Skip to main content
sharethis
  • ย้อนอ่านผลการเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค.อีกครั้ง ขั้วฝ่ายค้านเดิมชนะขาด ‘ส้ม-แดง’ ทั้งแผ่นด้วย ฝ่ายค้านชนะเกือบทุกเขตในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ ก้าวไกลเหมา 45 จังหวัด อย่างไรก็ตาม 'เพื่อไทย' ก็แพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี 
  • ภาพอาจเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างผู้สมัครจากบ้านใหญ่ vs พลังใหม่ แต่ผลเลือกตั้งภาพสะท้อนการเมืองแบบอุปถัมภ์ไปสู่เครือข่ายแบบใหม่ แถมด้วยการปรากฏตัวของชนชั้นแรงงาน นักวิชาการมองข้อเสนอเชิงโครงสร้างและรัฐสวัสดิการจะเป็นความปกติใหม่
  • อีกทั้งหากมองไปที่ 'ชนบท' ก็เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ ‘ชาวนา’ เปลี่ยนสถานะเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ พร้อมด้วยสำนึกแห่งความเท่าเทียมก่อตัวเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น 

แม้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค.2566 พร้อมกับความพยายามตั้ง 'รัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประชาชน' ด้วยการนำของพรรคก้าวไกล ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่รวมแล้วได้ 312 เสียง จะไม่ผ่านด่าน สว. จนพรรคก้าวไกลหลีกทางให้กับพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจฉีกบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU)ที่ทำกันในวันที่ 22 พ.ค.66 เพื่อตั้ง 'รัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประชาชน'  แล้วไปร่วมกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทน บวกกับได้เสียง สว.มาสนับสนุน ทำให้ได้รัฐบาลโดยมี เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้วนั้น 

แต่ผลของการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.66 ก็ยังเป็นผลที่น่าสนใจและสะท้อนมติของประชาชนในทางการเมือง

ขั้วฝ่ายค้านเดิมชนะขาด 

การเลือกตั้งเมือวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 52 ล้านกว่า คิดเป็น 75.22% ซึ่ง อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​  แถลง 1 วันหลังเลือกตั้งชี้ว่า ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงที่สุดตั้งแต่ กกต. จัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น

  • พรรคก้าวไกล แบ่งเขต 112 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 14,438,851 หรือ 36.54%) ได้ 39 คน รวม 151 คน เพิ่มจากปี 62 จำนวน 70 คน โดยปี 62 ได้ 81 คน 
  • พรรคเพื่อไทย แบ่งเขต 112 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 10,962,522 หรือ 27.74%) ได้ 29 คน รวม 141 คน เพิ่มจากปี 62 จำนวน 5 คน โดยปี 62 ได้ 136 คน
  • พรรคภูมิใจไทย แบ่งเขต 68 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 1,138,202 หรือ 2.88% ) ได้ 3 คน รวม 71 คน เพิ่มจากปี 62 จำนวน 20 คน โดยปี 62 ได้ 51 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ แบ่งเขต 39 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 537,625 หรือ 1.36%) ได้ 1 คน รวม 40 คน ลดจากปี 62 จำนวน 76 คน โดยปี 62 ได้ 116 คน
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ แบ่งเขต 23 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 4,766,408 หรือ 12.06%) ได้ 13 คน รวม 36 คน พรรคใหม่ ที่แตกมาจากพรรคพลังประชารัฐรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ โดยแคนดิเดทนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดทจากพรรคพลังประชารัฐในปี 62
  • พรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเขต 22 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 925,349 หรือ 2.34%) 3 คน รวม 25 คน ลดจากปี 62 จำนวน 28 คน โดยปี 62 ได้ 53 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา แบ่งเขต 9 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 192,497 หรือ 0.51%) ได้ 1 คน รวม 10 คน เท่าเดิมจากปี 62 
  • พรรคประชาชาติ แบ่งเขต 7 คน บัญชีรายชื่อ (คะแนนเสียง 602,645 หรือ 1.61%) 2 คน รวม 9 คน เพิ่มจากปี 62 จำนวน 2 คน โดยปี 62 ได้ 7 คน

เป็นต้น

ทั้งนี้การเลือกตั้งปี 66 มีสัดส่วนที่แตกต่างกันกับการเลือกตั้งปี 62 นอกจากแยกบัตรเลือกตั้งแล้ว สิ่งสำคัญในปี 66 นั้นสัดส่วนบัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน จากเดิม 150 คน ขณะที่ แบ่งเขตเพิ่มเป็น 400 คน จากเดิม 350 คน

เพื่อไทยแพ้ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

อีก 1 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนไม่ได้ที่นั่งมาเป็นอันดับ 1 ครั้งแรก นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 ที่พรรคไทยรักไทย นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ได้ 248 ที่นั่ง พร้อมกับเสียงสนับสนุน 11.6 ล้านเสียง หรือ 40.64% ชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย ชวน หลีกภัย ได้ไป 128 ที่นั่ง 7.6 ล้านเสียง หรือ 26.58% แม้ว่าครั้งก่อนหน้านี้คือปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้ 136 ที่นั่ง ชนะพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 116 ที่นั่ง แต่เสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ได้น้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ คือ 7.8 ล้านเสียง กับ 8.4 ล้านเสียง หรือ 22.16% ต่อ 23.74% ส่วนครั้งนั้นพรรคเดิมของพรรคก้าวไกล คือ พรรคอนาคตใหม่ ได้มา 6.3 ล้านเสียง หรือ 17.8%

‘ส้ม-แดง’ ทั้งแผ่นด้วย ฝ่ายค้านชนะเกือบทุกเขตในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ ก้าวไกลเหมา 45 จังหวัด

ซ้าย สส.แบบแบ่งแขต ขวาพรรคที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อนำในเขตนั้นๆ สีส้มคือพรรคก้าวไกล สีแดงคือพรรคเพื่อไทย สีเหลืองคือพรรครวมไทยสร้างชาติและสีทองคือพรรคประชาชาติ (ภาพกราฟิกจาก vote66.voicetv.co.th)

ทั้งนี้คะแนนบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์นั้นเป็นคะแนนที่สะท้อนความนิยมในตัวพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ที่ช่วงโค้งสุดท้ายทุกพรรคการเมือง แม้แต่พรรคเพื่อไทยที่ไม่พูดประเด็นจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลหรือจะร่วมไม่ร่วมกับพรรคใดก็ประกาศชัดทำให้สามารถสรุปได้ว่าประชาชนอย่างน้อยกว่า 25 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม

ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ในส่วนของ ว่าที่ ส.ส.เขตที่ได้ มีอย่างน้อย 86 เขต คือ พรรคภูมิใจไทย 32 คน พรรคพลังประชารัฐ 23 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 13 คน พรรคประชาธิปัตย์ 10 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 8 คน ที่พรรคเหล่านี้ชนะ แต่คะแนนบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลนำในเขตนั้นๆ บางพื้นที่สัดส่วนมากกว่าคะแนนของ ส.ส.เขตด้วย และอันดับ 2 ขอบคนเลือกบัญชีรายชื่อในเขตนั้น ยังเป็นพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลด้วย

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการมีเรื่องมาเคลียร์ ทาง YouTube มติชนทีวี ว่า คะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคก้าวไกลได้ 14.4 ล้านคะแนน ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ 10.9 ล้านคะแนน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้มากกว่า 3.5 ล้านคะแนน แปลว่าคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยประมาณ 3 ล้านกว่าคนที่กาบัตรแบบแบ่งเขตให้กับพรรคเพื่อไทย แต่กาบัญชีรายชื่อให้พรรคก้าวไกล ซึ่ง ปริญญา ประเมินว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ต้องการกลับบ้าน

หากดูคะแนนรวมของทั้ง 2 พรรค คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย  25.3 ล้านคะแนน สส. 292 คน จึงใกล้เคียงมากกับที่ประเมินไว้ว่าฝั่งประชาธิปไตยจะชนะและใกล้ๆ 300 สส. ซึ่งออกมาก็ตามนั้น เพียงแต่ที่ชนะนั้นผิดไปจากที่คาดหมายคือพรรคก้าวไกลดันมากกว่าพรรคเพื่อไทย

ต่อกรณีหลังจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลและถูกเสนอชื่อตาม MOU 8 พรรคร่วม แต่กลับไม่ผ่านสภาโดยเฉพาะสว. นั้น ปริญญา มองว่าเมื่อพิจารณาแยกรายจังหวัดแล้ว พรรคก้าวไกลได้อันดับ 1 ในแบบบัญชีรายชื่อ 45 จังหวัด เกินครึ่งประเทศและที่เหลืออีก 32 จังหวัดได้ที่ 2 และในบรรดา 45 จังหวัดนั้นมีจังหวัดที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ สส.แบบแบ่งเขตแม้แต่คนเดียวถึง 21 จังหวัด ขณะที่ 32 จังหวัดนั้นมี 28 จังหวัดที่พรรคก้าวไกลไม่มี สส.แบบแบ่งเขตแม้แต่คนเดียว 

บ้านใหญ่ vs พลังใหม่

สำหรับตัวอย่างจังหวัดที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ สส.แบบแบ่งเขต แต่ชนะในแบบบัญชีราชื่อ เช่น จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคภูมิใจไทย จ.อุทัยธานี ที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ แกนนำพรรคภูมิใจไทย จ.สุพรรณบุรี ที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้แต่ จ.ชัยนาท จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี ที่พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติได้ สส.เขต แต่พรรคก้าวไกลก็ชนะคะแนนบัญชีรายชื่อ

ภาพตัวอย่างเทียบ สส.เขต กับคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ

ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ ปริญญา มองว่า อย่างน้อยในแบบ สส.บัญชีรายชื่อนั้นสามารถรุกเข้าไปในพื้นที่การเมืองแบบบ้านใหญ่ (กลุ่มการเมืองที่สั่งสมอำนาจมาอย่างยาวนานในพื้นที่) หมดแล้ว 

สำหรับพื้นที่อีกพื้นที่ซึ่งสะท้อนการปะทะกันของกลุ่มบ้านใหญ่กับกระแสพรรคก้าวไกล คือ ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี ที่ผลการเลือกตั้ง 2566 ส.ส. แบบแบ่งเขต ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ก้าวไกลกวาด 7 ที่นั่งจากทั้งหมด 10 ที่นั่ง โดยพลังประชารัฐ , เพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ แบ่งไปพรรคละ 1 ที่นั่ง ในส่วนของคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ก้าวไกลนำทุกเขต ทั้งที่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง บ้านใหญ่ (ตระกูลคุณปลื้ม) ตามคำเรียกของสื่อและนักวิเคราะห์ทางการเมืองที่เรียกงกลุ่มผู้มีอิทธิพลและชนะเลือกตั้งในพื้นที่มาอยากยาวนาน ตัดสินใจย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ กลับมาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 21 ม.ค. 2566 ขณะที่บ้านใหญ่อีกหลังในนาม 'บ้านใหม่' ตามคำเรียกของสื่อมวลชนที่เรียกกลุ่มผู้ที่มาจากเครือข่ายผู้มีอิทธิพลเดิมและได้ร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงงาน ซึ่งลาออกจาก ส.ส. จ.ชลบุรี เขต 1 พร้อมย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนการเลือกตั้งทั้งมุมมองการวิเคราะห์การเมืองชลบุรีต่างจับตาไปที่ 'บ้านใหญ่' กับ 'บ้านใหม่' เป็นสำคัญ ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งกระแสของพรรคก้าวไกลในโลกโซเชียลมีเดียก็มาแรงในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น Tiktok , Facebook และ Twitter ที่เป็นสื่อที่มีอิธิพลต่อวัยรุ่นและวัยทำงาน บวกกับเลือกตั้งปี 62 ก็พบสัญญาณการมาของพรรคก้าวไกลหรือพรรคอนาคตใหม่เดิมที่ได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง จาก 8 เขตขณะนั้น ขณะที่บัญชีรายชื่อได้ 217,941 เสียงเป็นที่ 2 รองจากพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 300,329 เสียง

ขณะที่พื้นที่อำเภอเมืองชลบุรีเป็นพื้นที่สำคัญของทั้งกลุ่ม “บ้านใหญ่” และ “บ้านใหม่” ที่เป็นบ้านเกิดของทั้งสองกลุ่ม พบกับความพ่ายแพ้ ส่วนหนึ่งเกิดจากในพื้นที่มีกลุ่มวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา และคนทำงานจำนวนมาก ถึงแม้อาจจะไม่ใช่คนพื้นที่โดยกำเนิดหรือมีสิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่ แต่กลุ่มคนเหล่านี้สามารถผลิตเนื้อหาออนไลน์เกี่ยวกับก้าวไกลได้เป็นจำนวนมาก หรือเรียกกันว่า “หัวคะแนนธรรมชาติ” ภาพที่มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมากรอให้กำลังใจ รอฟังปราศรัยของพิธาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 บริเวณริมหาดบางแสน เช่นเดียวกับพื้นที่อำเภอศรีราชา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและที่พักแรงงาน  ที่อุดมไปด้วยแรงงานจำนวนมาก  และในปี 2562 อนาคตใหม่คว้าที่นั่งของเขตนี้ไป และก้าวไกลถึงแม้จะส่งผู้สมัครหน้าใหม่แต่ยังคงรักษาพื้นที่นี้ไว้ได้

ภาพบรรยากาศเวทีปราศรัยของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ศรีราชา วันที่ 30 เม.ย. 2566 (เครดิตภาพจาก FB : สหัสวัต คุ้มคง)

ผลเลือกตั้งภาพสะท้อนการเมืองแบบอุปถัมภ์ไปสู่เครือข่ายแบบใหม่

โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ในรายการ คมชัดลึก ทางช่อง Nation เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 66 ไว้ว่า กลุ่มคน กลุ่มนี้ ชีวิตทางเศรษฐกิจของเขา มันทำให้กลุ่มบ้านใหญ่และบ้านใหม่ มันไม่เพียงพอที่จะดูแลเขา เพียงแค่แจกของ ชีวิตของเขามันไปพันกับเงื่อนไขทางโครงสร้าง เรื่องของภาระหนี้สิน เรื่องของอนาคตของลูก เรื่องความมั่นคง เรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพระยะยาว ซึ่งพวกนี้กลุ่มบ้านใหญ่ตอบโจทย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นนโยบายเชิงอุดมการณ์จึงมีผล มาพร้อมกับกระแส บวกกับคนเหล่านี้ เขาอยู่ในสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แบบนี้ บริบททางการเมืองแบบนี้ มันสร้างภาพจำที่รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์เขา มันก็เลยทำให้การตัดสินใจเลือกที่พยายามยึดโยงกับนโยบายที่สร้างความมั่นคงกับอนาคตระยะยาวของเขา

ภาพความหน้าแน่นของพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม จากเพจ Industrial Estate Authority of Thailand : IEAT ซึ่งหลายพื้นที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมทั้งแบบเขตและบัญชีราชื่อ

การปรากฏตัวของชนชั้นแรงงาน และรัฐสวัสดิการจะเป็นความปกติใหม่

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กล่าวถึง ผลการเลือกตั้งกับปรากฏการณ์พรรคก้าวไกลว่า พื้นที่ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เป็นว่าที่ ส.ส.เขต เป็นพื้นที่ที่สัดส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือเป็นพื้นที่มีผู้ใช้แรงงานเยอะ ส่งผลให้พรรคก้าวไกลชนะ ส.ส.เขต นับว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีสัดส่วนของสถานประกอบการ หรือมีระดับความเป็นอุตสาหกรรมสูง มีระดับความเป็นทุนนิยมสูง

"พรรคก้าวไกลเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงาน เป็นพรรคของชนชั้นแรงงานไม่ว่าตัวพรรคจะตั้งใจหรือไม่ แต่ภาพออกมาเป็นแบบนี้ และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยว่านับจากนี้ไปคำว่า รัฐสวัสดิการ จะเป็น New Normal ของสังคมไทยแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องจินตนาการเพ้อฝันไม่ใช่เรื่องของนักอุดมคติด้วยซ้ำ" ษัษฐรัมย์กล่าวและระบุด้วยว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคของชนชั้นกลางหรือว่าไม่ได้เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เพราะพื้นที่ที่ชนะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีเด็กเยอะอย่างมีนัยสำคัญ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า คำว่ารัฐสวัสดิการจะเหมือนกับคำว่าประชาธิปไตย คนเท่ากัน สิทธิมนุษยชน นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่รัฐสวัสดิการเป็นความปกติใหม่จะสำเร็จหรือไม่อีกเรื่องแต่เป็นความปกติใหม่ของสังคม

ชนบทก็เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ ‘ชาวนา’ เปลี่ยนสถานะเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ พร้อมด้วยสำนึกแห่งความเท่าเทียมก่อตัวเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น 

ทั้งนี้ไม่เพียงแค่ในเมืองหรือเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ในชนบทคะแนนของพรรคก้าวไกลก็มาจำนวนมากด้วยเช่นกันทั้งที่มีคนประเมินว่าคะแนนพรรคก้าวไกลจะไม่ได้คะแนนในพื้นที่นี้มากนักเนื่องจากไม่มีเครือข่ายนักการเมืองเชิงพื้นที่หรือบ้านใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกันนั้นมันสะท้อนอะไรนั้น กลางเดือนมิถุนายน ประชาไทสัมภาษณ์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ ‘ลืมตาอ้าปาก จาก "ชาวนา" สู่ "ผู้ประกอบการ"’ ซึ่งวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบท เมื่อชาวนาเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ประกอบการพร้อมด้วยสำนึกแห่งความเท่าเทียมก่อตัวเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น ทำให้ความสัมพันธ์ในรูปแบบลำดับชั้นทางอำนาจง่อนแง่นโงนเงน โดยพลเมืองผู้กระตือรือร้นเรียนรู้แล้วว่ารัฐมีส่วนสำคัญให้ชีวิตพวกเขาก้าวหน้าและต้องการจัดความสัมพันธ์ใหม่กับรัฐ พรรคก้าวไกลหยิบยื่นคำตอบให้ผ่านนโยบายต่างๆ ที่จะขยับเพดานทางโครงสร้างที่กดพวกเขาเอาไว้ อรรถจักรกล่าวว่านี่เป็นโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะสร้าง ‘ระบอบเกียรติยศ’ ใหม่ที่วางอยู่บนความเท่าเทียม ขณะที่ระบอบเกียรติยศแบบเก่าที่อิงกับความจงรักภักดีก็กำลังเปลี่ยนแปลง

อรรถจักร์ กล่าวว่า สำนึกของการเป็นผู้ประกอบการมันค่อยๆ ขยับขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันเริ่มเขยิบจากสำนึกผู้ประกอบการมาเป็นสำนึกของพลเมืองผู้กระตือรือร้น การพัฒนาตรงนี้ การเปลี่ยนจากผู้ประกอบการธรรมดาที่สัมพันธ์กับ อบต. อย่างเท่าเทียมมากขึ้น มันเริ่มเปลี่ยนตัวเองมาสู่ว่าถ้าเราจะเคลื่อนย้ายทางสังคมมากกว่านี้ เราก็ต้องสัมพันธ์กับรัฐหรือรัฐต้องให้เรามากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ขึ้นมาสู่พลเมืองผู้กระตือรือร้น

จุดนี้เองมันจึงทำให้เปลี่ยนคนจำนวนมากในสังคมไทยจากการมองเห็นโอกาสของชีวิต จากนโยบายของพรรคเพื่อไทย นโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเคยให้โอกาสทางชีวิตเขาให้กลายเป็นผู้ประกอบการ แต่ขณะเดียวกันเขาเริ่มพบแล้วว่าตัวเขา ตัว voters เปลี่ยนแปลงมาเขามองเห็นแล้วว่าเขาขยับขึ้นลำบากถ้าหากโครงสร้างไม่เปิดให้เขา อันนี้เองคือพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกลุ่มคนระดับกลาง กลางล่าง และล่างอย่างมากมาย เขาขยับพ้นจากกรอบการคิดเรื่องเศรษฐกิจของเพื่อไทย

การคิดเรื่องการขยับพ้นตรงนี้จึงทำให้เขามองหาหรือรู้สึกสอดคล้องไปกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ เพราะพรรคก้าวไกลเสนอสิ่งที่เราใช้คำว่า การเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกเกณฑ์ทหาร สุราก้าวหน้า หรือความเท่าเทียมทางเพศ หรืออื่นๆ เราจะพบว่าระยะหลังก่อนเลือกตั้ง คุณพิธาและคนของพรรคก้าวไกลเองจะพูดเรื่องความเท่าเทียมในหลายที่ เขาเริ่มเห็นแล้วว่าขยับตัวเองพ้นจากเรื่องเศรษฐกิจ เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค และตนเชื่อว่าพี่น้องทั้งหมดรู้แล้วว่า 30 รักษาทุกโรคหรือสวัสดิการสาธารณสุขแบบนี้ ใครขึ้นมาก็เลิกไม่ได้ ใครมาก็ต้องทำ

เขาจึงเริ่มรู้สึกว่าอะไรที่เป็นตัวล็อกเขาไว้ และเขาพบว่าก้าวไกลคือคนที่จะปลดล็อก ลองนึกถึงลูกหลานชาวบ้านที่ทุกเมษาต้องไปวิ่งหาปลัดขิก ไปเอาผ้าถุงแม่มาคลุมหัวเพื่อไปเลือกตั้ง ขณะที่คนในเมืองไม่ต้อง ทั้งหมดนี้คือเขาเริ่มรับรู้และเริ่มตระหนักว่ามันต้องแก้ที่อะไรสักอย่าง แล้วพรรคก้าวไกลมาโดนใจ

“เขาอาจจะไม่ได้คิดถึงโครงสร้าง เพียงแต่เขารู้สึกว่ามันต้องเปลี่ยนเรื่องนี้ เช่น สุราเท่าเทียม เราพูดกันมานาน ปี 2540 พวกเราที่เชียงใหม่สู้เรื่องเหล้าเท่าเทียมมานาน สิ่งที่ชาวบ้านเขารู้สึกคือ เอ๊ะ ทำไมวะแม่โขงถึงขายได้อย่างเดียว ทำไมเราทำขายไม่ได้ ทำไมเราต้องกินเหล้าขาวของโรงงาน เขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมนี้ซึ่งท้ายสุดแล้วเขาอาจจะไม่ได้คิดเรื่องโครงสร้างอะไร แต่เขารู้สึกว่า เฮ้ย มันต้องเอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องนี้ออกไปและก้าวไกลมาเสนอคำตอบให้กับความรู้สึกเขา” อรรถจักร์ อธิบาย

ภาพผลการเลือกตั้งในพื้นที่ กรุงเทพฯ เมื่อปี 54 ภายใต้ระบบ winner take all ทำให้คนเข้าใจว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชนะพรรคเพื่อไทยไป 23 : 10 เขต แต่เมื่อดูจำนวนเสียงสนับสนุนแล้ว พบว่า พรรคประชาธิปัตย์  1.277 ล้าน หรือ 44.64% ขณะที่เลือกพรรคเพื่อไทย หากกันเพียง 6 หมื่นกว่าเสียง หรือ 1.209 ล้าน  หรือ 42.26% เท่านั้น ยังไม่รวมแรงงานแฝงที่เป็นคนที่ไม่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพหรือเขตเมืองอีก 50% 

การทํางาน กระแสพรรค นโยบาย รวมทั้งจุดยืนปิดสวิตซ์ 3 ป.

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ยืนยันคือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมานั้น คือพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยกุมไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฎการณ์พลิกผัน เมื่อพรรคก้าวไกล กวาด ส.ส.เชียงใหม่ ได้มากถึง 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต โดยพรรคเพื่อไทยสามารถรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ 2 เขตเท่านั้น จนทำให้หักปากเซียนผลโพลหลายสำนัก หลายนักวิชาการ โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ไว้ว่า คือต้องยอมรับก่อนนะว่าเราย้อนกลับไปตั้งแต่มีพรรคไทยรักไทย ผ่านการเลือกตั้งมา 5 ครั้งเคยชนะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เคยแพ้แค่ 3 ที่นั่ง หมายถึงในการเลือกตั้ง 5 ครั้ง พรรคเพื่อไทยเคยแพ้แค่ 3 ที่นั่งให้กับพรรคอื่น

ผลเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค.2566 ระบบเขตพื้นที่ภาคเหนือ สีส้มคือพื้นที่ที่พรรคก้าวไกลได้ สส. เขต

“แต่ว่าการเลือกตั้ง 2566 นี้ ผมก็มองว่าโอกาสของก้าวไกล  ถ้าเราย้อนดูเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 จะเห็นว่า มีทางเดียวก็คือ จะชนะได้ในเขตเมือง อันนี้คือความเชื่อผมเป็นแบบนั้น  แต่ปรากฏว่าพอมารอบนี้ มันกลับกัน คือ 10 เขต ก้าวไกลชนะไป 7 เขต และก้าวไกลไปชนะในพื้นที่ที่ไม่เป็นเขตเมืองด้วย ก็คือเข้าไปชนะที่เขต 6 เชียงดาว ไปชนะที่เขต 7 ฝาง อันนี้คือ surprise ของผมเลยทีเดียว ทีนี้ถามว่าแล้วมันมีอะไรที่ทําให้ก้าวไกลชนะขนาดนั้น ในทางกลับกัน ก็คือเพื่อไทยแพ้ แพ้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมคิดว่ามันมี 2 ประเด็น คือหนึ่ง ปัจจัยร่วม คือผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นกระแสระดับประเทศ เป็นปรากฏการณ์ร่วมกันทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ผมเรียกว่าเป็นปัจจัยร่วม ซึ่งมันก็เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ไม่ต่างกับพื้นที่อื่นๆ เหมือนอย่างที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แกบอกว่า ดูเฉพาะบัญชีรายชื่อนะครับ ก้าวไกล ชนะทั่วประเทศ 14 ล้านเสียง 43 จังหวัด ก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 คือหมายความว่าเกินครึ่งของประเทศ  ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ประชาชนเขาเลือกก้าวไกล”

ณัฐกร บอกว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ส่วนที่พื้นที่ที่เหลือ ต่อให้ก้าวไกล ไม่ได้อันดับ 1 ก้าวไกลก็มาเป็นอันดับที่ 2 แทบทุกพื้นที่ คือพูดง่ายๆ ก็คือความนิยมของก้าวไกลในระดับภาพรวมทั้งประเทศมีสูงมาก ทีนี้มันน่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ในจังหวัดที่แม้ก้าวไกล เขาไม่ได้ ส.ส. เขต แม้แต่คนเดียว มีประมาณ 21 จังหวัด ที่เขาไม่ได้ ส.ส. เขตเลยแต่ก้าวไกลได้ปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นอันดับ 1 แล้วจังหวัดพวกนี้ ล้วนเป็นจังหวัดแบบที่เป็นบ้านใหญ่ทั้งนั้นเลย มีทั้งบุรีรัมย์, อุทัยธานี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี,กําแพงเพชร ซึ่งล้วนเป็นบ้านใหญ่ชนะ ส.ส.เขต แบบยกจังหวัด แต่พอเป็นปาร์ตี้ลิสต์ คนเขากลับเลือกก้าวไกล อันนี้ ผมคิดว่า มองเป็นปัจจัยร่วมได้

“ทีนี้ปัจจัยร่วม มันเกิดจากอะไรบ้าง? ผมคิดว่า หนึ่งเลย คือเกิดจากการทํางาน เกิดจากกระแสพรรค ทีนี้ถามว่ากระแสพรรคมันเกิดจากอะไร? มันเกิดจากหลายอย่างประกอบกัน คือ เกิดจากการทํางานที่ผ่านมา ตั้งแต่เป็นอนาคตใหม่ ถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกยุบพรรค ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ)ไม่ได้ ธนาธรไม่มีโอกาสได้เข้าสภา ถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่โดนคดีหุ้นสื่อ ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ทั้งหมดนี้ รวมถึงโดนดูด เจองูเห่า เจอแจกกล้วย ผมคิดว่ามันเป็นความคล้ายๆ กับความคับข้องหมองใจ ความอัดอั้นที่ถูกสั่งสมมาของประชาชน อันนี้ส่วนหนึ่งทําให้กระแสพรรคก้าวไกลดีขึ้น และที่สําคัญก็คือการทํางานของตัวผู้สมัครของ ส.ส. ที่เป็นอดีตของอนาคตใหม่ในสภา แต่คือเขาได้เปลี่ยนมุมมองของประชาชนที่มีต่อสภาวะสภา คือด้วยระบบมันเป็นระบบรัฐสภา เขามองว่าอํานาจจริงมันอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ก็คือฝั่งของ ครม. นายกรัฐมนตรี แต่สภาไม่มีน้ำยา เขามองอย่างนั้น เพราะมันเป็นเหมือนกับว่า อนาคตใหม่ได้ใช้กลไกสภาในการทําหน้าที่อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งความพยายามในการผลักดันกฎหมาย แม้ไม่สําเร็จ เช่น สมรสเท่าเทียม, สุราก้าวหน้า รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่นต่างๆ ก้าวไกลพยายามใช้กลไกสภาแต่ไม่สําเร็จ เนื่องจากไม่มีเสียงข้างมาก”

ณัฐกร บอกอีกว่า แต่อีกส่วนหนึ่ง ที่เราเห็นเขาแข่งขันมากก็คือ ใช้กลไกของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเมื่อก่อน มันก็จะดู เป็นแบบคล้ายๆ ที่นั่งจิบชา กาแฟ นั่งพบปะสังสรรค์กันของ ส.ส. แต่ไม่ได้ถูกใช้เป็นกลไกในการที่จะไปตรวจสอบการทํางานของรัฐบาล แต่ว่าพอก้าวไกล มาเป็น ส.ส. ครั้งแรก ก็ได้ ส.ส.มาก็ใช้กลไกกรรมาธิการ ที่มันเคยถูกมองข้ามมาก่อนอย่างได้ผล ในหลายหลายกรณีที่มันมีเรื่องมีราวเกิดขึ้น ก็ใช้กลไกตรงนี้เข้าไปตรวจสอบ อันนี้ ผมคิดว่าทั้งหมด มันประกอบกันเป็นกระแสพรรค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สําคัญที่สุด คือ กระแสของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าพิธา นั้นมีลักษณะดึงดูดใจ คือไม่ได้เป็นแค่นักการเมืองที่พูดเก่ง แต่ว่ามีบุคลิกลักษณะท่าทางที่มันมีความเป็นดารา ความเป็น Super Star อยู่  ซึ่งถามว่ามันเหมือนกับกระแสฟ้ารักพ่อ สมัยธนาธร แล้วผมคิดว่ามันยิ่งเป็นกระแสมากกว่าเยอะ คือมีแม่ยกหลายเพศหลายวัย หลายกลุ่มอายุที่ค่อนข้างจะชื่นชอบพิธา 

ณัฐกร วิเคราะห์ให้เห็นภาพอีกว่า ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือเรื่องนโยบายของพรรคก้าวไกล มีนโยบายเป็น 300 เรื่อง แต่ว่า นโยบายของก้าวไกล มันจะมีความต่างจากนโยบายของพรรคอื่นก็คือ อันนี้พูดเฉพาะนโยบายหาเสียง คือเขามีนโยบายเยอะจริง แต่นโยบายที่มันกล้าถึงขั้นเอาไปขึ้นป้าย ในขณะที่พรรคอื่นจะเลี่ยงที่จะแตะเรื่องประเด็นที่มันอ่อนไหวเขาก็จะพูดแต่ตัวเลขเศรษฐกิจ พูดเรื่องอะไรประมาณนั้น

“แต่ว่าของก้าวไกล มันมีเรื่องปิดสวิตซ์ 3 ป. มีเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร มีเรื่องทลายทุนผูกขาด มีเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในขณะ เพื่อไทยมีนโยบายเหมือนกันในเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม แต่เพื่อไทยไม่กล้าขึ้นป้าย ดังนั้น ในป้ายหาเสียงของก้าวไกลเอง มันก็ทําให้นโยบายที่พรรคอื่นเลี่ยงที่จะพูดถึง มันถูกขับเน้น ทั้งๆ ที่พรรคอื่นก็มีเรื่องนโยบายพวกนี้ ไม่ต่างกันมาก แต่ว่าไม่ได้เน้น เพราะจะคิดว่าประชาชนเขาไปจดจ่อเรื่องเศรษฐกิจ ก็ไปเน้นทางนั้น แต่ก้าวไกลมันมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจแล้วก็รวมถึงเรื่องพวกนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ ผมเรียกว่าเป็นปัจจัยร่วม” ณัฐกร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net