข้ามชาติจากพม่าจำนวน ๖๐๐ คน ออกไปกลางทะเลโดยเรือ ๔ ลำ โดยมีการกล่าวหาว่ามีเรือหนึ่งลำได้จมหายไปและมีการคาดว่าผู้ลี้ภัยจากพม่าจำนวนกว่า ๒๐๐ คนที่อยู่บนเรือลำนั้นได้เสียชีวิตแล้ว
 
ANM และ MMN มีความยินดีที่รัฐบาลไทยชี้แจ้งว่าจะมีการสอบสวนถึงกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เราห่วงใยในประเด็นข้อกล่าวหาต่อผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นกองทัพเรือ และ/หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เราเชื่อว่าการสอบสวนมิควรกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐแต่ฝ่ายเดียว ทว่าควรจัดให้มีการสอบสวนในรูปแบบคณะกรรมาธิการที่มาจากหลายภาคส่วน และการสอบสวนต้องกระทำขึ้นโดยเปิดเผย และสามารถที่จะตรวจสอบได้ และเราเชื่อว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติควรที่จะทำการไต่สวนอย่างเป็นอิสระต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
 
ANM และ MMN ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีมติทางนโยบายโดยทันที เพื่อที่จะไม่มีการปล่อยให้บุคคลใดๆ รวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงต้องลอยทะเลที่เสี่ยงต่อชีวิตเกิดขึ้นอีกในอนาคต รัฐบาลไทยควรที่จะดำเนินการโดยทันทีที่จะอนุญาตให้ผู้อพยพเหล่านี้ขึ้นฝั่ง และปฏิบัติการโดยรัฐไทยควรที่จะยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของสิทธิและความยุติธรรม รวมถึงภาระผูกพันที่รัฐไทยมีต่อปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติปี 2542 ซึ่งระบุไว้ว่า "…บุคคลต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึงการช่วยเหลือด้านสุขภาพ ที่เหมาะสมและการบริการด้านอื่นๆ…" และมิควรปล่อยให้มีการปฏิบัติซึ่งไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
 
รัฐไทยต้องปกป้องความมั่นคงทางชีวิต ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวโรฮิงยาผู้ซึ่งขณะนี้ได้แสวงหาความปลอดภัยและที่หลบภัยในดินแดนไทย พวกเขาควรได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและการสนับสนุนความต้องการด้านความอยู่รอด ตามหลักการมาตรฐานด้านมนุษยธรรมที่ได้ระบุไว้
 
ทั้งนี้ ANM และ MMN ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการโดยทันที ในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมที่มาจากภาครัฐ และองค์กรเอกชน เพื่อวางนโยบายระดับชาติที่สอดคล้องกันในเรื่องสวัสดิการและการคุ้มครอง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสับสนอันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต คณะกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นควรมีหน้าที่ในการดูแล ตรวจตรา ปฏิบัติแสวงหาความปลอดภัยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
 
เพื่อที่จะสร้างหลักประกันที่ว่าจะมีระบบการคุ้มครองผู้อพยพทุกคนในอนาคต เราขอเรียกร้องอย่างแข็งขันเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ และพิธีสารที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพผู้ลี้ภัยและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ข้าม ชาติและครอบครัวปี ค.ศ. ๑๙๙๐
 
ท้ายนี้ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่น ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ขอวิงวอนให้รัฐไทยเรียกร้องต่อรัฐบาลต่างๆในประเทศอาเซียนทำการประณาม และเรียกร้องให้สภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ (SPDC) ยุติและสิ้นสุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งยังคงเป็นสาเหตุรากเหง้าของการที่บีบบังคับให้ประชาชนจากพม่าต้องหนีลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
คณะกรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย)
คณะกรรมการเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
 
 
 
(ANM/MMN จดหมายเปิดผนึก )
กรณีการผลักดันผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพโรฮิงยาออกสู่น่านน้ำสากลอันขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากล
 
                                                                        ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒
 
เรื่อง                  กรณีการผลักดันผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพโรฮิงยาออกสู่น่านน้ำสากลอันขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากล
 
เรียน                  ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ
 
สำเนาถึง             ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย
 
เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ได้รับทราบข้อเสนอของท่านในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดระนองต่อกรณีการผลักดันไม่ให้ "โรฮิงยา" ขึ้นฝั่งโดยใช้อ้าง "หลักมนุษยธรรม" จากการนำเสนอข่าวของเว็บหนังสื่อพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ในวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และข่าวในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกวันเดียวกัน ตามที่ท่านได้อ้างถึงหลักมนุษยธรรมสากล
 
ตามที่ท่านได้รับทราบแล้วว่ารัฐบาลออสเตรเลียได้มีนโยบายในการผลักดันผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพซึ่งเดินทางโดยเรือออกจากน่านน้ำ ซึ่งมีผลเสียอันเกิดแก่ผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวอย่างน่าสลด (อ้างอิงจาก "A JustAustralia" http://www.ajustaustralia.com/informationandresources_campaignkits.php?act=campaign_kits&id=36)
 
การผลักดันผู้ผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพภายใต้เงื่อนไข้อันแร้นแค้นนั้น ขัดต่อหลักการมนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง ตามกติกาข้อที่ ๖ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคี ได้กล่าวว่า "มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด" ซึ่งในรัฐธรรมนูญไทยได้ยืนยันในหลักการดังกล่าวโดยระบุในมาตรา 32 ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน การทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้"
 
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (SOLAS) ฉบับที่ ๕ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรอง ยืนยันในหลักการที่ว่า รัฐไทยมีหน้าที่ช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในสภาพตกทุกข์ได้ยาก และต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเรือปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามความเห็นว่าด้วยเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นเราขอเรียนให้ท่านทราบอีกครั้งว่า การผลักดันผู้ลี้อพยพโรฮิงยาออกสู่น่านน้ำสากลในสภาพไร้ความปลอดภัยจึงเป็นการละเมิดอนุสัญญาดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้กับเรือทุกลำและผู้โดยสารทุกคน
 
ตามที่เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ได้ชี้แจงในจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงวันที่ ๒๐ มกรมคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องความมั่นคงทางชีวิต ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวโรฮิงยาผู้ซึ่งขณะนี้ได้แสวงหาความปลอดภัยและที่หลบภัยในดินแดนไทย เราร้องขอให้ท่านยุติการผลักดันผู้ลี้อพยพกลุ่มนี้ และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยร่วมมือกันกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้แสวงหาที่พักพิง/ผู้อพยพตามมาตรฐานมนุษยธรรมสากล
 
ท้ายนี้ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (ANM) และเครือข่ายการย้ายถิ่น ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
คณะกรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย)
คณะกรรมการเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
 
 
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net