Skip to main content
sharethis

จารีตดั้งเดิมของสถาบันกษัตริย์ไทยมีอำนาจปกครองทั้งอาณาจักรและพุทธจักร มันทำให้เกิดปมยุ่งเหยิงทั้งต่อการปกครอง การเป็นเนื้อเดียวของรัฐกับศาสนา และอื่นๆ ที่จำต้องหาทางคลี่คลาย หากต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

  • การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การแก้มาตรา 112 การนิรโทษกรรมคดี 112 และการสร้างรัฐโลกวิสัยเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน
  • กษัตริย์พุทธไทยมีอำนาจเด็ดขาด (despotism) ในการปกครองทั้งอาณาจักรและพุทธจักร ต่างจากคริสต์ศาสนาในยุคกลางคริสต์ที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ขณะที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณไม่ได้
  • นับจากกบฏ ร.ศ.130 ถึงความขัดแย้งทางการเมืองหลัง 2475 จนถึงทุกวันนี้ แก่นของปัญหาคือความพยายามคงอยู่ของอำนาจแบบศาสนาที่แตะต้องไม่ได้ กับความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองด้วยแนวคิดอำนาจทางการเมืองแบบทางโลก
  • การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและการแก้ 112 คือการทำให้อำนาจแบบศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธมาอยู่ภายใต้หลักการโลกวิสัยหรือหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
  • การนิรโทษกรรมคดี 112 คือการทำให้ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ต้องถูกลงทัณฑ์ด้วยกฎหมายที่ปกป้องอำนาจแบบศาสนาของสถาบันกษัตริย์
  • ต้องทำให้อำนาจทางการเมืองในนามศาสนาหรืออำนาจในนามศาสนาของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันเป็นระบบอำนาจแบบโลกวิสัย

ข่าวฉาวที่กัดกร่อนความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นกรณียิบย่อยอย่างพฤติกรรมของพระไปถึงประเด็นครูกายแก้ว น้องไนซ์ เป็นต้น ถ้าพิจารณาในมิติว่าประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแบบไม่เป็นทางการและมีรัฐ-มหาเถรสมาคม-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคอยดูแลสอดส่องไม่ให้การตีความคำสอนขัดแย้งกับอุดมการณ์รัฐ พุทธศาสนาไทยจึงต้องเผชิญความท้าทายจากโลกที่เปลี่ยนไป

นับจากการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาปี 2563 แนวคิดโลกวิสัยมีพื้นที่พูดคุยในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ติดตามและผลักดันประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กของตนอย่างต่อเนื่อง ขยายองศาเรื่องโลกวิสัยออกไปอีกว่ามันเกี่ยวข้องไปถึงอำนาจของกษัตริย์และมาตรา 112 ด้วย

พูดอย่างย่นย่อ เพราะจารีตดั้งเดิมของสถาบันกษัตริย์ไทยมีอำนาจปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนาจักรจนเกิดปมยุ่งเหยิงที่ต้องหาทางคลี่คลาย หากต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

สุรพศ ทวีศักดิ์ (คนกลาง) แฟ้มภาพ

ศาสนา-โลกวิสัย ศรัทธา-เหตุผล

คำว่า ‘secularism’ ที่มักแปลว่า ‘ฆราวาสวิสัย’ หรือ ‘โลกวิสัย’ ในมุมมองของสุรพศคิดว่า ‘ฆราวาสวิสัย’ สะท้อนการแยกระหว่าง ‘ฆราวาส’ กับ ‘นักบวช’ ได้ชัดเจน เขาให้เหตุผลโดยถอยกลับไปสู่การปฏิรูปศาสนาของพวกโปรเตสแตนท์ในยุโรปในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่ฆราวาสแยกตนเองเป็นอิสระจากอำนาจนักบวชในการศึกษาคำสอนศาสนาและการอภัยบาปจากพระเจ้า

การปฏิรูปในครั้งนั้นยืนยันเรื่อง ‘ความเสมอภาคในสายตาของพระเจ้า’ อำนาจการตีความคำสอนในไบเบิ้ลของนักบวชกับฆราวาสเท่าเทียมกัน เพราะต่างก็มีเสรีภาพทางความคิดเห็น หรือ ‘freedom of conscience’ ในการตัดสินถูกผิดของคำสอนศาสนาเท่าเทียมกัน นำมาสู่การยืนยันว่าวิถีชีวิตแบบนักบวชและฆราวาสเท่าเทียมกันไปด้วย

“ไม่ใช่วิถีชีวิตนักบวชสูงส่งกว่าฆราวาสดังที่ศาสนจักรคาทอลิกถือกันมา ดังนั้น การเข้าใจคำสอนในไบเบิ้ล การเข้าถึงพระเจ้า หรือการอภัยบาปจากพระเจ้าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลกับพระเจ้าโดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านนักบวชหรือศาสนจักรอีกต่อไป แต่ผมชอบใช้คำโลกวิสัยมากกว่า เพราะมันบ่งบอกการแยกกันระหว่างเรื่องทางศาสนากับเรื่องทางโลกที่สะท้อนประวัติศาสตร์การแยกศาสนาจากรัฐหรือ secularization ได้ชัดเจนกว่า”

สุรพศอธิบายว่ามันคืออิทธิพลจากการแยกระหว่าง ‘ศรัทธา’ (faith) กับ ‘เหตุผล’ (reason) ในยุคภูมิปัญญา เมื่อศรัทธาถูกจัดให้เป็นเรื่องทางศาสนาที่พิสูจน์ความจริงไม่ได้ด้วยหลักเหตุผล ส่วนเหตุผลถูกจัดให้เป็นเรื่องทางโลกคือเป็นเรื่องของความจริง ความรู้ต่างๆ และคุณค่าต่างๆ ทางโลกที่อธิบายได้ด้วยหลักเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่นเราพิสูจน์ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามอบอำนาจเทวสิทธิ์ให้พระสันตะปาปาปกครองทางจิตวิญญาณหรือความเชื่อของประชาชน และมอบอำนาจเทวสิทธิ์แก่กษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ซึ่งเขาถือว่าอำนาจลักษณะนี้เป็นอำนาจเผด็จการทางความคิดความเชื่อและเป็นเผด็จการทางการเมือง นี่จึงปัญหาใหญ่ที่สุดที่จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ

แนวคิดโลกวิสัยจึงเป็นการแยกเรื่องทางศาสนากับทางโลกออกจากกัน โดยถือว่าศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา หรือความเชื่อส่วนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชนผู้ศรัทธาต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ หรืออำนาจทางการเมือง ส่วนเรื่องทางโลกคือเรื่องสาธารณะต่างๆ เช่น ที่มาและความชอบธรรมของอำนาจทางการเมือง ระบบการปกครอง กฎหมาย การจัดองค์กรทางสังคมและการเมือง รวมทั้งวิถีชีวิตทางสังคมและการเมืองของพลเมือง การศึกษา ศิลปวิทยาการ และอื่นๆ

การแยกเช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรัฐศาสนา เช่น Cristian state เป็นรัฐโลกวิสัยหรือ secular state กล่าวคือเปลี่ยนจากอำนาจการปกครองในนามศาสนาเป็นอำนาจปกครองแบบทางโลก เช่น เดิมทีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป อำนาจอธิปไตยของกษัตริย์คืออำนาจเทวสิทธิ์ที่อิงความเชื่อศาสนาคริสต์ พอเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นอำนาจแบบทางโลกที่อิงหลักเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะที่มาและความชอบธรรมของอำนาจ สามารถตรวจสอบได้ด้วยหลักเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์

กษัตริย์พุทธไทย ผู้มีอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม

มองพุทธศาสนาไทยอย่างเปรียบเทียบกับคริสต์ศาสนาจะพบว่าแก่นแกนของพุทธศาสนาไทยก็คือพุทธศาสนาแบบที่ให้กำเนิด ‘รัฐพุทธศาสนา’ (Buddhist state) มาตั้งแต่ยุคสุโขทัย กษัตริย์พุทธอ้างอำนาจ ‘การปกครองโดยธรรม‘ ที่มีความเป็นศาสนามากกว่ากษัตริย์คริสเตียนเพราะกษัตริย์คริสเตียนเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนผู้มีบาปกำเนิดเสมอภาคกับประชาชนทุกคน ต่างเพียงแค่มีอำนาจเทวสิทธิ์ปกครอง

ขณะที่กษัตริย์พุทธถูกสถาปนาเป็น ‘หน่อพระพุทธเจ้า’ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์จึงเป็นทั้งธรรมราชา เทวราชา สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ที่เป็น ‘เทวราชา’ ด้วยแปลว่าสถานะอำนาจของกษัตริย์ไทยอิงคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ ส่วนกษัตริย์คริสต์เตียนกับศาสนจักรส่วนมากจะแยกกันปกครอง กษัตริย์ไม่มาเป็นนักบวช ไม่แต่งคัมภีร์ ไม่สอนศาสนา

แต่กษัตริย์พุทธมีออกบวช สอนศาสนา หรือเทศนาธรรมะ ทั้งยังแต่งคัมภีร์สำคัญทางศาสนาด้วย เช่น พระมหาธรรมราชาลิไทออกบวชและแต่งไตรภูมิพระร่วง รัชกาลที่ 4 บวชเป็นพระ 27 พรรษา ก่อตั้งธรรมยุติกนิกายเป็นนิกายของราชสำนัก รัชกาลที่ 5 ตั้งมหาเถรสมาคมเป็นศาสนจักรของรัฐ รัชกาลที่ 6 แสดงเทศนาเสือป่าที่ยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย และให้กำเนิดอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นต้น

“กษัตริย์พุทธไทยจึงมีอำนาจเด็ดขาด (despotism) ในการปกครองทั้งทางโลกและศาสนจักร กษัตริย์บางคนเป็นทั้งนักบวช แต่งคัมภีร์ เทศนาธรรมะ ก่อตั้งนิกายศาสนา แต่กษัตริย์ทุกคนเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของพุทธศาสนา วางระบบการปกครองสงฆ์หรือตั้งศาสนจักรของรัฐ จัดการศึกษาสงฆ์ ออกกฎหมายควบคุมและลงโทษนักบวชที่ปฏิบัติผิดธรรมวินัย รวมทั้งวางนโยบายการศึกษาศีลธรรมพุทธศาสนาแก่ราษฎรตั้งแต่ยุค รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

“กล่าวได้ว่ากษัตริย์พุทธไทยปกครองทั้งบ้านเมืองและเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณด้วย ดังคำว่าพึ่งพระบรมโพธิสมภารหรือพระบารมีปกเกล้า ซึ่งหมายถึงผู้ใต้ปกครองต้องพึ่งพระบารมีของกษัตริย์โพธิสัตว์ในการเดินตามเส้นทางธรรมเพื่อบรรลุนิพพานในอนาคต ขณะที่ชาวคริสต์ยุคกลางพึ่งศาสนจักรเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเพื่อรอดจากบาปหรือเข้าถึงพระเจ้า กษัตริย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณไม่ได้ สถานะอำนาจของกษัตริย์พุทธไทยจึงมีความเป็นศาสนามากกว่ากษัตริย์คริสเตียน”

เผชิญความท้าทาย

ด้วยสภาพที่ค่อนข้างสถิตนิ่งกับจารีตเดิมของพุทธศาสนาไทยเมื่อปะทะกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทำให้พุทธศาสนาไทยต้องเผชิญการท้าทาย แต่มิใช่ว่าการท้าทายเพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ หากถูกท้าทายจากความคิดทางโลกมานานแล้ว

สุรพศยกตัวอย่างการถูกท้าทายจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เข้ามาในยุคอาณานิคมทำให้ชนชั้นนำยุค รัชกาลที่ 4 ต้องทิ้งคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงหันมาตีความว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผลมีความเป็นวิทยาศาสตร์ หรือยุครัชกาลที่ 5 ถูกท้าทายด้วยข้อเสนอให้มีสภา (Parliament) เป็นปากเป็นเสียงแทนราษฎร ซึ่งแปลว่าอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อิงคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธถูกท้าทายด้วยแนวคิดอำนาจทางการเมืองแบบทางโลก ยุครัชกาลที่ 6 ถูกท้าทายด้วยแนวคิดชาตินิยม (nationalism) แบบทางโลก เช่น แนวคิดชาตินิยมแบบเสรีนิยมและสังคมนิยมจากตะวันตกและการปฏิวัติในจีน เป็นต้น จึงมีการสร้างแนวคิดชาตินิยมแบบชนชั้นนำสยามหรือราชาตินิยมภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่ถือว่ากษัตริย์คือศูนย์กลางอำนาจปกครองทั้งชาติและศาสนา และเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า

“กบฏ ร.ศ.130 ในปี 2455 และการปฏิวัติสยาม 2475 ก็คือการท้าทายต่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่ผนึกรวมพุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญหนึ่งดังกล่าวโดยตรง และประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางการเมืองหลัง 2475 จนกระทั่งทุกวันนี้ แก่นแกนของปัญหาก็คือความพยายามคงอยู่ของอำนาจแบบศาสนาที่แตะต้องไม่ได้ กับความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองด้วยแนวคิดอำนาจทางการเมืองแบบทางโลก ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แบบที่ประเทศประชาธิปไตยเจริญแล้วเขาเป็นกัน”

แยกศาสนาจากรัฐ ปฏิรูปสถาบันฯ แก้ 112 คือเรื่องเดียวกัน

“ประเด็นที่เป็นแก่นแกนของโลกวิสัยคือการเปลี่ยนจากรัฐศาสนาเป็นรัฐโลกวิสัยหรือเปลี่ยนอำนาจการปกครองแบบศาสนาเป็นอำนาจแบบโลกวิสัย ทีนี้สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไทยก็คือสถานะและอำนาจที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ที่อิงคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ ถ้าเราเคยอ่านคำฟ้องคดี 112 ของอัยการ หรือเคยไปดูศาลตัดสินคดี 112 จะเห็นว่าเขาอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และโยงมาที่มาตรา 112 ว่าเป็นบทบัญญัติที่ปกป้องสถานะของกษัตริย์ตามมาตรา 6

“ประเด็นคือสถานะเป็นที่เคารพสักการะเป็นสถานะทางศาสนาหรืออิงความเชื่อทางศาสนา เพราะในทางโลกวิสัยหรือแนวคิดอำนาจแบบทางโลกตามระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ประมุขของรัฐหรือผู้นำประเทศมีสถานะเป็นเกียรติของรัฐที่วิจารณ์ตรวจสอบได้ เพราะการมีเกียรติสัมพันธ์กับความมีเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น กษัตริย์อังกฤษ กษัตริย์บางประเทศในยุโรป หรือจักรพรรดิญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีอำนาจเทวสิทธิ์ หรือมีสถานะเป็นที่เคารพสักการะประดุจเทพที่แตะต้องไม่ได้ สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติที่รักษาไว้เป็นเกียรติของประเทศ ภายใต้หลักเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจทางโลกของประชาชนที่เหนือกว่าอำนาจประมุขของรัฐและรัฐบาล”

แฟ้มภาพ/แมวส้ม

ดังนั้น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและการแก้ 112 ก็คือการทำให้อำนาจแบบศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธมาอยู่ภายใต้หลักการโลกวิสัยหรือหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การนิรโทษกรรมคดี 112 คือการทำให้ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ต้องถูกลงทัณฑ์ด้วยกฎหมายที่ปกป้องอำนาจแบบศาสนาของสถาบันกษัตริย์

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือการนิรโทษกรรมคดี 112 ก็คือการทำให้การใช้สิทธิทางการเมือง สิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการทางโลกไม่ต้องเป็นความผิดและถูกลงทัณฑ์นั่นเอง เป็นการยืนยันว่าระเบียบการเมืองแบบทางโลกอยู่เหนือหรือเป็นอิสระจากการครอบงำของอำนาจตามความเชื่อทางศาสนาใดๆ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization) ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้เป็นจริง หรือทำงานได้จริง

จะยิ่งยากขึ้นหรือไม่?

เมื่อถามต่อว่าการนำประเด็นแยกศาสนาจากรัฐกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แก้มาตรา 112 และนิรโทษกรรมคดี 112 จะยิ่งทำเรื่องซับซ้อนและขับเคลื่อนได้ยากขึ้นหรือไม่ สุรพศกล่าวว่า

“ที่จริงก็ไม่ใช่ผมนำสองเรื่องมารวมกัน แต่มันเป็นเรื่องเดียวกันตามที่พูดมาแล้ว เพียงแต่เราไม่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่ตามความเป็นจริงไม่เคยมีการแยกสถานะอำนาจของกษัตริย์ออกจากหลักศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญก็บัญญัติชัดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

“ทีนี้ประเด็นหลักหรือแก่นของโลกวิสัยก็คือการไม่มีอำนาจทางการเมืองในนามศาสนาในกรณีประเทศประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐอย่างฝรั่งเศส หรือการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองในนามศาสนามาอยู่ใต้อำนาจแบบโลกวิสัย ในกรณีประเทศประชาธิปไตยมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษและญี่ปุ่น การผลักดันเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การแก้ 112 และการนิรโทษกรรม 112 จึงเป็นเรื่องเดียวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมืองหรือเป็นการทำให้ระเบียบการเมืองแบบโลกวิสัยสามารถทำงานได้จริงโดยไม่ถูกครอบงำกดทับด้วยอำนาจแบบศาสนาใดๆ ดังที่พูดไปแล้ว”

ตรงกันข้าม สุรพศกลับเห็นว่าคำอธิบายแบบนี้จะช่วยให้มองเห็นความซับซ้อนและความยากของปัญหาการแยกศาสนาจากรัฐและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ตรงตามเป็นจริงและชัดเจนทุกมิติมากกว่า

สุรพศเสริมว่าประเด็นการแยกศาสนาจากรัฐส่วนมากมันเถียงเรื่องรัฐควรอุปถัมภ์หรือไม่อุปถัมภ์ศาสนา ศาสนาจะเจริญหรือเสื่อม พุทธไทยจะแตกเป็นหลายนิกายไหม หรือนักบวชจะประพฤติผิดธรรมวินัยมากขึ้นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นรอง

อำนาจในนามศาสนาของสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ทว่า ประเด็นหลักคือทำอย่างไรจะไม่มีอำนาจทางการเมืองในนามศาสนาหรือทำให้อำนาจในนามศาสนาของสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันเป็นระบบอำนาจแบบโลกวิสัยดังที่สังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ทำสำเร็จมาแล้ว ถ้าแก้ประเด็นหลักนี้ได้ เรื่องรัฐจะอุปถัมภ์ศาสนาหรือไม่ จะยกเลิกหรือแก้กฎหมายองค์กรศาสนาพุทธ อิสลาม และอื่นๆ อย่างไร เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้อย่างเสรี เพราะรัฐโลกวิสัยบางแห่งก็ไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ เลย บางแห่งก็อุปถัมภ์ทุกศาสนาเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อพลเมืองที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ ด้วย

“ส่วนประเด็นศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมในอนาคต ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ ในสังคมประชาธิปไตยโลกวิสัยอย่างตะวันตกและที่อื่นๆ ศาสนาก็ยังปรับตัวอยู่ได้ตามบริบทที่เปลี่ยนไป”

ภาพการสร้างสัปปายะสภาสถาน

นอกจากนี้ สุรพศยังเห็นว่าการที่ศาสนาเจริญรุ่งเรืองก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะในยุคกลางที่ศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุดทำให้สถาปนาระบบการเมืองแบบเผด็จการในนามศาสนา ระบบชนชั้นวรรณะ หรือระบบฐานันดรเจ้า ฐานนัดรนักบวชขึ้นมากดขี่คนส่วนใหญ่ ปัจจุบันประเทศในยุโรปแถบที่เป็นรัฐสวัสดิการมีคนไม่นับถือศาสนามากขึ้น แต่การเมืองเป็นประชาธิปไตย สังคมมีศีลธรรม ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าสังคมที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ

ส่วนจะถูกต่อต้านมากขึ้นหรือไม่ สุรพศให้เหตุผลว่า

“ที่ผมไม่กังวลเรื่องนี้มากนักเพราะขณะที่เรากลัวว่าจะถูกต่อต้าน เราอาจลืมความเป็นจริงไปว่าฝ่ายอนุรักษนิยมเขารุกคืบตลอดเวลาอยู่แล้ว เช่น รุกด้วยการทำรัฐประหารและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่มความเป็นรัฐศาสนามากขึ้นโดยลำดับ เช่น เพิ่มอำนาจนำทางการเมือง (political hegemony) ของสถาบันกษัตริย์ การบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์พุทธเถรวาทเป็นพิเศษและศาสนาอื่นที่รัฐรับรอง การเน้นปลูกฝังอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมผ่านสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา การสร้างสัปปายะสภาสถานที่แสดงสัญะของอำนาจทางการเมืองตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธเหนืออำนาจแบบโลกวิสัยของรัฐสภาที่เป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประชาชน เป็นต้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเผชิญการต่อต้านใดๆ ด้วยการพยายามอธิบายความเป็นจริงของปัญหาอย่างตรงไปตรงมากขึ้น”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net