Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ เมื่อภาคประชาสังคมในเชียงใหม่รวมตัวเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศสะอาดหายใจ นำมาซึ่งข้อเสนอแก้ปัญหาเชิงรุก ทั้งข้อเสนอ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่เพิ่งผ่านเข้าสภา การให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมวางแผนก่อนถึงฤดูฝุ่นควัน และข้อเสนอให้เปลี่ยนจากงดการเผาสิ้นเชิง (Zero Burning) มาเป็นการควบคุมไฟ (Fire Management) โดยยอมรับว่าไฟนั้นจำเป็น ระบบนิเวศของป่าผลัดใบจำเป็นต้องใช้ไฟ ปล่อยให้สะสมมากไปก็ไม่ดี ขณะที่การใช้ไฟในการทำเกษตรต้องบริหารจัดการไฟแบบควบคุม

สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นเลวร้ายและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่ฤดูแล้งทุกปีวัดค่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นมลพิษสูงติดอันดับโลก ที่ผ่านมามีการเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนให้มากยิ่งขึ้น อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมที่ออกมาทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยรายงานข่าวภายใต้โครงการ “ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ” ชวนอ่านบทสนทนากับภาคประชาสังคม เอกชน และส่วนราชการในเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือตอนบน เรื่องการรับมือปัญหามลพิษทางอากาศ รวมไปถึงมุมมองต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแบ่งนำเสนอทั้งหมด 5 ตอน

ภาคเหนือรับมือ PM2.5 (1) หน้ากาก Masqura X และนวัตกรรมป้องกันอากาศพิษ, 8 มี.ค. 2567

ภาคเหนือรับมือ PM2.5 (2) ละครเวทีเล่าเรื่องเมืองฝุ่นพิษ, 14 มี.ค. 2567

ภาคเหนือรับมือ PM2.5 (3) เปลี่ยนจากงดเผาสิ้นเชิง เป็นคุมไฟ ใช้ไฟ, 24 มี.ค. 2567

เมื่อครั้งที่เชียงใหม่เจอปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 มีค่าสูงติดอันดับโลก เมื่อปี 2562 วัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ได้สูงถึง 588  กลุ่มประชาสังคม กลุ่มวิชาการต่างๆ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มสิ่งแวดล้อม มาคุยกันแล้วเห็นพ้องกันว่าคงจะปล่อยให้ภาครัฐทำงานอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว จึงได้ลุกขึ้นมาประกาศเป็นสภาลมชายใจเชียงใหม่ เมื่อปี 2562 เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ไปด้วยกัน ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบและเป็นผู้สร้างฝุ่นควันด้วย

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมาตั้ง 14 ปีแล้วไม่ตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติบรรเทาสาธารณภัย คือ เมื่อเกิดภัยแล้วจึงค่อยแก้ปัญหา จึงค่อยใช้งบ ใช้คน ใช้เครื่องจักรในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นลักษณะการแก้ปัญหาเชิงรับ 

“แต่เรามองว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก ต้องมีแผนการป้องกัน แผนระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” ชัชวาลย์ กล่าว

จากการประมวลความคิดเห็นของทุกภาคส่วน จึงมีการเสนอหลักคิดและการแก้ปัญหาแบบใหม่ คือเสนอว่า อย่างแรก ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ นั่นก็คือ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงรุกที่จะแก้ปัญหาทุกสาเหตุ โดยมีกลไกในการดูแลอย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

ประการที่สอง เสนอให้มีการเปลี่ยนการทำงาน จากการสั่งการเพียงอย่างเดียว มาเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการให้ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางแผน

ประการที่สาม เราเสนอให้เปลี่ยนจากงดการเผาโดยสิ้นเชิง (Zero Burning) เป็นการควบคุมไฟ (Fire Management) คือการยอมรับว่าไฟนั้นจำเป็น ระบบนิเวศของป่าผลัดใบจำเป็นต้องใช้ไฟ ปล่อยให้สะสมมากไปก็ไม่ดี อีกทั้งมีชาวบ้านที่อยู่ในป่าเยอะแยะไปหมด ชาวบ้านก็ยังจำเป็นต้องใช้ไฟในการทำการเกษตร เมื่อยอมรับการใช้ไฟแล้วก็ต้องบริหารจัดการไฟแบบควบคุม 

ปีนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่ได้เสนอหลักการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนมากขึ้น มีคณะทำงานจากหลายฝ่ายที่มาร่วมช่วยกันวางแผน ซึ่งแบ่งเป็น 7 ป่า โดยที่จังหวัดให้เงินสนับสนุนในการทำแผน ถือว่าเป็นการยกระดับที่ค่อนข้างชัดเจน

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับทางทุกฝ่ายรวมถึงทางจังหวัดในการเข้ามาดูแลดอยสุเทพอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับพี่น้องชาติพันธุ์ม้ง 12 หมู่บ้าน และขยายพื้นที่มาเป็นรอบดอยสุเทพรวมกัน 7 อำเภอ

โซนแนวกันไฟรอบดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ (ที่มา: แฟ้มภาพ)

การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่ารอบดอยสุเทพ (ที่มา: แฟ้มภาพ)

ปีนี้มีกระบวนการที่เข้มข้นขึ้น โดยโซนหน้าดอยสุเทพจะเน้นเป็นการป้องกัน มีการทำแนวกันไฟร่วมกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เมือง ส่วนโซนหลังตั้งแต่โซนสะเมิง โซนบ้านปง โซนน้ำบ่อหลวง จะเป็นเขตการบริหารการจัดการเชื้อเพลิง คือ หากตรงไหนจำเป็นต้องใช้ไฟก็จะมีการทำแผนและทำแนวกันไฟไว้ให้ชัดเจน เรียกว่า “การจัดการไฟจำเป็นแบบควบคุมไม่ให้เกิดการลุกลามแบบไร้การควบคุม” ชัชวาลย์ กล่าว

หลังจากที่จัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเสนอเข้าไปที่แอพพลิเคชั่น FireD ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขึ้น และทดลองใช้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เป็นเครื่องมือที่ทำให้การบริหารไฟป่าชัดเจนยิ่งขึ้น 

สำหรับความคาดหวังต่อสถานการณ์นี้ แน่นอนว่าทางสภาลมหายใจเชียงใหม่อยากเห็น PM2.5 ลดลง ต้องลดไฟที่ไร้การควบคุมลงทั้งหมดให้ได้ เหลือเฉพาะไฟที่จำเป็นจริงๆ ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องใช้ไฟ แต่พยายามลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงพืชเชิงเดี่ยว เวลาที่พืชเหล่านี้ขึ้นมาบนที่สูง นอกจากจะทำลายทรัพยากรแล้ว แต่ยังสร้างเรื่องมลภาวะด้วย เราจึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการผลิตอย่างยั่งยืนมากขึ้นที่เข้ามาทดแทนพืชเชิงเดี่ยว 

“เรายังอยากเห็นระบบประกันสุขภาพที่ดี ควรจะมีสวัสดิการที่ประชาชนได้สามารถป้องกันตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องกรองอากาศ หรือบริการตรวจปอดฟรี เป็นต้น และสุดท้ายเราอยากจะเห็นการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ต้องมีแผนหรือข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมดคิดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น” ชัชวาลย์ กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net