Skip to main content
sharethis

24 ธ.ค. 2549 นางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานศึกษาวิเคราะห์ พิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการในการกำกับดูและส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย วานนี้ (22ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะนำเสนอให้นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ใช้ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ....เป็นกรอบในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในประเทศไทยในสัปดาห์หน้าเพราะจากการพิจารณาแล้วเห็นว่ากติกาในการควบคุดูแลของต่างประเทศก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้


 


"จะยึดร่างกฎหมายเดิมที่ได้มีการยกร่างไว้แล้วมาบังคับใช้ แต่จะมีการปรับปรุงบางส่วนตามที่ได้มีข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วกรอบ กติกา ที่นำมาใช้ภายในกฎหมายฉบับนี้ ก็เอามาจากกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศแม่ที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ การที่จะมาบอกว่าไม่เป็นกติกาสากลคงไม่ใช่" นางวัชรีกล่าว


         


รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า สาระสำคัญของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งพ.ศ....นั้น กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) มี รมว.พาณิชย์เป็นประธานดูแลธุรกิจในกรุงเทพฯและนนทบุรี และคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กจค.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่ติดตามการเคลื่อนไหว และสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบการศึกษาวิเคราะห์วิจัยของธุรกิจในระดับจังหวัด


 


ส่วนการจัดระบบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งนั้น กฎหมายให้อำนาจกกค.ประกาศกำหนดให้กิจการในทางพาณิชยกรรม หรือบริการประเภทหนึ่งประเภทใดที่มีลักษณะหรือขนาดของธุรกิจตามที่กำหนดเป็นธุรกิจค้าปลีก หรือค้าส่งที่ถูกควบคุม โดยการควบคุมจะกำหนดให้ตั้งหรือขยายสาขาต้องขออนุญาตก่อนกำหนดให้ตั้งธุรกิจในพื้นที่ที่กำหนดโดยคำนึงถึงจำนวนประชากร จำนวนร้านค้า หรือระยะห่างระหว่างร้านค้า หรือพื้นที่อยู่อาศัย


 


การกระจุกตัวของธุรกิจกำหนดจำนวนธุรกิจ หรือขนาดของพื้นที่ในการประกอบธุรกิจ มีอำนาจในการกำหนดการแบ่งแยกประเภทธุรกิจ โดยสั่งให้ประกอบธุรกิจประเภทใดเพียงประเภทเดียว รวมทั้งกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ วิธีการประกอบธุรกิจ กำหนดให้แจ้งแผนการตั้งหรือขยายสาขา กำหนดไม่ให้ทำธุรกิจโดยเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรมกำหนดระยะเวลาการเปิด-ปิด กำหนดมาตรการดูแลค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสั่งเก็บสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การกำหนดให้ผู้ประกอบการป้องกันผลกระทบจากธุรกิจกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนค้าปลีกรายเล็กให้ทำธุรกิจต่อไปได้


 


อย่างไรก็ตาม ได้มีการเพิ่มเติมคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อใช้ค้านอำนาจของ กกค.หากผู้ประกอบการเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ ซึ่งการพิจารณาจะเป็นอิสระแยกจากกัน


 


แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกขนาดใหญ่กล่าวว่า น่าจะเรียกว่าเป็นกฎหมายจำกัดการขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่า เพราะควบคุมทุกอย่าง และไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกหากต้องการให้เป็นกฎหมายที่ดูแลธุรกิจค้าปลีกจริงๆ ควรจะมีการกำหนดบทบาทของผู้เกี่ยวข้องทุกๆภาคส่วน ทั้งค้าปลีกขนาดใหญ่ผู้ผลิตสินค้า (ซัปพลายเออร์) และร้านค้าปลีกรายย่อย(โชห่วย) รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือก


         


"หวังว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คงจะไม่ผ่านการเห็นชอบ และให้นำกลับมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้" แหล่งข่าวกล่าว


 


........................


ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net