Skip to main content
sharethis

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประชาไทร่วมกับยูเนสโกจัดงาน “สถานการณ์เสรีภาพสื่อหลังระบอบ คสช. และก้าวต่อไปเพื่อการปกป้องคุ้มครอง” สะท้อนปัญหาเสรีภาพสื่อที่กำลังย่ำแย่ลงทั่วโลกในปีที่ผ่านมา และปัญหาการใช้กระบวนยุติธรรมเพื่อปิดปากสื่อที่กำลังเป็นเทรนด์ในเวลานี้โดยเฉพาะในไทยที่แม้จะมีกฎหมายออกมาป้องกันแต่คนในองค์กรตุลาการก็ไม่นำมาใช้

3 พ.ค.2567 ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประชาไทร่วมกับยูเนสโกจัดงาน “สถานการณ์เสรีภาพสื่อหลังระบอบ คสช. และก้าวต่อไปเพื่อการปกป้องคุ้มครอง” ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) โดยในงานจะชวนกันถกในประเด็นสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในขณะนี้ที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางกฎหมายนาการคุกคามเสรีภาพการแสดงออกหรือที่เรียกว่าการฟ้องปิดปาก Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP)

โจ ฮิโรนากะ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของยูเนสโกสำนักงานสาขากรุงเทพ เป็นผู้กล่าวเปิดงานว่าในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ทางยูเนสโกได้เน้นถึงประเด็นการคุกคามและความเสี่ยงของนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตลอด 15 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักข่าวในสายงานนี้ถูกทำร้ายมากถึง 749 คน และ 44 คนในจำนวนนี้ที่ถูกฆาตกรรมแต่มีเพียงแค่ 5 กรณีเท่านั้นที่ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด และยังมีรายงานว่าสื่อถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการเซนเซอร์ตัวเองเพราะเกรงกลัวที่ถูกโจมตี

นอกจากนั้นยังมีการฟ้องปิดปากด้วยโดยเฉพาะประเทศไทยกรณีลักษณะนี้ก็จำนวนมากขึ้นด้วยทั้งที่เป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการละเมิดสิทธิ แม้ว่าไทยเองเองจะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของสื่อมวลชนและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไว้ในรัฐธรรมนูญและไทยยังเข้าร่วมเป็นภาคีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ตาม

จอร์จิน่า ลอยด์ จาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP กล่าวว่าถึงสถานการณ์การคุกคามนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญเมื่อต้องรายงานถึงปัญหาการทำลายพื้นที่ป่า การล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย การจัดสรรทรัพยากรน้ำที่มีปัญหา และแนวหน้าในการป้องกันวิกฤติสิ่งแวดล้อมเหล่านี้กลับต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ ทั้งการฆาตกรรมที่พบว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ 2555-2565  มีนักปกป้องสิ่งแวดล้อมถึง 1,910 คนถูกฆาตกรรม การข่มขู่ต่างๆ ไปจนถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการฟ้องปิดปาก ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงในการทำงานของพวกเขา พวกเขาจึงควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพราะเราตระหนักดีข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมนั้นสำคัญต่อการผลักดันและจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้อนาคตของมนุษยชาติและโลกใบนี้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

อเล็กซานดร้า เบียลาคอฟสก้า (Aleksandra Bielakowska) ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ จาก นักข่าวไร้พรมแดน สาขาเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนใน 180 ประเทศในปีที่ผ่านมาว่าเสรีภาพของสื่อโดยเฉลี่ยทั่วโลกมีน้อยลง และยังต้องเผชิญกับปัญหาผู้เล่นทางการเมืองใช้สื่อในการละเมิดและปล่อยข้อมูลบิดเบือนโดยใช้โปรแกรมปลอมแปลงใบหน้าหรือ Deepfake ด้วย 

ตัวแทนจากนักข่าวไร้พรมแดนกล่าวถึงสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียแปซิฟิกว่าแย่ลง เนื่องจากบรรดารัฐบาลเผด็จการในประเทศแถบนี้กระชับอำนาจและเข้มงวดมากขึ้นในการจัดการข้อมูลข่าวสารและมีนักข่าวถึง 28 คนที่ถูกสังหารและเกือบครึ่งเป็นนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมในอินเดีย

 

อันนา หล่อวัฒนตระกูล ในฐานะบรรณาธิการข่าวประชาไทภาษาอังกฤษและผู้ประสานงานโครงการ PFMSea กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพนักข่าวที่ทาง PFMSea  โดยเฉพาะในไทยที่มี 46 กรณี มีการคุกคามกันทั้งทางทางกาย ดิจิทัล และกฎหมาย 

ทาง PFMSea พบว่าเฉพาะในปี 2566 การคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การคุกคามที่เกิดขึ้นจำนวนเกือบครึ่งเกิดโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกว่า 60% ยังเป็นกรณีทำร้ายร่างกายด้วยเช่นกัน จากสถิติทั้งหมดที่มีการนำเสนอไปนี้ก็จะเห็นว่าถสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมีแต่จะแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้อันนามองว่า ควรจะมีกฎหมายที่คุ้มครองสื่อแต่การออกเป็นกฎหมายมาก็มีเรื่องอาจมีประเด็นที่เป็นอันตรายอยู่เช่น การนิยามว่าใครเป็นสื่อที่ไม่ครอบคลุมพอเพราะเวลานี้ก็มีสื่ออิสระ สื่อพลเมือง ที่ไม่ใช่สื่อมวลชนในรูปแบบเดิมๆ แล้วก็อาจทำให้พวกเขาถูกกีดกันออกไป หรือการมีกลไกที่ทำให้ศาลไม่รับฟ้องคดีปิดปากอย่างเดียวก็อาจจะไม่มากพอ แต่อาจจะต้องไปที่ต้นตอของปัญหาอย่างการเอาโทษทางอาญาออกจากข้อหาหมิ่นประมาท 

อันนากล่าวว่า ไม่ควรจะต้องมีใครติดคุกเพียงแค่การพูดแสดงความเห็นหรือการรายงานข้อเท็จจริง เพราะถ้านักข่าวทำผิดก็โดนวิจารณ์อยู่แล้วหรือจะมีการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายก็เป็นขอบเขตที่ทำได้ แต่ไม่ใช่เรื่องขนาดที่จะต้องเอาใครเข้าคุก 

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล บก.หนังสือ SLAPP ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปากและยังเป็นนักข่าวประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี กล่าวถึงปัญหาในการทำงานของนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมนั้นสิ่งที่รายงานมักไปกระทบกับผลประโยชน์ของทั้งรัฐและเอกชนอยู่แล้ว และเป็นเรื่องยากที่นักข่าวเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วจะยังกล้าทำงานและติดตามประเด็นข่าวที่ทำให้ตนถูกดำเนินคดีต่อ แต่ก็ยังมีนักข่าวที่ยังต่อสู้ต่อเพื่อยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลประชาชนและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แม้ว่าในการต่อสู้คดีจนชนะคดีที่ศาลยกฟ้องแต่ก็เกิดผลกระทบกับนักข่าวทั้งเวลาที่ต้องเสียไปกับการสู้คดีและค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ฐิติพันธ์กล่าวว่านักข่าวเป็นเป้าหมายหนึ่งในการฟ้องคดีปิดปากและในสายนักข่าวสิ่งแวดล้อมก็มีธรรมชาติที่จะต้องวิจารณ์ทั้งรัฐและเอกชนไม่ว่าจะเรื่องสร้างเขื่อน เหมือง โรงไฟฟ้าหรือการบุกรุกพื้นที่ป่าจึงมีความเสี่ยง เพราะการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมแต่ละครั้งก็จะมีผู้เสียผลประโยชน์มหาศาล

ฐิติพันธ์กล่าวถึงข้อเสนอของเขาว่ามี 3 ระดับคือ นักข่าวเองก็ต้องหมั่นตรวจสอบอคติของตัวเองและไม่ละในการแสวงหาข้อเท็จจริง และกล้าไต่เส้นดันเพดานการทำงานเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ส่วนระดับ บก.ก็ต้องทำงานร่วมกันและสร้างบรรยากาศของการทำหน้าที่สื่อในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะด้วย และระดับสุดท้ายคือวงการสื่อก็ต้องช่วยกันรายงานข่าวในประเด็นต่างๆ ด้วย เพราะส่วนหนึ่งก็จะช่วยให้สื่อที่รายงานปัญหาในประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่โดดเดี่ยว

ภคมน หนุนอนันต์ สส.พรรคก้าวไกลมาในฐานะ กรรมาธิการการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าแม้การเรียกร้องเสรีภาพสื่อในเวลานี้สถานการณ์จะดีขึ้นมากกว่าช่วงปี 2553-2554 เพราะความตระหนักรู้ของประชาชน แต่ก็ยังไม่มากที่สื่อมวลชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองตัวคนเดียวได้ เพราะเมื่อเลือกจะสู้ก็จะมีปัญหาเรื่องสวัสดิภาพในการทำงานของพวกเขาถ้าสำนักข่าวต้นสังกัดไม่เอาด้วยเพราะถูกมองว่าอาจจะเกิดผลกระทบกับสำนักข่าวไปด้วย  

ภคมนจึงเสนอกับฝ่ายแรงงานของพรรคก้าวไกลถึงเรื่องกฎหมายที่จะทำให้สื่อมีสวัสดิภาพดีขึ้นในฐานะแรงงานที่หากมีการแก้ไขกฎหมายแรงงานก็ต้องให้ครอบคลุมถึงแรงงานสื่อมวลชนด้วย เพราะด้วยแรงกดดันทั้งภาระงาน ค่าแรงที่ไม่เพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน และแรงกดดันในตลาดแรงงานสื่อที่เพิ่มขึ้นทำให้คนทำงานสื่อออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้น้อยลงไปด้วย การผลักดันกฎหมายให้ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานสื่อได้ก็จะทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพในการทำงานของตนได้ไปด้วย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องสำนักข่าวในไทยไม่สามารถแยกออกจากทุนได้เด็ดขาด หากเกิดกรณีเสนอข่าวที่กระทบต่อธุรกิจของนายทุนสื่อ 

ภคมน มีข้อเสนอว่าในระดับรัฐบาลควรจะต้องแสดงท่าทีและมีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องคุ้มครองสื่อด้วยแต่ที่ผ่านมาเมื่อเรื่องสื่อถูกละเมิดถูกนำเข้าไปอภิปรายในสภา รัฐบาลกลับไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้และไม่ตอบคำถามเมื่อถูกตั้งกระทู้ถาม อย่างไรก็ตามทางพรรคก้าวไกลก็ได้ออกชุดกฎหมายในการแก้ปัญหาการฟ้องปิดปากออกมาแต่ก็คงจะต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านการพิจารณาออกมาใช้ ตอนนี้จึงอยากให้นักข่าวและสื่อสำนักต่างๆ ได้มาแสดงความคิดในเพื่อปรับแก้ร่างกฎหมายก่อนที่จะยื่นเข้าไปพิจารณาในสภาต่อไป 

สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) การถึงการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP เป็นแค่เพียงแค่หนึ่งในรูปแบบการคุกคามสื่อมวลชนเท่านั้น การใช้กฎหมายมาดำเนินคดีฟ้องปิดปากนักข่าวมักเกิดขึ้นหลังจากนักข่าวถูกคุกคามรูปแบบอื่นๆ ไปแล้วเช่นการโทรศัพท์ข่มขู่ เป็นต้น การคุกคามสื่อจึงไม่ใช่แค่แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้นแต่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายรูปแบบได้ และไม่ได้มีแค่นักข่าวแต่ยังมีคนทำงานภาคประชาสังคมหรือนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องปิดปากด้วยเช่นกัน แต่ก็มีกรณีที่ตกสำรวจด้วย เนื่องจากอาจไม่มีการฟ้องคดีเกิดขึ้นเพราะถูกขอให้ลบข่าวหรือถูกขู่จะฟ้องก็ลบข่าวไปก่อนทำให้ไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้

สัณหวรรณกล่าวด้วยว่าการฟ้องปิดปากเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ด้วยทั้งการให้กฎหมายหมิ่นประมาทมีโทษทางอาญา คดีเกี่ยวกับการบุกรุก หรือคดีแพ่ง ข้อหาเหล่านี้เปิดทางให้คนอยากฟ้องทำได้ง่าย เจ้าหน้าที่ก็จะมองแค่องค์ประกอบความผิดเมื่อเขียนกฎหมายไว้กว้างเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการได้ จึงเห็นว่าควรจะต้องแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่นการเอาโทษทางอาญาออกจากข้อหาหมิ่นประมาท เพราะลักษณะการกำหนดโทษทางอาญาให้สูงเข้าไว้โดยคิดว่าจะเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวแบบนี้ก็ขัดกับมาตรฐานสากลในการออกแบบกฎหมาย

ที่ผ่านมามีการออกฎหมายแก้ปัญหาเรื่องการฟ้องปิดปากอยู่เช่น ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 165/2  ที่ให้ศาลพิจารณาเองได้ว่าจะรับหรือไม่รับฟ้องคดีลักษณะนี้แต่ก็ไม่ถูกใช้แล้วก็เป็นมาตราที่ให้ศาลใช้ได้เท่านั้น แต่ไม่รวมคดีที่ผ่านอัยการมาทางอัยการ และยังมีประเด็นที่ผู้พิพากษามองว่ากฎหมายให้อำนาจตัวเองเยอะเกินไปก็ไม่สะดวกใจที่จะใช้ก็อยากให้มีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน แต่พอไปถึงชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วก็มีกรณีที่ศาลยกฟ้องน้อยมากเพราะกระบวนการมากขึ้นการจะงยกฟ้องยากกว่าแค่เขียนคำสั่งว่ารับหรือไม่รับฟ้อง และเมื่อเจอปัญหาเรื่องกรอบเวลาในการพิจารณาที่สั้นแล้วก็ทำให้ศาลให้ส่งคดีต่อไปชั้นพิจารณาคดีต่อไปแล้วคดีที่ถูกส่งไปก็อาจจะไปอยู่ที่ผู้พิพากษาคนอื่นต่อ

ส่วนคดีที่ไปผ่านชั้นตำรวจและอัยการ แม้จะมีกลไกให้อัยการพิจารณาไม่ฟ้องได้ในมาตรา 21 ของพ.ร.บ.อัยการ แต่ไม่ถูกเอาใช้เช่นกันเพราะนิยามของคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะก็ไม่มีเรื่องการฟ้องปิดปากเอาไว้ แต่นิยามไว้แค่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัวเท่านั้นเช่นทำให้คนในครอบครัวเสียชีวิตในอุบัติเหตุ เป็นต้น 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net