Skip to main content
sharethis

'ทนายแจม สส.ก้าวไกล' อภิปรายรายงานศาลยุติธรรม ตั้งคำถามงบเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นทุกปี - ฝากพิจารณาความเหลื่อมล้ำในสนามสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ชี้ทำให้ได้กระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนตั้งคำถาม ยกกรณีคดี 112 'อานนท์-วารุณี' ไม่ได้ประกัน เทียบคดี 'อิทธิพล' ได้ประกัน ทั้งที่เคยมีประวัติหลบหนี

11 ต.ค.2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชนว่า ในการอภิปรายรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงานศาลยุติธรรม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยสภาผู้แทนราษฎร ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมการอภิปราย โดยตั้งคำถามถึงกรณีงบประมาณด้านเบี้ยประชุมที่เพิ่มขึ้นทุกปี  และความเหลื่อมล้ำในสนามสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

ศศินันท์ ระบุว่าจากที่ได้อ่านงบการเงินของศาลยุติธรรม พบว่ามีงบประมาณด้านหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต นั่นคือค่าใช้จ่ายในการประชุมที่เพิ่มขึ้นกว่า 119 ล้านกว่าบาท ในปี 2565 เป็น 319 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างนี้เมื่อตนเห็นแล้วก็ตกใจ จึงได้ไปสืบค้นข้อมูลย้อนหลังมาตั้งแต่ปี 2561 ก็พบว่าค่าใช้จ่ายในการจ่ายเบี้ยประชุมอยู่เฉลี่ยปีละ 207 ล้านกว่าบาท

ซึ่งการจ่ายเบี้ยประชุมของสำนักงานศาลยุติธรรม ก็พบอีกว่ามีการกำหนดกรอบเอาไว้ ประกอบด้วยของประธาน ประมาณ 10,000 บาทต่อครั้ง, องค์ประชุมคนละ 8,000 บาท, ผู้เข้าร่วมคนละ 8,000 บาท, เลขานุการคนละ 6,000 บาท แม้จะมีการกำหนดกรอบเอาไว้แล้ว แต่ตัวเลข 319 ล้านกว่าบาทก็ยังเป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งประชาชนอาจตั้งคำถามต่อความสมเหตุสมผล ว่าเป็นไปเพื่อให้ศาลมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรมมากขึ้นอย่างไร และในปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการประชุมจะขึ้นไปอีกเป็นเท่าไร

ศศินันท์ ยังได้อภิปรายต่อถึงประเด็นต่อไป เกี่ยวกับกระบวนการคัดสรรผู้พิพากษา โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยระบุว่าในวงการนักศึกษาด้านกฎหมาย เป็นที่ทราบดีว่าช่องทางการเป็นผู้พิพากษาต้องผ่านการสอบ โดยมี 3 สนาม อันประกอบด้วย 

1) “สนามใหญ่” ที่ผู้สอบต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต จบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และประกอบอาชีพด้านกฎหมาย 2 ปี
2) “สนามเล็ก” ผู้สอบต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต และจบปริญญาโทด้านกฎหมาย และ 
3) “สนามจิ๋ว” ผู้สอบต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต จบปริญญาโทด้านกฎหมายจากต่างประเทศหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2 ปี และประกอบอาชีพด้านกฎหมาย 1 ปี หรือจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากต่างประเทศหลักสูตรไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือจบปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยในไทย

ไม่นานมานี้ มีการแชร์ในโลกออนไลน์ ถึงตัวเลขที่น่าตั้งข้อสังเกต ว่าผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนสนามจิ๋วในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี 2561 มีจำนวน 21 คน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพด้านกฎหมายมา ซึ่งอาจตีความได้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วก็เข้าสู่สนามสอบทันที และเมื่อพิจารณาถึงคะแนนสอบของแต่ละสนาม จะพบว่ามีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน สนามจิ๋วให้น้ำหนักกับการสอบภาษามากกว่าด้านอื่นๆ สนามใหญ่เน้นด้านกฎหมายมากที่สุด

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือในปี 2560 การสอบสนามใหญ่มีผู้ผ่านการคัดเลือก 33 จาก 7 พันกว่าคน ถือเป็น 0.47% ของผู้สมัคร ขณะที่สนามจิ๋วในปีเดียวกัน มีผู้ผ่านการคัดเลือก 116 คนจากผู้สมัคร 348 คน ถือเป็น 33.33% ของผู้สมัครทั้งหมด ในปี 2561 อัตราสอบผ่านสนามใหญ่อยู่ที่ 1.76% สนามเล็ก 1.40% สนามจิ๋ว 22.18% 

ศศินันท์กล่าวต่อไป ว่าจากสถิติจะเห็นได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำในการสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยในสนามจิ๋วมีโอกาสมากกว่าสนามอื่นถึง 10 เท่าเป็นอย่างน้อย และสะท้อนให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำในการสอบในสนามต่างๆ อยู่จริง ยังไม่นับรวมกับการ “เก็บคดี” ที่ในวงการนักศึกษากฎหมายทราบดีว่าเมื่อจบมาแล้ว ก็อาจไปขอเก็บคดีตามศาล เพื่อให้ได้คดีตามจำนวนที่จะสอบผู้พิพากษาได้ โดยไม่ได้ว่าความจริง แล้วเอาเวลาไปอ่านหนังสือสอบ เพื่อมาเป็นผู้พิพากษาตัดสินชะตาชีวิตประชาชน

ด้วยความเหลื่อมล้ำ ทั้งของกระบวนการสอบคัดเลือก การเก็บคดี สวัสดิการ หรือเบี้ยประชุม จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เวลามีการตัดสินคดีความต่างๆ ก็คือความเหลื่อมล้ำในการตัดสิน ในการให้ประกันตัวในแต่ละคดี 

เช่น ในคดี มาตรา 112 ของ อานนท์ นำภา จำคุก 4 ปีไม่รอลงอาญา ไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ไม่เคยหลบหนีไปไหน, คดี มาตรา 112 ของ วารุณี จำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นความผิดร้ายแรงและเชื่อว่าจะหลบหนี ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยหลบหนี ขณะเดียวกัน คดีของ อิทธิพล คุณปลื้ม ศาลกลับให้ประกันทั้งที่มีประวัติหลบหนี และยังมีคดีของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ที่ศาลยกฟ้องคดีฆาตกรรม “บิลลี่” โดยชี้ว่าหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ศาลก็ให้ประกันตัว

ศศินันท์กล่าวทิ้งท้าย ว่าทั้งหมดนี้ ตนอยากชี้ให้เห็นว่าด้วยกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษา การใช้งบประมาณต่างๆ สิ่งที่ประชาชนได้มา คุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนเสียไปแล้วหรือไม่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net