Skip to main content
sharethis

กมธ.นิรโทษกรรม เห็นพ้องนิรโทษกรรมการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ตั้ง คกก.กลั่นกรองเป็นกรณี คาดสรุปรายงานเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสภา ก.ค. 2567 นี้ - 'ไชยามพวาน' ขออย่าเพิ่งแยกประเด็นผู้ต้องหา ม.112 ออกมาจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ. แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาแนวทางการนิรโทษกรรม ว่า กมธ.มีมติร่วมกันว่าจะมีการนิรโทษกรรมการกระทำ การแสดงออกที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง โดยจะนิรโทษกรรมคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน ส่วนจะนิรโทษกรรมการกระทำใดบ้างนั้น กมธ.เห็นว่าการกระทำนั้นควรอยู่ในคำนิยาม "มูลเหตุจูงใจทางการเมือง" ซึ่งจะมีการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จะสรุปเป็นรายละเอียดแนบไปในรายงาน โดยจะแยกให้เห็นว่าการกระทำใดบ้างที่ไม่เข้าข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ กมธ.ได้ขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปและจัดทำเป็นรายงานเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อให้สภาพิจารณาในเดือน ก.ค.นี้

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน กมธ.และที่ปรึกษาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.มีความเห็นร่วมกันว่าจะใช้แนวทางในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาแต่ละกรณี เนื่องจากการกำหนดฐานความผิดใดความผิดหนึ่ง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดของคณะกรรมการจะมีที่มา อำนาจ หน้าที่ อย่างไรนั้น ต้องศึกษารายละเอียดและหารือกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ในระหว่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภาอยู่ระหว่างออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารควรมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการปฏิบัติต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองหรือการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง และไม่ควรบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังต่อกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต โดยไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีที่ไม่สมควรแก่เหตุหรือมีความรุนแรงเกินไป เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

'ไชยามพวาน' ขออย่าเพิ่งแยกประเด็นผู้ต้องหา ม.112 ออกมาจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

นายไชยามพวาน  มั่นเพียรจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร พรรคไทยก้าวหน้า แถลงข่าวกรณีนายชูศักดิ์  ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะมีการนิรโทษกรรมการกระทำ และการแสดงออกที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง โดยจะนิรโทษกรรมคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน แต่ไม่รวมความผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว การปล่อยตัวชั่วคราว และการจัดหาทนายความให้กับผู้ต้องหา ว่า ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดคณะ กมธ.วิสามัญชุดนี้มองผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง และเหตุใดมองว่าคดีมาตรา 112 เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ไม่สามารถหยิบยกมาพิจารณาร่วมกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองได้ และเมื่อเป็นแบบนี้แล้วการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองครั้งนี้จะไม่รวมถึงผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หรือไม่ ตนตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ จึงฝาก คณะ กมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้ อย่าเพิ่งแยกประเด็นผู้ต้องหามาตรา 112 ออกมาจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และขอให้ทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้ง เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net