Skip to main content
sharethis

คุยกับ 2 นักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่อย่าง 'ตี้ พะเยา' และ 'แบม' พร้อมด้วยสื่ออิสระ 'สาวนุ้ย' เมื่อพวกเขาตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง และต้องติดกำไล EM เพื่อแลกกับอิสรภาพครึ่งๆ กลางๆ อะไรคือราคาที่ต้องจ่ายในชีวิตประจำวัน และแต่ละคนมีวิธีคิดเพื่อปรับตัวกับชีวิต 'กึ่งอิสรภาพ กึ่งพันธนาการ' นี้อย่างไร

  • นักกิจกรรมบางรายยินยอมใส่กำไล EM เพราะไม่มีทางเลือก ถ้าต้องการได้ประกันตัว และนักกิจกรรมมองว่าอย่างน้อย การใส่กำไล EM ทำให้เขาได้พบหน้าครอบครัวและคนที่เขารัก รวมถึงได้ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนน เพื่อประเทศ และเพื่อคนที่ยังต่อสู้ในเรือนจำ
  • นักกิจกรรมบางรายถูกที่ทำงานปฏิเสธไม่ให้ทำงานต่อ จนกว่าจะถอดกำไล EM ด้าน 'ตี้ พะเยา' เผยต้องคอยปกปิดกำไล EM ไว้ เพื่อไม่ให้มีผลต่อการพิจารณารับเข้าทำงาน และเวลาไปทำงานต้องคอยพกพาวเวอร์แบงก์ไปชาร์จกำไลตลอดเวลา
  • หากนักกิจกรรมเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป จะพบเจ้าหน้าที่คอยติดตาม เช็กความเคลื่อนไหว นอกจากนี้ นักกิจกรรมมีความกังวลว่าถ้าไปบ้านของญาติ หรือมิตรสหาย อาจทำให้พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม
  • ประชาชนบางส่วนมองว่า รัฐไม่ได้ต้องการป้องกันไม่ให้นักกิจกรรมหลบหนี หรือไม่ให้ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน แต่ต้องการเช็กความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม พร้อมเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยมีเงื่อนไขอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องติด EM

กำไล EM หรือที่นักกิจกรรมการเมืองเรียกชื่อเล่นว่า ‘โซ่ตรวนดิจิทัล’ เริ่มนำเข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการเมื่อ มี.ค. 2561 เพื่อเป็น ‘ทางเลือก’ ให้จำเลย หรือผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดี สามารถใช้ชีวิตภายนอกโดยติดกำไล EM แทนการคุมขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักทรัพย์จำนวนมาก เข้าถึงสิทธิประกันตัว และลดความแออัดในเรือนจำ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า กำไล EM ถูกใส่มาเป็นเงื่อนไขประกันตัวนักกิจกรรมการเมืองจำนวนมาก เพื่อตรวจตรา ติดตามตำแหน่ง และจำกัดการเดินทางนักกิจกรรม ซึ่งศาลมักอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาที่มีอัตราโทษสูงเดินทางหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐาน 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า ระหว่าง ช่วงปี 2561- 9 เม.ย. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมืองต้องใส่โซ่ตรวนดิจิทัล อย่างน้อย 61 ราย และใส่ยาวจนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย.) จำนวน 38 คน โดยประชาชนที่ถูกศาลสั่งใส่กำไล EM มากที่สุดคือถูกดำเนินคดี ม.112 

อุปกรณ์กำไล EM หรือที่นักกิจกรรมเรียกว่า 'โซ่ตรวนดิจิทัล'

iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ระบุว่า กำไล EM ซึ่งหน้าตาละหม้ายคล้ายนาฬิกาข้อมือ แต่ติดบริเวณข้อเท้านี้ สร้างปัญหาให้กับนักกิจกรรมต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างลำบาก และต้องคอยถูกตรวจตราจากรัฐ จน iLaw นิยามชีวิตนักกิจกรรมว่าเป็น 'ชีวิตกึ่งอิสรภาพ' 

จากผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้านทำให้ 28 ส.ค. 2565 กลุ่มมวลชนอิสระ ร่วมกันเดินรณรงค์ในกิจกรรม ชื่อ ‘Let’s Unlock EN’ หรือปลดมันออกไป เดินจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ไปสิ้นสุดที่สยามสแควส์ เรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM ให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข 

ในวันดังกล่าว มีประชาชนและนักกิจกรรมที่ต้องใส่กำไล EM มาร่วมเดินรณรงค์ด้วย ได้แก่ ตี้ พะเยา' วรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรมรุ่นใหม่วัย 21 ปี แบม (นามสมมติ) มวลชนอิสระวัย 23 ปี และสาวนุ้ย สื่ออิสระจากช่องยูทูบ 'ศักดินาเสื้อแดง' มาร่วมเรียกร้องด้วย  

ประชาไท จึงชวนทั้ง 3 คนมาร่วมคุยว่า แต่ละคนได้รับผลกระทบจากการใส่กำไล EM ทั้งในมิติของการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การอยู่ร่วมในสังคม และอื่นๆ รูปแบบใดบ้าง การปรับตัวต่อชีวิต 'กึ่งอิสรภาพ กึ่งพันธนาการ' และสุดท้าย สารที่อยากส่งถึงกระบวนการยุติธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ทางเลือก’ ที่ ‘ไม่มีทางเลือก’-การใส่กำไล EM ที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก

iLaw ระบุว่า ศาลมีทางเลือกที่จะตั้งเงื่อนไขอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยใส่กำไล EM เมื่อพิจารณาแล้วไม่มั่นใจว่า ‘จำเลยจะหลบหนีหรือไม่’ ซึ่งการใส่หรือไม่ใส่อุปกรณ์นี้จำเลยไม่มีสิทธิเลือก เป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดว่าจะให้ใส่หรือไม่ใส่กำไล EM ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคสาม มีข้อความดังนี้
 
"ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น" 

ตี้ พะเยา  นักกิจกรรมรุ่นใหม่ กล่าวปราศรัยในกิจกรรมเดินรณรงค์ “Let’s Unlock EM” ว่า นักกิจกรรมหลายคนยินยอมรับเงื่อนไขการประกันตัวโดยใส่กำไล EM เหตุจาก ‘ไม่มีทางเลือก’ ถ้าไม่ใส่กำไล EM ก็ต้องติดเรือนจำ

แต่นักกิจกรรมมองว่า การได้ออกมาข้างนอก ทำให้เขาได้ออกมาช่วยเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนภายนอกได้ ได้เคลื่อนไหวเพื่อคนที่อยู่ด้านในเรือนจำ และได้ออกมาพบหน้าครอบครับบุคคลที่รัก

เธอยังกล่าวด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมทำนักกิจกรรมเปรียบเสมือนเป็นนักโทษ และภัยต่อความมั่นคง เพื่อเป็นเหตุผลให้เพิ่มบทลงโทษ และมาตรการควบคุมให้รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การใส่กำไล EM การฝากขัง และการห้ามออกนอกประเทศ แต่อย่าไรก็ตาม ตี้ มองว่ามันจะไม่สามารถหยุดยั้งประชาชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประเทศที่ดีขึ้นได้
 
ด้านมิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ กล่าวปราศรัยในกิจกรรมเดียวกันว่า สำหรับเธอ ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองไม่ควรถูกดำเนินคดีและใส่กำไล EM ตั้งแต่แรกเริ่ม 

ชีวิตติด EM ที่นายจ้างไม่อยากรับเข้าทำงาน

กำไล EM น้ำหนักราว 300 กรัมที่ติดที่ข้อเท้า แต่ผลกระทบต่อชีวิตอาจหนักหนากว่านั้นเมื่อต้องใส่โซ่ตรวนนี้ 24 ชม. สำหรับตี้ พะเยา บนหน้าสื่อเธอคือนักกิจกรรมการเมืองขาลุย แต่อีกด้านหนึ่งคือนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยรามคำแหง คู่ขนานกับการทำงานพาร์ตไทม์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพงให้ทางบ้าน

ตี้ พะเยา หรือ วรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรมรุ่นใหม่

ตี้ เป็น ‘วัยรุ่น EM’ ครั้งแรกเมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการให้ประกันตัวจากคดี ม.112 ปราศรัยในกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” เมื่อ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณพื้นที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน โดยไม่มีเงื่อนเวลาให้อยู่ในเคหสถาน

ชีวิตวัยรุ่น EM สิริรวม 1 เดือนกับอีก 5 วันไม่ง่ายนัก เมื่อตี้ ระบุว่า เวลาสมัครทำงานพาร์ตไทม์ เธอต้องพยายามปกปิดกำไล EM ไม่ให้คนอื่นมองเห็น เพื่อไม่ให้มีผลต่อการพิจารณารับเข้าทำงาน

"เวลาเราไปสมัครงานมาหลายที่ เวลาเราจะออกบูธเราก็ต้องไปสัมภาษณ์ในแต่ละบริษัท เราต้องใส่กางเกงขายาว และก็อย่าให้เขาเห็น EM เรา เพราะเมื่อใดที่เขาเห็น EM เขาจะเริ่มตั้งแง่แล้วว่าจะรับมันดีไหม เพราะเขามีตัวเลือกมากมาย มีคนมาสมัครเป็นร้อย ไอ้นี่มันมีปัญหา อาจจะทำให้เขาเดือดร้อน เขาก็เลือกที่จะไม่รับเราก็ได้ เขาเป็นคนเลือก ไม่ใช่เราเลือก" ตี้ พะเยา กล่าว

ตี้ กล่าวต่อว่า ระหว่างทำงาน เธอต้องพกพาวเวอร์แบงก์ เพื่อมาคอยชาร์จแบตเตอรีกำไล EM ไม่ให้เหลือต่ำกว่า 19% มิเช่นนั้นเจ้ากำไลตัวนี้จะส่งเสียงดังกึกก้องภายในที่ทำงานที่เธอทำ และอาจกระทบต่อการจ้างงานของเธอภายหลัง

ขณะที่ ‘แบม’ เล่าให้ฟังว่า เธอถูกศาลสั่งให้ใส่กำไล EM หลังได้รับประกันตัว สืบเนื่องจากการติดสติกเกอร์ทำโพล ‘ขบวนเสด็จ’ ของกลุ่มทะลุวัง ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อ ก.พ. 2565 จนถึงวันนี้ เธอต้องสวมกำไล EM มานานกว่าครึ่งปีแล้ว 

แบม มวลชนอิสระ วัย 23 ปี

แบม ระบุว่า ผู้ว่าจ้างของแบม ให้เธอออกจากงาน พร้อมกับบอกว่าให้ไปถอดกำไล EM ก่อน ค่อยกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง 

"ฉันกลายเป็นคนว่างงาน ฉันโดนตีตราจากสังคมว่าฉันเป็นนักโทษ และเป็นเรื่องน่าอับอายที่จะรับฉันเข้าทำงาน ฉันเป็นแผลที่ข้อเท้า เวลาเดินหรือวิ่งฉันเป็นแผลที่ข้อเท้า กลายเป็นความเครียดสะสมที่จะต้องรับมือสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว" ข้อความบนป้ายที่แบม แขวนระหว่างเดินทำกิจกรรม 'Let's Unlock EM' เมื่อ 28 ส.ค. 2565

 

บาดแผลจากการใส่กำไล EM

ตี้ ระบุว่า เนื่องด้วยนิสัยของเธอเป็นชอบความโลดโผน และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่ง ซิตอัป หรือวิดพื้น ทำให้กำไล EM ที่ใส่อยู่บริเวณข้อเท้า มักจะกระแทกตาตุ่มเวลาออกกำลังกาย ทำให้เธอรู้สึกเจ็บ และมองว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้น

กังวลรัฐคุกคามคนรอบตัว

ตี้ พะเยา ระบุว่า การติดกำไล EM ทำให้เธอค่อนข้างเป็นห่วงความเป็นส่วนตัวของคนรอบตัว เหตุว่าเวลาเธอเดินทางไปบ้านเพื่อน ก็หวาดระแวงว่าจะมีสายสืบตามไปบ้านเพื่อนของเธอไหม

“มากรุงเทพฯ และก็มีเจ้าหน้าที่ที่จังหวัดพะเยาไปถามเพื่อนหนูที่อยู่คณะใน ม.พะเยา เขาไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองกับเราขนาดนั้น ซึ่งมันคือการคุกคาม เราไม่ได้อยากให้คนรอบตัวโดนคุกคาม เราก็เลยไม่อยากให้ใครไปรู้พิกัดเพื่อนเราด้วย แต่การที่เราไป เหมือนกับเราเอาเครื่องติดตามไปบอกพิกัดของเพื่อนเรา อันนี้ก็คือส่วนที่กระทบ ก็คือเรื่องของ private ความเป็นส่วนตัว” ตี้ กล่าว

ตี้ กล่าวต่อว่า เพื่อนหลายคนส่วนใหญ่เข้าใจในตัวเธอและรู้สึกเป็นห่วง ขณะที่หลายคนในสังคมอาจไม่เข้าใจ และหวาดกลัวว่าพวกเขาจะมาโดนคดีไปด้วยหรือไม่หากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเธอ ซึ่งตี้ กล่าวว่าเธอเข้าใจเรื่องนี้ดี

สาวนุ้ย สื่ออิสระช่องยูทูบ ‘ศักดินาเสื้อแดง’ เป็นอีกคนที่ถูกศาลสั่งให้ใส่กำไล EM หลังได้รับการประกันตัวจากการไลฟ์สดกิจกรรมทำโพล ‘ขบวนเสด็จ’ ของกลุ่มทะลุวัง เมื่อต้นปีนี้ 

'สาวนุ้ย' สื่ออิสระช่องยูทูบ 'ศักดินาเสื้อแดง'

สาวนุ้ย ใส่โซ่ตรวนดิจิทัลมาเกือบ 6 เดือนแล้ว ซึ่งเธอเองก็รู้สึกถึงปัญหาการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลเช่นเดียวกัน โดยเธอเล่าให้ฟังว่า เวลาอยู่กับคนรักเธอมีความกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะไปตามหา หรือช่วงหลังเธอเลือกที่จะไม่กลับบ้านเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช เพราะต้องการเลี่ยงตอบคำถามจากญาติและครอบครัว

ไปที่แปลก เตรียมเจอเจ้าหน้าที่

การใช้กำไล EM เป็นเครื่องมือที่ป้องกันไม่ให้ผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลบหนีและสร้างความเสียแก่สังคม แต่ในมุมมองของสาวนุ้ย เธอรู้สึกว่า กำไล EM เป็นโซ่ตรวนพันธนาการควบคุมนักกิจกรรมเท่านั้น เพื่อให้ทราบตำแหน่งว่านักกิจกรรมการเมืองตอนนี้อยู่ไหน และทำอะไรอยู่

นอกจากนี้ ตี้ บอกว่า เจ้าหน้าที่จะมาตามหาเธอทุกครั้งที่ไปสถานที่ที่เธอไม่เคยมาก่อน แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ 

“พอเราไปสถานที่แปลกๆ เราจะเริ่มเห็นหัวเกรียน คนใส่หมวกแก๊ป ซึ่งหลายคนที่เป็นสลิ่มจะบอกว่า น้องตี้มโนรึเปล่า… เราจะดูออกว่าการฝึกฝนของเขามันทำให้ลักษณะท่าทางการเดิน กิริยาใดๆ ก็ตาม มันแตกต่างจากคนทั่วไป… เขาเดินในคนหมู่มากเขาจะสง่ามาเลย สืบแน่นอน” 

“เวลาเราขี่มอเตอร์ไซค์ และ EM แบตฯ หมดระหว่างทาง หรือเรากำลังจะข้ามจังหวัด หนูขี่มอเตอร์ไซค์กลับราชบุรีตลอด… กลับไปหาที่บ้าน เราจะเห็นแล้วว่ามีคนหัวเกรียนๆ ขี่เข้ามาทางนี้ ซึ่งเส้นทางเป็นเส้นทางเปลี่ยวที่รถจะไม่ค่อยผ่าน เราก็จะรู้แล้วว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ ลักษณะท่าทางอาจจะไม่ใช่คนที่มาแถวนี้บ่อย” ตี้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ให้ฟัง

ตี้ ยกกรณีของ ‘ตะวัน’ ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมจากมังกรปฏิวัติ เพื่อให้เห็นภาพด้วยว่า กรณีของตะวัน จะต้องขอศาลอนุญาตไปเรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจะมีทางศาลกำหนดเลยว่า ตะวันต้องอยู่สถานที่นี้ เป็นเวลากี่โมงบ้าง ซึ่งหากออกนอกเส้นทางเมื่อไร จะมีเจ้าหน้าที่ศาลโทรตามว่าทำไมไม่อยู่ในบริเวณที่อนุญาต แม้ว่าเธออยู่ห่างจากพื้นที่ที่กำหนดไว้เพียงไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น

'ตะวัน' ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่ม 'มังกรปฏิวัติ'

‘ยังไม่ตัดสินว่าผิด ไม่หลบหนี ไม่ยุ่งกับพยาน ไม่น่าต้องใส่ EM’

ศาลมักระบุเหตุผลในการติดกำไล EM ให้นักกิจกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี และไปยุ่งกับพยานหลักฐาน แต่ในมุมมองของวัยรุ่น EM อย่างตี้ มองว่ารัฐอาจต้องพิจารณาความสมเหตุสมผลประกอบด้วย เช่น นักกิจกรรมมีท่าทีจะหนีจริงไหม หรือมีท่าทีจะยุ่งกับพยานหลักฐานจริงหรือไม่ 

ตี้ ยกกรณีที่ศาลชอบอ้างว่า หากปล่อยสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊สแล้ว มีความกังวลว่าจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน เธอตั้งคำถามว่าสมาชิกทะลุแก๊สจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานได้อย่างไร เมื่อหลักฐานที่ตำรวจนำมาใช้ บ่อยครั้งมาจากไลฟ์ถ่ายทอดสดของเด็กจากกลุ่มทะลุแก๊สด้วยกันเอง หรือกล้อง CCTV ของตำรวจ จึงไม่น่าจะสมเหตุสมผลว่า สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊สจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานได้

"คุณคิดว่าน้องมันจะมีอำนาจอะไรเข้าไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเก็บหลักฐานแล้วไปไล่ลบเหรอ มีอำนาจขนาดนั้นเลยเหรอ ถ้าน้องมีอำนาจได้ขนาดนี้ หนูคิดว่าน้องก็คงไม่ต้องออกมาสู้เอาชีวิตตัวเองแลกแล้ว น้องก็คงทำอะไรที่มันได้ผลมากกว่านี้ เอาประยุทธ์ลงดีกว่า" ตี้ ยกตัวอย่าง 

‘แต๊ก’ (สงวนชื่อ-นามสกุล) มวลชนอิสระ เขามาร่วมจัดทำโพล 'ผู้เห็นต่างทางการเมือง ควรติด EM หรือไม่' ในม็อบ28สิงหา65 พร้อมให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า การติดกำไล EM จะใช้กับคดีที่มีการตัดสินโทษแล้ว หมายความว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว และกำลังรอพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งนักโทษจะอยู่ที่บ้านได้โดยใส่กำไล EM

'แต๊ก' มวลชนอิสระ

แต่บ่อยครั้งกลับพบว่า นักโทษทางการเมืองแค่เป็นผู้ต้องหาด้วยซ้ำ ไม่มีการพิพากษาลงโทษใดๆ แต่ศาลก็จะมีคำสั่งให้ติดกำไล EM ทั้งๆ ที่เงื่อนไขของ EM ที่ให้ติดระบุว่า เราจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่หลบหนี ถ้าไม่ติด 2 เงื่อนไขนี้ไม่ควรติดกำไล EM แล้วด้วยซ้ำ ควรให้ประกันได้เลย 

"แต่กรณีนี้พอเป็นเรื่องการเมือง ก็คือจะให้ติด EM เพื่อควบคุม เพื่อดูว่าผู้ต้องหานักกิจกรรมแต่ละคน ว่าไปไหนบ้าง" แต๊ก ระบุ

นักโทษการเมืองติด EM ไม่ใช่อาชญากร

วรรณวลี ระบุว่าไม่ใช่ทุกคนในสังคมจะเข้าใจว่าคนใส่ EM บางคนเป็นนักโทษการเมือง และได้รับการพิจารณาคดีอย่างไม่ยุติธรรม บางคนมักตีตราไปล่วงหน้าว่าเขาหรือเธอที่ต้องสวม EM เป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ตี้ มองว่า เธอมองการติดโซ่ตรวนอิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสกระจายความอยุติธรรมของรัฐต่อประชาชนเป็นวงกว้างมากขึ้น

“เราไม่ใช่อาชญากร เพราะว่าเราออกมาต่อสู้ด้านการเมืองเพื่อประเทศให้ดีขึ้น เวลาคนมองเรา เราจะดีใจซะด้วยซ้ำ ถ้าเขามองและเขาเข้ามาถามว่า ‘ติดอะไร’ เราก็จะได้อธิบายว่าเราโดนแบบนี้ๆ นะ คือมันเป็นการกระจายออกไป” ตี้ กล่าว 

เมื่อถามถึงวิธีในการรับมือผลกระทบจากกำไล EM แต่ละคนมีวิธีรับมือในเส้นทางที่แตกต่าง สื่ออิสระ ‘ศักดินาเสื้อแดง’ อย่างสาวนุ้ย จะบอกกับคนที่มาไต่ถามถึงกำไลดิจิทัลโดยการพูดติดตลกว่า กำไลนี้เป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงดิจิทัล ให้นึกถึง ‘ทามาก็อต’ ซึ่งมีแต่คนพิเศษเท่านั้นที่ได้เลี้ยง หรือการบอกว่าสามีให้ติดกำไลติดตามตัวเธอ อย่างไรก็ตาม สาวนุ้ย ยอมรับว่า ‘ในลึกๆ ไม่อยากใส่’

ขณะที่แบม พยายามทำตัวให้ชินกับการใช้ชีวิตติดกำไล EM แต่เธอยอมรับว่าไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม 

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อไต่ถามถึงข้อความที่อยากส่งสารถึงกระบวนการยุติธรรม แต๊ก ขอเรียกร้องให้ทางราชการเคร่งครัดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุชัดว่าถ้าผู้ต้องหาไม่พยายามหลบหนี หรือไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน สามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยมีเงื่อนไขอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องติด EM

แบม อยากเชิญชวนประชาชนออกมาร่วมเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม และเธอเชื่อว่าถ้าคนทั่วประเทศลุกขึ้นมาพูดพร้อมกันไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้

"ถ้าทุกคนร่วมกันพูด สมมติประเทศนี้มี 70 ล้านคน ถ้าทุก 70 ล้านคนพูดถึงกระบวนการยุติธรรม และพูดถึงการเมืองทุกๆ วัน ส่วนตัวเราคิดว่า แน่นอนในฟีด ในโลกออนไลน์ ไม่ต้องตามท้องถนนหรอก มันจะเป็นกระแส แล้วทุกคนจะได้เห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคน" แบม ทิ้งท้าย  

ป้ายของประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมปลดกำไล EM เมื่อ 28 ส.ค. 2565

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net