Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง คัดค้านแลนด์บริดจ์ เดินสายร้องสถานทูต ขอให้รัฐบาลและนักลงทุนโปรดใคร่ครวญการลงทุนโครงการอย่างรอบคอบ เหตุโครงการนี้จะสร้างผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและฐานทรัพยากร อันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง

4 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 4 - 6  มีนาคมนี้ เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง คัดค้านแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย สภาประชาชนภาคใต้ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และเครือข่ายรักษ์ระนอง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้คัดค้านโครงการเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เ จะมีกิจกรรมยื่นหนังสือคัดค้านโครงการดังกล่าว ทั้งยื่นต่อสถานเอกอัครราชต่างๆ และองค์การสหประชาชาติ (UN)  รวมทั้งติดตามความคืบหน้ากับนายกฯที่ทำเนียบรัฐบาล และเตรียมเดินทางยื่นหนังสือตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการแลนด์บริดจ์ ต่อ 3 กรรมาธิการ ที่รัฐสภาต่อ นั้น

วันนี้ (4 มี.ค.) GreenNews รายงานว่า เครือข่ายฯ เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกที่สถานทูต 3 แห่งซึ่งเป็นสถานทูตฯ จากประเทศที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักชวนนักลงทุนในต่างประเทศมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย 

โดย จดหมายเปิดผนึก ถึงเอกอัครราชทูตทั้ง 3 แห่ง ระบุ ขอให้รัฐบาลและนักลงทุนในประเทศของท่าน โปรดใคร่ครวญการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์อย่าง รอบคอบ เพราะโครงการนี้จะสร้างผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและฐานทรัพยากร อันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง

“พวกเรารู้ดีว่าการพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น แต่การพัฒนาจะต้องไม่เบียดขับประชาชนในพื้นที่ให้ตกขอบสังคม และต้องดำเนินไปโดยเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชน” อีกทั้ง สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดียังได้รับการประกาศให้เป็นสิทธิมนุษยชนที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง และความตระหนักต่อการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate change) จำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง เราจึงขอส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ผ่านสถานทูต เพื่อสื่อสารให้รัฐบาลและนักธุรกิจในประเทศของท่านได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นการเบื้องต้น ด้วยเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่ถูกพูดถึงและจะไม่ถูกสื่อสารไปยังพวกท่านอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้ง ประเทศของท่านเป็นประเทศหนึ่งในประเทศสมาชิกของสหประชาชาติและประชาคมโลกที่มีหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและร่วมผลักดันการลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและนักธุรกิจประเทศของท่านได้โปรดพิจารณาใคร่ครวญการเข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ฯอย่างรอบคอบ และไม่สนับสนุนการลงทุนในโครงการนี้ ก่อนที่ความเสียหายเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับพวกเราและประชาคมโลกในอนาคต" บางส่วนของจดหมายเปิดผนึก ระบุ

ขณะที่จดหมายยื่นต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) มีผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทยมารับ สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายระบุให้สหประชาชาติเฝ้าระวัง และตรวจสอบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร – ระนอง เป็นการประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

“รัฐบาล และภาคธุรกิจของทุกประเทศจะต้องปกป้องและเคารพภายใต้ข้อตกลง หรือ ปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยก็ได้ยอมรับต่อนานาชาติในการรับรองนำเอาข้อแนะนำด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGPs) มาปรับใช้ในประเทศไทยจนเป็นที่มาของการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) 

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการพูด และมีแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พวกเราก็ยังไม่สามารถมีความเชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการตามแผนที่กำหนด และหลักการ UNGPs ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่จะเคารพต่อสิทธิในการกำหนดเจตจำนงแห่งตน (Self-Determination Rights) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดวิถีชีวิตที่ประชาชนต้องการโดยไม่ถูกขัดขวางหรือเลือกปฏิบัติในการกำหนดวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่จะไม่ถูกรบกวน 

นอกจากนี้ ดังที่กล่าวแล้วว่า โครงการจะส่งผลกระทบในหลายด้านหลายมิติ ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลไทยจึงเป็นการดำเนินการที่จะต้องมีการทบทวนตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจดำเนินโครงการเอง ตลอดไปถึงความสามารถ และมีความจริงใจที่จะกำกับหรือกำชับเรื่องนี้กับประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนทางธุรกิจในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ได้ 

พวกเราจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะต้องนำข้อห่วงกังวลในเรื่องนี้ส่งต่อให้กับองค์กรระหว่างประเทศในสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และให้ความเห็นต่อรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ซึ่งพวกเราเห็นว่าองค์กรและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของท่านจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี จึงขอส่งหนังสือและรายละเอียดเบื้องต้นมาให้ท่านได้พิจารณาดำเนินการต่อไป โดยพวกเราพร้อมที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อท่านเพื่อให้เกิดการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป” หนังสือเปิดผนึกจากเครือข่ายฯ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net