Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางคนอธิบายว่าปัญหาการเมืองบ้านเราเวลานี้เป็นเรื่องของ “การเมืองเชิงคุณค่า vs. การเมืองเชิงสถาบัน” ก้าวไกลคือตัวแทนการเมืองเชิงคุณค่า เพราะเป็นการเมืองที่เชิดชูคุณค่าของอุดมการณ์ หลักการประชาธิปไตย และความฝันสร้างรัฐสวัสดิการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลคือตัวแทนของการเมืองเชิงสถาบัน หรือการเมืองที่อยู่กับ “ความเป็นจริง” ของสถาบันทางการเมืองไทยปัจจุบัน ที่ต้องต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ, จำนวน ส.ส. เพียงพอที่จะโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาลที่มั่นคงได้ตามหลัก “คณิตศาสตร์การเมือง” และจำเป็นต้องทำตาม “เงื่อนไข” ของสถาบันอำนาจทางการเมืองที่เป็นจริงในสังคมไทย เช่น สถาบันกษัตริย์, กองทัพ, วุฒิสภา, พรรคฝ่ายเผด็จการและนั่งร้านที่ได้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งตามกติกาที่ทุกฝ่ายตัดสินใจเลือกลงแข่งขัน

แต่ “คำถามพื้นฐานทางปรัชญา” ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ เราสามารถพูดถึงวิถีชีวิต, วิถีสังคมและการเมือง โดยไม่พูดถึง “คุณค่า” (values) ใดๆ เลยได้จริงหรือ พูดเฉพาะ “ข้อเท็จจริง” หรือ “ความเป็นจริง” ของวิถีชีวิต, วิถีสังคมและการเมืองเท่านั้นก็ได้หรือ และคำถามท้าทายสุดขั้วเลยคือ มันมี facts ที่ปราศจาก values อยู่จริงหรือไม่ โดยเฉพาะ facts ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต, วิถีสังคมและการเมือง

มีนักปรัชญาบางคน เช่น ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ปฏิเสธว่า “คุณค่าทางศีลธรรม” ไม่มีอยู่จริง ด้วยการใช้ข้อโต้แย้งเชิงประวัติศาสตร์ (historical arguments) ของการเกิดความเชื่อทางศีลธรรมแบบต่างๆ (โดยเฉพาะคริสต์ศาสนา) ว่าความเชื่อทางศีลธรรรมเกิดขึ้นจากผู้คนในสังคมเห็นว่า “การกระทำ” หรือ “ความประพฤติ” แบบใดแบบหนึ่งที่ทำให้ตนหรือคนอื่นๆ ได้ประโยชน์ก็พากันเรียกการกระทำหรือความประพฤตินั้นๆ ว่า “ดี” หรือเป็น “ความดี” พูดอีกอย่างคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการกระทำหรือความประพฤติแบบนั้นๆ คือผู้ที่เรียกการกระทำหรือความประพฤตินั้นๆ ว่า “ดี” หรือเป็นความดีทางศีลธรรม แต่นีทเชออธิบายใหม่ว่า

ไม่ใช่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการกระทำหรือความประพฤติของคนอื่นหรอกที่บอกว่าการกระทำหรือความประพฤตินั้นๆ “ดี” แต่คือชนชั้นนำทั้งหลาย ขุนนาง ราชวงศ์ ผู้ปกครองในสังคมโบราณที่บอกว่าตนเอง (และวิถีชีวิตของพวกตน) “ดี” ส่วนสามัญชน ทาส เชลย เป็นพวก “เลว” การแบ่งระหว่าง “ดี” กับ “เลว” ในช่วงแรกน่าจะเป็นความแตกต่างระหว่าง “ชั้นสูง” กับ “ชั้นต่ำ” เสรีชนกับทาส ผู้นำกับผู้ตาม ผู้มีความรู้กับผู้ไร้การศึกษา เหล่านี้เป็นคำที่ผู้มีอำนาจแซ่ซ้องสรรเสริญตนเอง ความแข็งแกร่ง และวิถีชีวิตของพวกตน และแสดงถึงระยะห่างที่พวกเขารู้สึกว่าคั่นกลางระหว่างพวกตนกับคนหมู่มากที่อ่อนแอ ยากไร้ ไม่มีปัญญาคิดอ่าน (เอ็ดเวิร์ด เครก, ปรัชญา: ความรู้ฉบับพกพา, น.148)

ส่วนสามัญชน ทาส และเชลย หรือชนชั้นผู้ถูกกดขี่ก็ถือว่าอะไรที่ชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้กดขี่ถือว่าดีล้วนแต่เป็นความเลว และวิถีชีวิตผู้ถูกกดขี่ที่ตรงข้ามกับชนชั้นสูง เช่น การอุทิศตนช่วยเหลือผู้ยากไร้ ความเมตตา และความรักเป็นต้น คือ “ความดี” แต่นีทเชอมองว่าความคิดแบบนี้เกิดจาก “ความเกลียดชัง” และความต้องการแก้แค้นชนชั้นผู้กดขี่ ที่จริงแล้วธรรมชาติของชีวิตคือ “เจตจำนงเพื่ออำนาจ” (will to power) ชนชั้นนำคือพวกที่ใช้เจตจำนงนี้เพื่อแสวงหาอำนาจ แต่ชนชั้นผู้ถูกกดขี่คือพวกที่ปฏิเสธชีวิต (ที่มีเจตจำนงเพื่ออำนาจ) โดยมีพวกนักบวชที่ปฏิเสธชีวิตมากกว่าเป็นผู้ปลอบประโลมใจ ด้วยการอ้างคุณค่าทางจิตวิญญาณและความดีทางศีลธรรมมาให้ความหวังเรื่องการมีชีวิตที่ดีในโลกนี้และในสวรรค์ของพระเจ้าในโลกหน้า สำหรับนีทเชอการใช้ชีวิตอย่างซื่อตรงต่อชีวิตคือการเลือกทำตามเจตจำนงเพื่ออำนาจ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าในที่สุดนีทเชอเองก็ยังยืนยัน “คุณค่า” อยู่ดีไม่ใช่หรือ เมื่อเขายืนยันว่าการเลือกใช้ชีวิตอย่างซื่อตรงต่อธรรมชาติของชีวิต คือการทำตามเจตจำนงเพื่ออำนาจควรจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แต่ถ้าพูดแบบนักปรัชญาสายประโยชน์นิยม (utilitarianism) อย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) “ความมีประโยชน์” ของการกระทำ, หลักการ, นโยบาย หรือวิธีปฏิบัติต่างๆ ของเรานั่นแหละคือ “คุณค่าทางศีลธรรม” ตัวอย่างเช่น ที่พวกชนชั้นนำเห็นว่าวิถีชีวิตแบบพวกเขาดีกว่าสามัญชน ทาส เชลยหรือชนชั้นต่ำ ก็เพราะพวกเขาได้รับประโยชน์จากวิถีชีวิตเช่นนั้น แต่ทว่า “ประโยชน์” ที่ควรถือเป็น “คุณค่าทางศีลธรรม” ในความหมายที่มิลล์เสนอ ไม่ใช่ประโยชน์ในความหมายแบบชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้กดขี่ หากคือ “ประโยชน์สุขของทุกคนเท่าเทียมกัน” หรือ “ประโยชน์สุขส่วนรวม” ที่ต้องกระจายแก่สมาชิกของสังคมทุกคนอย่างยุติธรรมบนหลักการที่ว่าทุกคนมี “ความเป็นคนเท่ากัน” ในฐานะที่เราต่างเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือสิทธิและเสรีภาพของตนเอง

มิลล์เชื่อมโยงปัจเจกบุคคลกับสังคมส่วนรวมเข้าด้วยกัน ด้วยการเสนอ “หลักเสรีภาพ” (ในหนังสือ “On Liberty”) บนตรรกะที่ว่า ถ้ารัฐและสังคมปล่อยให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีเสรีภาพเลือกการกระทำหรือวิถีชีวิตในแบบที่ตนชอบ และมีเสรีภาพอภิปรายสาธารณะได้เต็มที่ ตราบที่ “ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น” ปัจเจกบุคคลแต่ละคน สังคมส่วนรวม หรือมนุษยชาติจะได้รับประโยชน์สูงสุดและมีความก้าวหน้าด้านต่างๆ มากกว่าการที่รัฐหรือสังคมจำกัดเสรีภาพ ด้วยการบังคับให้ปัจเจกบุคคลต้องกระทำหรือมีวิถีชีวิตในแบบที่รัฐหรือสังคมต้องการให้เป็น เช่น ต้องการให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง จึงปิดกั้นเสรีภาพในการพูดหรือการวิจารณ์ตรวจสอบสถานะ อำนาจและบทบาทของชนชั้นปกครองที่ส่งผลประทบต่อส่วนรวม การปิดกั้นเสรีภาพเช่นนี้ย่อมทำให้ปัจเจกบุคคลเสียโอกาสในการเลือกวิถีชีวิตทางการเมืองด้วยตัวของพวกเขาเอง และทำให้สังคมส่วนรวมสูญเสียประโยชน์, ความก้าวหน้าทางการเมืองการปกครองและอื่นๆ ที่พึงจะมี

แต่อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) คิดต่างจากมิลล์ว่า คุณค่าทางศีลธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ความมีประโยชน์” เช่น มีดมีประโยชน์ในการ “ฟักลาบ” (ภาษาอิสาน) แต่ไม่ได้หมายความว่ามีดมีศีลธรรม หรือพูดอีกอย่างถ้าเราเอา “ประโยชน์” มาใช้เป็นเป้าหมายของศีลธรรม ก็มีตัวอย่างมากมายที่คนเราทำเพื่อประโยชน์อย่างผิดศีลธรรม ชนชั้นผู้กดขี่เขาก็หาเหตุผลมาสนับสนุนว่าวิถีชีวิตและสถานะอำนาจของพวกเขา “ดี” กว่าสามัญชน ทาส เชลยหรือคนชั้นต่ำ แต่นั่นไม่ใช่ความดีทางศีลธรรม

สำหรับคานท์คุณค่าทางศีลธรรม คือสิ่งสะท้อน “เสรีภาพ” และ “ศักดิ์ศรีในตัวเอง” ของมนุษย์ การกระทำที่ดี เช่น ไม่โกหก การช่วยเหลือกันและกัน การปกป้องคนอื่นที่ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคน หรือถูกกระทำอย่างอยุติธรรม ฯลฯ เป็น “หน้าที่” (duty) ของมนุษย์ที่ต้องทำโดยไม่นำผลลัพธ์ใดๆ หรือความพอใจ ไม่พอใจใดๆ มาเป็นเงื่อนไข (ให้กระทำหรือไม่กระทำ) การทำดีจึงเกิดจาก “อิสรภาพในการกำหนดตนเองทางสีลธรรม” (moral autonomy) คือกำหนดตนเองให้สามารถใช้เหตุผลที่เป็นอิสระจากอารมณ์ด้านบวกและลบที่เป็นผลของกฎทางชีววิทยา และเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำของความเชื่อ หรือกฎต่างๆ ทางสังคม ซึ่งคานท์เชื่อว่าเสรีภาพหรือความเป็นอิสระเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริง เมื่อเราใช้ “เหตุผลปฏิบัติบริสุทธิ์” (pure practical reason) อันเป็นความสามารถทางปัญญาที่มนุษย์ทำได้อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ที่นำไปสู่ความจริง (ทางคณิตศาสตร์) ก็คือการใช้เหตุผลที่เป็นอิสระจากอารณ์ด้านบวกและลบ หรือการใช้เหตุผลที่ไม่ขึ้นกับอิทธิพลครอบงำใดๆ ภายนอกตัวเรา คานท์มองว่าการใช้เหตุผลตัดสินถูก/ผิดทางศีลธรรมที่เที่ยงตรง และการสร้างกฎศีลธรรมสากลที่เคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนในฐานะที่เราต่างเป็นผู้มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และคุณค่าทางศีลธรรมหรือ “ความดี” ของกฎศีลธรรมสากลและการทำตามกฎนั้น ย่อมเป็น “ความดีในตัวมันเอง” ที่แสดงถึงความมีเสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่ความดีที่เป็น “เครื่องมือ” ไปสู่ผลประโยชน์ในโลกนี้ หรือสวรรค์ในโลกหน้าใดๆ

พึงเข้าใจว่าเสรีภาพตามความคิดแบบคานท์ ที่หมายถึงความเป็นอิสระจากอารมณ์ด้านบวกและลบ หรือเป็นอิสระจากความโน้มเอียงตามกฎทางชีววิทยาและกฎทางสังคมวิทยา หมายถึง “เสรีภาพทางศีลธรรม” (moral freedom) ที่เกิดจากการใช้เหตุผลปฏิบัติบริสุทธิ์ของปัจเจกบุคคลผู้มีอิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรม ต่างจาก “เสรีภาพทางการเมือง” (political freedom) ในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย คานท์แยกระหว่างเสรีภาพทางศีลธรรมกับเสรีภาพทางการเมือง เหมือนที่เขาแยก “ศีลธรรม” กับ “กฏมาย” บางเรื่องผิดศีลธรรมแต่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น การโกหกที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น (เช่น ไม่ทำให้เสียทรัพย์ ฯลฯ) ถือว่าผิดศีลธรรมแต่ไม่ผิดกฎหมาย หรือบางเรื่องถูกศีลธรรมแต่อาจผิดกฎหมายก็ได้ เช่น การวิจารณ์ตรวจสอบความความยุติธรรมในการใช้อำนาจของกษัตริย์ถูกศีลธรรม แต่อาจผิดมาตรา 112 เป็นต้น ขณะเดียวกันการกระทำบางอย่างไม่ใช่การใช้เสรีภาพทางศีลธรรม แต่เป็นการใช้เสรีภาพทางการเมือง เช่น คานท์ถือว่าการใช้เฮทสปีชที่ไม่ก่ออันตรายทางกายภาพต่อบุคคลอื่น ไม่ใช่การใช้เสรีภาพทางศีลธรรมเพราะแสดงออกด้วยอารมณ์ แต่ก็ถือเป็นการใช้เสรีภาพทางการเมือง (คือเสรีภาพในการพูด การแสดงออก) ไม่ควรเอาผิดทางกฎหมาย เป็นต้น

จอห์น รอลส์ (John Rawls) คิดต่อจากคานท์ชัดขึ้น คือ เขาแยกระหว่าง “คุณค่าทางศีลธรรม” (moral values) กับ “คุณค่าทางการเมือง” (political values) คุณค่าอย่างแรกมาจากแนวคิดปรัชญาศีลธรรมต่างๆ เช่น แนวคิดประโยชน์นิยมแบบมิลล์ที่อธิบายความดีทางศีลธรรมในรูปแบบของการเชื่อมโยงประโยชน์สุขของปัจเจกบุคคลและประโยชน์สุขส่วนรวมเข้าด้วยกัน โดยมีเสรีภาพปัเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แนวคิดศีลธรรมแบบคานท์ที่เชื่อมโยงความดีกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เข้าด้วยกัน โดยมีเสรีภาพทางศีลธรรมและเสรีภาพทางการเมืองที่มีนัยต่างกันแต่มีบางแง่เหลื่อมซ้อนกัน (overlap) และคุณค่าทางศีลธรรมจากหลักคำสอนทางศาสนาหรือปรัชญาอื่นๆ ส่วนคุณค่าอย่างหลัง คือหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง อันเป็น “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) ได้แก่ หลักเสรีภาพและหลักการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม หรือหลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่กินความรวมไปถึงหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือหลักสิทธิมนุษยชน การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วม หลักนิติรัฐ เป็นต้น ที่ถือเป็นคุณค่าทางการเมืองอันเป็นคุณค่าแกนกลางหรือ “คุณค่าหลัก” (core values) ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

รอลส์มองว่าคุณค่าทางศีลธรรมกับคุณค่าทางการเมือง มีทั้งด้านที่แตกต่างหรือขัดแย้งกัน และมีทั้งด้านที่เหลื่อมซ้อนกันหรือสอดคล้องไปกันได้ ดังนั้น ถ้าเราจะนำความเชื่อทางศีลธรรมตามหลักปรัชญาและศาสนาต่างๆ มาอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะทางการเมืองจำเป็นต้องตีความให้สอดคล้องไปกันได้กับคุณค่าทางการเมือง และเสนอว่าคุณค่าทางการเมืองหรือคุณค่าสาธารณะดังกล่าวข้างบนต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้สถาบันต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนยึดถือร่วมกัน ดังนั้น “การเมืองเชิงสถาบัน” หรือบทบาทสาธารณะทางการเมืองของสถาบันต่างๆ เช่น รัฐสภา รัฐบาล ประมุขของรัฐ พรรคการเมือง กองทัพ ศาล และอื่นๆ จะต้องยึดถือปฏิบัติตามและถูกตรวจสอบจากการอ้างอิงคุณค่าแกนกลางหรือคุณค่าหลักดังกล่าวนี้เสมอ

จากที่อภิปรายมา จะเห็นได้ว่าวิวาทะทางการเมืองในบ้านเราเวลานี้ที่ว่า “การเมืองเชิงคุณค่า vs. การเมืองเชิงสถาบัน”  มันคือ “ปัญหาปลอม” เพราะไม่ว่าฝ่ายก้าวไกล หรือเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีฝ่ายไหนที่สามารถพูดถึงการเมืองโดยไม่ยืนยัน “คุณค่าทางการเมือง” ได้จริง

ต่างกันแค่ฝ่ายหนึ่งยืนยันคุณค่าทางการเมืองครบถ้วน แต่อีกฝ่ายเลือกยืนยันเฉพาะบางคุณค่า เช่น เน้นการเลือกตั้ง เสียงข้างมาก โดยเลี่ยงจะพูดถึงหลักเสรีภาพ และอื่นๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net