Skip to main content
sharethis

ไต้หวัน หนุนทบทวนปรับปรุงกฎอนามัยระหว่างประเทศอย่างแข็งขันและความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ขอ WHO หนุนเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการจัดการสาธารณสุขโลก หวังสร้างโครงข่ายสาธารณสุขของโลกที่ถ้วนทั่วยิ่งขึ้น

ที่มา กรมควบคุมโรค

หลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. - 4 พ.ค. 2567 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล 1,792 ราย เฉลี่ยรายวัน 256 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดขณะที่ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2567 อยู่ที่ 13,057 ราย ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์นี้ อยู่ที่ 12 ราย ทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ เฉลี่ยวันละ 2 คน เสียชีวิตสะสม 2567 รวม 93 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยังออกคำเตือนให้ระวังต่อภัยคุกคามของโรค-เอ็กซ์ (Disease-X) อย่างต่อเนื่องนั้น

ประเด็นเรื่องความร่วมมือในการยกระดับการจัดการด้านสาธารณสุขของโลกจึงยังเป็นประเด็นสำคัญ ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับบทความจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ที่สะท้อนทัศนะของ จางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ที่ย้ำถึงความสำคัญของโจทย์นี้ โดย จางจวิ้นฝู ระบุว่า ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศได้เริ่มพิจารณายุทธศาสตร์การรับมือ และระบุว่ากฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation: IHR) มีกฎระเบียบที่จำกัดความเกินไป และควรแก้ไขทบทวนกฎระเบียบ รวมถึงอนาคตส่งเสริมกลไกติดตามตรวจสอบรายงานและการแบ่งปันข้อมูล ยกระดับความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนปรับปรุงเกณฑ์ขั้นต่ำในการประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เร่งรัดการหารือความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic Agreement) ครั้งใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีระบบการตรวจสอบความรับผิดชอบ ความโปร่งใสและความเป็นธรรม อันจะเป็นต้นแบบโครงสร้างการรับมือภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก ความตกลงฉบับนี้คาดว่าจะผ่านมติที่ประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHA ครั้งที่ 77 ซึ่งจะเปิดประชุมระหว่างวันที่ 27 พ.ค. ถึงวันที่ 1 มิ.ย.นี้ 

ไต้หวันสนับสนุนการทบทวนปรับปรุงกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR2005) อย่างแข็งขัน และขอสนับสนุนความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไต้หวันไม่ใช่ประเทศสมาชิกของ WHO จึงไม่อาจเข้าร่วมการประชุมการแก้ไข IHR2005 และการร่างความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลกโดยตรง ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ WHO ยอมรับให้ไต้หวันเป็นฝ่ายผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการร่วมกันควบคุมสอดส่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การแจ้งเตือน และการแบ่งปันข้อมูลการทดสอบเชื้อ การค้นคว้าวัคซีนหรือยาต้านไวรัส ตลอดจนผลการทดลองทางคลินิค เป็นต้น สำหรับเตรียมพร้อมรับมือภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลกรอบต่อไป ร่วมกันสรรค์สร้างสังคมนานาประเทศที่มีความยืดหยุ่นในการป้องกันโรคภัย

"เราขอเรียกร้องให้ WHO สนับสนุนไต้หวันให้มีส่วนร่วมในระบบการจัดการสาธารณสุขของโลก ไต้หวันขอยืนยันคำมั่นว่าจะยึดมั่นในหลักการความเป็นมืออาชีพ เน้นการปฏิบัติได้จริง สร้างคุณูปการในการเข้าร่วมเครือข่ายความปลอดภัยทางสาธารณสุขของโลก และจะร่วมมือกับ WHO ในการสรรค์สร้างโครงข่ายสาธารณสุขของโลกที่ถ้วนทั่วยิ่งขึ้น" ผู้อำนวยการใหญ่ สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ระบุ

คณะกรรมการเศรษฐศาสตร์สุขภาพประชากรขององค์การอนามัยโลกพบว่า อย่างน้อยมี 140 ประเทศที่ยอมรับในรัฐธรรมนูญว่าสุขอนามัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทว่า ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ผ่านกฎหมายการคุ้มครองให้ประชากรของตนได้รับการดูแลด้านสุขอนามัย ไต้หวันทุ่มเทให้กับสุขภาพประชาชนโดยถ้วนหน้า หลายสิบปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้พัฒนาความเป็นมืออาชีพด้านการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการเสริมสร้างสวัสดิการสังคม ตั้งแต่การส่งเสริมความแข็งแกร่งของการรักษาระดับปฐมภูมิ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากประชากรทุกคน ผลักดันโครงการสุขภาพจิต เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายความปลอดภัยของสังคม และระบบการรักษาพยาบาลที่รวดเร็วคล่องตัว เพื่อป้องกันรักษาโรคระบาดและโรคไม่ระบาด เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เพื่อยกระดับสิ่งแวดล้อมที่เป็นคุณต่อสุขภาพประชากรถ้วนหน้าในเวลาเดียวกัน  นอกจากนี้ ไต้หวันกำลังทุ่มเทให้กับประสบการณ์และความรู้เฉพาะทางที่ได้จากประสบการณ์การส่งเสริมสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อช่วยให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นจริง 

วันอนามัยโลกประจำปี 2024 ภายใต้หัวข้อ “สุขภาพของเรา สิทธิของเรา” มีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้ทุกคนมีสิทธิได้รับบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความปลอดภัยของน้ำดื่มน้ำใช้ อากาศที่สะอาด โภชนาการที่ดี สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยและการทำงานที่เหมาะสม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

จางจวิ้นฝู ระบุด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคประชาชนของไต้หวันพยายามร่วมแรงร่วมใจกับมิตรประเทศและองค์กรระหว่างประเทศในการช่วยเหลือประชาคมโลก ทำให้สิทธิสุขอนามัยเกิดขึ้นจริง เราอำนวยความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลแก่ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ ช่วยเหลือและปรับปรุงโภชนาการของเด็กและสตรีเขตภัยพิบัติจากเหตุแผ่นดินไหวของเฮติ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กู้ภัยผู้อพยพชาวยูเครนในโรมาเนีย ประกอบการสร้างการสนับสนุนทางจิตใจเชิงสังคมแก่ผู้อพยพเด็กและสตรีในโรมาเนีย เราให้ความช่วยเหลือการยกระดับความสามารถในการปรับตัวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคทะเลแคริบเบียน เราช่วยเหลือหน่วยงานสาธารณสุขยกระดับพื้นฐานองค์กรสาธารณสุขในการอำนวยน้ำสะอาดและการเข้าถึงสาธารณสุข ณ เคนยา 

ในตอนท้ายบทความของผู้อำนวยการใหญ่ สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ยังระบุอีกว่า ไต้หวันช่วยองค์การอนามัยโลกทำให้แนวคิด “สุขอนามัยคือสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง” ให้เป็นจริง ทว่า สิทธิสุขอนามัยของประชากร 23 ล้านคนในไต้หวันกลับถูก WHO ละเลยด้วยปัจจัยทางการเมือง เราจึงขอเรียกร้องต่อ WHO และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โปรดตระหนักถึงคุณูปการของไต้หวันที่มีต่ออนามัยของโลกและสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ ขอเสนอให้ WHO ควรรักษาทีท่าที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากกว่านี้ โดยยึดหลักการมืออาชีพและความครอบคลุม เชื้อเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) การประชุม กิจกรรม และกลไกอื่นที่จัดโดย WHO รวมทั้งการประชุมความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลกที่ WHO กำลังหารืออยู่ขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมาย “สุขอนามัยคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ตามธรรมนูญของ WHO และวิสัยทัศน์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net