Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


วันนี้ (จันทร์ที่ 29 เม.ย.2567) ผมไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ฟังการตัดสินคดี 112 ของอานนท์ นำภา และคดีเกี่ยวกับการจัดชุมนุม การใช้เครื่องขยายเสียง สรุปคือ คดี 112 ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี คดีอื่นจำคุก 20 วัน และปรับ 100 บาท

ก่อนหน้านั้นศาลได้ตัดสินคดี 112 ไปแล้ว 2 คดี จำคุกคดีละ 4 ปี ถึงวันนี้รวมคดี 112 ที่ตัดสินไปแล้ว 3 คดี เท่ากับอานนท์ถูกตัดสินจำคุกแล้ว 10 ปี กับ 20 วัน

ภายในห้องพิจารณาคดีวันนี้ที่นั่งเต็ม ผมและอีกหลายคนต้องยืนฟังในมุมที่มองเห็นผู้พิพากษาบนบัลลังก์ ทนาย อัยการ โจทก์ จำเลย และผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี ภาพที่เห็นทำให้นึกถึง “ฉากหนัง” ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านของประเทศตะวันตก ต่างแค่ว่าภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าคือ “เรื่องจริงที่เจ็บปวด” กว่าในหนังอย่างเทียบกันไม่ได้ อานนท์ยืนอยู่ตรงนั้น ภรรยา, แม่, ยาย, หลานที่ยังเรียนชั้นอนุบาล และทุกคนที่อยู่ตรงนั้นคือคนตัวเป็นๆ ที่ต่างมีเลือดเนื้อ มีความรู้สึก มีความคิด และมีเหตุผลที่ไม่สามารถเข้าใจ “ความสมเหตุสมผล” ของคำตัดสินของศาลได้ แต่ก็จำต้องยอมรับ

ที่ว่าไม่สามารถเข้าใจความสมเหตุสมผลของคำพิพากษาได้ เพราะการ “ติ-ชม” หรือวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะ หรือสถาบันทางสังคมและการเมืองที่มีสถานะ อำนาจทางกฎหมายและใช้ภาษีประชาชนมันคือ “ความสมเหตุสมผล” ในสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น การชมได้อย่างเดียว ติหรือวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ จึงไม่สมเหตุสมผลอย่างที่พูดกันสั้นๆ ว่า “ถ้าติไม่ได้ การชมหรือสรรเสริญใดๆ ก็ย่อมไร้ความหมาย” เพราะถ้าติหรือวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้เลย เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าบุคคลใดๆ หรือสถาบันใดๆ ที่ถูกชมหรือสรรเสริญสดุดีว่าดี เก่ง เปี่ยมด้วยอัจฉริภาพอย่างนั้นอย่างนี้ มีคุณธรรม ประเสริฐ สูงส่งอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ มันเป็นจริงตามที่ชมหรือสรรเสริญสดุดีกันหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อเราตระหนักว่าเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกเป็นคุณค่าหลักหรือ “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวกินความรวมถึงเสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ ไม่รับฟัง หรือไม่เชื่อการโกหกหลอกหลวง หรือการบังคับยัดเยียดความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาใดๆ และเรามีสิทธิ์โต้แย้ง หักล้างได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสาธารณะ เราก็ยิ่งต้องเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์

สาระสำคัญของการปราศรัยของอานนท์ เกี่ยวการแก้กฎหมายการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากที่เคยอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปอยู่ในชื่อของกษัตริย์ ก็คือการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอทางออกเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะที่เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมอย่างแน่นอน จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งหักล้างได้อยู่แล้ว

ดังนั้น การติ-ชม หรือโต้แย้งหักล้างในเรื่องสาธารณะใดๆ ก็ได้ จึงเป็นความสมเหตุสมผลของระบอบประชาธิปไตย

แต่การอ่านคำพิพากษาของศาลที่เริ่มด้วยการอ้างรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แล้วต่อด้วยการอ่านชื่อภาษาบาลีสันสฤตยาวๆ หลายบรรทัดของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน จากนั้นก็อ้าง รธน. มาตราที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” และ รธน. มาตราอื่นที่อ้างถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องจงรักภักดีและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงอ่านตัวบท ม.112 และคำฟ้องของโจทก์ คำให้การของจำเลยและพยานโจทก์ (บางส่วน) แล้วจบด้วยคำวินิจฉัยและตัดสิน

ข้อสังเกตคือ ม.112 ไม่มีข้อยกเว้นให้กับ “การติหรือวิจารณ์อันอาจเกิดประโยชน์สาธารณะ” เหมือนกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา จึงทำให้ศาลใช้ดุลพินิจได้กว้างมากในการตัดสินเอาผิด การตีความและบังคับใช้ 112 จึงมุ่งปกป้องสถานะสูงส่งศักดิ์ “อันเป็นที่เคารพสักการะ” และ “ล่วงละเมิดมิได้” ของกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถานะสูงส่งศักดิ์ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู-พุทธที่ตกทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ดังนั้น การวินิจฉัยความผิดของอานนท์ จึงไม่มีการยกสาระสำคัญในคำปราศรัย และเจตนารมณ์ของผู้ปราศรัยมาพิจารณาเลยว่าน่าจะเกิดประโยชน์สาธารณะอย่างไรบ้าง แค่หยิบเอาคำบางคำที่เห็นว่า “มิบังควร” มาวินิจฉัยให้เห็นว่าผิด ม.112 โดยอ้างสถานะอันล่วงละเมิดมิได้เป็นบรรทัดฐาน และอ้าง “ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่” โดยไม่เคยพิสูจน์ใดๆ ว่าประชาชน “ส่วนใหญ่” รู้สึกเช่นคำวินิจฉัยของศาลจริงหรือไม่

ทำให้เห็นได้ชัดว่า 112 คือกฎหมายที่ห้ามติหรือวิจารณ์กษัตริย์ที่เข้าทำนอง “คำติหรือวิจารณ์ยิ่งจริงยิ่งผิด” แต่ถ้าเราติหรือวิจารณ์บุคคลสาธารณะอื่นๆ เช่น ติหรือวิจารณ์นายกรัฐมนตรีว่าทุจริต หรือทำผิดศีลธรรมและกฎหมายในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าคำติหรือวิจารณ์นั้นๆ ยิ่งจริง ก็ยิ่งมีผลให้นายกฯ ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย โดยที่คนวิจารณ์นอกจากจะไม่ผิดกฎหมายแล้วยังได้รับการยกย่องเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย

แต่การติหรือวิจารณ์กษัตริย์ในเรื่องสาธารณะเช่นเดียวกับนายกฯ กลับ “ยิ่งเป็นความจริงก็ยิ่งผิด” คนวิจารณ์กลายเป็น “คนบาป” ของสังคม และเป็น “อาชญากร” ของรัฐที่ต้องติดคุกที่มีโทษหนักพอๆ กับฆ่าคนตาย นี่คือ “ความไม่สมเหตุสมผล” เมื่อมองจากจุดยืนเสรีภาพและประชาธิปไตย

การเป็นนักโทษเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นติหรือวิจารณ์กษัตริย์ในเรื่องสาธารณะ เรียกว่าเป็น “นักโทษทางความคิด” (prisoner of conscience) ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตยไม่มีนักโทษเช่นนี้ เพราะไม่มีประมุขของรัฐ หรือบุคคลและสถาบันใดๆ อยู่เหนือหลักเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด และการแสดงออก แต่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย” ในปัจจุบันกลับมีนักโทษทางความคิดในคดี 112 มากเป็นประวัติการณ์

ภายใต้ระบบการปกครองเช่นนี้ “เราทุกคนคืออานนท์” แม้เราจะไม่ได้มีความคิด อุดมการณ์ และลุกขึ้นต่อสู้แบบอานนท์ หรือแม้เราจะเป็นคนที่ไม่สนใจ ไม่รับรู้ปัญหาใดๆ ทางการเมือง กระทั่งเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นกลุ่มคนที่ใช้ 112 “ล่าแม่มด” นักสู้แบบอานนท์ แต่เราทุกคนล้วนคืออานนท์ในสองความหมายพื้นฐาน คือ

- เราคืออานนท์ในความหมายพื้นฐานว่า เราต่างถูกระบบการปกครองแบบไทยห้ามไม่ให้เป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แม้เราไม่ได้ต่อสู้และติดคุกในฐานะนักโทษทางความคิดแบบอานนท์ แต่เราก็เป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีเสรีภาพติหรือวิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐไม่ได้ การต่อสู้ของอานนท์ก็คือการต่อสู้เพื่อให้มีระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้เราเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคได้จริง  

- เราคืออานท์ในความหมายพื้นฐานว่า เราต่างมีความเป็นมนุษย์ที่มีความรักความผูกพันกับครอบครัว ญาติมิตร มีเลือดเนื้อ มีหัวใจ มีความรู้สึก มีความเจ็บปวดเมื่อเผชิญความอยุติธรรม การสูญเสียอิสรภาพ การพลัดพรากจากครอบครัว คนที่เรารัก โอกาสก้าวหน้าในชีวิตการงาน รายได้ และความสุขสบายอื่นๆ แต่อานนท์ต่างจากเราตรงที่เขากล้าแบกรับความสูญเสียและความเจ็บปวดเหล่านั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย แน่นอนเขา (หรือใครก็ตาม) เพียงลำพังย่อมไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้างได้ หากคนส่วนใหญ่ในสังคมยังหลับใหล

วันนี้ “จดหมายจากอานนท์” อ้างคำพูดของเทียนวรรณว่า

“ตัวเราแม้จะต้องรับพระราชอาญาจนสิ้นชีวิต ปากเราแลใจเราตรงกัน อยู่อย่างนี้เสมอไม่หัวหวานก้นเปรี้ยว ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก ทำหน้าไหว้หลังหลอกเหมือนใคร การสิ่งใดที่เราไม่เห็นด้วยจะให้เราสอพลอพลอยพยักพเยิดไปด้วยนั้น เราทำไม่ได้ มันไม่จริงใจเรา”

 

ที่มา  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=25373826802232043&set=p.25373826802232043&type=3

 

มีมิตรสหายเดาว่าข้อความที่ “ถูกเซ็นเซอร์” ในจดหมายอานนท์ คือคำว่า “ไม่เสียชาติเกิด” ซึ่งไม่ใช่คำที่เขาใช้ด่าใครเลย แต่พูดถึงความภูมิใจของตนเองที่ได้ลงมือทำอะไรต่อยอดจากเทียนวรรณว่าไม่เสียชาติเกิด

การที่เจ้าหน้าที่เรือนจำเซ็นเซอร์ “ข้อความ” อย่างไม่ดูบริบทที่สัมพันธ์กับข้อความนั้นเลย ไม่ต่างกับการที่ศาลวินิจฉัยความผิด 112 โดยตัดสิน “ข้อความ” บางข้อข้อโดยไม่ดูบริบทของข้อความนั้นว่าเชื่อมโยงกับสาระสำคัญในคำปราศรัยอย่างไร และเชื่อมโยงกับเจตนารมณ์ของผู้ปราศรัยที่ปรารถนาดีต่อสังคมส่วนรวมอย่างไร นับเป็นปัญหาน่าหดหู่ของวิธีคิดในระบบยุติธรรมบ้านเรา

เราไม่รู้หรอกว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้เราทุกคนเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนเพื่อที่เราจะมีส่วนร่วมสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โอกาส ความก้าวหน้าด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงตามที่อานนท์ “เชื่อมั่นและศรัทธา” เมื่อใด 

แต่จดหมายของอานนท์น่าจะช่วยให้เรามองเห็นตามเป็นจริงว่า หากไม่มีคนที่ลุกขึ้นสู้ในยุคแรกๆ อย่างเทียนวรรณ ก็คงไม่มีคนอื่นๆ ลุกขึ้นสู้ในยุคต่อๆ มาจนเป็นสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพยาวไกล และยังมีคนลุกขึ้นสู้อยู่ในปัจจุบันและในอนาคต แน่นอนคนที่ปกป้องระบบเผด็จการอำนาจนิยม และคนที่วางเฉยไม่รับรู้ปัญหาก็คงมีอยู่คู่กับโลกใบนี้ต่อไป 

 

 

 

  
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net