Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 67 บัญญัติว่า 

“รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น 

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

จะเห็นว่า รธน.มาตรานี้กำหนดให้รัฐทำ 4 เรื่องหลักๆ คือ

1. รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

2. รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่ “หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท” เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา

3. รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มี “การบ่อนทําลายพระพุทธศาสนา” ไม่ว่าในรูปแบบใด และ

4. รัฐพึงส่งเสริมให้ “พุทธศาสนิกชน” มีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

ขอให้สังเกตว่ามาตรานี้ระบุ “ศาสนาอื่น” ไว้เฉยๆ ในข้อ 1 ส่วนข้อ 2-4 เจาะจง “พุทธศาสนา” ล้วนๆ โดยข้อ 2 กำหนดให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่ “หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท” ข้อ 3 รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มี “การบ่อนทําลายพระพุทธศาสนา” และข้อ 4 เจาะจงเฉพาะการส่งเสริมให้ “พุทธศาสนิกชน” มีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าว โดยเฉพาะข้อความ “การบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด” เปิดให้ตีความได้กว้างครอบจักรวาล กล่าวได้ว่าสาระสำคัญของ รธน. มาตรา 67 สะท้อนเจตนารมณ์ของ “รัฐพุทธศาสนาเถรวาท” กลายๆ

พูดอีกนัยหนึ่ง รธน. มาตรานี้ลดทอนความเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) เพิ่มความเป็นรัฐศาสนา (religious state) มากขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมประเด็น “การแยกศาสนาจากรัฐ” (secularization) จึงควรถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างจริงจัง หากต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย

เราจะเข้าใจปัญหาพื้นฐานชัดขึ้น เมื่อย้อนพิจารณา “การปฏิวัติสยาม 2475” ที่ถึงแม้จะไม่ได้สถาปนารัฐโลกวิสัยแต่แรก เพราะไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐอย่างเด็ดขาด แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญคือ เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกปครองโดยอำนาจกษัตริย์ที่อิงหลักศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (อย่างน้อยก็ใน “ทางทฤษฎี” ตามประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะราษฎร) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เป็นระบอบการปกครองทางโลกที่ไม่อิงหลักศาสนาใดๆ เพราะ “อำนาจอธิปไตย” (sovereignty) เป็น “อำนาจทางโลก” ที่มาจาก “ความยินยอม” (consent) ของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนาก็ตาม ไม่เหมือนอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ที่อิงหลักศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธ ซึ่งเป็นอำนาจที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบนตามคติความเชื่อทางศาสนา  

พูดอีกอย่าง การปฏิวัติสยาม 2475 ทำให้การปกครองของสยามเปลี่ยนจาก “การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามคติศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธ” มาเป็น “การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามคติโลกวิสัย” (regime of secularism)

ดังนั้น รธน. มาตรา 67 จึงลดทอนความเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยตามคติโลกวิสัย หรือลดทอนความเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization) และเพิ่มความเป็นรัฐศาสนามากขึ้น เพราะเป็นมาตราที่กำหนดให้รัฐทำหน้าที่เหมือนรัฐศาสนา

แต่จะว่าไปแล้ว รธน. มาตรา 67 คือผลสืบเนื่องของการลดทอนความเป็นระบอบการปกครองตามคติโลกวิสัยที่กระทำต่อเนื่องมายาวนาน กล่าวคือ ฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาได้พยายามลดทอนความเป็นโลกวิสัยทางการเมือง และเพิ่มความเป็นรัฐศาสนามาตลอด เริ่มตั้งแต่ รธน. ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แล้วที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก” และว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ซึ่งเป็นการบัญญัติ “สถานะศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์ตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ” ไว้ใน รธน. 

ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารครั้งต่างๆ ก็มีการเพิ่ม “อำนาจนำทางการเมือง” (hegemony) ของสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเพิ่มอัตราโทษมาตรา 112 สูงขึ้นด้วย ขณะที่องค์กรปกป้องพุทธศาสนาต่างๆ ก็เคลื่อนไหวต่อเนื่องเรียกร้องให้รัฐบัญญัติใน รธน. ให้พุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติไทย” แม้จะยังไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่นตาม รธน. มาตรา 67 ยังมีการตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัดต่างๆ ให้งบฯ อุดหนุนองค์กรพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ ที่รัฐรับรอง) มากขึ้น มีการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติชัดเจนขึ้น องค์กรอิสลามในไทยก็ได้กฎหมายเฉพาะทางศาสนา และงบฯ อุดหนุนศาสนามากขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นต้น

ถามว่า การปกป้องศาสนาตามเจตนารมณ์ของ รธน. มาตรา 67 และการปกป้องศาสนาขององค์กรศาสนา กลุ่มศาสนา และผู้รู้พุทธต่างๆ คือการปกป้องศาสนาจากอะไร? 

คำตอบตรงไปตรงมาคือ เป็นการปกป้องศาสนาจากการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม 2 ลักษณะ คือ

1. เป็นการปกป้องศาสนาจากการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization) โดยการบัญญัติรับรองอำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์ตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธไว้ใน รธน., การเพิ่มอัตราโทษมาตรา 112, การสร้างสถาปัตยกรรม “สัปปายะสภาสถาน” ที่สถาปนา “อุดมการณ์ทางการเมืองตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ” ไว้เหนือระบบรัฐสภาที่เป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประชาชน, การบัญัติให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่นใน รธน., การแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ให้ขึ้นต่อ “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” มากขึ้น, การก่อตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัด, การบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติ, การผลักดันให้มี พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา และอื่นๆ รวมทั้งการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สิทธิพิเศษทางศาสนาแก่องค์กรอิสลาม เป็นต้น 

พูดอีกอย่าง สาระสำคัญของ “การปกป้องศาสนาจากการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง” คือการปกป้องศาสนาจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย การเคารพสิทธิมนุษยชน และการตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมทางสังคมและการเมือง ภราดรภาพ สันติภาพ เป็นต้น เพราะการปกป้องเช่นนี้คือการรักษาศาสนาไว้เพื่อเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของชนชั้นปกครอง เช่น รักษาอำนาจสถาบันกษัตริย์ตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธที่แตะต้องไม่ได้ไว้ใน รธน. รักษาระบบศาสนจักรของรัฐ หรือองค์กรศาสนาของรัฐที่เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยม และเพื่อรักษา “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” (religious privileges) ขององค์กรศาสนาต่างๆ เช่น การมีกฎหมายให้อภิสิทธิ์ต่างๆ แก่องค์กรศาสนา ฐานันดรศักดิ์ของนักบวช กลุ่มผู้นำศาสนา เงินเดือน งบฯ อุดหนุนศาสนาขององค์กรพุทธ องค์กรอิสลาม เป็นต้น รวมไปถึงการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน การก่อตั้งสำนักงานทางศาสนา งบฯ บุคลากรที่ทำงานสนับสนุนศาสนาและอื่นๆ 

2. เป็นการปกป้องศาสนาจากการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) เห็นได้จากวัฒนธรรมการปกป้องศาสนาของผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาส (รวมทั้งผู้รู้มุสลิม) ที่นิยม “อ้างคัมภีร์” มาตัดสินความเชื่อทางศาสนาแบบบ้านๆ ว่างมงายหรือผิดหลักศาสนาที่แท้ในคัมภีร์ 

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้คือการอ้าง “ไตรปิฎก” มาตัดสินความเชื่อ การตีความพุทธศาสนา การสอน และพิธีกรรมทางศาสนาของ “อาจารย์น้องไนซ์” ที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียล แม้ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าพฤติกรรมแบบน้องไนซ์เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม และการที่ผู้รู้พุทธออกมาวิจารณ์ ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนนักวิชาการออกมาวิจารณ์เรื่องต่างๆ ตามสาขาที่ตนเชี่ยวชาญ 

แต่ในสังคมโลกวิสัย ศาสนาเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ที่ขึ้นอยู่กับ “เสรีภาพทางศาสนา” ซึ่งเป็น “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” (individual freedom) เหมือนเสรีภาพทางเพศ คือคุณจะเลือกเชื่อศาสนา ตีความศาสนา สอนศาสนา หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแบบไหนก็ได้ ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น เช่นเดียวกับคุณจะเลือกรสนิยมทางเพศแบบไหนก็ได้ ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น ใครก็ไม่มีสิทธิ์มาตำหนิคุณได้ว่าเลี้ยงลูกแบบไหนจึงไม่ให้เป็นชายจริง หญิงแท้ หรืออบรมลูกแบบไหนถึงให้เชื่อ ให้ตีความ ให้สอน หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างผิดหลักที่ถูกต้องในคัมภีร์ (ยกเว้นว่าพ่อแม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เช่น ไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ ใช้ลูกเป็นเครื่องมือปลูกฝังลัทธิศาสนาที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กในหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น คนอื่น สังคม และรัฐจึงจะเข้าไปห้ามปรามได้)

อีกอย่าง การอ้างคัมภีร์ศาสนามาตรวจสอบตัดสินความเชื่อแบบบ้านๆ มันคือการอ้าง “อำนาจเหนือกว่า” โดยบุคคลที่มีสถานะเหนือกว่าคือ “ผู้รู้พุทธ” หรือผู้เชี่ยวชาญศาสนา เพราะคัมภีร์คือ “authority” ที่ใช้เป็นหลักตัดสินถูกผิดทางศาสนาของศาสนจักร และผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา ประเพณีการอ้างคัมภีร์ตัดสินถูกผิดจึงเป็นประเพณีสืบทอดมาตั้งแต่ยุคโบราณและยุคกลาง แต่ศาสนจักรที่มีอำนาจรักษาคำสอนที่ถูกต้องในคัมภีร์ ก็มักจะกระทำผิดหลักคำสอนในคัมภีร์เสียเอง จึงตลกร้ายที่ผู้รู้พุทธในปัจจุบันอ้างคัมภีร์มาตรวจสอบความเชื่อแบบบ้านๆ ว่าผิดหลักศาสนาที่ถูกต้อง แต่ไม่อ้างตรวจสอบระบบอำนาจศาสนจักรที่ผิดหลักคำสอนที่ถูกต้อง ซ้ำการอ้างคัมภีร์ของผู้รู้พุทธก็สอดคล้องกับกระแสการเรียกร้องให้มหาเถรสมาคม และสำนักพุทธฯ เข้ามาจัดการความเชื่อหรือการกระทำที่ผิดหลักพุทธที่แท้ แม้ว่าผู้รู้พุทธจะไม่ได้เรียกร้องเช่นนั้นเองก็ตาม

น่าสังเกตว่าการมีชื่อเสียงของ “ผู้รู้พุทธ” ทั้งพระและฆราวาสยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาสามารถนำหลักคำสอนพุทธที่แท้จริง (ตามที่พวกเขาเชื่อ) มาช่วยให้สังคมดีขึ้น เช่น เป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เป็นธรรม มีสันติภาพมากขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ แต่การมีชื่อเสียงของบรรดาผู้รู้พุทธเกิดจากการอ้างคำสอนพุทธที่แท้ตามคัมภีร์ไปตรวจสอบความเชื่อแบบบ้านๆ ทว่ากลับไม่ได้อ้างตรวจสอบอำนาจรัฐ และศาสนจักรอย่างเป็นที่ประจักษ์แต่อย่างใด

ที่น่าเศร้าคือ ไม่มีผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสกระแสหลักสามารถตีความพุทธธรรมสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนได้เท่านักวิชาการต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ในประเทศที่เป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” อย่างไทยเลยด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามบรรดาผู้รู้พุทธไทยที่อ้างว่าสวรรค์ นิพพานมีจริง พวกเขามักไม่เชื่อในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือมักแสดงความเห็นทำนองว่า “เสรีภาพ ความเสมอภาคไม่มีจริง” ดังนั้น พวกเขาจึงรับใช้เผด็จการทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาตลอด 

บทบาทของผู้รู้พุทธไทยที่อ้างว่าปกป้องศาสนา จึงเป็นการปกป้องศาสนาจากการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม ซึ่งมีนัยสำคัญเป็นการรักษาศาสนาไว้สนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครองและสร้างวัฒนธรรมทางความคิดที่ขาดความอดกลั้น (tolerance) และเปิดกว้างต่อความเชื่อที่หลากหลายทางศาสนา ไม่ว่าจะผิดหรือถูกตามคัมภีร์ก็ตาม ทุกคนก็ต้องมีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการนำเสนอความเชื่อของตน ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น

พูดอย่างถึงที่สุด การปกป้องศาสนาจะว่าไปแล้วก็คือเรื่องเดียวกันกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ เพราะหลักคำสอน, ความเชื่อทางศาสนา, และสถาบันศาสนาที่ถูกปกป้องแยกไม่ออกจากสถาบันกษัตริย์ ส่วนหลักคิด แนวทาง หรือวิธีการปกป้องก็เป็นแบบ “อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว” เหมือนเดียวกันเลย คือเป็นการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย ที่ต้องไม่มีอำนาจในนามศาสนาที่แตะต้องไม่ได้อยู่เหนือหลักเสรีภาพ และความเสอมภาค และไม่มีอภิสิทธิ์ทางศาสนาของศาสนจักร องค์กรศาสนา หรือกลุ่มศาสนาใดๆ อยู่เหนือหลักเสรีภาพและความเสมอภาคเช่นเดียวกัน 

ดังนั้น political secularization และ social secularization จึงเป็นแนวทางต่อต้านการปกป้องศาสนาแบบไทย เพื่อปลดปล่อยการเมืองให้มีเสรีภาพจากอำนาจที่แตะไม่ได้ตามคติศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธ และปลดปล่อยสังคมให้เป็นอิสระจากสังคมภายใต้อำนาจครอบงำทางศาสนา สู่สังคมโลกวิสัยที่มีเสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด และการแสดงออกอย่างแท้จริง

 

 
ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/columnists/news_560
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net