Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ผู้ศึกษากระบวนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจิตเวชในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสวัสดิการของรัฐ พร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ผ่านประสบการณ์การรักษาจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทุกเดือนจากค่ายารักษา เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ หลังต้นเดือนก่อน สส.ก้าวไกลเปิดประเด็นนี้ในสภา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

“วันที่ 5 มกราคม 2566 สิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายถึงงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงสาธารณสุข ว่า จากนโยบายที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงกับประชาชน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้หยิบยกประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติดให้เป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 13 นโยบาย ยกระดับ 30 บาทพลัส เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้น้ำหนักไปที่อาการของผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติดมากกว่าปัญหาสุขภาพจิตปกติที่เป็นวิกฤตเหมือนกัน” (ภาพและเนื้อข่าวจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/33567)

หลังจาก สส.ก้าวไกลเปิดประเด็นดังกล่าวในสภา สิ่งที่ตามมาคือกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหานี้ในสังคมออนไลน์และเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ผู้ป่วยซึมเศร้า และกระบวนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือสวัสดิการของรัฐ จึงชวนผู้อ่านไปพูดคุยกับกลุ่มคนที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยตรง ผู้ผ่านประสบการณ์การรักษาจิตเวชในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทุกเดือนจากค่ายารักษา

3 กลุ่มป่วยโรคซึมเศร้า และสิทธิที่มีอยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ฐิตินบ โกมลนิมิ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า ระบุว่า ในวัฎจักรของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีคนอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่มหลัก   คือ 

  1. คนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนอาการปรากฏแล้วและไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาล
  2. คนที่รู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล และ  
  3. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ระหว่างการรักษาและทุกข์อยู่กับระบบสุขภาพอย่างเดียวดาย

​“หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษานั้น หรือจำเป็นต้องได้รับยานอกบัญชีฯ การเรียกเก็บค่าส่วนต่างถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุไว้ว่า สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล  ‘ไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม’ หรือ ‘เรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนดไว้’ (Extra Billing) จากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการร้องเรียนกับ สปสช. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคจำนวนมาก”

ฐิตินบ โกมลนิมิ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า

​ฐิตินบ ในฐานะผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้วิจัยระบุว่า ได้รับการวินัจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงที่กลับมาป่วยซ้ำหลายครั้ง และมีแนวโน้มต้องกินยาต้านเศร้าประคองอาการไปตลอดชีวิต ซึ่งป่วยมาแล้ว 8 ปี โดยเฉพาะ 4 ปี หลังจำเป็นต้องพึ่งพาบริการบัตรทองแต่ถูกเรียกเก็บเงินยานอกบัญชียามาเกือบตลอด เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเจรจากับหน่วยบริการโดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์กับแพทย์ผู้รักษา ทำให้การรักษาพยาบาล 3 ครั้งหลังไม่ต้องจ่ายเงินแล้ว 

​“สิทธิที่เรามีอยู่แล้ว แต่เรากลับต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินั้นมาและมีผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่รู้ ไม่กล้าเจรจากับแพทย์ผู้รักษา”

เกิดประเด็นเรื่องสุขภาพจิตสำคัญอย่างไร และทำไมจึงต้องเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญ บทความนี้จะเล่าผ่านประสบการณ์ของผูป่วยจิตเวชส่วนเล็กๆที่อนุญาตให้เปิดเผยเรื่องราวการรักษา เป็นเพียงยแค่บุคคลส่วนน้อยของู้ป่วยจิตเวชอีกมากมายในสังคมไทยที่สามารถเล่าเรื่องราวการรักษา และความเจ็บป่วยของโรคจิตเวชได้ว่าเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญ

เรารักษาเพื่อไปทำงานหาเงินแล้วมารักษาต่อ

ภาพวาด ภัทร คะชะนา

“การที่เราป่วยเป็นจิตเวช มันถูกผลักให้เป็นภาระของผู้ป่วยเองในการดูแลตัวเอง เพื่อไปหาเงินมาดูแลตัวเอง จ่ายค่ารักษาทุกเดือนเพื่อออกไปหาเงินมาจ่ายค่ายา ชีวิตมันวนแบบนี้พร้อมค่าใช้จ่ายจิตเวชที่กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำทุกเดือน”

ภัทร คะชะนา แรงงานนอกระบบหรือฟรีแลนซ์ หนึ่งในผู้ผ่านประสบการณ์การรักษาจิตเวชที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทุกเดือนจากค่ายารักษาจิตเวช

“การกินยามันก็ช่วยให้เราออกไปทำงานเพื่อหาเงินมารักษาได้ แต่ก็เป็นภาระทุกเดือน ถ้าทำงานเป็นแรงงานเงินเดือนอาจจะพอจ่ายไหว แต่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการแบบเราก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่หนักหนาอยู่”

ภัทร เล่าว่า การที่ได้กินยาจิตเวชก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้นอนหลับ ผ่อนคลายได้ แต่ไม่ได้หายขาด และต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง บางคนอาจแค่ไม่กี่ปี แต่อาการแต่ละคนของผู้จิตเวชก็ไม่มีเหมือนกัน ในใจ ประสบการณ์เลวร้ายต่างๆที่เผชิญบนสังคมนี้ทำให้กลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวช ดังนั้นค่าใช้จ่ายยารักษาผู้ป่วยจิตเวชจึงกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ที่ไม่สามารถตอบได้ว่าแต่ละคนต้องจ่ายไปอีกนานแค่ไหน

“แม้แต่การเข้าถึงนักจิตวิทยา ก็เป็นเรื่องยาก เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมาก ทำให้หลายครั้งที่ต้องไปรอ เราเสียโอกาสในการทำงาน เพื่อหาเงินมาจ่ายค่ายาอีก มันยิ่งทับถมให้เราเครียดกับเรื่องค่าใช้จ่าย สุดท้ายเราก็เลิกหาหมอเพราะค่าใช้จ่ายและการสูญเสียรายได้ไป”

ภัทร เล่าถึงประสบการณ์การไปหาหมอจิตเวชในรพ.รัฐ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเยอะ และบางครั้งที่อาการของเขาแย่ลงมากๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เพราะต้องรอถึงสามเดือน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายและการสูญเสียเวลาทำงาน ยิ่งทำให้ตัวเขาที่อาการแย่อยู่แล้วมาเจอความเครียดในการเข้าถึงการรักษา ก็ยิ่งทำให้อาการแย่ลง

“ดังนั้นคนที่มีกำลังเงินและเวลาก็จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษา ถ้ารัฐให้ความสำคัญจริงๆมันต้องเป็นการรักษาที่ฟรีทุกตัว และทุกกลุ่มโรคจิตเวชต้องเป็นรัฐสวัสดิการ”

มองโลกในแง่ดี

“การที่เราป่วยมันเพราะเรามองโลกในแง่ลบเกินไป ต้องมองแบบนี้ถึงดีขึ้น แต่ทำไมการรักษามันกลายมาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่ต้องมองในแง่ดี ต้องคิดในแง่ดี ทั้งๆที่ความเป็นจริงสภาพเศรษฐกิจมันแย่จนหางานทำแทบไม่ได้ กลายเป็นวาทกรรมต่อผู้ป่วยจิตเวชต่างๆ แต่การรักษาทำไมไม่อยู่ในการดูแลของรัฐ เพราะแต่ละวันที่ออกไปทำงาน เจอสังคม มันก็เกิดความเครียด ความรู้สึกแย่ได้ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรารู้สึก แต่เพราะสถานการณ์ที่ไปเจอในสังคมมันกระตุ้นให้อาการแย่ลง”

ภาพถ่ายเชิงศิลปะสะท้อนภาวะซึมเศร้า โดย ภัทร คะชะนา

ภัทรเล่าว่า ยารักษาจิตเวชที่ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายก็เป็นการทับถมผู้ป่วย หากมองชีวิตปัจเจกบุคคลในแต่ละวัน ทุกคนต้องตื่นออกมาทำงาน ออกมาใช้ชีวิตเจอสังคม และเรื่องราวต่างๆ เสร็จจากงานก็กลับบ้าน พร้อมความรู้สึกที่ได้รับมาตลอดทั้งวัน ยิ่งถ้าไม่สามารถระบายหรือพูดคุยกับใครได้ และยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายยาจิตเวชอีก ก็ยิ่งทำให้อาการแย่ลงไปอีก

“เราไปนั่งทำบุญ ทำสมาธิ เป็นเรื่องที่ต้องดูแลตัวเอง จัดการตัวเองดีก็ไม่ต้องหาหมอ เป็นเพราะตัวเราทั้งนั้น เป็นวาทกรรมที่ทำให้ปัจเจกบุคคลต้องดูแลตัวเองเกลื่อนกลาดในสังคม เราไม่ได้ปฎิเสธเคมีในสมองนะ แต่เรื่องราวแย่ๆที่เข้ามาก็มาจากสังคม ใครจะไปคิดบวกได้ตลอดเวลา เช่นไปทำงาน เจอเจ้านายที่แย่ ค่าแรงน้อย ก็ยิ่งสะสมความเครียด ไหนจะค่าใช้จ่ายรายวัน ค่ายารายเดือนอีก”

คุณภัทรอธิบายว่า แม้เราจะมองโลกในแง่ดีแค่ไหน แต่ไม่มีใครสามารถทำได้ตลอดเวลา ไปเจอความแย่ๆในสังคมที่เราต้องออกไปทำงานใช้ชีวิต 

และคุณภัทรอธิบายเพิ่มว่า ในสภาวะระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ก็ทำให้คนต้องดิ้นรนกันแบบนี้ แต่ระบบเศรษฐกิจแบบนี้มันส่งผลต่อสุขภาพจิตเราด้วยหรือไม่ มันควรอยู่ในการดูแลของรัฐด้วยหรือไม่ เพราะคนต้องอดทนกับระบบเศรษฐกิจแบบนี้ในทุกๆวัน 

“ถ้าในกรุงเทพ ตื่นเช้าแจ่มใสออกไปทำงาน ไปเจอรถติด แย่งกันขึ้นขนส่งสาธารณะ ไปเจอสภาพแวดล้อมแย่ๆในที่ทำงาน แล้วก็กลับบ้านมากินยา นอนหลับ เพื่อพรุ่งนี้ไปเจอสภาวะเช่นนี้อีกทุกวัน” ภัทร กล่าวและเสริมว่า การป่วยของแต่ละคนมันซับซ้อนแต่มันเกี่ยวข้องสังคมแน่นอน 

“เพราะเราต้องอยู่ในระบบเศรศฐกิจที่ทำงานหนัก เอาตัวรอดสูง ในคนอายุประมาณ 30 และน้อยกว่าเราลงไปมักจะมีคำถามว่า เรียนไปจะตกงานไหม ความเครียดมันเกิดขึ้นในสังคมได้ทุกแบบ สังคมการเมืองและเศรษฐกิจแบบนี้ที่ทำให้ผู้ชนะจากการเอาตัวรอดมีน้อยกว่าผู้แพ้ที่เกลื่อนในสังคม ซึ่งอาจไม่ได้เป็นแค่บ้านเรา แต่อาจเป็นทั้งโลก” ภัทร กล่าว และเรียกระแบบเศรษฐกิจแบบนี้ว่า เป็นระบบเศรษฐกิจที่คลั่งความสำเร็จกับความขยัน 

“การที่มีวาทกรรมดูแลตัวเอง มันได้แยกให้เป็น ตัวมึงของมึง ตัวกูของกู มันล้นจนเกินไป จนทำให้ลืมไปว่าการป่วยอาจจะเพราะสภาพแวดล้อม สิ่งที่เติบโตและพบเจอก็ได้” ภัทร กล่าวพร้อมอธิบายว่า บางเรื่องที่ไม่สามารถผ่านไปได้ด้วยตัวคนเดียวเพราะเกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องราวแย่ๆ ทำให้ปัจเจกบุคคลไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยคนเดียวได้ 

และวาทกรรมให้ดูแลตัวเองก็นับว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งในสายตาของภัทร และกล่าวด้วยว่า “ประโยคจากหนังสือเล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อัตราคนป่วยโรคซึมเศร้าจะเพิ่มสูงขึ้น”

“การที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นย่อมเกี่ยวข้องกับสังคม และเป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแล ให้ความสำคัญเรื่องนี้จริงจัง” ภัทรทิ้งท้าย

ไม่มีใครอยากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

ภาพ กรกนก คำตา 

“เรารักษามา 5 ปี ช่วงแรกรักษาที่รพ.ศรีธัญญา ซึ่งปัจจุบันเราไม่ได้รักษาที่นั่นเพราะมันมีเอฟเฟคของยา ปวดหัว ภาววะบ้านหมุน ทนไม่ได้ น้ำหนักขึ้นเยอะมาก และมันทำให้เราขาดยาไม่ได้ เคยยุ่งจนไม่มีเวลาไปหาหมอ เพื่อรับยา แล้วปวดหัวจากการขาดยาจนทนไม่ไหวเลยต้องไปให้ฉุกเฉินของรพ.ศรีธัญญา แต่โรงพยาบาลก็ปฏิเสธไม่รับเข้าอาการฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลว่ายาต้านเศร้าไม่มีเอฟเฟคที่รุนแรงแบบนี้ แม้เราจะยืนยันแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายก็มาใหม่ในวันเวลาทำการ” กรกนก คำตา อีกหนึ่งคนที่ผ่านประสบการณ์การรักษาและยังรักษาจิตเวช โรคซึมเศร้าอยู่กล่าว 

เธอเล่าว่า ตอนป่วย 2 ปีแรกเธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยใช้สิทธิ 30 บาท ในการส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดให้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมีค่าใช้จ่ายเป็น ค่ายาอยู่ที่ 2,000 ค่าจิตบำบัด 300 บาท ทำให้ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลต้นสังกัดก่อนไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญาเป็นประจำ เกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางซ้ำซ้อน และยาที่ใช้รักษาเธอ ก็ไม่ได้ถูกจัดเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นค่าใช้จ่าย 2,000 กว่าบาทต่อเดือน

“หลังจากรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญามาประมาณ 2 ปี เรารู้สึกว่าอาการเราไม่ดีขึ้น ไม่มีแรงลุกมาทำงาน ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้ เลยลองหาวิธีรักษาแบบอื่นที่น่าจะช่วยให้อาการดีขึ้น ก็มีเพื่อนแนะนำคลินิคเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนามา ซึ่งอาการเราก็ดีขึ้น อาการเราเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก”

กรกกนก เล่าว่าการที่เธอรักษาอยู่ที่รพ.ศรีธัญญาทำให้อาการของเธอทรงตัว มีชีวิตได้ แต่ไม่ได้ดีขึ้นถึงขนาดที่จะกลับมามีชีวิต ทำงานได้ตามปกติ และด้วยค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 2,000 บาท และขั้นตอนการส่งตัวไปรักษา ทำให้เธอเลือกมองหาทางอื่นในการรักษาแทน และได้รับคำแนะนำจากเพื่อนว่าคลินิคเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนารักษาได้ดี เธอเลยเลือกลองไปรักษาที่คลินิคเอกชนแทน

ซึ่งผลลัพธ์ของการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้อาการของ กรกนก ดีขึ้นอย่างมาก แต่แลกมากับค่าใช้จ่าย 6,000 ต่อเดือน รวมค่ายาและค่ารักษาจากหมอ 

“อาการดีขึ้นมาก อาการต่างไปเลย ทำงานได้ ใช้ชีวิตประจำวันได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้มาากขึ้น ทำอะไรได้ดีมากขึ้น อาการดิ่งน้อยลงมาก และน้ำหนักกลับมาปกติเท่าตอนก่อนกินยาที่รพ.ศรีธัญญา”

กรกกนกเล่าว่าค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่อาการของเธอก็ดีขึ้นมากเช่นกัน เธอเริ่มรักษาคลินิคเอกชน ด้วยยา 5 ตัว และรักษาต่อเนื่อง ปัจจุบันลดยาเหลือ 4 ตัว เพราะอาการของเธอดีขึ้นเรื่อยๆเอง

“เราเคยถามหมอที่รพ.ศรีธัญญาว่า ทำไมน้ำหนักเราขึ้นเยอะ หมอตอบเราว่าก็ลดการกินข้าวลง อย่ากินตามใจ” 

กรกนกอธิบายว่าเธอได้นำเรื่องยาเก่าที่กินจากโรงพยาบาลศรีธัญญาไปปรึกษาหมอที่คลินิคเอกชน และได้รับคำตอบว่า หากผู้ป่วยรับยาแล้วมีเอฟเฟคของยาที่ทำให้กังวล ผู้ป่วยสามารถขอเปลี่ยนยาได้ แต่โรงพยาบาลศรีธัญญาก็ไม่ได้เปลี่ยนให้เธอ และนอกจากนั้นหมอยังอธิบายแก่ กรกนก ว่ายาที่เธอเคยใช้รักษาเป็นยาที่ค่อนข้างเก่า ปัจจุบันไม่นิยมมารักษาคนไข้เพราะมียาตัวอื่นที่เอฟเฟคของยาน้อยกว่าเข้ามาแทนที่ยาเหล่านี้

ภาพใบสั่งยาของกรกนก คำตาจากคลินิค เพื่อไปซื้อยาจากเภสัช

“ค่าใช้จ่ายล้นมือมาก 6,000ต่อเดือนคือค่ารักษา ค่าใช้จ่ายในชีวิตเราอีก เงินเดือนแทบไม่พอหมุน แล้วมีช่วงหนึ่งที่เราเครียดจากการทำงานที่หนึ่ง เราเลยลาออก หมอกลัวว่าการขาดรายได้จะทำให้ย่ิงสะสมความเครียด หมอเลยหาทางออกให้โดยการใช้ใบสั่งยาหมอไปซื้อยาจากคลินิกข้างนอกแทน”

กรกนกเล่าว่า การไปซื้อยาที่ร้านยาส่งก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปเล็กน้อย เหลือประมาณ 4,000 กว่าบาทต่อเดือน

“เราคิดว่าค่ารักษาจิตเวชของเราต่อเดือนสามารถนำไปผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ได้เลยนะ แต่เรามาแบกค่าใช้จ่ายเองทั้งๆที่มันเป็นเรื่องสุขภาพ มีทั้งสิทธิ 30 บาท แต่โรคซึมเศร้าได้แค่ยาทั่วไป ซึ่งถ้าคุณไม่มีเงินจ่ายยานอกบัญชีก็แล้วแต่ว่าคุณจะไปตายเอาดาบหน้า หรือจะฆ่าตัวตาย หรือจะหาเงินเยอะๆเพื่อไปรักษาที่เอกชนแพงๆ ซึ่งทำไมยาพวกนี้ที่มีคุณภาพโรงพยาบาลรัฐไม่เคยจ่ายยาพวกนี้ ต้องไปหาที่โรงพยาบาลเอกชน หมอในโรงพยาบาลรัฐเหมือนไม่อัปเดทว่ามีตัวยาใหม่ๆบนโลกนี้ที่ดีกว่า”

กรกนกเล่าว่า หากยาปัจจุบันที่เธอใช้รักษาจากคลินิคเอกชน เข้าไปอยู่ในยานอกบัญชีของรัฐก็ยังดี เพราะค่ารักษาก็จะถูกกว่า แต่สิ่งที่เธอคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องรัฐต้องทำอย่างจริงจังคือ การให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงการรักษา ด้วยตัวยาที่มีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

“เพราะหากยังต้องหาเงินมารักษาด้วยยาแพงๆ แล้วก็ออกไปทำงานมาจ่ายค่ายา วนไปแบบนี้ ถ้าเราเกิดไม่มีเงินขึ้นมาจะทำยังไง ต้องมีเงินเท่านั้นถึงจะเข้าถึงการรักษาที่ดีได้หรือ” เธอกล่าาว

รัฐปล่อยผู้ป่วยยโรคจิตเวชไปตามยถากรรม

ภาพใบเสร็จยารักษาโรคซึมเศร้าของกรกนก คำตา

“รัฐผลักให้ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ อย่างโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบเอง มันทำให้เราเสียโอกาสที่จะนำเงินที่รักษาต่อเดือนไปทำอย่างอื่นในชีวิตเรา หรือบางคนที่เขามีอาการรุนแรงจนทำงานไม่ได้ก็จบเลย ไม่มีเงินรักษาตัวเอง”

กรกนกอธิบายว่า ในปัจจุบันหากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รัฐไม่ได้ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาที่มีคุณภาพ หรือถ้าอยากได้ยาที่มีคุณภาพก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยที่อาการซึมเศร้ารุนแรงจนไม่สามารถออกมาทำงานและใช้ชีวิตเองได้ ก็จะยิ่งยากที่จะหายจากโรคซึมเศร้า เพราะราคาค่ารักษาที่สูง 

“วาทกรรมที่บอกให้เรามองโลกในแง่ดีต่างๆ เพราะโรคซึมเศร้าเกี่ยวข้อกับสารเคมีในสมองด้วย เพราะฉนั้นการใช้วิธีทางเลือกจึงยากที่จะหายจากโรคนี้ได้ อีกอย่างหนึ่งคือผู้ป่วยโรคนี้มักไม่ได้เป็นคนที่มีเงินมากมายพอที่จะไปกิจกรรมที่ต้องใช้เงิน เหลือแค่เข้าวัดที่ใช้เงินน้อยหน่อย แต่สำหรับเรา เข้าวัด ทำสมาธิ ดำน้ำ ดูปะการัง พวกกิจกรรมทางเลือกไม่ได้ช่วยเราให้อาการดีขึ้นเลย รู้สึกว่ายาจำเป็นและช่วยได้มาก”

เธอเล่าว่า เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาที่เข้ากับอาการของโรคเธอแล้วนั้น มันทำให้อาการของเธอดีขึ้นมากกว่าการไปหากิจกรรมทางเลือกอื่น และรู้สึกได้ว่าถ้าหยุดยา แล้วไปใช้การรักษาทางเลือกแบบอื่นคงไม่ได้ดีสำหรับเธอแน่

“ดังนั้นยาเลยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราออกไปทำงานได้ ดูแลครอบครัวได้ เราเลยอยู่ได้ด้วยการพึ่งพายาและหาเงินซื้อยาไปเรื่อยๆ เลยอยากให้ยาที่มีคุณภาพเหล่านี้เป็นยาที่ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย อยากให้มีจิตแพทย์เยอะกว่านี้ เพราะตามโรงพยาบาลรัฐตามต่างจังหวัดบางที่มีจิตแพทย์แค่ 1 คน”

กรกนกเล่าว่า เพราะตอนนี้เธออยู่กรุงเทพเลยสามารถเข้าถึงจิตแพทย์ได้ก็จริง แต่ก็เข้าถึงได้ด้วยเงิน จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าทำไมผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องเข้าถึงยาและการรักษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

“นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมมีผลต่ออาการผู้ป่วยมาก ไม่ใช่แค่ข้อเสนอว่ายาที่มีคุณภาพต้องไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกคนเข้าถึงได้ แต่รัฐต้องสนับสนุนด้วยการเข้ามาดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าที่ทำงานไม่ไหว คนที่ป่วยระดับที่อยากฆ่าตัวตายตลอดเวลา ทำงานไม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยระดับนี้ถ้าไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีเงินดูแลเขาได้ เขาจะทำยังไง”

กรกนกอธิบายว่า บางคนไม่มีเงินเพรราะทำงานไม่ได้ สาเหตุมาจากสภาพจิตใจที่ซึมเศร้าจนออกไปทำงานไม่ได้ จนไม่มีเงินจะกินข้าว ไม่มีเงินดูแลตัวเอง ผู้ป่วยเหล่านี้จะเข้าถึงการรักษาได้อย่างไร

“เราประเมินตัวเองว่า อาการของเรายังไม่ได้ดีขนาดที่จะออกมาหาเงินรักษาตัวเองได้ แต่เราก็ต้องทำงานหาเงินมารักษาตัวเอง  และเรารู้ว่าเราจะหายได้ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำงานมารักษาจริงจัง เพราะเงิน เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด และทำให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลง”

กรกนกเสริมว่า เธอก็ไม่สามารถหยุดทำงานได้อยู่ดี ปัจจัยที่ทำให้อาการจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็คือการทำงานหาเงินมารักษาตัวเอง 

“พอทำงานในสภาพที่เราก็รู้อยู่ว่าไม่พรร้อม ก็ทำให้เครียด แต่ก็ต้องทำเพื่อหาเงินมาารักษา ก็วนเป็นงูกินหาง เป็นวงจรที่ไม่มีวันจบ”

กรกนกเล่าว่า เธอได้ฟังการบรรยายเรื่องประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ รัฐจะเข้ามาดูแลผู้ป่วย โดยการให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำงานแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ได้ เพราะรัฐเข้าใจว่าผู้ป่วยบางคนไม่สามารถทำงานได้ครบ 5 วันได้ และต้องการการรักษา

“เราอยากให้ไทยมีการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่การเข้าถึงการรักษาที่ง่าย ยาที่มีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและมีการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าโดยรัฐ แบบที่ประเทศที่เขามีรัฐสวัสดิการทำกัน เพราะบางคนไม่สามารถทำงานได้จริงๆทุกวันนี้เหมือนปล่อยคนไข้ไปตามยถากรรม” 

กรกนกอธิบายว่า การที่รัฐไม่ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เป็นการปล่อยปละการดูแลประชาชน ทำให้ผู้ป่วยไม่มีสวัสดิการ เพราะเขาไม่สามารถเข้าการรักษาถึงได้

“ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นโรคซึมเศร้า แต่มันเป็นแล้ว ก็อยากหาย ก็ไม่ได้อยากจะฆ่าตัวตาย ไม่ได้อยากจะลุกขึ้นมาทำงานไม่ได้ อยากเป็นคนธรรมดา แต่มันป่วยไปแล้ว ในฐานะที่เราเป็นพลเมือง รัฐควรเข้ามาดูแลและคุ้มครองชีวิตเราให้ดีที่สุดในฐานะมนุษย์” กรกกนก กล่าวทิ้งท้าย

เพราะไม่มีแผลทางกาย เลยมองไม่เห็นแผลในใจ มันเลยไม่ใช่เคสฉุกเฉินของโรงพยาบาล

“สาเหตุการที่เราป่วยเป็นซึมเศร้ามันไม่ได้มาจากเรื่องของตัวเองเลย แต่มันเป็นเรื่องที่เจอในสังคม เรามาเรียนด้วยความหวังที่เราจะมีความสุขในการเรียนสาขาที่ชอบ คือสาขาภาพพิมพ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เรียน เพราะอาจารย์สาขานี้ล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เราเป็นซึมเศร้า” เพชรนิล สุขจันทร์ศิลปินและนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

เธอเล่าถึงสาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้เป็นจากเรื่องส่วนตัว หรือเส้นทางการเติบโตของชีวิตในครอบครัวของตนเอง แต่เกิดจากคนที่เธอได้ไปเจอในสังคม และล่วงละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายมาแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งก็ได้สร้างบาดแผลไว้ในใจของเธอมาตลอด และการล่วงละเมิดทางเพศครั้งที่สอง โดยอาจารย์สาขาภาพพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เพชรนิลไม่ได้เรียนต่อสาขานี้ แม้จะเป็นสาขาที่ตัวเองชอบมากก็ตาม

ภาพเพชรนิล สุขจันทร์ งานนิทรรศการ P.S.T.D. ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม

“ในอดีตก่อนจะมาเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่เราเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นแผลในใจ พอโดนทำซ้ำอีกทีในมหาวิทยาลัย มันเลยทำให้เรารู้สึกไม่ไหวกับการใช้ชีวิตแล้ว” เพชรนิลกล่าว

“เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศจากอาจารย์สาขาภาพพิมพ์ ทำให้เราเกิดอาการหวาดระแวง ร้องไห้ตลอดเวลา นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้ เป็นเวลา 1 เดือน จนแฟนต้องพาไปหาหมอ” เพชรนิล กล่าว และเล่าว่าช่วงแรกที่ไปรักษาจิตเวช เธอไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน โดยมีญาติเป็นคนสนับสนุนค่าใช้จ่าย 

“จำได้ว่าแรกๆยา 3 ตัว คุยกับหมอประมณครึ่งชม. รวมยาและค่ารักษาออกมาที่ 8,000 บาท แล้วต้องปรับยาอีก ครั้งละ 3,000-5,000 บาท ซึ่งเดือนแรกๆก็ต้องปรับไปหลายครั้งต่อเดือน จนทำงานศิลปะการเมืองนั่นแหละ เลยได้หยุดรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนไป เพราะค่าใช้จ่ายมันแพงมาก”

เพชรนิลเล่าถึงราคาค่าใช้จ่ายที่ไปหาหมอจิตเวชแต่ละครั้ง และภายหลังญาติก็หยุดการสนับสนุนการรักษาของเธอไปเพราะไม่เห็นด้วยกับการที่เธอออกมาทำงานศิลปะการเมือง

“นรกเลยเกิดขึ้น เราต้องไปรักษารพ.รัฐ ก็ใช้สิทธิรพ.ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจองคิวยากมาก เป็นผู้ป่วยนอกอย่างเราต้องมาตั้งแต่ 04.00-05.00 น. เพื่อจับบัตรคิว และจิตเวชที่นี่รับผู้ป่วยนอกกเพิ่มแค่ 3-4 คนต่อวัน ซึ่งเราก็ทำไม่ได้ เพราะเรียนหนักก็นอนดึก ต้องตื่นเช้ามาลุ้นจับบัตรคิวอีก ก็แทบเหลือเวลานอนไม่ถึง 5 ชม.ด้วยซ้ำ”

เพชรนิลเล่าว่าการไปรักษาที่รพ.รัฐเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะจำนวนผู้ป่วยเยอะ แต่รับผู้ป่วยเข้าการรักษาน้อย ทำให้ต้องตื่นเช้าไปจับบัตรคิว เพราะทางโรงพยาบาลไม่ได้มีระบบจองคิวล่วงหน้า เลยทำให้ผู้ป่วยแต่ละวันหนาแน่นมาก และไม่สามารถรู้ได้ว่าวันนี้ที่ไปรอเธอจะได้คิวเข้ารักษาจิตเวชหรือไม่ หรือจะได้วันไหนก็ไม่สามารถรู้ได้ ซึ่งถ้าทำตามระบบของโรงพยาบาลไปเรื่อยๆอาจจะได้เจอหมอแต่เวลาเรียนอาจจะขาดและเรียนไม่จบแทน 

“สุดท้ายก็เข้าไม่ถึงหมอ ไม่มียากิน ก็พยายามทำตัวให้มีความสุขเข้าไว้ ช่วงนั้นเลยกลายเป็นคนกินเบียร์เยอะมาก การเมาทำให้เราลืมเรื่องเศร้าไปได้ บางทีกินแล้วหลับเลย และถ้าวันไหนไม่ได้กินเบียร์ตอนกลางคืน มันกลายเป็นว่าเราใช้เวลาช่วงกลางคิดมาก คิดกับตัวเองเยอะเกินไป จนกลายเป็นความเครียดนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง”

เพชรนิลเล่าว่า การที่ไม่สามารถเข้าหาหมอจิตเวขได้โดยง่ายทำให้เธอให้มาพึ่งพาแอลกอฮอล์เพื่อเมาให้ลืมความเศร้า ลืมความเครียดและหลับไป ทำให้แอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งในการผ่านพ้นแต่ละค่ำคืนไป และเมื่อไม่ได้พึ่งพาก็จะทำให้ตนเองเครียดและนำไปสู่การทำร้ายตนเอง

ภาพเพชรนิลถ่ายโดย sama_517 

“สภาพแวดล้อมมีผลกับตัวเรามาก ถ้าเราไปอยู่ในสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้า สังคมที่ใช้คำพูดด้วยคววามรุนแรง หรือขาดแฟนเราที่เป็นคนรับฟังเราไป”

เพชรนิลเล่าว่า มีครั้งหนึ่งที่เธอได้ไปเจอเรื่องที่ทำให้ตัวเองเศร้า ทำให้คิดลบกับตัวเอง แล้วระหว่างทางกลับบ้านก็เจอเรื่องราวคำพูดที่รุนแรง ยิ่งกระตุ้นให้เธอเกลียดตัวเอง เมื่อถึงบ้านแล้วเจอยาพาราเซตามอลที่บ้าน ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่เธอมองยาเป็นสิ่งที่ทำให้เธอสามารถฆ่าตัวตาย ได้และได้ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตายด้วยการตัดสินใจของตนเอง (committed suicide) 

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยนะ เอาแค่ให้ตัวเองตายง่ายที่สุด เลยเลือกกินยาพาราไป 50 เม็ด คิดแล้วนะว่าตายชัวร์ แต่ก็ไม่”

เธอเล่าให้ฟังว่าหลังจากกินยาพาราเซตามอลเข้าไป 50 เม็ด ด้วยความตั้งใจว่าตนเองจะได้ตายแน่นอน กลับกลายเป็นว่าเธอยังไม่ตาย และกินข้าวไม่ได้เลยในวัน 2 วันแรกหลังกินยา และเริ่มอาเจียนออกมาในวันที่ 3 ซึ่งแฟนของเธอเห็นอาการพอดี เลยรีบพาไปหาหมอ 

“คือวันแรกๆมันมีสำรอกออกมานิดหน่อย แต่ไม่ได้แบบอ้วกแหวะแบละออกมานะ แต่มึนหัวปวดท้อง จนมาวันที่ 3 ได้กลิ่นแรงนิดหน่อยก็อ้วกกระจาย อ้วกตลอด” 

เพชรนิลเล่าให้ฟังว่า 3 วันที่หลังกินยาไป โดยตั้งใจว่าตายแน่นอนแต่กลับไม่ตาย ทำให้เธอเครียดกว่าเดิม ทำให้เกิดความคิดว่าจะเป็นโรคอื่นเพิ่มหรือไม่ จะกลายเป็นคนพิการหรือไม่ ชีวิตจะลำบากกว่าเดิมไหม ซึ่งถ้ามีโรคหรืออาการพิการเพิ่มขึ้นมาที่มีค่ารักษาแพง เธอไม่มีเงินที่จะไปรักษาต่อ 

เธออธิบายว่าเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นต่ออีกระลอกหลังจากที่พยายามทำให้ตัวเองตายแต่ไม่ตาย

“ซึ่งการกินยาฆ่าตัวตายที่เล่ามานี้ เราไม่ได้บอกแฟนว่าจะลงมือทำ หรือให้สัญญาณอะไรเลยว่าจะเรากำลังจะกินยาเพื่อให้ตัวเองตาย เพราะแฟนเราเป็นคนสำคัญสำหรับเรามาก เลยไม่อยากให้รับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ไม่อยากให้เขาต้องแบกรับเรื่องราวจากการตัดสินใจของเราเอง ให้เป็นกระบวนการฆ่าตัวตายที่เขาไม่ต้องมารับรู้ จะได้ไม่ต้องช่วยชีวิตแล้วเราก็ตายไปเลย” เพชรนิลกล่าว

“พอแฟนเห็นเราซม 3 วัน ถึงจะไม่รู้ว่าเรากำลังอยู่ในกระบวนการฆ่าตัวตายแต่เขาก็รับรู้ความไม่ปกติได้เลยพาไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลตามสิทธินักศึกษาเรา เราเรียกช่วงเหตุการณ์นี้ว่า นรกรอบที่ 2” 

เพชรนิลเล่ามาถึงตรงนี้ เธอบอกว่า อาการป่วยของเธอจะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้าของเธอเริ่มมาตั้งแต่การล่วงละเมิดทางเพศ จนนำมาสู่อาการนอนไม่หลับ กินอาหารไม่ได้ คิดมาก มองตัวเองในแง่ลบ ต้องพึ่งพาแอลกอฮอล์ตอนกลางคืนเพื่อให้ผ่านพ้นแต่ละค่ำคืนไปได้ และเมื่อไปเจอสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เธอเกิดความรู้สึกกับตัวเองในทางที่แย่ ทุกประสบการณ์แย่ๆ ที่สะสมมาไม่ได้หายไป จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

“เราเข้าไปอยู่ในห้องฉุกเฉินตั้งแต่บ่ายโมง ได้ตรวจกับหมอตอนสองทุ่ม และหมอให้แฟนเรากลับบ้านตอนสี่ทุ่ม ตลอดเวลานั้นแฟนเรานั่งเฝ้าเราอยู่ข้างนอกตลอดเวลาส่วนเรานอนค้างห้องฉุกเฉิน”

เพชรนิลเล่าว่าช่วงที่เธอไปห้องฉุกเฉิน ยังเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด และเตียงตรงข้ามเธอก็เพิ่งตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ทำให้ห้องฉุกเฉินหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องเจอกับคนไข้เยอะมาก เลยทำให้เธอได้ตรวจช้า เพชรนิลเรียกว่านรกรอบที่ 2 เพราะ หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ระบบภายในของโรงพยาบาลที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยช้า เลยทำให้บุคคลากรในห้องฉุกเฉินทำงานหนัก และมาตรวจเธอได้ช้า 

“วันถัดมา เราก็มาแอดมิทบนห้องพักคนไข้ห้องเตียงคู่ ด้วยสิทธินักศึกษาเป็นเวลา 4 คืน ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่มีสิทธิการรักษาที่นี่ก็ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000-4,000 แค่ค่าห้องพักกับอาหารนะ ค่ายา ค่าหมออีกเท่าไหร่”

เพชรนิลเล่าว่าเธอได้พักห้องคู่กับคนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุติดเตียง เพราะหมอประเมินว่าตนเป็นเคสที่ละเอียดอ่อน ไม่อยากให้อยู่ใกล้สิ่งที่จะมากระตุ้นอาการเพิ่มได้ และให้นักศึกษาแพทย์มาศึกษาอาการ รวมถึงเป็นการแวะเวียนมาตรวจอาการไปด้วย 

“ถ้าเราไม่ได้มีสิทธิสวัสดิการรักษาที่นี่ หลังอานแน่นอน” เธอกล่าว

“หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีเรื่องอะรที่ทำให้อยากฆ่าตัวตายอีกนะ เพราะแฟนก็ดูแลเราใกล้ชิดมากขึ้น ได้รับกำลังใจจากอาจารย์ที่ไว้ใจ ก็ผ่านมาได้ด้วยดี จนเข้าสู่ช่วงปัจจุบันที่ใกล้เรียนจบ เรายังไม่รู้เลยว่าจบไปจะทำที่ไหน ยังไม่มีเงินเก็บ ในขณะที่เพื่อนๆในมหาวิทยาลัยมีเงินเก็บกัน เพราะเขามีฐานะ ก็เริ่มเครียด เราชอบเปรียบเทียบตัวเองเรื่องคามสำเร็จกับฐานะของเรากับคนอื่นว่าทำไมเราต้องเหนื่อยยาก พยายามกว่าคนอื่น บางทีเราพยายามมากๆก็ไม่สำเร็จเท่าคนที่เขามีต้นทุนในชีวิต เลยน้อยใจตนเอง เกลียดตนเอง เลยกรีดข้อมือตัวเองไป”

ช่วงเวลาที่เพชรนิลเล่าเป็นช่วงที่เธอฝึกงาน โดยปกตินั้นเพชรนิลจะไม่ค่อยใส่เสื้อแขนยาว แต่หลังจากกรีดข้อมือไป เธอใส่เสื้อแขนยาวไป 3 วันติดต่อกัน และที่ฝึกงานของเธอก็มีพี่ที่ป่วยและทำร้ายตัวเองบ่อย ก็ได้ทักมาในข้อความส่วนตัวถามไถ่อาการด้วยความเป็นห่วง 

“พี่เขาพูดกับเราตรงๆว่าเป็นโรคนี้มันน่าเบื่อ เครียด ไม่รู้จะหายไหม ถ้าหายจะหายได้นานสักแค่ไหน ยิ่งอยู่ในประเทศนี้ยิ่งหายยาก”

เพชรนิลเล่าว่ารู้สึกได้รับกำลังใจจากพี่ที่ฝึกงานคนดังกล่าว และรู้สึกปลอดภัยขึ้นเพราะอย่างน้อยก็ยังมีพี่คนนี้ที่เข้าใจโรคของเธอ และพี่คงดังกล่าวมักเลี่ยงที่จะใช้คำพูกที่รุนแรงกับเธอ เลยทำให้เป็นช่วงเวลาการฝึกงานที่ดี เพราะมีคนที่เข้าใจ แม้เพียงแค่คนเดียวก็ยังดี 

“หลังจากฝึกงานเสร็จ ก็เป็นช่วงที่ไม่ได้เครียดเลยหยุดยาไป และเราไปงานทำร้านเหล้าตอนกลางคืน ทำให้ไม่มาเครียด จมกับตัวเอง แค่เอาตัวเองให้ออกมาใช้ชีวิตให้มีความสุข เราคิดว่าตัวเองคิดถูกที่พาตัวเองออกมาทำงาน กลางวันทำงานศิลปะ กลางคืนทำงานร้านเหล้า เวลานอนน้อยลงแต่สุขภาพจิดีขึ้น”เพชรนิลกล่าว

เพราะไม่มีเลือดจึงไม่มีหลักฐานของความป่วยไข้

“ช่วงประมาณปลายปีที่แล้ว เราได้ลองอีเมลล์ไปขอนัดนักจิตวิทยาตามสิทธิสวัสดิการของนักศึกษา ส่งอีเมลล์ไปปลายปีที่แล้ว เพิ่งได้รับอีเมลล์ตอบกลับปีนี้ว่าถ้าจะจองหาหมอหรือหานักจิตก็ตาม จะได้คิวเดือนเมษายนนะคะ หรือเราต้องตายก่อนไหมถึงจะได้ตรวจ”

เพชรนิลเล่าถึงการเข้าถึงการรักษาที่ยากต่อการเข้าถึง เพราะระบบของโรงพยาบาลไมม่สามารถทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ทันที

“เราเป็นซึมเศร้าแต่ต้องมานั่งรอคิว แต่เราเศร้าตอนนี้ มันก็ควรเป็นเรื่องฉุกเฉิน เรื่องอุบัติเหตุได้สิ เหมือนปวดท้องเข้าโรงพยาบาล แค่มันเป็นคนละจุดมันเป็นที่จิตใจ” 

เพชรนิลเล่าว่าอุบัติเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น และได้รับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินทันที เพราะเขามีบาดแผลทางกาย เธอจึงตั้งคำถามว่า ทำไมการที่ผู้ป่วยจิตเวชเจ็บปวดทางใจถึงไม่สามารถรักษาฉุกเฉินได้เหมือนการเจ็บป่วยทางกาย 

“มีครั้งหนึ่งที่เราทำร้ายตัวเอง ด้วยการตบหน้า ชกต่อยกำแพง เราไม่ไหวอยากไปโรงพยาบาล พอไปถึงโรงพยาบาลก็ไม่ได้เข้ารับการรักษาทันที และได้คำตอบกลับมาว่า ถ้าจะรักษามาเดือนเมษายนนะ สงสัยต้องรอเราตายก่อนถึงจะรักษาได้”

เพชรนิลเสริมว่าความช้าในการเข้าถึงมือแพทย์เป็นส่วนสำคัญที่รัฐสมควรให้ความสำคัญและพัฒนาการเข้าถึงแพทย์ให้ง่ายขึ้น เพราการเจ็บป่วยทางใจก็เป็นการบาดเจ็บ และเป็นโรคที่ควรได้รับการดูแลฉุกเฉินได้ด้วยเช่นกัน

“ขนาดวันที่เรากินยาฆ่าตัวตายมายังต้องรอเจาะเลือด รอการรักษาที่ห้องฉุกเฉินตั้งแต่บ่ายโมงถึงสองทุ่ม ค่าตับขึ้นไปที่ 900 แล้วถ้าคนที่เขาร้ายแรงกว่าเรา เขาไม่ตายคาห้องฉุกเฉินก่อนได้เจอหมอเลยหรือ” เพชรนิลเล่าถึงค่าตับของตนเองหลังกินยาพาราเซตามอลเพื่อตั้งใจฆ่าตัวตาย และตั้งคำถามถึงผู้ป่วยจิตเวชคนอื่นๆที่เขาอาจมีอาการที่หนักกว่านี้ เขาจะต้องรอนานแค่ไหนกว่าจะสามารถเข้าถึงการรักษาหรือแม้แต่อยู่ในระดับการดูแลที่ผู้ป่วยจะปลอดภัยในมือของหมอ

“บางคนสภาพพจิตใจเขาไม่ไหวแล้ว แต่แค่เขาไม่ได้ทำร้ายร่างกายมาล่ะ ทำไมบาดแผลทางจิตใจถึงเข้ารักษาฉุกเฉินไม่ได้” เพชรนิลตั้งคำถาม 

ป่วยหรือข้ออ้าง

ภาพเพชรนิลแสดงงาน painting เกี่ยวกับตัวเธอเองที่แกลลอรีแห่งหนึ่ง 

“ก่อนป่วยเป็นโรคนี้ไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมใช้ชีวิตไม่ได้ หลังฆ่าตัวตายด้วยการกินยาไป เข้าใจเลยว่ามันไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติ กลับไปเป็นปกติมันทำไม่ได้อีกแล้ว”

เพชรนิลเล่าว่าในเรื่องการเรียน โรคซึมเศร้ามีผลเป็นอย่างมาก เพราะบางครั้งความเศร้า ความคิดมากในหัวของเธอ มันดึงรั้งเธอทำให้ไม่สามารถทำการบ้านส่งอาจารย์ได้ตรงเวลา ทำให้ต้องขออาจารย์ส่งย้อนหลัง แม้จะโดนตัดคะแนนไปเพื่อแลกกับเวลาที่จะดึงตัวเองให้กลับมาทำการบ้านได้ก็ตาม

“แต่เพื่อนๆก็จะไม่เข้าใจ เราเอาเรื่องโรคซึมเศร้ามาเป็นข้ออ้างไหม ทั้งๆที่อาการก็เหมือนคนป่วยโรคอื่นแล้วมาเรียนไม่ได้ เช่น ปวดท้อง มาเรียนไม่ได้ ซึมเศร้าก็ไม่ได้ต่างกัน”

เพชรนิลเล่าว่า เมื่อเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การใช้ชีวิตและสภาพจิตใจบางวันก็ไม่พร้อมที่จะออกไปเจอผู้คน และหลายครั้งมักถูกเพื่อนๆเข้าใจผิดว่าเป็นข้ออ้างในการไม่มาเรียน แต่เธอมองว่ามันคืออาการกำเริบของโรคเจ็บป่วยโรคหนึ่ง แค่มันป่วยอยู่ภายในจิตใจ

“ให้เราไปเรียนสภาพข้อมือเป็นเลือดได้หรือ เอาไหมล่ะ หรือตอนตบหน้าตัวเองจนหน้าบวม ตาบวม เราก็ไปเรียนด้วยสภาพนั้น และนั่นแหละค่ะผลของการเป็นซึมเศร้า เพื่อนก็บอกกลัวกันอีก” 

เพชรนิลเล่าว่าเคยทำการบ้านส่งอาจารย์ชิ้นหนึ่งแล้วตัวเองรู้สึกทำไม่ได้ เลยเศร้า นอนร้องไห้ เพื่อนๆก็มาถามเธอว่า พอเศร้าแล้วเป็นขนาดนี้เลยหรือ ซึ่งเธอก็ตอบว่าใช่ เศร้าทุกครั้งเป็นแบบนี้เสมอ ก็เป็นคำตอบที่ทำใ้ห้เพื่อนตกใจประมาณหนึ่ง 

“บางทีก็ไม่อยากมาเรียนในสภาพแบบนั้น เพราะเพื่อนตกใจจริง แต่เพื่อนก็มักเอาเรื่องการไม่มาเรียน การส่งงานช้าไปเป็นเรื่องพูดลับหลังกัน แต่พอฝืนไปเข้าเรียนทั้งสภาพแย่ๆก็ตกใจกันอีก”

เพชรนิลได้ตั้งคำถามว่าทำไมเวลาเธออาการไม่ไหว ไม่สามารถส่งงานตรงเวลา ไม่สามารถมาเข้าเรียนได้ถึงถูกนำไปเป็นหัวข้อในการพูดนินทา แต่ตอนที่เธอเข้าโรงพยาบาลเพราะกินยาฆ่าตัวตายกลับเป็นห่วงเธอกัน 

“มันเลยเกิดวาทกรรมว่า การที่ทำแบบนี้ต้องการเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า ก็ทำให้คนที่ป่วยสร้างวาวทกรรมขึ้นมาอีกว่า ต้องรอให้เราตายก่อนหรือเปล่าถึงจะมีคนเป็นห่วง ถึงจะมีคนรับฟัง หรือเกิดความเข้าใจต่อโรคซึมเศร้าได้ เพราะตอนที่เป็นแล้วอาการยังไม่หนัก แค่ออกมาเรียนไม่ได้ มันไม่มีใครมาสนใจแต่กลับโดนด่าแทน”

เพชรนิลอธิบายว่าการที่เพื่อนไม่เข้าใจอาการป่วยของเธอ เป็นเพราะคนในสังคมส่วนมากเข้าใจเรื่องโรคนี้อย่างผิวเผิน แต่พอต้องเจอคนป่วยโรคซึมเศร้าในสังคมของตัวเองจริงๆ ก็รับมือกันไม่ถูก เลยเกิดวาทกรรมต่างๆ

เราป่วยเพราะเราหรือสังคมทำให้เราป่วย

ภาพเพชรนิลถ่ายคู่กับภาพ painting ของเธอและอ๊อง สุนัขที่เลี้ยงไว้

“คิดว่าทั้งสองอย่าง เช่น ของเราเกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะผู้กระทำทำเหมือนไม่รู้จักเคารพสิทธิความเป็นคนของคนอื่น ไม่สามารถรู้ได้ด้วยจิตสำนึกของตัวเองว่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะกับใคร คุณก็ไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวคนอื่นเขา” 

เพชลนิลเล่าว่า การที่เธอต้องมีชีวิตในสังคม ก็ต้องพบผู้คนในสังคมและสังคมก็มีความหลากหลายของผู้คน ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีขึ้นกับเธอได้ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเป็นเหตุให้เธอป่วยเป็นซึมเศร้า ไม่สามารถกลับเป็นเพชรนิลคนเดิมที่เคยสดใส กลายเป็นคนเศร้าหมองและเรื่องนี้ก็ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตของเธอจนถึงปัจจุบัน

“พอเราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีซ้ำๆไปแล้ว สภาพจิตใจเราก็เปลี่ยนไปแล้ว” เพชรนิลกล่าว

”เราเลือกความสุขของเราเองได้ การพาตัวเองออกไปทำในสิ่งที่ชอบ อยู่กับแฟนกับอ๊อง (สุนัขที่เลี้ยงไว้) ความสุขเล็กๆแค่นี้แหละ ที่ทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ เพราะมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากทั้งวันที่ไปเจออะไรมาไม่รู้แต่กลับมาตรงนี้มันมีความสุข ปลอดภัย”

เพชรนิลเล่าว่าบางทีที่ได้ทำสิ่งที่อยากทำก็ช่วยทำให้อาการป่วยของเธอดีขึ้นได้ เพราะเป็นความสุขที่ได้เลือกเอง ไม่ได้ถูกบังคับ และได้อยู่สังคมที่แวดล้อมด้วยคนที่สบายใจ กิจกรรมเหล่านี้จึงมีผลให้เธออาการดีขึ้นแม้จะเข้าไม่ถึงการรักษาของหมอก็ตาม

“อย่ามาบังคับให้เรามีความสุข เช่น เราไม่ได้เชื่อเรื่องศาสนา ให้ไปมีความสุขผ่านกิจกรรมทางศาสนาก็มีแต่ทำให้เครียด เพราะไม่เชื่อและไม่ชอบ ทำไปก็ไม่รู้ว่าชาติหน้าจะมีความสุขไหม”

เพชรนิลเล่าว่า การที่มีคนคอยมาบอกให้เข้าวัด ทำบุญ เดินสมาธิ จะทำให้อาการของเธอดีขึ้น แต่สำหรับเพชรนิลไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเพราะเธอไม่ชอบกิจกรรมของศาสนา ที่ต้องใช้เวลาในการอยู่กับตัวเอง เดินและเคลื่อนไหวช้าๆอย่างมีสมาธิ สำหรับเธอแล้วไม่ใช่กิจกรรมที่ทำให้เธอรู้ดีขึ้น แต่เป็นความรู้สึโดนบังคับให้ทำเพราะคนอื่นคาดหวังว่าเธอจะดีขึ้น โดยที่เธอไม่ได้เชื่อในเรื่องนี้จริงๆ 

“คิดบวก คือความสุขเล็กๆที่เราทำได้ สำหรับเราแค่นั้นคือการคิดบวกให้เรามีความสุข เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะมาบังคับให้คนเป็นซึมเศร้ามานั่งสมาธิเหมือนกันหมดก็ไม่ใช่ไหม”

เพชรนิลเสริมว่า ถ้าใครทำแล้วมีความสุข เป็นวิธีที่ช่วยให้เขามองโลกในแง่ดี ก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีการนี้จะดีกับทุกคนหรือแย่กับทุกคนเสมอไป

“เวลาเราเครียดมากๆ แฟนหันมาถามว่าหาของอร่อยๆกินกันไหม เราตอบไป จบเลย แต่กับคนอื่นก็เลือกวัดแล้วสบายใจ ก็ปัจเจกนะ แล้วแต่คนบังคับความสุขกันไม่ได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ภาพเพชรนิลกับผลงานของเธอ

“สุดท้ายอยากบอกไปถึงรัฐบาลว่า อย่าให้ผู้ป่วยจิตเวชต้องตายก่อน มันไม่ใช่แค่ค่ารักษาที่ต้องฟรี แต่การเข้าถึงบริการดูแลทางจิตที่ง่าย เช่น การมีศูนย์ดูแลเรื่องสุขภาพจิตตามชุมชนต่างๆ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไกล การที่ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการทางจิตมาห้องฉุกเฉิน ก็ควรเป็นเรื่อฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษา เช่น คนโดนมีดบาดมีเลือดออก เพราะมีเลือดออกก็เข้ารักษาฉุกเฉินได้ จะฉุกเฉินตามลำดับไหนก็แล้วแต่ แต่โรคซึมเศร้าต้องรอหมอเข้าในเวลาทำการ ไม่มีในฉุกเฉิน ทั้งๆที่เราก็มีแผลไม่ต่างกันแค่เพราะเราไม่มีบาดแผลทางกาย ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีบาดแผลทางใจ”

เพราะเราไม่รู้ว่าสังคมที่เราจะเจอมีผลให้ผลเราป่วย

ภาพสเก็ต ธนธรณ์ ก้งเส้ง โดย Poom Pechavanish

“มันสะสมมาจากหลายเรื่องๆ เริ่มมารู้ตัวตอนที่เรามีคำถามว่าชีวิตไม่มีความหมาย เราเกิดมาเพื่ออะไร สาเหตุมาจากการรับน้องในมหาวิทยาลัยเพาะช่าง” ธนธรณ์ ก้งเส้ง อดีตผู้ป่วยจิตเวชซึมเศร้า ปัจจุบันยังรักษาด้วยยา กล่าว พร้อมประเมินตัวเองว่าไม่ได้ป่วย แต่ยังมีสภาวะดิ่ง เครียด หมดหวังอยู่ มีสภาวะเหล่านี้เป็นช่วงๆ

“เราเรียนโรงเรียนมัธยมสายสามัญมาตลอด พอเข้าหาวิทยาลัยที่เป็นสายอาชีพ อย่าง เพาะช่าง ที่มีการสอนเป็นศิลปะอย่างเดียว บรรยากาศการเรียนคงเหมือนในหนัง เพื่อนสนิท หรือ รักสามเศร้า ใช้ชีวิตเรียนสิ่งที่ชอบ มีความสุข แต่พอเข้าไปเรียนจริงมันไม่ใกล้เคียงแบบที่เราคิดเลย”

ธนธรณ์ เล่าว่า ตนเองเรียนสายสามัญในช่วงมัธยม และคิดว่าการได้มาเรียนมหาวิทยาลัยสายอาชีพศิลปะ บรรยากาศการเรียนน่าจะทำให้ตนเองมีความสุข แต่เมื่อเข้าเรียนจริง สิ่งที่เขาต้องเจอในวันตอนเย็นคือ การรับน้อง

“แรกๆก็สนุกกับการรับน้อง แต่สักพักเริ่มไม่สนุกละเพราะเริ่มหวาดระแวงกับสายแปลกที่โทรเข้ามาหาตอนกลางคืน”

ธนธรณ์ เล่าถึงประสบการณ์การรับน้องว่า ตั้งแต่เข้ามาเรียนปรับพื้นฐานจะมีการซ้อมรับน้องหลังเลิกเรียน โดยเรียกว่า การเข้าระแบบ ช่วงระยะแรกจะเป็นรุ่นพี่ปี 2-4 มารอหลังเลิกเรียน หลังจากนั้นจะเริ่มมีรุ่นพี่อาวุโส เป็นรุ่นพี่ที่จบไปแล้วหรือเคยเรียนแต่ไม่จบเข้ามา

“พี่ๆก็เข้ามาเลี้ยงเหล้าทุกวัน คอนเซ็ปของการรับน้องคือเขาต้องการให้ทั้งรุ่นอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน แต่วิธีการคือการสร้างความกลัว เช่น ผู้หญิงทำผิดกฎของรุ่นพี่ ผู้ชายจะเป็นฝ่ายรับโทษ ก็อย่าง ร้องเพลงมหาลัยไปเรื่อยๆ ถ้าาร้องไม่ไหวก็จะทำโทษด้วยการนั่งคุกเข่าแล้วเตะอกเรา ทำท่าสะพานโค้งแล้วเตะอกเรา หรือยืนให้โดนรุ่นพี่ต่อยอก ส่วนมากจะโดนที่อก เพราะถ้าเป็นคนที่ต่อยไม่ค่อยเป็นแล้วต่อนโดนลิ้นปี่ อย่างน้อยโดนจุดนี้ยังไงก็เจ็บ จุก”

ธนธรณ์ เล่าว่าเขาวนเวียนกับการใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ แม้หลังกิจกรรมรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัยจบแต่เขารู้สึกว่าทำไมเขาถึงโดนรับน้องไม่จบสักที

“กลางคืนพวกรุ่นพี่ที่โตกว่าเรา 6-10 ปี ก็ยังโทรตามออกมาให้กินเหล้า แล้วก็สั่งหัวปักดินบ้าง แก้ผ้าบ้าง จุดที่ทนไม่ได้คือมีรอบหนึ่งเขาให้โทรตามเพื่อนมาหนึ่งคน ระหว่างเขาสั่งพริกกับหอมสดให้เรากินรอจนกว่าเพื่อนจะมา มันก็คลื้นไส้มากนะเลยนะขอเขาไปห้องน้ำแล้วก็อ้วก ตอนนั้นร้องไห้และถามตัวเองว่า กูมาทำอะไรที่นี่ อยากตาย ชีวิตคืออะไร”

ธนธรณ์ เล่าว่าการโดนรับน้องด้วยความรุนแรงซ้ำๆ ทำให้เขารู้สึกว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ และมีผลทำให้ตัวเขาเองไม่อยากรับโทรศัพท์ตอนกลางคืน เพราะกลัวว่าจะโดนกระทำแบบเดิมอีก

“ไม่อยากรับโทรศัพท์ใคร หลอน กลัว อยากมีความสุขใช้ชีวิตของตัวเอง บางทีเราก็เลี่ยง บางทีรุ่นพี่เอาเพื่อนมารวมไว้หน้ามหาลัยแล้ว เราก็หนีไม่ได้ ทิ้งเพื่อนไม่ได้วนเวียนอยู่แบบนี้” ธนธรณ์ กล่าว

ศาสนา

ภาพธนธรณ์ ก้งเส้ง และ เพชรนิล สุขจันทร์ ถ่ายโดย พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม

“มีช่วงหนึ่งทำงานคอนเซ็ปเรื่อง บาป 7 ประการตามหลักศาสนาคริสค์ ทำให้ต้องหาข้อมูลจนไปอ่านคัมภีร์ใบเบิล ก็ทำให้รู้สึกเลยสนใจเรียน ค้นหาเกี่ยวกับศาสนา แล้วก็ใช้การไปโบสถ์เป็นข้ออ้างหนีจากรุ่นพี่ จะได้หลุดพ้นจากการรับน้องของรุ่นพี่ เราก็ไปเรียนศาสนาที่โบสถ์แถวมหาวิทยาลัย”

ธนธรณ์ เล่าว่า เขาได้สนใจเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ผ่านการทำงาน จนนำไปสู่การเรียนศาสนา ที่โบสถ์คริสต์และเป็นเหตุผลหนีจากรุ่นพี่ไม่ให้มาใช้ความรุนแรงกับเขาได้ในบางครั้ง

“มันมีครั้งหนึ่งไปทำค่ายอาสาที่เชียงใหม่ มีเพื่อน รุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ชั้นปี สนุกมาก กลางคืนก็คุยกัน เราก็พูดเรื่องที่เรากำลังสนใจออกไปในวง แต่เหมือนไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เราพูดเลย วันนั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่ชอบโทรมาหาตอนกลางคืนโทรมาอีก เหมือนมาปั่นประสาทเราอีก เลยทนไม่ไหวเพราะรู้สึกถูกตาม ถูกกวนอยู่แบบนี้ตลอดจะเอาอะไรกับชีวิตกูนักหนา”

ธนธรณ์ เล่าว่าการที่เขาพูดสิ่งที่ตัวเองสนใจไป แต่ไม่มีใครฟัง ถูกมองข้าม ก็ทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวมาก และยังถูกกระตุ้นความรู้สึกโดยรุ่นพี่ที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันในค่าย เป็นรุ่นพี่ที่ชอบโทรหาเขาตอนกลางคืนโทรมารบกวนอารมณ์ ความคิดเขาอีก ธนธรณ์ ได้แกะยาโรคซึมเศร้าของเขารอไว้แต่ยังไม่กิน เพราะนึกถึงแม่ และคิดว่าแม่น่าจะเข้าใจเขา เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ทำให้เขาไม่โดดเดี่ยว

“เลยโทรไปหาแม่เพราะเราต้องการสักคนบนโลกที่เข้าใจเรา แม่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของเรา ก็คุยกับเขาเรื่องอยากเปลี่ยนศาสนา แม่ก็ไม่เข้าใจ แล้วตอบมาว่า เราไร้สาระ ไม่มีใครอยากฟังเรา ทำไมมีแต่คนอยากสอนตลอดเวลา งั้นจะอยู่ทำไม ไม่มีประโยชน์กับชีวิต จะอยู่ผลาญเงินพ่อแม่แบบนี้ไปทำไม เพื่ออะไร เลยเอออยากจบทุกอย่างด้วยการตาย ก็เลยกินยาทุกตัวของหนึ่งเดือนนั้นหมดเลย”

ธนธรณ์ เล่าว่าตอนนั้นกินยารักษาตัว3 ตัว สำหรับหนึ่งเดือน เขาได้แกะกินทั้งหมดเลย หลังจากนั้นเขาบอกเพื่อนว่าได้กินยาไปนะ จากนั้นเดินกลับเต็นท์ แล้วจำอะไรไม่ได้อีก

“เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เราเดินมาพูดว่ากินยาแล้วเดินเหมือนจะกลับไปนอนที่เต็นท์ แต่ล้มกลางอากาศทับเต็นท์ เพื่อนเลยพยายามดูว่าเราทำอะไรลงไปและเห็นซองยาเราที่แกะหมดแล้ว เลยพยายามตอกไข่ใส่ปาก พยายามให้อ้วก แล้วพาไปส่งรพ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ จำไม่ได้ว่าหลับไปกี่วัน น่าจะเกือบ 1 วัน เราจำได้แค่เดินไปบอกเพื่อนว่าจะนอน หลังจากนั้นจำไม่ได้แล้ว”

ธนธรณ์ เล่าถึงการฆ่าตัวตายของเขา จากความโดดเดี่ยวที่ตนเองได้พูดสิ่งที่สนไปแต่ไม่มีใครรับฟัง ถูกกระตุ้นด้วยรุ่นพี่ที่เคยโทรตามไปวงแอลกอฮอล์ตอนกลางคืน และไม่มีที่พึ่งพิงจิตใจเหนี่ยวรั้งเขาไว้ เลยทำให้เขาตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย ด้วยยาโรคซึมเศร้าสำหรับ 1 เดือน และเขาอธิบายว่าการป่วยของมาจากการรับน้องที่ไม่มีจบสิ้น ในตอนที่กินยาฆ่าตัวตาย เขาก็เรียนปี 3 แล้ว แต่ก็ยังถูกตามรบกวนจากรุ่นพี่ตลอด มันเลยสะสมจากระแวงการรับโทรศัพท์ตอนกลางคืน จนมาถึงความโดดเดี่ยวที่ไม่มีใครรับฟัง และการพึ่งพาศาสนาก็เป็นทางที่คิดว่าจะเป็นทางออกในชีวิตเขา แต่คนรอบไม่เข้าใจไม่รับฟัง และไม่สนับสนุน จนนำมาสู่การฆ่าตัวตาย

“เพราะตอนนั้นมันไม่มีที่พึ่งแล้ว เลยตัดสินใจทำลงไป” ธนธรณ์ กล่าว

“หลังจากที่ฆ่าตัวตายไป เราได้คุยกับพ่อแม่มากขึ้น พาพ่อแม่ไปหาหมอพร้อมกัน เรพาะที่ผ่านมาเราพาตัวเองไปรักษาเอง ไม่เคยบอกที่บ้าน เพราะต้องการที่จะมีคนที่สามารถรับฟังเราได้ในบางเรื่อง ทุกวันนี้ดีขึ้น ไม่ได้หนักเท่าเมื่อก่อน เพราะมีเป้าหมายในชีวิตและได้ทำมัน แต่เวลาเหนื่อยมากๆก็มีสภาวะนะ แบบเราแค่อยากหลับตายไป หลายครั้งเวลาขึ้นเครื่องบินเราอยากให้เครื่องบินตก เพราะจะเป็นการตายที่สบายที่สุด เพราะเราทำอะไรไม่ได้”

ธนธรณ์ เล่าว่าหลังจากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายก็ได้พาครอบครัวไปพบหมอเพื่อรับรู้อาการของเขา ทุกวันนี้ก็ดีขึ้น เพราะมีเป้าหมายในชีวิตและได้ทำตามเป้าหมาย อาจจะยังไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้มีใครมารบกวนการใช้ชีวิต เขาเล่าว่าบางทีเหนื่ยมากๆเพราะเขาก็พยายามทำามเป้าหมายมากๆก็มีความคิดถึงการตายบ้าง แต่ไม่ได้หนักหนาหรือลงมือทำเหมือนเมื่อก่อน เป็นสภาวะจากความเหนื่อย เครียดจากการทำงาน ทำให้มีความคิดอยากตายเป็นบางครั้ง และยังกินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ต่อเนื่อง

ภาพถ่ายธนธรณ์ ก้งเส้ง และ เพชรนิล สุขจันทร์ ถ่ายโดย พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม

“เพชรนิล สุขจันทร์คือแฟนเรา ตอนที่เขาฆ่าตัวตาย เรารู้สึกผิด รู้สึกแย่มาก คิดว่าเป็นเพราะเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เหมือนตัวเราเป็นโรคระบาด ทำให้แฟนเราป่วยไปด้วย รู้สึกแย่มากๆ ทำไมเราไม่เห็นอาการตั้งแต่วันแรกๆ ทำไมไม่รู้เร็วกว่านี้”

ธนธรณ์  เล่าว่าตอนพาแฟน(เพชรนิล สุขจันทร์) ฆ่าตัวตาย เขาโทษตัวเองว่าเพราะเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เลยทำให้แฟนต้องมาป่วยตาม

“คือช่วงนี้สิ่งที่หลายคนเจอ มันไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคซึมเศร้าแต่ว่าอาจจะเจอสภาวะที่ทำให้หมดกำลังใจหมดไปในการใช้ชีวิต เราคิดว่ายาก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษา แต่ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาได้ง่าย เพราะทุกวันนี้ถ้าไปใช้การรักษาด้วยการพูดคุยกับนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลของรัฐก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้คิว แต่ถ้าอยากได้คิวไวเข้าถึงได้ไวก็ต้องแลกมาด้วยจำนวนเงินที่เยอะกว่าในการใช้เวลากับนักจิตวิทยา ราคาสูงมาก ซึ่งสุดท้ายเราก็อาจจะเลือกวิธีการนั่งคุยกับเพื่อน ก็อาจจะช่วยเรื่องความสบายใจได้บ้าง แต่ว่าปัญหาในจิตใจมันไม่ได้หายไป ยังเก็บซ่อนไว้อยู่ข้างใน” 

ธนธรณ์  เราว่าการเข้าพบนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยบำบัดจิตใจในสถานพยาบาลของรัฐเป็นเรื่องยากเพราะต้องใช้เวลานานในการจองคิวแต่ถ้าไม่อยากเสียเวลานานก็ต้องแลกมาด้วยการจ่ายเงินที่ราคาสูงมากในโรงพยาบาลของเอกชนหรือคลินิกบำบัดของเอกชนซึ่งจำนวนเงินที่สูงมากก็ทำให้เป็นกำแพงในการเข้าถึงการรักษา เลยทำให้บางครั้งเขาเลือกที่จะไม่ไปทำบำบัดกับนักจิตวิทยา เพราะเรื่องราคาในการรักษาและเลือกที่จะคุยกับเพื่อนแทน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการรักษาภายในจิตใจอยู่ดี ปัญหาก็ยังคงอยู่ในสุขภาพจิต

“ถ้าประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคจิตเวชโรคซึมเศร้าได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งตัวยาค่ารักษากับหมอและนักจิตวิทยาก็น่าจะมีผลต่อผู้ป่วยในทางที่ดี เช่นอย่างเราทุกวันนี้ก็สัญญาเอาจากร้านขายยา เพราะไม่อยากเดินทางไปรักษาไกลๆเนื่องจากโรงพยาบาลที่เราทำการรักษาอยู่อยู่ไกลจากบ้านเรามาก ซึ่งถ้าจะไปรักษาที่โรงพยาบาลตามนัดก็ต้องออกไปแต่เช้าถ้าไปถึงสายก็ต้องทำนัดใหม่เสียเวลาอีกหนึ่งวัน”

ธนธรณ์ เล่าถึง การรักษาผู้ป่วย โรคจิตเวชและโรคซึมเศร้า ว่าถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายก็จะเป็นเรื่องที่ดีและต้องเข้าถึงง่าย เพราะตัวเขาเองก็ไม่สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลที่เขารักษามาโดยตลอดเพราะระยะทางจากบ้านที่โรงพยาบาลก็ไกล ทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทางและยังต้องไปถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เช้าหากไปถึงสายก็ต้องทำนัดใหม่ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

“โดยเฉพาะการนักนัดจิตวิทยาเพื่อทำการบำบัด เพราะว่าจะต้องนัดเป็นเวลาเฉพาะแยกออกจากการนัดรักษากับหมอจิตเวช”

ธนธรณ์  อธิบายถึงขั้นตอนการทำนัดกับนักจิตวิทยาว่าเป็นการทำหน้าที่แยกออกจากการไปหาหมอจิตเวช จะต้องใช้การนัดในเวลาเฉพาะของนักจิตวิทยาทำให้ขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น และจากที่เขาเล่าว่าถ้าไปสายก็จะต้องทำนัดใหม่ ในขั้นตอนของการทำนัดนักจิตวิทยาก็เช่นกัน ธนธรณ์ เล่าว่า นอกจากจะต้องทำนัดหมอจิตเวชใหม่อาจจะต้องรอนานไปอีกหลายเดือนก็เป็นได้ 

“อีกส่วนหนึ่งคือถ้าสังคมยังมองว่าการป่วยเป็นจิตเวชคือการเป็นคนบ้า เช่นการที่มีเด็กไปยิงคนในสยามพารากอน ซึ่งมุมมองของคนในสังคมก็ไม่ได้เข้าใจว่าอะไรเรียกว่าโรคจิตเวช หรือบางคนที่ไม่ได้เชื่อว่าโรคนี้มีจริง” 

ธนธรณ์ อธิบายว่าการที่สังคมไม่ได้มีความเข้าใจก็ทำให้เกิดความเข้าใจต่อผู้ป่วยจิตเวชทุกสาขา และนำไปสู่การสร้างวาทกรรม การตีตรา รวมไปถึงการซ้ำเติมผู้ป่วยโดยขาดความเข้าใจ

“อย่างตอนที่แฟนเราป่วยหนักมากๆก็ต้องรอคิวนานถึงหกเดือนมันทำให้เกิดคำถามว่าต้องรอให้ตายก่อนหรือไม่ หรือบางทีเราก็หาทางเลือกเป็นโรงพยาบาลเอกชนแต่ค่าใช้จ่ายก็สูง เพราะไม่มีทางเลือกที่ไวเท่าการจ่ายเงินแพงๆเพื่อเข้าถึงการรักษา มันเลยเป็นเรื่องจำเป็นว่าทำไมการรักษาจิตเวชจะต้องเข้าถึงง่ายไม่มีค่าใช้จ่าย” ธนธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

มันไม่ใช่การรักษา มันคือการบังคับให้กลับไปปกติแบบไม่ปกติ

ภาพเบลล์ (นามสมมุติ) เยาววชนอายุ 19 ปี

“หลังจากไปแอดมิทจิตเวชที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งชื่อดังด้านจิตเวชในกรุงเทพ เราก็กลัวการไปหาหมอ กลัวที่จะพูดความเครียด ความร้สึกของเราออกไปให้หมอฟัง เพราะการไปนอนแอดมิทจิตเวชมันทำใ้ห้เรากลัวว่า ถ้าพูดออกไปหมอจะส่งเรากลับไปที่นั่นอีกไหม” เบลล์ (นามมติ) เยาวชนอายุ 19 ปี ที่ผ่านประสบการณ์การรักษาจิตเวชด้วยการแอดมิทในวอร์ดจิตเวชโดยตรง กล่าว

“คือเราไม่มีทางรู้ได้เลลยว่าเราจะได้ออกวันไหน วันนี้หมอจะมาตรวจไหม อาการเราเป็นอย่างไร เราพูดเรื่องเหล่านี้กับพยาบาลไม่ได้เพราะจะถูกปฏิบัติเหมือนเราเป็นคนบ้า เขาจะไม่เชื่อคำพูดเรา”

เบลล์เล่าถึงประสบการณ์ของเธอในการรักษาตัวในวอร์ดจิตเวชว่า เธอไม่ได้เจอหมอมาตรวจอาการเหมือนคนไข้วอร์ดโรคอื่นๆ ที่มีหมอมาตรวจุกวัน บางวันที่หมอมา หมอก็อาจไม่ได้ตรวจครบทุกคน

“แล้วในวอร์ดจิตเวชมันน่ากลัวมาก อาหารเมนูเดิมทุกมื้อทุกวัน น้ำตามเวลาที่เขาให้กิน ไม่ได้มีตู้กดให้ มันถูกจัดระเบียบเวลาให้แล้วว่าต้องทำอะไรในเวลาไหน ตื่นตี 5 นอน 3 ทุ่ม หลังจากนอนห้ามลุกไปฉี่อย่างน้อยครึ่งชม. เพราะเขากลัวว่ายาจะยังไม่ทันได้เข้าเลือดไปรักษาร่างกายเราดี ช่วงเวลาอื่นๆในแต่ละวันก็เป็นไปเหมือนเดิม ดูทีวีเป็นละครหลังข่าวที่คนใช้ความรุนแรง ตบหน้ากัน หนังสือแปลกๆที่ไม่ได้ชวนให้รู้สึกอยากมีชีวิตต่อ ท่ามกลางเสียงร้องไห้บ้าง เสียงกรี้ดบ้าง เพราะผู้ป่วยบางคน็มีอาการแบบนี้ตลอดวันตลอดคืน”

เบลล์เล่าถึงบรรยากาศการอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเธอไม่รู้สึกปลอดภัยแต่กลับรู้สึกกลัวการรักษา เพราะมีประสบการณืในวอร์ดจิตเวชแทน

“คนที่นอนข้างๆเรา เขาเอาตัวเองมาเข้าแอดมิทที่นี่เพราะคิดว่าจะได้รับการรักษาให้หายจากอาการเสพติดสารบางอย่าง แต่ก็ผิดหวัง เพราะการรักษาของจิตเวชมีแค่การบังคับให้ดูปกติ ทำตัวให้ดูโอเค เข้ากับคนได้ ไม่เดินเพ่นพ่าน หรือคุณยายที่ป่วยติดเตียงอยู่ที่นี่ก็มีแผลกดทับจากการนอน เขาก็แก่มาก พูดไม่ได้ แต่ยังได้ยิน เขาจะร้องไห้ตลอดเวลา แล้วก็ถูกพยาบาลดุด่า เราเลยกลัว กลัวมากๆ”

เบลล์เล่าถึงการใช้ชีวิตในวอร์ดจิตเวช ซึ่งเธออธิบายว่ามันคือการบังคับให้ปกติ เพราะถ้าอาการไม่ปกติก็ไม่ได้กลับบ้าน และถูกต่อว่า ล้อเลียนว่าเป็นคนบ้าแทน เธอยังบอกอีกว่าไม่มีการรับฟัง มีแค่การมัดไว้กับเตียง ซึ่งเธอเองก็เคยถูกมัดกับเตียงมาแล้วเช่นกัน

“แต่ถ้าไม่อยากถูกปฏิบัติแบบนี้มันจะมีห้องพิเศษให้ ซึ่งค่าห้องอยู่หลักพัน ส่วนมากผู้ป่วยมารักษาแล้วแอดมิทกันมักจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือน จริงๆแล้วเขาไม่ได้มีขั้นต่ำในการรักษา แต่ประเมินตามอาการ ถ้าเรานิ่งพอมากๆ ไม่ออกตัวว่าเศร้า เราจะได้ออกไว โดยที่บางทีอาการไม่ได้ดีขึ้น ถ้าไม่มีกำลังจ่ายมากพอก็อยู่ด้วยกัน 30 คน คนหนึ่งกรี้ด คนหนึ่งร้องไห้ อีกคนเดินทุก 5 นาที อีกคนเหม่อพูดคนเดียวว่าจะมีคนมาพาไปแต่งงานในวันพรุ่งนี้ ก็อยู่กันแบบนี้”

เบลล์เล่าว่าถ้าครอบครัวคนไข้มีเงินมากพอที่จะจ่ายราคาห้อพิเศษได้ ก็จะอยู่ที่ประมาณคืนละหนึ่งพันบาท มักใช้เวลารักษากันที่1-2เดือน หากไม่มีกำลังจ่ายมากพอก็ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนอาการต่างกัน เบลล์ต้องพยายามไม่ให้อาการของแต่ละคนมากระทบจิตใจของเธอให้แย่ลงไปกว่าเดิม แทนที่การแอดมิทจะเป็นการรักษา แต่สำหรับเบลล์นั้น เธอคิดว่าต่อให้ครอบครัวมีกำลังจ่ายตค่าห้องพิเศษ มันก็เปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เงียบลง ไม่ได้แปลว่าจะมีใครมารักษา สภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าน้อยลง แต่รูปแบบการใช้ชีวิตไม่ต่างกัน

“ไม่มีประโยชน์ที่จะรักษา ทั้งค่าใช้จ่ายห้องพิเศษ ค่าอาหาร ค่ายา รัฐไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวช เพราะคำว่าจิตเวชก็ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานหลักร้อยปี การดูแลรักษากลับไม่ก้าวหน้าตามอายุ มันจึงสะท้อนว่ารัฐไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้เลย” เบลล์กล่าว

มันคือการบังคับ ไม่ใช่การรักษา

“คือการที่ผู้ป่วยจิตเวชไม่ว่าจะจิตเวชอะไรก็ตาม ไบโพลา ศึมเศร้า ยาเสพติด เราถูกขังรวมกัน 30 คน ถูกบังคับให้ทำตัวปกติแล้วกลับไปใช้ชีวิตในสังคมที่ขูดรีดแรงงานเรา เหมือนกาารรักษาจะคาดหวังแค่ให้เราออกไปทำงานให้กับทุนนิยมที่ขูดรีดให้เราเครียดได้ก็พอ จะต้องวนมาอีกกี่รอบก็ไม่เป็นไร เพราะเขาก็จะใช้วิธีแบบเดิม”

เบลล์มองว่าการรักษาจิตเวช ไม่ใช่การรักษาเป็นเพียงการบังคับให้ปกติ เพื่อกลับไปทำงานใช้ชีวิตแรงงานให้สังคมเศรฐกิจแบบทุนนิยมสามารถมีแรงงานให้ขูดรีดเท่าไหร่ก็ได้ สังคมเช่นนี้ไม่ได้ชวนให้เธอรู้สึกมีทางออกในชีวิต แต่ก็กลัวที่จะพูดคุยกับหมอและนักจิตวิทยาของโรงพยาบาลเพราะกลัวการถูกส่งกลับไปวอร์ดจิตเวช ทุกวันนี้อาการของเธอเลยไม่ค่อยดีนัก และเธอคิดว่ารางกายเธอก็กำลังอ่อนแอและป่วยตามสภาพจิตใจเธอไปด้วย

ภาพที่เบลล์เลือกเพื่อสื่อถึงอารมณ์และความกลัวหลังจากการไปรักษาแอดมิทจิตเวช

“เพราะเรากลัวผู้คนจะมองว่าเป็นบ้า เหมือนตอนอยู่ในวอร์ดจิตเวช ตั้งแต่ออกมาเรากินยาตามหมอสั่ง แต่รู้สึกว่ายามันทำให้นิ่ง ไม่มีความรู้สึกกับอะไร แม้แต่สิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข ก็ไม่มีความสุข เลยไม่รู้จะใช้ชีวิตยังไง จะทำอะไร จะอยู่ไปทำไม”

ยาของเบลล์แม้จะใช้สิทธิ 30 บาทอันนี้ แต่เราสามารถเบิกค่ายาได้ แค่700บาท เพราะทำเรื่องย้ายส่งตัวมารักษา เพราะฉะนั้นถ้าโรงพยาบาลไม่ส่งยาไปรษณีย์ให้ ก็ต้องมาหาหมอบ่อยๆเพราะค่ายาเกิน ไหนจะยานอกบัญชีอีก อีกทั้งบ้านเราอยู่ไกล มีค่าเดินทาง” 

เบลล์อธิบายเพิ่มว่าตอนนี้ลองรักษาที่นี่ไปก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นคอาจจะต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกมั้ย แต่อย่างไรก็ตามค่ายาที่ต้องจ่ายเอง และเอฟเฟคของยาก็ไม่ค่อยดีสำหรับเธอเท่าไหร่นัก

“ไม่แปลกที่ผู้ป่วยจิตเวชหลังออกมาจากแอดมิทจะมีอาการเดิม ไม่หายขาด หรือมีพฤติกรรมที่แย่ลง เพราะสถานที่นั้นมันคือคุก เขาไม่ได้รักษาแต่เขาบังคับให้ทำตัวปกติ”

เบลล์เล่าว่าเธอได้ออกจากแอดมิทจิตเวชไว เพราะเธอเก็บอาการเศร้าและความเจ็บปวดในใจไว้ แม้เธอเองจะนอนไม่หลับเลยซักคืนเดียว แต่เธอก็ต้องเก็บอาการเจ็บป่วยทางจิตเวชไว้ในใจขณะที่แอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะเธอเห็นว่าหากแสดงอาการเจ็บป่วยออกมาก็จะจะยิ่งถูกประเมินว่ายังไม่หายป่วย และจะยิ่งออกจากโรงพยาบาลได้ยาก ต้องใช้เวลาในการแอดมิทนานขึ้น ซึ่งสำหรับเบลล์การแอดมิทไม่ใช่การรักษาเพราะไม่ได้มีการรับฟังผู้ป่วยแต่เธอกลัวที่จะถูกจับมัดไว้บนเตียงอีกครั้ง

พวกคุณคือคนเข้มแข็งที่กล้าเปิดเผยจุดเปราะบางของตัวเอง

ภาพ ฐิตินบ โกมลนิมิ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า

“ทุกคนในบทสัมภาษณ์นี้คือคนที่กล้าหาญและเข้มแข็งมากที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวความเจ็บปวดของตนเอง” ฐิตินบ กล่าวหลังอ่านรายงานสัมภาษณ์ข้างต้น พร้อมอธิบายว่า การที่ผู้ป่วยจะออกมาพูดถึงความเจ็บป่วยภายในใจได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอยากให้ผู้ป่วย empower ตัวเองที่จะรักษาและยืนยันกับหมอว่า หมอวินิจฉัยว่าต้องใช้ยานอกบัญชี ผู้ป่วยใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ว่า ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย

“เพราะหากยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ท้ายที่สุดเรากลายเป็นภาระของตัวเราเอง”

ฐิตินบ เล่าว่าการที่ผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาล เพราะพวกเขาอยากหายจากโรค ซึ่งพื้นที่ในสถานพยาบาลมันไม่ควรกลายเป็นพื้นที่สิ้นหวัง ทั้งด้านค่าใช้จ่าย และการเข้าถึงการรักษา ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเข้าถึงได้ยาก มันจึงเป็นความโดดเดี่ยวที่ผู้ป่วยถูกทิ้งให้อยู่กับยา ซึ่งการรักษาที่ดีต่อผู้ป่วยควรเข้าถึงทั้งการรักษาทั้งเรื่องยาและการพบนักจิตวิทยาเพื่อทำการบำบัดด้วย

“ยาในบัญชียาหลักมักไม่ได้ผลกับผู้ป่วยจิตเวชแบบรุนแรง พอไปกินยานอกบัญชีเราก็ถูกเรียกเก็บเงิน ข้อเสนอเร่งด่วนจีชึงเป็นการเพิ่มยาในบัญชียาหลักให้มากขึ้นหรือต้องไม่มีการเรียกเก็บเงินจากยานอกบัญชียาหลัก” ฐิตินบกล่าว

ถึงพวกคุณทุกคนที่กำลังป่วย เราอยากส่งสัญญาณพวกคุณไม่ได้โดดเดี่ยว

“ความฉุกเฉินของผู้ป่วยซึมเศร้ากับของความฉุกเฉินทางการแพทย์ที่สวนทางกัน ทำให้เกิดผลต่อผู้ป่วยอย่างมาก”

ตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์ข้างต้นเล่าจะเห็นได้ว่าความฉุกเฉินทางจิตใจไม่ถูกรักษาในห้องฉุกเฉิน เพราะคำว่าฉุกเฉินทางการแพทย์สวนทางกับความเจ็บปวดทางจิตใจ ซึ่งฐิตินบมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและฉุกเฉินต่อผู้ป่วยจิตเวชมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงเพราะไม่ได้รับการรักษาฉุกเฉินทันที

“การที่เราและกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าออกมาพูดเรื่องนี้ อย่างน้อยเป็นการส่งสัญญาณว่า พวกคุณไม่ได้โดดเดี่ยวนะ มีคนที่อยู่ในชะตากรรมร่วมกับพวกคุณอยู่ไม่ว่าพวกคุณจะอยู่ตรงไหนก็ตาม”

ฐิตินบกล่าวว่า การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ ตัวเธอเองก็ empower ตัวเองและได้กำลังใจจากเพื่อนๆรอบข้างเพื่อออกมาพูดถึงข้อเรียกร้องเรื่องค่าใช้จ่ายจิตเวช และอยากให้เป็นสัญญาณถึงผู้ป่วยทุกคนว่า ทุกคนไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีพวกเราที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องโรคจิตเวช เพื่อที่ทุกคนจะได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพ เข้าถึงง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย

“ทุกคนอยากหาย แต่รัฐต้องสนับสนุนดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างจริงจัง” ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net