Skip to main content
sharethis

NACLA สื่อด้านละตินอเมริกา รายงานว่า แรงงานข้ามชาติชาวนิคารากัวกำลังเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากคอสตาริกามากขึ้น หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นในกลุ่มแรงงานภาคการเกษตร ใกล้ชายแดนทางตอนเหนือของคอสตาริกา แม้ทางการจะสั่งปิดสถานที่ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข แต่ชาวคอสตาริกาภาคส่วนต่างๆ กลับโทษว่าเป็นเพราะกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากนิคารากัวที่ทำให้เกิดโรคระบาด

เรื่องนี้เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. หลังเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขคอสตาริกาส่งทีมจัดการโรคระบาดไปยังพื้นที่เกษตรกรรมทางตอนเหนือของประเทศ พบแรงงานอย่างน้อย 21 ราย ที่ผลทดสอบเชื้อโคโรนาไวรัสบวก

แม้ละตินอเมริกากลายเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คอสตาริกาได้รับคำชื่นชมว่าประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคระบาด อย่างไรก็ตาม เกิดการระบาดระลอกสอง เมื่อคอสตาริกาเปิดให้มีการผ่อนคลายระยะที่ 3 แรกเริ่มไวรัสระบาดอยู่ในภาคเกษตรกรรมและการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวนิคารากัว

เมื่อศูนย์กลางการแพร่ระบาดเปลี่ยนเข้าสู่เมืองใหญ่รอบเมืองหลวง ทางการมุ่งตรวจสอบไปยังที่พักอาศัยแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากสงสัยว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ตำรวจล้อมรั้วที่พักอาศัยเหล่านั้นโดยไม่ให้ผู้พักอาศัยเดินทางออกไปข้างนอก การกระทำของทางการบวกกับการที่สื่อใช้วิธีรายงานข่าวแบบสร้างแพะรับบาปให้กับแรงงานข้ามชาติยิ่งจุดชนวนให้เกิดการเกลียดกลัวผู้อพยพอย่างไม่มีเหตุผล และยิ่งตอกย้ำความเป็นคนชายขอบของพวกเขาในทางประวัติศาสตร์

อดิเลีย โซลิส  ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อสิทธิทางสังคมของผู้อพยพที่ซานโฮเซ (เซนเดรอส) เชื่อว่า การรายงานข่าวที่ไม่ได้สัดส่วนเกี่ยวกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพชาวนิคารากัวในช่วงการระบาดหนัก เช่น ภาพรองประธานาธิบดี เอ็บซี แคมป์เบลล์ ที่ชายแดน ก็กลายเป็นชนวนให้เกิดเรื่องเล่าว่าชาวนิคารากัวเป็นแหล่งแพร่เชื้อหลัก

ด้านโคเอน วูเรนด์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยแห่งคอสตาริกา เห็นว่า สื่อละเลยบริบทอื่นในการรายงานเรื่องการระบาด โดยเฉพาะเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ไม่อนุญาตให้มีการเว้นระยะห่างมากนัก วูเรนต์ยังวิจารณ์สื่อในคอสตาริกาอีกว่า ไม่ได้นำเสนอมุมมองที่สมดุลมากพอ

ผู้อพยพชาวนิคารากัวคิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรผู้อพยพในคอสตาริกา เมื่อประกอบกับการต่อสู้แย่งชิงดินแดนในอดีต ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้ผู้อพยพต้องเผชิญกับความเกลียดชังและเลือกปฏิบัติจากคนท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลนิคารากัวเองก็โต้ตอบสถานการณ์โรคระบาดได้ไม่ดีพอ เมื่อเกิดการอพยพไปสู่คอสตาริกาเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพในคอสตาริกาเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่มีการประท้วงรัฐบาลดานิเอล ออร์เตกาในปี 2561 ก็มีผู้ขอลี้ภัยชาวนิคารากัวเดินทางเข้าคอสตาริการาว 77,000 ราย

กระแสการเหยียดผู้อพยพชาวนิคารากัวส่วนหนึ่ง มาจากการที่ชาวคอสตาริกามองว่าตัวเองคล้ายกับคนขาวที่มีประชาธิปไตยมั่นคงและมีชนชั้นกลางที่มั่งคั่ง ต่างจากประเทศที่ภาพลักษณ์ "เต็มไปด้วยความขัดแย้ง" และมีผิวสีเข้มกว่า นักวิชาการชี้ว่า สาเหตุใหญ่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มาจากการที่คอสตาริกาเองมีนโยบายรัดเข็มขัดตัดงบประมาณรัฐ ทำให้ระบบสวัสดิการแย่ลง แต่แทนที่จะโทษระบบโครงสร้างประเทศตัวเองพวกเขากลับโทษผู้อพยพที่มาจากนิคารากัวแทน

เรียบเรียงจาก

Costa Rica’s Covid-19 Response Scapegoats Nicaraguan Migrants, NACLA, 14-07-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net