Skip to main content
sharethis

มลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้กิตติ มีชัยเขตต์ ครูสอนการแสดง ต้องจากถิ่นที่อยู่ไปมาระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ แต่ในที่สุดเขาก็พบว่านั่นไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย จึงคิดหาหนทางด้วยวิธีการที่เขาถนัดที่สุดนั่นคือ ใช้ละครเวทีเพื่อปลุกสำนึกผู้คนให้หันมาสนใจและหาทางแก้ไขปัญหาน่าจะดีกว่า การเร่ร่อนหลีกหนีเป็นแน่แท้

สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นเลวร้ายและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่ฤดูแล้งทุกปีวัดค่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นมลพิษสูงติดอันดับโลก ที่ผ่านมามีการเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนให้มากยิ่งขึ้น อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมที่ออกมาทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยรายงานข่าวภายใต้โครงการ “ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ” ชวนอ่านบทสนทนากับภาคประชาสังคม เอกชน และส่วนราชการในเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือตอนบน เรื่องการรับมือปัญหามลพิษทางอากาศ รวมไปถึงมุมมองต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแบ่งนำเสนอทั้งหมด 5 ตอน

ภาคเหนือรับมือ PM2.5 (1) หน้ากาก Masqura X และนวัตกรรมป้องกันอากาศพิษ, 8 มี.ค. 67

ภาคเหนือรับมือ PM2.5 (2) ละครเวทีเล่าเรื่องเมืองฝุ่นพิษ, 14 มี.ค. 67

ภาคเหนือรับมือ PM2.5 (3) เปลี่ยนจากงดเผาสิ้นเชิง เป็นคุมไฟ ใช้ไฟ, 24 มี.ค. 67

มลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้กิตติ มีชัยเขตต์ ครูสอนการแสดง ต้องจากถิ่นที่อยู่ไปมาระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ แต่ในที่สุดเขาก็พบว่านั่นไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย จึงคิดหาหนทางด้วยวิธีการที่เขาถนัดที่สุดนั่นคือ ใช้ละครเวทีเพื่อปลุกสำนึกผู้คนให้หันมาสนใจและหาทางแก้ไขปัญหาน่าจะดีกว่า การเร่ร่อนหลีกหนีเป็นแน่แท้ 

กิตติเป็นนักแสดงอิสระ ผู้ศึกษาและทำงานด้านศิลปะการแสดงมากว่า 20 ปี อดีตอาจารย์สอนการแสดง เขียนบท และกำกับการแสดง ที่ผันตัวเป็นนักการละครอิสระ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะการแสดง Base Performing Arts : BPA ที่เชียงใหม่ ซึ่งเปิดรับนักแสดงหน้าใหม่และผลิตการแสดงใหม่ๆ อยู่เสมอ 

เขาเคยใช้ชีวิตในเชียงใหม่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งก็เป็นเวลาที่ฝุ่น PM 2.5 เริ่มปกคลุมรุมเร้าเมืองเชียงใหม่หนักข้อขึ้นทุกทีแล้ว มลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่มีผลต่อสุขภาพ เขาจึงตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ที่กรุงเทพฯเมืองหลวงอีกครั้งและเริ่มได้คิดว่า เขาจะใช้ศิลปะการแสดงเป็นสื่อถ่ายทอดปัญหานี้อย่างไร จึงได้รวบรวมข้อมูลและกลับมายังเชียงใหม่อีกครั้ง 

ละครเวทีในเรื่องนี้เรียกว่าละครเวทีสารคดี เนื่องจากผู้จัดอยากถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง สะท้อนเสียงของคนในสังคม และเผยให้เห็นมุมมองที่ขัดแย้งของคนในสังคมที่ว่าจะตื่นตัวเมื่อปัญหานี้เข้ามาใกล้ตัวเอง โดยในการแสดงยังมีความบันเทิงหลากหลายอารมณ์อีกด้วย 

กิตติรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งสัมภาษณ์ผู้คน บทความออนไลน์ คอลัมนิสต์ สารคดีต่างๆ เมื่อเอาข้อมูลมาวางเรียงกันก็จะเห็นว่าใครปะทะกับใคร ใครที่อยากจะพูดถึง ซึ่งพบว่าตัวละครเยอะมากเกินกว่าจะสามารถนำมาถ่ายทอดได้ทั้งหมด

ละครเวทีนี้เน้นลักษณะที่นำเสนอแบบคู่ขัดแย้งเป็นหลัก หัวใจสำคัญของความสนุกจึงเป็นการปะทะกันของคู่ขัดแย้ง อีกทั้งยังมีการให้คนดูมีส่วนร่วมในละคร โดยการให้อ่านข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์หรือรวบรวมตามแหล่งต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้จริงๆ และสะท้อนว่าคิดเห็นอย่างไรต่อปัญหานี้บ้าง

ละครเวทีสารคดี “เสียงร้องขอของในเมืองฝุ่นพิษ PM2.5” เปิดรอบการแสดงด้วยกัน 4 รอบ ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม จนถึง 14 สิงหาคม 2566 (ที่มา: วิชชากร นวลฝั้น)

จากการแสดงละครเวทีสารคดี “เสียงร้องขอของในเมืองฝุ่นพิษ PM2.5” ที่ผ่านมามีการเปิดรอบการแสดงด้วยกัน 4 รอบ ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม จนถึง 14 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมหลากหลายช่วงวัย และมีการเล่าประสบการณ์เรื่องฝุ่นควันอย่างแตกต่างหลากหลายด้วยกัน เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนและจัดทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวโดยเริ่มป้องกันและแก้ไขที่ตัวเราก่อน สถานการณ์ในอนาคตอาจจะดีขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงและตื่นตัวของผู้คน 

ส่วนตัวกิตติมองว่ามันเป็นปัญหาทางพื้นที่ มันมีโอกาสลดปัญหาเหล่านี้ได้หากมีการจัดการทางพื้นที่ที่ดี โดยเฉพาะการจัดการการเผาแต่ไม่ใช่การห้ามเผาเสียทั้งหมด ซึ่งความจริงแล้วในส่วนท้องถิ่นเชียงใหม่จัดการได้ดีพอควร แต่ที่เป็นปัญหาหนักเพราะฝุ่นควันพวกนี้ลอยข้ามพรหมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

“ภาคประชาสังคมของเชียงใหม่แข็งแรงมาก แต่ถึงภาพรวมเชียงใหม่จะจัดการได้ดีแต่ยังอยากให้รัฐส่วนกลางถ่ายโอนอำนาจหรือยินยอมบางอย่างให้เราจัดการเอง” กิตติ กล่าว

เขาบอกว่า ถ้าหากได้รับทุนจะผลิตละครเร่เด็กเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เนื่องจากเห็นปัญหาว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าเด็กใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มองว่าเด็กอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องฝุ่นจริงๆ เด็กยังมีการทำกิจกรรม การเล่นกลางแจ้งที่ต้องเผชิญกับฝุ่นอยู่ตลอด จึงเป็นที่มาของละครเร่เด็กที่จะทำให้เด็กตระหนักและรู้ถึงพิษภัยของฝุ่น โดยให้ความรู้ควบคู่กับความบันเทิงไปด้วย

สุดท้าย คาดหวังอยากให้คนดูช่วยกัน อยากให้คนดูตระหนักถึง พร้อมกับสนุกกับข้อมูลใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่าง มุมมองบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net