Skip to main content
sharethis

“I Can See Paradise, But I Can’t Enter” นิทรรศการศิลปะว่าด้วยการเมืองไทย จาก 6 ศิลปินเชียงใหม่ ที่ริอาจท้าทาย ‘สวรรค์’ จนกลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง ทั้งทัศนัย เศรษฐเสรี, นลธวัช มะชัย, ธีราภรณ์ พุดทะสี, ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์, ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ และคุณภัทร คะชะนา พร้อมตั้งคำถามต่อสวรรค์ สำหรับ ‘รัฐไทย’ สวรรค์คืออะไร การดำรงอยู่ของสวรรค์นั้นเป็นอย่างไร เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียมอยู่ตรงไหนของขอบสวรรค์

 

4 ก.ค. 2566 ONION Art Space เชียงใหม่ เปิดนิทรรศการศิลปะว่าด้วยการเมืองไทย “I Can See Paradise, But I Can’t Enter” ตั้งแต่วันที่ 3 - 23 ก.ค. 2566 นิทรรศการที่ต้องการทำความเข้าใจถึงสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอำนาจ ชนชั้น การเข้าถึงและความโหยหาการเปลี่ยนแปลง เชิญชวนให้ผู้ชมได้สะท้อนย้อนคิด และตั้งคำถามถึงสังคม-การเมืองที่ “คนไทย”ต้องเผชิญในการแสวงหาสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาคและเท่าเทียม ผ่านผลงานของ 6 ศิลปินในเชียงใหม่ ทัศนัย เศรษฐเสรี, นลธวัช มะชัย, ธีราภรณ์ พุดทะสี, ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์, ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ และคุณภัทร คะชะนา ซึ่งเคยมีและกำลังมีสถานะ “ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง” พวกเขาถูกฟ้องคดีจากการท้าทาย ‘สวรรค์’ ศิลปินบางคนคดีจบไปแล้ว บางคนอยู่ระหว่างดำเนินคดี และรอคำพิพากษา

ชื่อนิทรรศการมีนัยยะถึงความย้อนแย้งระดับรากของภูมิทัศน์การเมืองไทย ที่ผู้คนในสังคมสามารถรับรู้สึกและมองเห็นสวรรค์ในอุดมคติได้ ไม่ว่าจะอยู่ในชีวิตประจำวัน อาณาบริเวณสถาบัน มิติทางชนชั้น มิติเชิงอำนาจในหลายระดับ แต่สวรรค์ก็ยังคงห่างไกล จนดูเหมือนไม่มีวันเอื้อมถึงได้สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ หรือเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่านั้นคือ “สวรรค์”

สวรรค์มีความหมายที่กว้างและเหลื่อมซ้อน แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศาสนา การเมือง วัฒนธรรมรวมถึงอุดมการณ์ที่สังคม ชุมชนหรือปัจเจกยึดถือและอาศัยอยู่ สำหรับ ‘รัฐไทย’ สวรรค์คืออะไร และการดำรงอยู่ของสวรรค์นั้นเป็นอย่างไร

 

"I CAN SEE PARADISE, BUT I CAN'T ENTER" เปิดพื้นที่สำหรับศิลปินในการแสดงมุมมองเชิงวิพากษ์ สำรวจความซับซ้อนของพลวัตอำนาจ ภาพแทน และอุปสรรคเชิงระบบ เพื่อสร้างบทสนทนาและการไตร่ตรองอย่างจริงจังถึงสภาวะที่เป็นอยู่ร่วมไปกับผู้ชม

 

 

นิทรรศการ "I CAN SEE PARADISE, BUT I CAN'T ENTER"

จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 3 - 23 ก.ค. 2566 เวลา 9.00 - 20.00 น.

ที่ ONION Art Space, ชั้นสาม MAMA cafe&studio ถ.ห้วยแก้ว เชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net