Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางคนว่า 112 ไม่ใช่กฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ปัญหาอยู่ที่การใช้กลั่นแกล้งกันในทางการเมือง ถ้าเลิกใช้ 112 กลั่นแกล้งกันในทางการเมืองก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะ “ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวกฎหมาย” นี่เป็นการมองแบบฉาบฉวยอย่างยิ่ง 

ที่จริงแล้ว 112 เป็น “กฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง” เพราะเป็น “กฎหมายที่ขัดหลักเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก” เนื่องจากไม่มี “ข้อยกเว้น” ให้กับการใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ติชมหรือตรวจสอบโดยสุจริตและเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ แถมยังตีความได้ครอบจักรวาล ขยายขอบเขตการบังคับใช้เกินจากตัวบทก็ได้ มีอัตราโทษสูงเกินเหตุ ใครจะแจ้งความเอาผิดก็ได้ อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ แทนที่จะเป็นกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากการถูกหมิ่นประมาท เพราะในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ประมุขของรัฐ “ไม่ใช่รัฐ” แต่เป็นตำแหน่งในโครงสร้างอำนาจรัฐที่ถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็น “บุคคลสาธารณะ” ที่ถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ 

พูดอีกอย่างคือ 112 ตามที่ใช้กันอยู่จริงในบ้านเรา เป็นกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่มีสถานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาคือ สถานะ “เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ซึ่งเป็นสถานะของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ ไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐในฐานะ “บุคคลสาธารณะ” ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ ดังนั้น 112 จึงเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง เพราะเป็นกฎหมายที่ “ย้อนแย้ง” กับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

การที่ 112 เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเองดังกล่าว มันจึงถูกนำไปใช้สร้างปัญหาต่างๆ อีกมากมาย เช่น ใช้กลั่นแกล้งนักการเมืองคู่แข่งก็ได้ ใช้ปิดปากฝ่ายที่คิดต่างทางการเมืองก็ได้ ใช้ล่าแม่มดคนเห็นต่างทางการเมืองก็ได้ อาจารย์ นักศึกษา หรือพ่อแม่ลูก พี่น้องฟ้องกันเองก็ได้ ใช้เป็นเงื่อนไขในการไม่ร่วมรัฐบาล หรือขัดขวางไม่ให้เป็นรัฐบาลก็ได้ ใช้เป็นข้ออ้างฟ้องยุบพรรคการเมืองก็ได้ เป็นต้น

พูดให้ชัดขึ้น 112 เป็นกฎหมายที่มี “ความเป็นการเมือง” (the political) ในตัวมันเองสูงมาก เพราะเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขของ “การแบ่งฝ่ายทางการเมือง” คือ เป็นกฎหมายที่ฝ่ายอำนาจนิยมปกป้องรักษาไว้ และใช้กดปราบฝ่ายคิดต่าง แต่คนที่โดน 112 กลับไม่ถูกถือว่าเป็น “นักโทษการเมือง” ถ้าจะมีการอภัยโทษแก่นักโทษการเมืองจึงต้องไม่รวมนักโทษ 112 ด้วย ทั้งๆ ที่คนที่โดน 112 ล้วนแต่โดนเพราะใช้แนวคิดทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นแรงจูงใจหลักในการกระทำที่ถูกใช้ 112 กดปราบ นี่ก็คือความเป็นการเมืองที่ซับซ้อนของกฎหมายฉบับนี้

ในที่สุดความเป็นการเมืองของตัวกฎหมาย 112 ก็นำมาสู่การอ้างเป็น “เงื่อนไขหลัก” ที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่โหวตสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากของ ส.ส. เพียงพอจะเป็นรัฐบาลผสมที่เข้มแข็งได้ 

แต่ปัญหาก็ไม่ใช่แค่ ส.ว. ใช้ 112 เป็นเงื่อนไขสกัดไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ เท่านั้น แม้แต่ “พรรคเพื่อไทย” เองที่เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่สะดวกจะให้ก้าวไกลเอาเรื่องแก้ไข 112 และเรื่องนิรโทษกรรมคนที่โดน 112 ไว้ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมก่อตั้งรัฐบาล อีกทั้งพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่างก็ปฏิเสธการร่วมรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลชูนโยบายแก้ไข 112 ทำให้การเมืองหลังจากพิธาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แล้วเพื่อไทยรับไม้ต่อจากก้าวไกลในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตกอยู่ใน “ความไม่แน่นอน” ว่าก้าวไกลจะถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านเพราะไม่ยอมถอยเรื่องแก้ 112 หรือไม่

ปัญหาสำคัญของการอ้างเรื่องแก้ 112 เพื่อปฏิเสธไม่โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล และ/หรือไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลยันยืนยันเรื่องแก้ 112 คือความ “ไม่ make sense” หรือความไร้เหตุผลของการอ้างเงื่อนไขนี้ เพราะ

1. การเสนอแก้ไข 112 เป็นเพียงการเสนอแก้กฎหมายฉบับหนึ่งผ่านกระบวนการรัฐสภา ไม่ได้แปลว่าพรรคที่เสนอแก้ไขกฎหมายนี้มีอำนาจบังคับให้พรรคอื่นๆ โหวตสนับสนุนได้ ทุกพรรคยังมีสิทธิ์อภิปรายโต้แย้งและโหวตคัดค้านได้เต็มที่ หรือเสนอแก้ไขสวนทางกับก้าวไกลก็ได้ 

2. การอ้าง 112 เป็นเงื่อนไขสกัดพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล และเพื่อผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แสดงถึงความล้าหลังของระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองไทยที่ไม่สามารถยืนยันหรือดำรง “หลักการที่ฟรีและแฟร์” ในการต่อสู้ต่อรองทางการเมืองเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การบัญญัติหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ และ 

3. จากข้อ 2 มันสะท้อน “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ของระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองไทย เพราะถ้าทั้ง ส.ว. และพรรคการเมืองใหญ่ๆ ต่างผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ก็เท่ากับร่วมมือกันทำให้เกิดสภาพของ “การไม่มีสิทธิ์” ในการเสนอแก้ไขกฎหมาย 112 และเท่ากับรักษาสภาพการไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งก็คือการทำให้รัฐไทยไม่สามารถจะเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ไดจริงนั่นเอง

สุดท้ายการเมืองไทยก็จะเหลือแค่การ “ยึดหลักคณิตศาสตร์ทางการเมือง” ที่ใช้จำนวนเสียงเป็นตัวตัดสินภายใต้กติกาอันบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยปัดอุดมการณ์เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยออกไปจากสมการของการตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการ “สยบยอมตามเงื่อนไขของ ส.ว.” อย่างน่าอนาถ

พูดอีกอย่าง ถ้าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกของประชาชนต่างสยบยอมตามเงื่อนไขของ ส.ว. ที่ฝ่ายอำนาจนิยมแต่งตั้งก็นับเป็นเรื่องที่ไร้ศักดิ์ศรี เพราะที่จริงแล้วไม่ใช่พรรคการเมืองตกอยู่ในภาวะจำยอมต้องขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ถ้าทุกพรรคการเมืองมี “สามัญสำนึก” ในเรื่องปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ก็ย่อมสนับสนุนพรรคที่รวมเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้ว แต่นี่กลับไปอ้างเงื่อนไข 112 แบบ ส.ว. มาสกัดพรรคการเมืองด้วยกันเอง

ดังนั้น ที่ว่ารัฐประหารเกิดจากนักการเมือง พรรคการเมืองก็ “มีส่วนจริง” แต่ไม่ใช่เพราะเรื่องนักการเมือง พรรคการเมืองคอร์รัปชั่น หากเพราะมีนักการเมือง พรรคการเมืองที่ยอมรับและสนับสนุนรัฐประหาร หรือเป็นนั่งร้านสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร กระทั่งอ้าง 112 เป็นเงื่อนไขสะกัดพรรคการเมืองที่สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยดังที่เป็นอยู่

แน่นอนว่า เราต้องปฏิเสธรัฐประหารอย่างเด็ดขาด และต้องเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่เราก็ต้องช่วยกันผลักดันให้ระบบรัฐสภามีความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการเรียกร้องให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยซื่อตรงต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และสื่อสารทุกวิถีทางเพื่อให้นักการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นนั่งร้านสืบทอดอำนาจจากรัฐประหารรู้ว่าพวกเขากำลังทรยศประชาชน และประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะเลือกพวกเขาน้อยลงเรื่อยๆ หากไม่ปรับตัวสอดคล้องกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขาก็จะสูญพันธุ์ไปกับระบบผูกขาดอำนาจไดโนเสาร์ในที่สุด!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net