Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความคิดพื้นฐานอย่างหนึ่งของพรรคเพื่อไทย คือ “ทำการเมืองที่อยู่กับความจริง” และเคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อทักษิณ ชินวัตรก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” และทำการเมืองแบบอยู่กับความจริงของสภาวะทางการเมืองในเวลานั้น ด้วยการรวมเอาบรรดานักการเมือง “เขี้ยวลากดิน” จากพรรคการเมืองต่างๆ มารวมตัวเป็นสมาชิกไทยรักไทย เพื่อใช้เป็น “เสียงข้างมาก” ในการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชนให้ประสบความสำเร็จ จนทำให้ไทยรักไทยกลายเป็น “รัฐบาลพรรคเดียว” ได้ในการเลือกตั้งสมัยที่สอง ซึ่งเป็นความสำเร็จรวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ก่อตั้งมายาวนาน แต่ไม่เคยได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว

แต่ความจริงทางการเมืองยุคนั้น คือการเมืองที่ “ไม่มีการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์” เป็นการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เชื่อกันว่ามี “ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด” ฉบับหนึ่งที่เอื้อให้นายกรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารเข้มแข็ง และเป็นการเมืองท่ามกลาง “ความคาดหวัง” ของประชาชนที่ต้องการผู้นำประเทศเก่งในเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากผิดหวังกับประสิทธิภาพการบริหารเศรษฐกิจของพรรคการเมืองเก่าๆ ในยุคนั้น 

ทว่าแทนที่ความสำเร็จของรัฐบาลพรรคเดียวไทยรักไทยภายใต้ “นโยบายประชานิยม” จะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ผ่านการถ่วงดุลตรวจสอบและพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการประชาธิปไตย กลับเผชิญหน้ากับ “การเมืองเชิงอุดมการณ์” เมื่อเกิดขบวนการ “เสื้อเหลือง” (ซึ่งเชื่อมโยงกับ “เครือข่ายอำนาจนอกระบบเลือกตั้ง” และ “อำนาจเหนือ รธน.”)  ใช้ “อุดการณ์ขวาจัด” ภายใต้วาทกรรมการเมือง (political discourse) “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย 

ที่ว่าเป็น “อุดมการณ์ขวาจัด” เพราะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่อ้าง “ประชาธิปไตย” แต่ยืนยันและปกป้องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ที่ “แตะต้องไม่ได้” ซึ่งขัด “หลักเสรีภาพ” ในการพูด การแสดงออก หรือการวิจารณ์ตรวจสอบ อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตย

แน่นอนว่า ในสังคมเสรีประชาธิปไตยของประเทศที่เจริญแล้ว ก็มี “ฝ่ายขวา” ที่เชื่อในคุณค่าเชิงอนุรักษ์นิยมมากกว่าที่จะเชื่อในความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และความก้าวหน้า เชื่อในระบบทุนนิยมมากกว่าจะเชื่อในความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือนโยบายสวัสดิการของรัฐที่โน้มเอียงไปทางสังคมนิยมเป็นต้น แต่ฝ่ายขวาดังกล่าวก็ยังยืนยัน “หลักเสรีภาพ” ในฐานะเป็นหลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของระบอบเสรีประชาธิปไตย พวกเขาจึงไม่ปกป้องหรือเชิดชูประมุขของรัฐหรือสถาบันใดๆ ให้มีสถานะและอำนาจที่ “แตะต้องไม่ได้” หรือวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ทว่าอุดมการณ์ขวาจัดแบบไทย คือการยอมรับ ยืนยัน และปกป้องเชิดชูสถานะและอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือหลักเสรีภาพอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้น อุดมการณ์ขวาจัดไม่เพียงแค่ยืนยันและปกป้องเชิดชูสถานะและอำนาจเหนือหลักเสรีภาพของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น หากแต่ยังอ้างอิงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนบนท้องถนน, อ้างในการทำรัฐประหาร, การเพิ่มอัตราโทษในกฎหมายอาญา มาตรา 112, ในกระบวนการพิจารณาและตัดสินคดี 112, กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ที่เน้นความสำคัญและเพิ่มอำนาจสถาบันกษัตริย์มากขึ้น กระทั่งพรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังอ้างอิงใช้สถาบันกษัตริย์หาเสียง และกีดกันพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เอียงไปทาง “ฝ่ายซ้าย” อีกด้วย รวมทั้งอ้างการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในการร้องยุบพรรคการเมืองเป็นต้น นี่คือลักษณะ “ขวาจัด” ของอุมการณ์ทางการเมืองแบบไทยที่นอกเหนือจากจะถูกนำมาใช้เป็น “เครื่องมือ” กดปราบประชาชนและพรรคการเมืองที่คิดต่างแล้ว ยังใช้ปลูกฝังครบงำ (dominate) กำกับความคิดและการกระทำของพลเมือง ตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัย ครอบงำกำกับความคิดทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชน

วิบากกรรมที่ไทยรักไทยเผชิญหน้ากับ “ความจริง” ของ “การเมืองอุดมการณ์ขวาจัด” ก็คือการถูกทำรัฐประหาร 2549 และถูกยุบพรรค 2 ครั้ง เกิดขบวนการคนเสื้อแดงที่ปลุกสังคมให้ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” ซึ่งมีนัยสำคัญเป็นการต่อสู้กับอุดมการณ์ขวาจัด แต่วิธีคิดแบบทักษิณก็คือ “อยู่กับความจริง” ที่ต้องตระหนักว่าสู้อยู่กับ “ใคร” ซึ่งเขาน่าจะประเมินแล้วว่าสู้ด้วยแนวทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยของมวลชนเสื้อแดงไม่มีทางชนะ ดังนั้น แนวทาง “เกี้ยเซียะ” จึงเป็น “ทางเลือก” ที่ทักษิณพยายามทำคู่ขนานไปกับการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงมาตลอด จึงทำให้เกิด “สภาวะย้อนแย้ง” ระหว่างทักษิณ (เพื่อไทย) กับเสื้อแดงตลอดเวลา ทำให้เสื้อแดงเองตั้งแต่ระดับแกนนำไปถึงมวลชนหรือคนเสื้อแดงโดยรวม ก็ไม่เคยเป็นเอกภาพในเชิง “ความคิด” และ “อุดมการณ์” อย่างแท้จริง กระทั่งเกิดการย้ายขั้วในเวลาต่อมา 

แต่ในบริบทการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ขณะนี้ “การทำการเมืองแบบอยู่กับความจริง” ของเพื่อไทยกำลังเผชิญหน้ากับ “ความจริงที่ซับซ้อน” มากกว่ายุคที่ผ่านๆ มา 

หนึ่งคือความจริงของการเมืองภายใต้ “อุดมการณ์ขวาจัด” ที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรมตาม รธน. 2560 โดยการผลิตสร้างและขับเคลื่อนของฝ่ายที่ทำรัฐประหาร ซึ่งแปรสภาพมาเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ และมีพรรคแนวร่วมอื่นๆ รวมทั้ง ส.ว. ที่เป็น “นั่งร้าน” สืบทอดอำนาจฝ่ายทำรัฐประหาร 

อีกหนึ่งคือความจริงของการต่อสู้ทางการเมืองบน “อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย” คือ อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยที่ยืนยัน “เสรีนิยมทางการเมือง” (political liberalism) ที่ต้องยึดหลักเสรีภาพเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งแปลว่าต้องไม่สถาบันใดๆ อยู่เหนือหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออก หรือการวิจารณ์ตรวจสอบ และยืนยันแนวทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เน้นการพัฒนาโครงสร้างสวัสดิการพื้นฐานด้านต่างๆ มากขึ้น โดยอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมี “พรรคก้าวไกล” เป็นตัวแทน และมีประชาชน 14 ล้านเสียงสนับสนุนให้ก้าวไกลได้ที่นั่ง ส.ส. อันดับ 1 ในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ซึ่งเป็นการเติบโตเร็วผิดคาด (คล้ายกับที่ไทยรักไทยเคยเติบโตมาก่อน แม้จะมี “รายละเอียด” และเงื่อนไขทางการเมืองต่างกัน)

ยังมีอีกหนึ่ง “ความจริง” คือ ความจริงที่ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเพื่อไทยเลือกตามที่หาเสียงไว้ว่าเพื่อไทยเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” และ “จะไม่จับมือกับฝ่ายทำรัฐประหารตั้งรัฐบาล” ความจริงนี้ปฏิเสธไม่ได้ เพราะถ้าเพื่อไทยประกาศตอนหาเสียงว่า “จะจับมือกับฝ่ายทำรัฐประหารตั้งรัฐบาลหากไม่แลนด์สไลด์” ย่อมไม่มีทางที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. มากถึง 141 เสียง  

แต่ในที่สุดเพื่อไทยก็เลือก “สลายขั้ว” แต่ไม่ใช่การทำให้ “ขั้วขวา-ซ้าย” หายไป ซึ่งทำไม่ได้ หากแต่เป็นการที่เพื่อไทยสลายจากการเป็นแนวร่วมตั้งรัฐบาลกับก้าวไกลและต่อสู้กับฝ่ายขวาจัดไปด้วยกัน แล้วไปร่วมตั้งรัฐบาลกับขั้วอุดมการณ์ขวาจัด คือพรรคภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ และพรรคเล็กอื่นๆ รวม 315 เสียง (ตามที่เป็นข่าวขณะนี้) 

ถ้าจะถามว่าสถานะเพื่อไทยขณะนี้ถือว่าเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” หรือไม่ ถ้าเราใช้อุดมการณ์ขวาจัดที่เป็นเกณฑ์ และเพื่อไทยก็ยอมรับและยืนยันอุดมการณ์ขวาจัดเช่นนี้ เพื่อไทยก็ย่อมไม่ใช่ “พรรคฝ่ายเสรีประชาธิปไตย” แต่จะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแบบไหน ต่างจากพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างไร ก็ลองหา “คำนิยาม” กันเอาเอง

เรื่องที่เพื่อไทยยอมรับหรือยืนยันอุดมการณ์ขวาจัด เราเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ คือ เพื่อไทยเพิ่มเติมข้อความที่เน้นความสำคัญของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไว้ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยก้าวไกล ทั้งๆ ที่ “ไม่จำเป็น” เพราะข้อความดังกล่าวมีในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ขณะที่ให้ตัดข้อเสนอ “แก้ 112 และการนิรโทษกรรมคดี 112” ออกจาก MOU ซึ่งเป็น “เกมการเมือง” ในการต่อรองทำ MOU ที่เพื่อไทยอ้าง “ประเด็น 112 และสถาบันกษัตริย์” เป็นเครื่องมือทางการเมืองกดดันก้าวไกล หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อ “เอาใจ” ศักดินา และขั้วการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านก้าวไกลอยู่แล้ว

ล่าสุดแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ออกมาประกาศ “จุดยืน” ในการปฏิเสธก้าวไกลอย่างชัดเจนว่า “เรื่องที่เราไม่ให้คุณแน่นอน เพราะเป็นจุดยืนของเราคือเรื่องที่เรารับคุณร่วมรัฐบาลไม่ได้ เพราะเป็นข้อจำกัด และเรื่อง 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติ” (ดู https://www.facebook.com/photo?fbid=902562987897308&set=pb.100044308452347.-2207520000.)
 
ประเด็นที่เราต้องคิดอย่างจริงจังคือ เพื่อไทยถูก “ฝ่ายขวาจัด” อ้างสถาบันกษัตริย์ทำรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง ทักษิณถูกกล่าวหาเป็นหัวขบวน “ล้มเจ้า” ตัวเขาเองก็ถูกแจ้งคดี 112 (แม้จะไม่ถูกดำเนินคดี) ในยุคการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมีประชาชนโดน 112 กว่า 500 คดี และยังมีการใช้ 112 กดปราบประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาชธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และมากขึ้นเป็นทวีคูณจนถึงวันนี้ ซึ่งแน่นอนว่า เพื่อไทยย่อม “รู้อย่างชัดแจ้ง” อยู่แล้วว่าการอ้าง 112 และสถาบันกษัตริย์เป็น “เงื่อนไข” ในการแบ่งแยกพรรคการเมืองและประชาชนเป็นฝักฝ่ายย่อมเป็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง” และนำมาซึ่งการใส่ร้ายป้ายสีและ “ความอยุติธรรม” มากมาย แต่เพื่อไทยก็ยินดีรับเงื่อนไขนี้ของฝ่ายขวาจัดมาเป็น “จุดยืน” ในไม่รับก้าวไกลร่วมรัฐบาล

ถามว่า “จุดยืน” เช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นสองสามวันนี้ หรือเป็นจุดยืนของเพื่อไทยมาโดยตลอด หากย้อนไปจะเห็นว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ปฏิเสธข้อเสนอแก้ 112 ทักษิณก็ยืนยันชัดว่า “112 ไม่ใช่กฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ปัญหาอยู่ที่การใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง” (แล้วที่เพื่อไทยอ้าง 112 เป็นเงื่อนไขไม่รับก้าวไกลร่วมรัฐบาลไม่ใช่ปัญหา “การใช้ 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง” หรอกหรือ) ตอนหาเสียงเลือกตั้งแกนนำเพื่อไทยบอก “ยินดีให้เอา 112 ไปพูดคุยกันในสภา” แต่นั่นก็คือคำโกหก

จึงทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความหมายของ “ความจำเป็น” ในการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จของเพื่อไทย หมายถึง “ความจำเป็นบนอุดมการณ์ขวาจัด” ที่ถือว่า “การไม่แตะ 112 และกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์” คือ “ศูนย์กลางของความจำเป็น” จึงไม่แปลกที่เพื่อไทยใช้วาทกรรมการเมืองแบบฝ่ายขวาจัด เช่น จำเป็นต้องตั้งรัฐบาบลให้สำเร็จเพื่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เป็นการสลายขั้วความขัดแย้ง ฯลฯ แต่ทั้งหมดนั้นยึดการไม่แตะ 112 และสถาบันกษัตริย์เป็นความจำเป็นศูนย์กลางหรือสำคัญสูงสุด 

เราจึงควรยอมรับ “ความจริง” ว่า ที่คนจำนวนไม่น้อยเคยเห็นใจและปกป้องเพื่อไทย เพราะเป็นพรรคที่ถูกทำรัฐประหาร และยึดมั่นการต่อสู้ผ่านการเลือกตั้ง กระทั่ง “คาดหวัง” ว่าเพื่อไทยอาจจะเป็น “พรรคตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย” นั้น ตอนนี้ไม่เป็นจริงตามที่คาดหวังแล้ว เพราะพรรคการเมืองใดๆ ที่ยึดอุดมการณ์ขวาจัดไม่แตะหรือห้ามแตะ 112 และสถาบันกษัตริย์ไม่มีทางจะเป็นพรรคการเมืองที่นำการเปลี่ยนแปลงเป็น “เสรีประชาธิปไตย” ที่มี “เสรีภาพทางการเมือง” (political liberty) ได้จริง

พูดให้ชัดคือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้รัฐบาลผสมเพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ที่ยึดอุดมการณ์ขวาจัดห้ามแตะ 112 และสถาบันกษัตริย์ ไม่มีทางที่จะได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นเสรีประชาธิปไตยได้ 

แต่ในบริบทโลกยุคศตวรรษที่ 21 จะหวังให้ประชาชนลุกฮือขึ้นปฏิวัติเหมือนปฏิวัติฝรั่งเศส (เป็นต้น) คงเป็นไปได้ยาก เพราะสรรพกำลัง เครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยี และอาวุธยุทโธปกรณ์ของผู้ครองอำนาจรัฐมีประสิทธิมหาศาลกว่ายุคก่อนมาก ประชาชนมือเปล่าสู้ไม่ได้หรอก จึงจำเป็นต้องมี “พรรคการเมืองตัวแทนอุดมการณ์ประชาธิปไตย” รับข้อเรียกร้องของประชาชนไปสู้ต่อตามกระบวนการรัฐสภา เพื่อสร้างระบอบเสรีประชาธิปไตยให้เป็นจริง

เมื่อความจริงคือ เพื่อไทยเป็นแนวพรรคร่วมทางอุดมการณ์ของฝ่ายขวาจัดอย่างชัดแจ้งแล้ว เพื่อไทยจึงไม่ใช่คู่แข่งกับก้าวไกลในการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นคู่ต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองไปแล้ว นี่คือ "ความจริง" ที่เราควรยอมรับ ไม่ควรหลอกตัวเองกันต่อไป

จึงเหลือแต่ก้าวไกลเท่านั้นว่าจะรักษา "จุดยืน" ของความเป็นพรรคตัวแทนอุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐให้เป็นเสรีประชาธิปไตยได้ยาวนานเพียงใด และประชาชนจะเป็นพลังสนับสนุนและปกป้องก้าวไกลให้เดินหน้าต่อเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร ท่ามกลางขวากหนามสารพัด

แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องดีที่พรรคการเมืองแบ่งขั้วอุดมการณ์เป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน คือ เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งประชาธิปัตย์เป็นพรรคอุดมการณ์ “ฝ่ายขวา” ส่วนก้าวไกลเป็นพรรค “ฝ่ายซ้าย” ที่ยึดอุดมการณ์เสรีนิยมทางการเมืองแต่เน้นเศรษฐกิจโน้มไปทางรัฐสวัสดิการ สองขั้วนี้จะได้ต่อสู้ทางความคิด และเสนอ “นโยบายรูปธรรม” อย่างชัดเจนให้ประชาชนเลือกได้ง่ายขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทว่าปัญหาอาจ “ซับซ้อน” กว่านั้นมาก เพราะก้าวไกลยัง “เสี่ยงจะถูกยุบพรรค” ขณะที่เพื่อไทยแม้จะเป็น “แนวร่วมทางอุดมการณ์ฝ่ายขวา” กับอำนาจเก่าและเครือข่าย แต่ก็ไม่แน่ว่าจะกลมกลืนเป็นเอกภาพได้จริง เพราะการรวมกันตั้งรัฐบาลเกิดจาก “เงื่อนไขเฉพาะหน้า” ที่ซับซ้อน มีทั้งเงื่อนไขไม่แตะ 112 และสถาบันกษัตริย์, อำนาจ สว., การลงจากอำนาจอย่างราบรื่นของพวกทำรัฐประหาร และการกลับบ้านของทักษิณ ที่เราเห็น “การแสดงละครผ่านสื่อ” ก็แยกยากว่าใครหลอกใคร กลุ่มไหนหลอกกลุ่มไหนบ้าง และยังมี “เบื้องหลัง” อีกมากที่เราไม่รู้

ขณะเดียวกันแม้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐจะมีเครื่องไม้เครื่องมือทรงประสิทธิภาพควบคุมการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่า “เอาอยู่” แต่ประชาชนฝ่ายที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก็มีเครื่องมือที่ก้าวหน้าในการเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ได้อย่างกว้างขวางกว่ายุคเก่าเช่นกัน ความคิด และอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปแล้วจึงไม่มีอำนาจใดควบคุมได้ 

ท่ามกลาง “ความจริงที่ซับซ้อน” ดังกล่าวมา ข้อจำกัดจริงๆ ของเราคือ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า “พรุ่งนี้” จะเป็นอย่างไร หรือเพื่อไทยจะยืนอยู่ตรงไหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่วันนี้เพื่อไทยเลือกแล้วที่จะไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ทำให้ “ความหวัง” ว่าจะมีพรรคการเมืองตัวแทนอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยในสภาเข้มแข็งขึ้นต้องสะดุดลง

แต่ท่ามกลางวิกฤตภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองขวาจัด ยังมีความเป็นไปได้เสมอที่ความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่จะเติบโต แข็งแรง และแพร่หลายมากขึ้นๆ จนหลอมรวมเป็นเจตจำนงร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ที่สามารถเอาชนะอำนาจของฝ่ายขวาจัดได้ในที่สุด เรายังหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net