Skip to main content
sharethis

'มินอ่องหล่าย' เปิดตัวพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางกรุงเนปิดอว์ ประชาชนวิจารณ์ไม่อาจกลบบาปกรรมของมินอ่องหล่ายได้ พระพุทธรูปแห่งนี้มีความเป็นการเมืองอยู่ การที่มินอ่องหล่ายตั้งชื่อพระพทุธรูปว่ามารวิชัยที่แปลว่า "เอาชนะมาร" นั้น แสดงให้เห็นถึงการที่มินอ่องหล่ายไม่ได้สนใจที่จะบูชาพระพุทธศาสนา แต่สนใจในการปราบศัตรูมากกว่า

 

11 ส.ค. 2566 รัฐบาลทหารพม่าจัดให้มีพิธีสมโภชเปิดตัวพระพุทธรูปหินอ่อน ปางมารวิชัย ที่ อุทยานพุทธศาสนา อ.ทักขิณาสิริ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่ "ใหญ่ที่สุดในโลก" ด้วยความสูง 25 เมตร

นักข่าวของฟรอนเทียร์เมียนมาร์รายงานว่า ในช่วงที่กำลังมีการก่อสร้างนั้นมีการวางกำลังคุ้มกันพื้นที่ตั้งของพระพุทธรูปแห่งอย่างแน่นหนา นักข่าวของพวกเขาพยายามเข้าไปทำข่าวในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านนมา ก็ถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปโดยทหารรักษาความปลอดภัย 5 นาย

มีคนขับรถสามล้อที่พาคนงานก่อสร้างไปส่งที่อุทยานเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ทุกคนที่เข้าไปที่ลานแห่งนี้จะต้องถูกตรวจค้น และแรงงานก่อสร้างจะต้องฝากบัตรประชาชนของพวกเขาไว้ที่กองกำลังความมั่นคงในช่วงที่พวกเขาปฏิบัติงานข้างใน คนขับสามล้อบอกว่าในพุทธอุทยานมีการสิ่งก่อสร้างทางศาสนาจำนวนมากเป็นที่ๆ ดูอลังการ

ในขณะที่ประชาชนทั่วไปถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง แต่กลุ่มชนชั้นนำของกองทัพพม่าและชนชั้นนำที่เป็นนักธุรกิจกลับสามารถเข้าถึงอุทยานได้โดยไม่มีปัญหาอะไร

U Khin Yi หัวหน้าพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่มีรัฐบาลทหารพม่าสนับหนุน เคยเขียนแสดงความชื่นชมความสามารถของวิศวกรของรัฐบาล โดยระบุว่าในอุทยานขนาดประมาณ 569 ไร่ มีพระพุทธรูปและอาคารศาสนาจำนวนมาก มีสระมุจลินทร์ที่ตั้งของพระพุทธรูปซึ่งมีพญานาคและสถูปวางไว้เพื่ออารักขา

แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่ๆ ยิ่งใหญ่อลังการเพียงใด แต่สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนที่สร้างโดยรัฐบาลทหารพม่ากลายเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของกองทัพพม่าและความหลงใหลมัวเมาในความยิ่งใหญ่ของมินอ่องหล่าย

หลังการรัฐประหารกองทัพพม่าก็ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 3,900 ราย และมีผู้ที่ถูกจับกุมรวม 24,236 ราย มีอยู่ 19,721 รายที่ยังคงอยู่ในทีคุมขัง อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา

ผู้หญิงรายหนึ่งจากกรุงเนปิดอว์กล่าวว่า มินอ่องหล่ายน่าจะกำลังกลัวกรรมตามสนองตัวเอง เธอบอกว่าไม่ว่ามินอ่องหล่ายจะสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรืออารามที่ใหญ่ที่สุดของโลก บาปกรรมของเขาก็ไม่อาจลบเลือนไปได้ เพราะเขาเป็นดั่งมารร้ายที่ทารุณและสังหารผู้คน

"เขา (มินอ่องหล่าย) กำลังกลัว เขาจึงพยายามกลบบาปกรรมของตัวเองด้วยการทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องศาสนา" ผู้หญิงจากกรุงเนปิดอว์กล่าว

ในขณะที่การสร้างพระพุทธรูปนี้เป็นแผนการที่มีมาตั้งแต่ก่อนหน้าการรัฐประหารแล้ว แต่น่าสังเกตว่าสื่อรัฐบาลพม่าทำการเสนอข่าวในเรื่องพระพุทธรูปใหม่นี้เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่กองทัพพม่าเข้ามายึดอำนาจ และมีการเรียกพระพุทธรูปว่า "ภูมีผัสสะมุทรา"

ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับพระพุทธรูปนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พลจันวา ซอมินทุน แถลงว่าโครงการนี้ดำเนินการโดยกองทัพพม่าและสภาวิศวกรพม่าโดยทั้งหมด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคที่รวมแล้วราว 40 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,400 ล้านบาท) ทางรัฐบาลทหารพม่าพยายามขอบริจาคจากประชาชนโดยมีการเปิดเผยบัญชีธนาคารของพวกเขาผ่านทางสื่อรัฐ แต่ผู้ที่บริจาคโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกพ้องชนชั้นนำของเผด็จการและกลุ่มชนชั้นนำนักธุรกิจอื่นๆ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินบริจาคพุ่งสูงขึ้นมากเกือบ 20 เท่าจากเงินบริจาคเดิมคือจาก 810 ล้านจ๊าด (ราว 13.5 ล้านบาท) เป็น 16,000 ล้านจ๊าด (ราว 267 ล้านบาท) โดยผู้ที่บริจาคให้มากที่สุดสองอันดับแรกอยู่ที่ 2,000 ล้านจ๊าด (ราว 33 ล้านบาท) คือ U Khin Maung Aye จากธนาคารซีบี และ U Kyay จากบริษัท Wai Mar มีอีกรายหนึ่งที่บริจาคให้จำนวนมากคือ U Thein Win Zaw พวกพ้องกองทัพที่ถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็นช่องทางให้เผด็จการโดยการเป็นตัวแทนซื้อบริษัทโทรคมนาคม

แต่ถึงแม้ว่าเงินบริจาคจะมหาศาลขนาดนี้ แต่แรงงานที่ทำงานสร้างอุทยานพระพุทธรูปกลับได้รับค่าจ้างแค่เล็กน้อย มีแรงงานก่อสร้างบอกว่าพวกเขาทำงานตั้งแต่ 08.00 น. - 17.30 น. แต่ได้รับค่าจ้างแค่ 7,000-20,000 จ๊าดต่อวัน (ราว 120-330 บาท) ตามแต่บทบาทของพวกเขาแล้วก็มักจะจ่ายให้ทุกๆ 3 วัน

แต่แรงงานรายหนึ่งก็บอกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือก มีแต่ต้องทำงานให้กับรัฐบาลทหารพม่าแม้จะถูกครหา เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำงานนี้พวกเขาก็จะอดตาย

 

คนทั่วไปไม่รู้แม้แต่ชื่อพระพุทธรูป

คนขับแท็กซี่รายหนึ่งที่ขับรถพานักข่าวฟรอนเทียร์เมียนมาร์ไปที่อุทยานพระพุทธรูปกล่าวว่า เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระพุทธรูปหินอ่อนที่พวกเผด็จการพม่าสร้างมีชื่อว่าอะไร

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งในเนปิดอว์กล่าวว่า ประชาชนรู้แค่ว่ามินอ่องหล่ายกำลังสร้าง "เจดีย์ของมินอ่องหล่าย" แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีชื่อว่าอะไร และไม่มีใครที่อยากจะรู้

มินอ่องหล่ายได้ปรึกษากับพระสงฆ์อาวุโสที่อยู่ใกล้ชิดกับเขาที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสังฆมหานายกะของรัฐบาลพม่า โดยตั้งให้พระพุทธรูปชื่อมารวิชัย

มีพระสงฆ์ Sayadaw U Wayama ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยจากเครือข่ายสังฆปฏิวัติต่อต้านเผด็จการทหาร วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ที่ไปให้คำปรึกษากับกลุ่มผู้นำเผด็จการทหารว่า "คงต้องบอกว่าพระอาจารย์สงฆ์เหล่านี้ช่วยให้เขา (มินอ่องหล่าย) โกหก, คดโกง และกลบเกลื่อนการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและการกระทำที่โหดร้าย"

U Wayama กล่าวว่า การที่มินอ่องหล่ายตั้งชื่อพระพทุธรูปว่ามารวิชัยที่แปลว่า "เอาชนะมาร" นั้น แสดงให้เห็นถึงการที่มินอ่องหล่ายไม่ได้สนใจที่จะบูชาพระพุทธศาสนา แต่สนใจในการปราบศัตรูด้วยความรุนแรงมากกว่า

ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปปางมารวิจัยในทางหลักการแล้วจะหมายถึงการที่พระพุทธเจ้าได้เอาชนะ "มาร" ที่เป็นภาพแทนนามธรรมอย่าง ความโลภ, ความเกลียดชัง และความตาย แต่มิงอ่องหล่ายไม่ได้ต้องการเอาชนะนามธรรมเหล่านี้ เขาต้องการเอาชนะศัตรูที่เป็นประชาชนของประเทศตัวเองผู้ลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหาร

นอกจากนี้แล้วพระพุทธรูปที่อุทยานแห่งใหม่ยังดูเหมือนจะเผยให้เห็นการที่กองทัพพม่ามีความหมกมุ่นอยู่กับเลข 9 ด้วย จากการที่ตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูป ไม่ว่าจะเป็นความสูงของโครงสร้างทั้งหมด 81 ฟุต พระพุทธรูปเองมีความสูง 63 ฟุต มีฐานพระพุทธรูป 18 ฟุต มีน้ำหนักรวมแล้ว 5,292 ตัน ตัวฐานมีน้ำหนัก 3,510 ตัน ขณะที่ส่วนของพระพุทธรูปมีน้ำหนัก 1,782 ตัน ตัวเลขเหล่านี้เมื่อแยกหลักแต่ละหลักออกมาแล้วนำมาบวกกันจนกลายเป็นหลักหน่วยแล้วคำตอบจะเท่ากับ 9 ทั้งหมด (เช่น น้ำหนัก 5+2+9+2 = 18 = 1+8 = 9)

ไม่เพียงตัวเลขน้ำหนักและขนาดของพระพุทธรูปกับส่วนประกอบเท่านั้น แม้กระทั่งตัวเลขอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอุทยานพระพุทธรูปแห่งนี้ก็เกี่ยวข้องกับเลข 9 ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึก 720 ชิ้นที่ประกอบด้วยเจดีย์เล็กๆ มีการใช้เวลาก่อสร้าง 1,143 วัน เริ่มจากวันที่ 14 เดือน 6 ปี พ.ศ. 2563 มีพระสงฆ์รวมแล้ว 900 รูปที่เข้าร่วมพิธีสมโภชเปิดตัวพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

เรื่องที่กองทัพพม่าที่เรียกว่าทัตมะตอว์มีความหมกมุ่นกับตัวเลข 9 นี้เคยมีมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารคนแรกคือ เนวิน ที่รัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2505 นักประวัติศาสตร์ เดวิด สไตน์เบิร์ก ระบุว่าเนวินเชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลเพราะมีโหรให้คำปรึกษาเขาไว้แบบนี้ เมื่อปี 2530 ในตอนที่กำลังมีความพยายามปราบปรามตลาดมืดที่แพร่หลายทั่วพม่า เนวิน ได้ถึงขั้นเปลี่ยนธนบัตรที่สามารถบวกกันเป็นเลข 9 ได้ (เช่น ธนบัตร 90 จ๊าด หรือ 45 จ๊าด) ซึ่งก่อให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีขบวนการประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านเผด็จการในปี 2531

 

มรดกเผด็จการที่พยายามอย่างมากที่จะดึงดูดให้คนเข้าชม

การที่มินอ่องหล่ายสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่เช่นนี้ ยังเป็นการเดินรอยตามเผด็จการทหารพม่าในอดีตที่พยายามจะเลียนแบบกษัตริย์พม่าในช่วงก่อนยุคอาณานิคม ที่แสดงตนเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนา ในปี 2523 เนวินก็เคยสร้างมหาวิชยเจดีย์ ที่อยู่ห่างจากศาสนาสถานที่สำคัญที่สุดของพม่าอย่างเจดีย์ชเวดากองไม่มากนัก

หลังจากที่มีการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปที่เนปิดอว์ ตานฉ่วยซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการในยุคปี 2552 ก็ทำการเปิดตัวมหาเจดีย์อุปปาตะสันติ ซึ่งแทบจะลอกแบบจากเจดีย์ชเวดากองมาทั้งดุ้น เวลา 7 ปีก่อนหน้านั้นตานฉ่วยก็เคยสร้างพระพุทธรูปหนัก 560 ตัน ในกรุงย่างกุ้ง โดยอาศัยหินอ่อนจากภูเขาซาจินในมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกับที่มินอ่องหล่ายใช้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยในครั้งนี้เช่นเดียวกัน

พระรูปหนึ่งที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาเปิดตัวพระพุทธรูปกล่าวว่า หินอ่อนจากภูเขาซาจินเป็นหินอ่อนที่เหมาะกับงานประติมากรรมมากที่สุด มันเป็นหินอ่อนที่ทนทานมากและทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงมีสีขาวบริสุทธิ์ด้วย

ทั้งอุปปะสันติและมหาวิชยเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างโดยอดีตเผด็จการพม่าต่างก็ไม่ค่อยมีคนเข้าชม มินอ่องหล่ายหวังว่าอุทยานพุทธศาสนาของเขาจะมีคนเข้าชมมากกว่าของเผด็จการคนก่อนๆ และมีการพยายามจูงใจให้มีคนเข้าชม เช่นมีการทำถนนใหม่ตรงหน้าทางเข้าอุทยาน ชื่อถนนซาเบล จากเดิมที่เป็นถนนลูกรัง 2 เลน ให้กลายเป็นถนนเรียบ 4 เลน เต็มไปด้วยต้นไม้ดอกไม้และมีโคมไฟประดับ มีการเชื่อมต่อกับถนนสัญจรสายหลักของเนปิดอว์

ทางด้านหลังอุทยานก็มีารสร้างถนนสี่เลนเพิ่มเช่นกัน ถนนเส้นหลังนี้เชื่อมต่อกับถนนทางด่วนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ในตอนนี้อาจจะยังปิดไม่ให้คนทั่วไปเข้าในส่วนนี้ แต่ถ้าหากเปิดใช้งานแล้วมันจะเป็นกลายเป็นถนนที่เชื่อมต่อพระพุทธรูปกับเส้นทางไปสู่เมืองใหญ่ที่สุดสองเมืองของพม่า

ในการแถลงข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม พลจัตวา ซอมินทุน โฆษกของรัฐบาลทหารพม่ายังบอกอีกว่าผู้คนจะสามารถเข้าชมอุทยานได้หลังวันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีในช่วงวันที่ 1-16 ส.ค. นี้ หลังจากนั้นจะมีการเก็บตั๋วค่าธรรมเนียมเข้าชม

U Wayama พูดเย้ยหยันเรื่องที่รัฐบาลทหารพม่าหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวชมอุทยานด้วย โดยบอกว่า "นักท่องเที่ยวคงไม่อยากมาเยือนประเทศที่มีคนจำนวนมากถูกสังหารหรอก"

ผู้หญิงเนปิดอว์คนหนึ่งบอกว่า การที่พระพุทธรูปแห่งนี้มีความเป็นการเมืองอยู่ ทำให้เรื่องที่คนจะเข้าชมพระพุทธรูปนี้หรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมหรือดูฟรี เธอคิดว่าชาวพม่าคงไม่คิดจะเข้าชมพระพุทธรูปนี้ถึงแม้ว่าจะเปิดให้ดูฟรีก็ตาม

 

 

เรียบเรียงจาก

 ‘His sins can’t be erased’: Junta leader to consecrate Buddha image, Frontier Myanmar, 31-07-2023

https://www.frontiermyanmar.net/en/his-sins-cant-be-erased-junta-leader-to-consecrate-buddha-image/

Daily Briefing in Relation to the Military Coup, AAPP, 09-08-2023

https://aappb.org/?p=25954

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net