Skip to main content
sharethis

กรมการแพทย์ระบุผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มจำนวน แต่ยังควบคุมสถานการณ์ได้ พร้อมรับมือและยืนยันเตียงผู้ป่วยมีเพียงพอ แนะประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรง หลังพบผู้เสียชีวิตสัปดาห์ที่ผ่านมา 90% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์

27 พ.ค. 2566 เว็บไซต์กรมการแพทย์ รายงานว่านายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม และเริ่มมีฝนตก ทำให้เกิดการระบาดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือการเล็กน้อย โดยจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน มีส่วนหนึ่งที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่คลินิกทางเดินหายใจ ARI ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายโรงพยาบาลได้ปรับโดยขยายระยะเวลาบริการเป็นนอกเวลาด้วย รวมถึงคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ห้องฉุกเฉิน โดยมีการแยกโรคเพื่อความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความคับคั่ง และจัดการให้รับยาแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้ Telemedicine ไม่ต้องมาตรวจที่โพยาบาล ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยในที่นอนมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเปรียบเทียบก็ยังน้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้ 

กรณีที่มีข่าวว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเต็ม เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งจะมีเตียงผู้ป่วยโควิดอยู่จำกัดและได้มีการปรับเตียงไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์จริงกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันโรคทรวงอก พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงได้ดี โดยเดิมเคยมีศักยภาพเตียงจำนวนมาก ซึ่งได้ปรับไปดูแลผู้ป่วยหนักโรคอื่นแล้ว ให้กลับมารับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นสาเหตุจากมีโรคร่วม และจัดอัตรากำลังพยาบาลตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะขยายเตียงได้เพิ่มขึ้นอีกทั้ง ICU และเตียงผู้ป่วยหนักระดับอื่น จึงไม่มีข้อกังวลที่น่าเป็นห่วง ขอแนะนำว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเข้มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด 19 ที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่งเพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้อย่างดี โดยเราจะเห็นว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 90% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบทั้งนั้น

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเตียงทั้งหมดในประเทศพบว่า ขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสม 2,527 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 22.41 แบ่งเป็น กลุ่มไม่มีอาการ 240 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.7 กลุ่มอาการน้อย 687 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.8 กลุ่มอาการปานกลาง 1,146 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.30 กลุ่มอาการหนัก 402 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.2 และกลุ่มที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 278 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.2 ดังนั้น กรมการแพทย์ขอเน้นย้ำว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังคงมีเตียงรับผู้ป่วยโควิด 19 รวมทั้งยา และเวชภัณฑ์เพียงพอ อีกทั้งยังสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ได้ตามปกติ โดยทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมการแพทย์และเครือข่ายมีการบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยหนักร่วมกันได้ถ้าจำเป็นต้องส่งรักษาต่อ อนึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ถ้าหากมีอาการแต่ตรวจ ATK ไม่พบ อาจสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่มาก ก็สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ไม่ต้องไป รพ. แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการวินิจฉัย

“ศิริราชฯ” แจ้งเตียงเต็ม รับเพิ่มไม่ได้แล้ว "นพ.ธีระ" เตือนป้องกันตัวเข้ม

Thai PBS รายงานว่าวันที่ 26 พ.ค.2566 เพจโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ โพสต์ข้อความระบุว่า เรียน ผู้รับบริการทุกท่านขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19 เต็มทุกห้องทั้งนี้ แผนกฉุกเฉิน (ER) ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่รอการส่งต่อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มได้ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า อัพเดตโควิด-19 

1.สัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกา Omicron XBB.1.5 ยังครองอยู่ 53.8 % แต่ลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่ XBB.1.16 เพิ่มต่อเนื่องเช่นกัน เป็น 15.1% เช่นเดียวกับ XBB.1.9.1 และ XBB.1.9.2 ตามมาที่ 11.8% และ 6.1% ตามลำดับ

2.ประชุมวิชาการ ไม่ป้องกันตัว ติดกันเพียบ หากจำกันได้ เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา เคยมีข่าว US CDC จัดประชุมวิชาการในหมู่บุคลากรทางสาธารณสุข ที่ทำงานด้านการเฝ้าระวังโรคระบาด และศิษย์เก่า จำนวนกว่า 1,800 คน และมีการระบาดของโควิด-19

ล่าสุดข่าวออกมาว่า มีถึงอย่างน้อย 181 คนที่ติดเชื้อไปจากการประชุมนี้ บทเรียนนี้สอนให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปในที่ที่มีคนมาก แออัด มีกิจกรรมที่คลุกคลีใกล้ชิด

โควิด-19 เป็นโรคติดต่อ ไม่เว้นว่าคุณจะเป็นใคร โรคติดต่อ...ป้องกันได้ ถ้ารู้จักป้องกันตัว ไม่ประมาท สถานการณ์ไทยเรา ติดและป่วยกันเยอะมาก โควิด...ไม่กระจอก ไม่ใช่หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ติด...ไม่จบแค่ชิล ๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงถึงตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

เตือนดังๆ ว่า โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่ท่องเที่ยว ทั้งคนทำงาน และคนที่ไปใช้บริการ ควรใส่หน้ากากอย่างเคร่งครัด

ข้ออ้างไม่ใส่หน้ากากเพราะต้องการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั้น เป็น “ตรรกะวิบัติ” เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ควรเป็นไปอย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

การบริการของกิจการที่มีคนทำงานไม่ป้องกันตัว ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงระดับความรับผิดชอบของกิจการนั้นทั้งต่อคนทำงานและลูกค้า

ประชาชนควรสนับสนุนกิจการห้างร้านที่มีมาตรการป้องกันอย่างดี เพราะดีทั้งต่อตัวเราและตัวเขาใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net