Skip to main content
sharethis

‘ศักดิ์สยาม’ มอบหมายปลัดกระทรวงคมนาคม สอบโครงการเปลี่ยนป้าย ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ มูลค่า 33 ล้าน เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ คาดรู้ผล 6 ม.ค. 2566 ด้าน ส.ส.โรม ‘ก้าวไกล’ ติง มูลค่าโครงการสะท้อนรัฐบาลใช้ภาษีเปล่าประโยชน์ 

 

สืบเนื่องจากเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อ 2 ม.ค. 2566 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (UNIQ) ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 

โดยมูลค่าโครงการดังกล่าวอยู่ที่ 33,169,726.39 บาท ซึ่งรายละเอียดของโครงการเป็นการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันวันนี้ (3 ม.ค.) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม สอบสวนว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และให้รายงานผลภายในวันที่ 6 ม.ค.นี้ 

รมว.คมนาคม ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูว่า ราคากับปริมาณงานเป็นอย่างไร เพราะเป็นป้ายทำพิเศษ ตัวหนังสือจะใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน และรวมป้ายทั้งหมดในสถานีมีหลายรายการ ส่วนที่หลายคนมองว่าราคาค่อนข้างแพง เรื่องนี้ รฟท.น่าจะมีการชี้แจงถึงการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เรื่องนี้ดำเนินการตามระเบียบ มีสำนักงานตรวจเงินแผ่งดิน (สตง.) ดังนั้น ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้แน่นอน แต่ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ดังนั้น รอการตรวจสอบให้เสร็จก่อนก็คาดว่าไม่เกินศุกร์นี้ (6 ม.ค. 2566)

เว็บไซต์ มติชน รายงานวันนี้ (3 ม.ค.) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกโรงวิจารณ์มูลค่าโครงการเปลี่ยนชื่อป้าย ราคา 33 ล้านบาทว่า ส่วนตัวไม่ทราบแพงไปหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับป้ายเช่นนี้มาก่อน แต่มองว่าการใช้เงินจำนวน 33 ล้านบาท สำหรับตนมองว่าใช้เงินไม่เป็น และยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลนี้ใช้เงินภาษีของประชาชนในหลายๆ โครงการที่เปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ควรใช้เงินภาษีของประชาชนในเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้หรือไม่ ส่วนตัวตนค่อนข้างผิดหวังที่รัฐบาลใช้เงินแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก้าวไกล

'ปธ.สหภาพรถไฟ' ยื่นหนังสือตรวจสอบ ปมเปลี่ยนป้ายโปร่งใสหรือไม่

วันเดียวกันนี้ สื่อ The Reporters รายงานว่า สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีการเปลี่ยนป้ายอักษรจากสถานนีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ราคาโครงการกว่า 33 ล้านบาท 

สราวุธ ระบุว่า ตามระเบียบราชการการประกวดราคาควรจะดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนที่หนึ่งถึงสาม คือเปิดให้บริษัทต่างๆ เข้ามาเสนอประกวดยื่นราคา และหากไม่มีบริษัทไหนเสนอราคาเข้ามาประกวด ถึงต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง แต่การรถไฟฯ ข้ามขั้นตอนไปใช้วิธีเฉพาะเจาะจงให้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ผลิตป้ายอักษรโดยทำสัญญาว่าจ้างใช้งบประมาณในการเปลี่ยนป้ายกว่า 33 ล้านบาท ซึ่งทางสหภาพฯ เห็นว่าไม่มีความจำเป็น และไม่มีความโปร่งใส เพราะหากคำนวณราคาป้ายทั้งหมดแล้วเฉลี่ยอักษรละ 568,000 กว่าบาท จึงอยากให้การรถไฟตรวจสอบว่าวิธีดำเนินการดังกล่าวถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเปลี่ยนป้ายอักษร จำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานไว้ให้มากที่สุด สรรหาบริษัทที่ใช้งบประมาณคุ้มค่าไม่ใช่ไร้คู่แข่ง 

ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ยังระบุอีกว่า บริษัทข้างต้นเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทย ที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทนี้ได้เข้ามาทำงาน และทางการรถไฟยังมีหนี้สินจำนวนมาก การใช้งบประมาณดังกล่าวจำเป็นแล้วหรือไม่ จึงอยากให้ตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด โดยนอกจากหนังสือที่ยื่นให้มีการตรวจสอบแล้ว ยังมีเอกสารการลงนามสัญญา เอกสารประกาศจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และวงเงินในการตั้งงบประมาณครั้งนี้ด้วย

รองผู้ว่าการรถไฟฯ ยันโปร่งใส เตรียมออกหนังสือชี้แจง

ด้านสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และปฎิบัติการภารกิจรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการบริษัทรถไฟฟ้าลงมารับหนังสือ และระบุว่า กระบวนการดังกล่าวมีคณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมด โดยยืนยันว่าเป็นการคัดเลือกที่ถูกต้องโปร่งใส ซึ่งราคาดังกล่าว ต้องดูที่ขนาดตัวอักษร การปรับปรุงในครั้งนี้ต้องเปลี่ยนแกนโครงสร้างในการรองรับป้ายใหม่ กระจกบริเวณที่ติดป้าย รวมถึงค่าใช้จ่ายการถอดถอนและติดตั้งใหม่ด้วย และยืนยันว่าไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับใคร ส่วนหลักการและเหตุผลจะมีหนังสือชี้แจงอีกครั้งจากทาง รฟท. คาดว่าจะมีการเผยแพร่ภายในวันนี้ พร้อมเชื่อว่าหากสังคมได้เห็นเอกสารและได้รับฟังเหตุผลจะเข้าใจในราคาที่เปลี่ยนอักษรในวงเงิน 33 ล้านบาท

สำหรับการเปลี่ยนสถานีกลางบางซื่อนั้น มีรายงานในเว็บไซต์ ‘รัฐบาลไทย’ เมื่อ 1 ต.ค. 2565 ระบุว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นผู้ทูลเกล้าขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ จากรัชกาลที่ 10 ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ในเวลาต่อมา มีหนังสือแจ้งกลับมาที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร’ นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานชื่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี” และโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า "ธานีรัถยา"

'การรถไฟ' ชี้แจงละเอียดยิบ ชี้งานด่วน เลยต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบจำเพาะเจาะจง

ต่อมา เมื่อเวลา 17.08 น. เฟซบุ๊กเพจ 'สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ Krung Thep Aphiwat Central Terminal' โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ดังนี้

รายละเอียดโพสต์

การรถไฟฯ ชี้แจง "โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย" ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ และความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ

ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโครงสร้างภายในสถานี ประชาชนผู้ใช้บริการ และเหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่สำคัญของภูมิภาคเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในส่วนการกำหนดราคากลาง การรถไฟฯ ได้มีการดำเนินการ ผ่านการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง ตามคำสั่งเฉพาะที่ ก.812/2565 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 โดยมีการพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่างๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท ซึ่งยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้กำหนดไว้ว่า จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการสำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ การรถไฟฯก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย

สำหรับเหตุผลที่การรถไฟฯ ต้องมีการเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เนื่องจากโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วนจึงต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

ขณะที่กระบวนการกำหนดขอบเขตงาน ทางคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้มีการกำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด ซึ่งมีขอบเขตงานทั้งหมด ประกอบด้วย

งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม งานรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม ทั้งในส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานรื้อผนังกระจกและโครงกระจกอลูมิเนียมเดิม งานรื้อระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายเดิม งานผลิตและติดตั้งโครงเหล็กยึดตัวอักษรใหม่ต่อเติมตามความยาวป้ายที่เพิ่มขึ้น

งานส่วนที่ 2 งานผลิตป้ายใหม่ งานติดตั้งแผ่นกระจกและโครงกระจกอลูมิเนียมใหม่ และงานประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ และงานติดตั้งป้ายชื่อใหม่ และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1

งานส่วนที่ 3 งานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)

นอกจากนี้ ในการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานีจำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรตัวสระภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ

ส่วนรายละเอียดของอักษรป้ายชื่อที่ขอพระราชทาน ในส่วนที่เป็นชื่ออักษรภาษาไทย มีความสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะครีลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า 10 มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า

"โดยเฉพาะการรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) รวมถึงงานรื้อผนังกระจก (เดิม) และการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) รวมถึงงานติดตั้งผนังกระจก (ใหม่) ดำเนินการด้วย การติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว 6 เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน 4 กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า 7 ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ"

ขณะเดียวกัน ผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน (5 เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน) โดยเมื่อเริ่มงานผู้รับจ้างต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อขออนุมัติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยในแผนงานต้องระบุงานติดตั้งเฉพาะงานโครงป้ายตัวอักษร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ด้านของอาคารสถานี พร้อมติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และต้องดำเนินงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดจนถึงครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา 150 วัน

ท้ายนี้ การรถไฟฯ จึงขอให้ความมั่นใจว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการ พร้อมกับได้คำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศ และภูมิภาคต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net