Skip to main content
sharethis

'คนไทยพลัดถิ่น' ร้องนายกฯ จี้ยกเลิก 'โครงการแลนด์บริดจ์' ชุมพร-ระนอง หวั่นสร้างผลกระทบกับชุมชนท้องถิ่น ประมงพื้นบ้าน ด้าน โฆษกรัฐบาลยันนายกฯ รับฟังและชี้แจงประชาชน พร้อมศึกษาทุกด้านไม่ให้เกิดผลกระทบ ยืนยันเป็นอีกโอกาสโครงการขนาดใหญ่ในประเทศรอบ 20 ปี

 

22 ม.ค.2567 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (22 ม.ค.) เวลา 14.00 น. ระหว่างที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง นั้น ทม สินสุวรรณ ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์ และเร่งรัดการทำบัตรประชาชนให้กับคนไทยพลักถิ่นที่ล่าช้า

โดยมีรายละเอียดจดหมายของ ทม ดังนี้

 

วันที่ 22 มกราคม 2567

เรื่อง ท่านจะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน หากสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร
เรียน นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจะดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และจะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการต่างๆจำนวนมากตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงจังหวัดชุมพร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง(ฝั่งระนอง) ที่จะต้องใช้พื้นที่ทะเลทั้งหมด 6,975 ไร่ และต้องขุดร่องน้ำให้ได้ความลึกที่ 19 เมตร มีความยาวถึง 11.5 กิโลเมตร และยังไม่นับร่วมการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอีกจำนวนมากเพื่อเป็นลานแทกองตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งการดำเนินทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในจำนวนนั้นมีพวกเราที่เป็นคนไทยพลัดถิ่นรวมอยู่ด้วย

ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมาก ที่แม้จะได้รับการรับรองสัญชาติตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2555 ไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังมีคนตกค้างที่ยังไม่ได้รับการรับรองอยู่อีกจำนวนมาก อันเกิดขึ้นจากความล่าช้าในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหนึ่งในจำนวนนั้นคือพวกเราที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งมีที่อยู่อาศัยอยู่ริมทะเลชายฝั่งและมีอาชีพการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ดังนั้นการเกิดขึ้นของโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง - ชุมพร ที่ท่านกำลังผลักดันอยู่นี้ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเราโดยตรงจนแทบจะสิ้นไร้แผ่นดินทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน นั่นหมายถึงการล่มสลายของพวกเราทั้งหมดในที่สุด

ในฐานะพลเมืองผู้ไร้สิทธิ์แทบทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านการการเมือง และรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆทัวไปแบบพลเมืองปกติ ที่พวกเราจะต้องทนรับกับสภาพเช่นนั้นอย่างหวานอมขมกลืนมาอย่างยาวนาน และต่อโครงการนี้ เราแทบ “ไร้สิทธิ์” ที่จะแสดงออกใดๆ เพื่อให้ภาครัฐได้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อนของพวกเรา

โอกาสที่ท่านและคณะรัฐมนตรีเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดระนองในครั้งนี้ คงเป็นโอกาสเดียวที่พวกเราจะส่งเสียงให้ท่านได้รับรู้และรับทราบความทุกข์ร้อนและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับพวกเราในฐานะพลเมืองชั้งสอง จึงยื่นหนังสือฉบับนี้ให้ท่านได้รับทราบเบื้องต้นว่า “พวกเราคนไทยพลัดถิ่นในตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง คือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในที่สุดแล้วพวกเราคงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่แห่งนี้อีกต่อไป แล้วท่านจะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน จึงขอให้ท่านได้เห็นถึงรายละเอียดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบดังกรณีของพวกเรา และได้โปรดนำประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการนี้ต่อไป ทั้งยังหวังว่ารัฐบาลของท่านจะช่วยเร่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสัญชาติของพวกเราได้ดำเนินการรับรองคนที่ตกค้างอยู่ให้ทั่วถึงอย่างอย่างรวดเร็วมากขึ้นต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(  น.ส.ทม สินสุวรรณ  )
ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

โฆษกรัฐบาลยันนายกฯ รับฟังและชี้แจงประชาชนต่อ พร้อมศึกษาทุกด้านไม่ให้เกิดผลกระทบ ยืนยันเป็นอีกโอกาสโครงการขนาดใหญ่ในประเทศรอบ 20 ปี

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ายหลังการรับฟังบรรยายสรุปโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) จากทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่บริเวณนี้ พร้อมได้รับฟังการนำเสนอถึงวิธีการโดยภาพรวม รวมทั้งการคาดการณ์ว่าจะมีการถมทะเลเท่าไหร่ มีระยะห่างออกไปเท่าไหร่ และยังมีการสร้างสะพานที่มีตอม่อ ทำให้เรือประมงของพี่น้องประชาชนยังคงสามารถประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ ในการริเริ่มโครงการใหญ่ ๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับฟังความเห็น และชี้แจงประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีโครงการใหญ่ Mega Project เลย โดยในช่วงอดีต นายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ มีโครงการขนาดใหญ่ที่สำเร็จและสร้างประโยชน์ให้ประเทศมหาศาล คือสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศทำให้ไทยพัฒนาถึงทุกวันนี้ได้ 

ทั้งนี้ โครงการ Landbridge เป็นโครงการเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามัน บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอ่าวไทย บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบรถไฟในประเทศได้ เพิ่มศักยภาพการขนส่งของไทย ร่นระยะเวลาขนส่งข้ามช่องแคบมะละกาที่แออัด รองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสามารถขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ โครงการนี้จึงถือว่าสำคัญ เพราะจะนำความเจริญมาสู่ประเทศ สร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ระหว่างประเทศมาตั้งฐานผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไทย สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะมีการศึกษาถึงผลกระทบในขั้นต้น และต่อไปจะเริ่มศึกษาลงไปที่แหล่งน้ำพุร้อน แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป ในส่วนของการจ้างงาน ให้มองว่าเป็นเรื่องของโอกาส โดยท่าเรือที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่ท่าเรือขนสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงเรือสำราญ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญทั้งเป็นของชาวระนองและจังหวัดแถบอันดามัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคใต้ทั้งภูมิภาค ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ในการทำ Mega Project นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดในทุกมิติควบคู่กันไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net