Skip to main content
sharethis


แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพม่า


 


แม้จะมีความพยายามกดดันรัฐบาลทหารพม่าอยู่เนืองๆ แต่เรื่องการค้าขายโดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน ใครก็ไม่อยากพลาดโอกาสทองในพม่า ล่าสุด ปตท. ของไทยและบรรษัทสำรวจน้ำมันของรัฐบาลจีนได้บรรลุข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันในประเทศพม่า


 


เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 51 บรรษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTT Exploration and Production: PTTEP) และบรรษัทสำรวจน้ำมันแห่งชาติจีน (China National Offshore Oil Corporation: CNOOC) ได้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน (Swap Assets) หรือการแลกหุ้นของแหล่งปิโตรเลียมในพม่า ในส่วนของแปลง M3, M4 ของ PTTEP กับแปลง A4, C1 ของ CNOOC ในสัดส่วน 20%


 


โดยแปลง M3, M4 ของ PTTEP นั้นตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ (Martaban) ส่วนแปลง A4 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งรัฐยะไข่ (Rakhine) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแปลง C1 ซึ่งมีพื้นที่กว่า 17,000 ตารางกิโลเมตรมีศักยภาพเป็นแหล่งน้ำมันดิบ


 


ทั้งนี้ PTTEP จะเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 20% ในแปลง A4 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ, C1 ซึ่งเป็นน้ำมัน ของ CNOOC เช่นเดียวกับ CNOOC ที่จะเข้ามาถือหุ้น 20% ในแปลง M3, M4 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติของ PTTEP จากเดิมที่ PTTEP ถือหุ้น 100% --- ซึ่งการแลกเปลี่ยนหุ้นของทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุได้ก็จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลของพม่าเสียก่อน


 


จากการประเมิน การแลกหุ้นดังกล่าวนอกจากจะเป็นการร่วมมือในการลงทุนแล้ว เนื่องจาก CNOOC เป็นบริษัท น้ำมันขนาดใหญ่ของจีนมีประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสูง อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุน (PTTEP ไม่มีนโยบายถือหุ้น 100% ในแปลงปิโตรเลียมใด) อย่างไรก็ตามแปลงปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นแปลงที่อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจ ซึ่งเราคาดต้องใช้เวลา 3-5 ปีในการพัฒนาและผลิตเชิงพาณิชย์


 


ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าหลัก สำหรับพลังงานก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า


 


และถึงแม้พม่าจะเผชิญกับการข่มขู่ว่าจะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก เนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่สำหรับการค้าขายกับประเทศไทยยังคงถือเป็นรายได้หลัก โดยเฉพาะพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วพม่าส่งออกก๊าซธรรมชาติสู่ประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 45% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของพม่าปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ารวมถึง 5.9 พันล้านดอลลาร์


 


อนึ่ง PTTEP ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2528 โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ในปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้น 99.99 % ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 เมษายน 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐสามารถเข้าร่วมถือสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้


 


ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ให้ PTTEP ดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องนำ คำสั่ง กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ ยกเว้นระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ PTTEP มีการบริหารอย่างเป็นอิสระ มีความคล่องตัว และประสิทธิภาพสูง รวมทั้งเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างประเทศได้ และต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 PTTEP ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้เริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2536


 


PTTEP ประกอบธุรกิจหลักด้านการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม โดยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 PTTEP บริษัทย่อยและบริษัทร่วม มีโครงการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวนทั้งสิ้น 39 โครงการ และด้านการลงทุน 4 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการตามธุรกิจหลักที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วรวม 13 โครงการ ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศให้แก่ตลาดในประเทศไทยเป็นหลัก


 


ปัจจุบันมีเพียงโครงการโอมาน 44 เท่านั้นที่จำหน่ายก๊าซธรรมชาติในตลาดต่างประเทศ ในปี 2550 PTTEP และบริษัทย่อยผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซ LPG และคอนเดนเสท รวมทั้งสิ้น 179,767 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 90,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปี 2549


 


 


ที่มา:


Thai company and CNOOC swap stakes in Myanmar blocks (The Star - April 9, 2008)


Thai and Chinese oil firms join hands in Myanmar gas exploration (EARTHtimes.org - April 9, 2008)


กรุงศรีอยุธยา แนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 185 บาท/หุ้น (บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา - April 10, 2008)


Growth stock: PTTEP (Stock Focus  - April 11, 2008)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net