Skip to main content
sharethis

คนไร้บ้านคนไร้ที่พึ่งพิงที่ขอนแก่น หลายชีวิตต้องอาศัยพื้นที่รอบสวนสาธารณะบึงแก่นนคร  นอกจากกำลังใจจากคนไร้บ้านด้วยกันจนมีแรงฮึดเพื่อสู้ชีวิตแล้ว "บ้านโฮมแสนสุข" เป็นอีกสถานที่พึ่งพิง ที่ช่วยฟื้นฟูศักยภาพให้สมาชิกได้ตั้งหลัก จนถึงขั้นไม่ต้องกลับไปเป็นคนไร้บ้านอีก อย่างไรก็ตามในต่างจังหวัดสถานที่พึ่งพิงสำหรับคนไร้บ้านในลักษณะใกล้เคียงกันเพียง 3 แห่งเท่านั้นคือขอนแก่น เชียงใหม่ ปทุมธานี โดยนักวิชาการด้านกระจายอำนาจเสนอให้ปลดล็อกกฎหมายที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งตราข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นสามารถแก้ไขและช่วยเหลือคนไร้บ้านได้เอง #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

“ผมเดินร้องไห้ไปตามริมทางถนนมาเรื่อย ๆ จนมาถึงริมบึงแก่นนคร” เอกพล สมพงษ์ หรือ "แทน" วัย 36 ปี เริ่มเล่าเรื่องราวของเขาด้วยประโยคที่แสนเศร้า หลังจากที่โดนพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่สมควรจะมีเมตตาต่อสัตว์โลกผู้ไร้ที่พึ่งพาอย่างเขาไล่ออกจากวัดอย่างไม่ใยดี คิดถึงบ้านใจจะขาด แต่ก็กลับไปไม่ได้ ใช่แต่เพียงไม่มีค่ารถเท่านั้น หากแต่บ้านที่เขาคิดถึงกลับเป็นสถานที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลยอีกด้วย

เอกพล สมพงษ์ พื้นเพชาว จ.นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ที่บ้านโฮมแสนสุข ศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น (ที่มา: วรรณรี ศรีสริ)

ย้อนไปเมื่อปี 2549 ก่อนที่จะพาตัวเองมาถึง บ้านโฮมแสนสุข ศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน ที่พึ่งของคนไร้ที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่น เอกพลเป็นคนมีพื้นเพอยู่จังหวัดนครราชสีมา ที่โคราชบ้านเกิดนั้นไกลจากถิ่นที่อยู่ปัจจุบันเพียง 200 กิโลเมตร เคยมีความอบอุ่นตามอัตภาพ ภายใต้ชายคาของบ้านหลังเล็ก ๆ ของแทน ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และพี่ชาย 2 คน เขาเป็นลูกชายคนเล็กสุดในบ้าน พี่ชายคนโตได้แยกไปมีครอบครัวที่จังหวัดอื่นจึงห่างเหินกันไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกับพี่ชายคนกลางไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย ๆ 

การสูญเสียพ่อ บวกความสัมพันธ์ของพี่น้องที่ไม่ค่อยดีเป็นทุนเดิมบวกกับการขาดเสาหลักของบ้านทำให้การทะเลาะเบาะแว้งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แทนทนรับความกดดันภายในบ้านไม่ไหวและไม่อยากให้คนเป็นแม่ที่นับวันมีแต่แก่ชราจะต้องพบกับไม่สบายใจ เขาจึงตัดสินใจย้ายออกมาหางานทำและเช่าบ้านอยู่คนเดียวในตัวเมืองโคราช

แทนมีความสามารถด้านงานช่าง เขาจึงไปทำงานเป็นช่างไฟที่ร้านแห่งหนึ่ง ทำงานไปได้แค่สิบห้าวันนายจ้างก็เอามาฝากกับร้านอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น แต่ก็ไม่ได้จ่ายค่าแรงมาด้วย แทนไม่ได้บ่นอะไรสักคำตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทุกอย่างทำท่าไปได้ดี จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเดินเข้าไปหานายจ้างเพื่อขอเบิกเงินค่าแรงด้วยต้องการเงินเพื่อกลับไปเยี่ยมแม่ที่โคราช

“กูจะให้มึงแค่สามร้อย ถ้ามึงอยากได้ส่วนที่เหลือก็ไปฟ้องเอา” เป็นคำตอบที่เขาได้รับจากนายจ้าง แต่ใครจะรู้ว่าคำพูดแค่นี้เปลี่ยนชีวิตคนได้ แทนรู้สึกเสียใจมาก เดินกำเงินสามร้อยบาทเดินตามทางไปเรื่อย ๆ เหม่อลอยจนไม่รู้ว่าเงินนั้นหลุดมือไปตั้งแต่เมื่อไร่ มารู้ตัวอีกทีตอนที่จะหยิบเงินออกมาซื้อน้ำ

ทำยังไงดีล่ะทีนี้ “วัดน่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชาวบ้าน” ในความคิดแวบสุดท้ายนั้น เขาจึงเดินเข้าไปในวัดเพื่อขอข้าววัดกิน แต่กลับโดนพระไล่ออกมาอย่างไม่ใยดี น้ำตาลูกผู้ชายจึงไหลรินออกมาอย่างไม่อาย เขาเดินร้องไห้ตามทางมาเรื่อย ๆ จนมาถึงริมบึงแก่นนคร และนอนร้องไห้อยู่ที่ริมใหญ่แห่งเมืองขอนแก่นอยู่สี่คืน ด้วยความรู้สึกที่แสนทรมานตลอดเวลา จากคนที่ใช้ชีวิตเป็นลูกชายคนเล็กของบ้าน มีบ้านให้นอนมีข้าวให้กินทุกมื้อ ทุกอย่างกลับมาเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

คนไร้บ้านที่จำต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะใกล้กับบึงแก่นนคร กลางเมืองขอนแก่น
(ที่มา: วรรณรี ศรีสริ)

บึงแก่นนคร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมืองขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่เศษ มีสภาพเป็นสวนสาธารณะที่มีคนไร้ที่พักพิงมาอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ชีวิตที่นี่ใช่ว่าจะรื่นรมย์เหมือนการไปปิกนิกในสวนทุกวันเสียเมื่อไหร่ แต่ละคืนกว่าแทนและคนอื่นๆจะมีโอกาสได้ล้มตัวลงนอนก็ต้องรอจนถึงห้าทุ่มเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสวนสาธารณะจนเสร็จก่อน ความยากลำบากของสภาพความเป็นอยู่และความรู้สึกที่ปวดร้าว ทำให้สภาพจิตใจของแทนดำดิ่งไปจนถึงจุดที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

แต่คนที่ช่วยให้เขาได้ฉุกคิดได้ว่าควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็คือคนพิการไร้บ้านอีกคนหนึ่งที่เดินเก็บขวดขายเลี้ยงชีพ จึงมีแรงเฮือกสุดท้ายฮึดสู้จนในที่สุดก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านโฮมแสนสุขโดยคำแนะนำของคนที่เข้าไปอยู่ก่อน

“ผมอยากออกไปสร้างบ้านอยู่กันสามคนกับ อาทิตย์และพี่อาร์ม เพราะอย่างน้อยพวกเราก็คือกลุ่มคนที่เข้าใจความเจ็บปวดของกันและกันได้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่สั้น ๆ ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่ริมบึงแก่นนคร”

อาทิตย์ อุดมกัน พื้นเพชาวจังหวัดร้อยเอ็ด (ที่มา: วรรณรี ศรีสริ)

อาทิตย์ที่แทนพูดถึงคือ อาทิตย์ อุดมกัน ชายอายุ 36 ปีเท่ากัน เขาเป็นคนรูปร่างท้วม พูดน้อย นัยน์ตาเศร้า ท่าทางดูเหมือนเป็นคนคิดอะไรในหัวอยู่ตลอดเวลา เขาเป็นคนมีพื้นเพมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งก็ไม่ได้ไกลจากขอนแก่นเท่าไหร่

ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ อาทิตย์ มีอาชีพเป็นช่างติดตั้งหัวจ่ายของปั๊มน้ำมัน อาชีพการงานทำให้ต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ แม้ชีวิตเขาจะไม่ได้สุขสบายนักแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นลำบากยากเข็นอะไร เงินเดือนที่ได้จากการทำงานก็เพียงพอให้ตนเอง ภรรยา และลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกให้พอประทังชีวิตกันไปได้แบบเดือนชนเดือน จนกระทั่งมีโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเขา

โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ คนที่มีฐานะย่ำแย่อยู่แล้วจำนวนมากต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน จากผลการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ พบข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าว่ามีกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนร้อยละ 19.42 และอาทิตย์เองก็กลายเป็นหนึ่งในคนไร้บ้านหน้าใหม่เช่นเดียวกัน

“โควิดที่ระบาดในประเทศไทยรอบสุดท้ายพรากทุกสิ่งไป ผมเลิกกับเมีย แล้วเมียก็เอาลูกหนีผมไปเลยนะ” อาทิตย์เล่า ในช่วงประมาณปี 2563 โรคระบาดร้ายได้เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตพี่อาทิตย์และครอบครัวให้ไม่เหมือนเดิมไปอีกตลอดกาล 

ภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่สมดุลกับเงินค่าจ้างเพราะการประกาศล็อคดาวน์ทำให้อาทิตย์ไม่สามารถไปทำงานได้เต็มเวลา ค่าจ้างถูกลดลงอย่างเห็นได้ชัดแต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม สถานการณ์ทางการเงินที่ฝืดเคืองตึงมือทำให้อาทิตย์และเมียทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุดเมียทนบรรยากาศความตึงเครียดภายในบ้านต่อไปไหว จึงได้หอบลูกหนีกลับบ้านเกิด และขาดการติดต่อไปเลย 

อาทิตย์พยายามหางานอยู่นานแต่ไม่สำเร็จ ครั้งสุดท้ายเสี่ยงดวงวนกลับมาที่จังหวัดขอนแก่นพร้อมเงินติดตัว 180 บาท แต่ก็โชคร้ายที่เมื่อมาถึงขอนแก่นแล้วกลับพบว่าบริษัทที่เคยทำงานด้วยก่อนหน้านี้ปิดตัวลงแล้วเนื่องจากทนพิษโควิดไม่ไหวเช่นกัน 

เขารู้สึกมืดแปดด้านจึงเดินเลาะตามทางมาเรื่อย ๆ และเหมือนกับแทน คือ นอนเป็นคนไร้บ้านอยู่ที่ริมบึงแก่นนคร

(จากซ้ายไปขวา) เอกพล สมพงษ์, อาทิตย์ อุดมกัน และ คณุชา สีหะราช  (ที่มา: วรรณรี ศรีสริ)

ส่วนพี่อาร์มที่พูดถึงคือ คณุชา สีหะราช ซึ่งอายุในบัตรประชาชนครบ 40 ปีบริบูรณ์ในปี 2566 แต่อายุจริงของเขาควรจะเป็น 44 ปี เพราะความขัดแย้งในครอบครัวไม่ได้แค่ทำให้การแจ้งเกิดของเขาคาดเคลื่อนไปถึง 4 ปี และความขัดแย้งนั่นเองที่ทำให้เขากลายมาเป็นคนไร้บ้านในเวลาต่อมา

อาร์มเล่าว่าพ่อเลี้ยงของเขาเป็นคนมีอารมณ์รุนแรงและชอบทำร้ายร่างกายแม่เวลาเมา และบางทีก็มีบ้างที่หันมาทำร้ายอาร์มด้วย จนกระทั่งอายุได้สิบห้าปีเต็ม อาร์มทนความรำคาญภายในบ้านไม่ไหว จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าและหนีออกจากบ้านไปอยู่ที่จังหวัดสงขลาแบบคนไร้ญาติขาดมิตร

ที่สงขลานั้น ด้วยความที่เขาเป็น LGBT อาร์มจึงเลี้ยงชีพด้วยการเป็น “นางโชว์” อยู่ที่บาร์แห่งหนึ่ง งานไม่ได้ยากเย็น เป็นเพียงแสดงโชว์ในแต่ละคืน และมีบ้างที่ออกไปเป็นเพื่อนเที่ยวให้กับลูกค้า รายได้ดีทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นสิบห้าปีเต็มโดยไม่กลับไปเหยียบบ้านเกิดอีกเลย

ชีวิตคนบันเทิง อยู่กับแสงสี ความสวยงาม หรูหรา และ ฟุ่มเฟือย เงินทองที่หามาได้ส่วนใหญ่หมดไปกับการเที่ยวและดื่ม อาร์มจึงแสวงหาทางหลุดพ้นในเพศบรรพชิตที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีอยู่เป็นเวลาถึง 7-8 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถออกจากบ่วงทุกข์ได้ เขาลาสิกขาบท กลับบ้านเกิดหวังใจว่าจะได้ใช้ชีวิตกับแม่ แต่พ่อเลี้ยงเจ้ากรรมยังอยู่และประพฤติเหมือนเดิม

อาร์มออกจากบ้านอีกครั้งมาเพื่อหางานทำที่จังหวัดอุดรธานี แต่หนหลังนี่ไม่ง่ายเท่าไหร่ เมื่อหางานอื่นไม่ได้ อาร์มจึงเก็บขวดขายเพื่อหารายได้ปะทังชีวิต และเดินทางไปมาระหว่างอุดรและขอนแก่น สุดท้ายตัดสินใจอยู่ขอนแก่นยาว ๆ โดยอาศัยอยู่ที่ริมบึงแก่นนครเป็นหลัก

อาร์มใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านนานอยู่ 3-4 ปี เก็บขวดและตกปลาที่ริมบึงไปขายเป็นหลัก แต่ด้วยอายุที่เริ่มมาก สภาพแวดล้อมค่อนข้างเลวร้าย ตกปลาในแหล่งน้ำที่เน่าเสีย เก็บขวดจากที่สกปรก ร่างกายเขาจึงกลายเป็นที่สะสมของเชื้อโรค มีปัญหาสุขภาพ เริ่มต้นจากโรคมือเท้าปากเปื่อย และอีกสารพัดอย่าง

มีอยู่วันหนึ่งโดนเศษแก้วบาดเล็กน้อย แต่กลับล้มป่วยลง แต่เขาคิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดาทั่วไป จึงได้สนใจอะไร แต่มีอาการรู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอนหลับอยู่ตลอดเวลา “คิดว่าตัวเองน่าจะไม่รอดแล้ววันนั้นมันรู้สึกเหมือนอยากหลับตลอดเวลาเลย” อาร์มเล่าต่อถึงช่วงเวลาที่ตนเองป่วยหนัก

ชีวิตริมบึงแก่นนครถึงจะโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่รู้จักใครเลย ในวันที่ป่วยหนักจวนเจียนจะสิ้นลมหายใจ ก็ได้อาทิตย์ ผู้ร่วมชะตากรรมที่ได้เข้าไปอยู่บ้านโฮมแสนสุขก่อนแล้ว พาเจ้าหน้าที่ไปนำตัวเขาส่งโรงพยาบาล แพทย์พบว่า อาร์มเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เพราะใช้ชีวิตอยู่ที่สกปรกเป็นเวลานาน 

ปัจจุบันอาร์มหายป่วย แต่ไม่สามารถทำงานหนักได้ พูดได้ช้าลงและเสียงแผ่วเบาลงไปมาก ไม่สามารถพูดประโยคยาว ๆ ได้  ไร้เรี่ยวแรง รวมถึงยังต้องกินยาเป็นกอบเป็นกำในทุก ๆ วันอีกด้วย มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่

เรื่องราวของ แทน อาทิตย์ และอาร์ม เหมือนนิยาย แต่ใช่ว่ามีแต่พวกเขาสามคนนี้เท่านั้นที่มีชีวิตแบบนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รายงานว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนไร้บ้านที่ตรวจสอบและพบมากถึง 2,499 ราย โดย 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ตรวจสอบและพบคนไร้บ้าน ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,271 ราย ชลบุรี 126 ราย เชียงใหม่ 118 ราย ขอนแก่น 73 ราย กาญจนบุรี 62 ราย 

บ้านโฮมแสนสุข อาจจะเป็นที่พึ่งให้คนไร้บ้านได้ส่วนหนึ่ง แต่ในต่างจังหวัดมีสถานที่พึ่งพิงสำหรับคนไร้บ้าน ในรูปแบบใกล้เคียงกันนี้อยู่เพียง 3 แห่งคือ ขอนแก่น เชียงใหม่ และปทุมธานี เท่านั้น นั่นหมายความว่าคนไร้บ้านในต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพไร้ที่พึ่งพาและอยู่อาศัย

‘บ้านโฮมแสนสุข’ คือศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน

บ้านโฮมแสนสุข (ที่มา: วรรณรี ศรีสริ)

  • เป็นบ้านที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 3 ไร่ สามารถรองรับคนไร้บ้านและไร้งานทำได้จำนวน 40 คน ตั้งอยู่ที่ถนนเหล่านาดี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 
  • ได้รับงบประมาณสนับสนุนการสร้างรัฐผ่านทางจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนประมาณ 24 ล้านบาท
  • บ้านโฮมแสนสุขอยู่ใต้การดูแลของ 2 องค์กรคือ สมาคมคนไร้บ้านและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งการสร้างศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพลักษณะนี้มีเพียง 3 แห่งในประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดขอนแก่น
  • บ้านโฮมแสนสุข ให้บริการปัจจัย 4 คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและ ที่อยู่อาศัย แต่ผู้ที่เข้ามาต้องทำงานเพื่อแลกค่าแรง อย่างเช่น การเข้าไปผู้ช่วยจิตอาสาลงพื้นที่ เป็นต้น และจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการสร้างงานสร้างอาชีพให้พวกเขาดำรงชีพได้ด้วยตนเอง
  • การเข้าไปอยู่ในบ้านโฮมแสนสุขสามารถเข้าไปอยู่ได้โดยการลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่อาสาที่จะไปตั้งจุดดร็อปอิน (drop-in) ทุกๆ วันอังคารที่ศาลหลักเมืองที่จังหวัดขอนแก่น
  • การเข้าไปอยู่ที่นั่นจะมีกฎระเบียบที่ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตามร่วมกัน เช่น ห้ามดื่มเหล้า ห้ามเล่นการพนัน ต้องช่วยกันออกค่าน้ำค่าไฟ ออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  • คนไร้บ้านหรือไม่มีงานทำในบ้านโฮมแสนสุขสามารถรับงานจากคนภายนอกเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง
  • ข้อจำกัดที่ทำให้คนไร้บ้านเลือกไม่มาอยู่ในบ้านโฮมแสนสุขคือ 1. ความรู้สึกอึดอัดที่ต้องปฏิบัติตามกฎในบ้าน และ 2. ทำเลของบ้านโฮมแสนสุขอยู่ไกลจากที่ที่คนไร้บ้านเคยอาศัยอยู่ พวกเขาจึงรู้สึกว่าไกลที่ทำมาหากินเดิมของพวกเขา

กราฟิกบ้านโฮมแสนสุข (ที่มา: กิติยา อรอินทร์)


ใครจะช่วยพวกเขาได้

บรรณ แก้วฉ่ำ หัวหน้าฝ่ายนิติการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ที่มา: วรรณรี ศรีสริ)

บรรณ แก้วฉ่ำ หัวหน้าฝ่ายนิติการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา และนักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ผู้ผลักดันและผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจ ดูเหมือนจะมีคำตอบว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงแล้วให้องค์กรท้องถิ่นช่วยจัดการจะดีกว่า ไม่ใช่ให้การเคหะแห่งชาติหรือทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับผิดชอบแล้วปัญหาจะจบ

บรรณ อธิบายว่า เรื่องคนไร้บ้านกับความเหลื่อมล้ำว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการที่คนไร้บ้านออกจากบ้านเกิดไปเพื่อหางานในเมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่น กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ เพราะในถิ่นฐานเดิมของเขาไม่มีทรัพยากรและอาชีพที่เพียงพอ แต่เมืองใหญ่โอกาสมากก็จริง ความเสี่ยงก็มากด้วยเช่นกัน เมื่อนักแสวงโชคตกงานเขามีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้ เพราะไร้ที่พึ่ง

การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นคือการกระจายอำนาจ งาน เงิน คน ไปสู่ท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งเป็นจังหวัดจัดการตนเองทำให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการตนเองในทุก ๆ ด้าน แต่การที่ท้องถิ่นไม่สามารถมีอิสระเพื่อจัดสรรในการช่วยเหลือคนไร้บ้านในแต่ละท้องถิ่นได้นั้น มีสาเหตุใหญ่ 2 ประการ

อย่างแรก ท้องถิ่นไม่มีความเป็นอิสระทางด้านงบประมาณในการจัดสรรท้องถิ่นตนเอง ปัจจุบันท้องถิ่นได้รับงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 29% ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ในจำนวนนั้นแบ่งเป็น งบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจและงบประมาณอุดหนุนทั่วไป

เงินงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับนโยบายและโครงการที่รัฐบาลส่วนกลางคิดมาแล้ว ตัวอย่างเช่น โครงการเบี้ยผู้สูงอายุ โครงการนมโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งท้องถิ่นจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้มีหน้าที่เพียงรับเงินและจ่ายไปตามนโยบายรัฐบาล 

ส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปจะเหลืออยู่ที่ร้อยละ 17-18% ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งจริง ๆ แล้วเงินงบประมาณที่เหลืออยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการบริหารงานภายในท้องถิ่น ดังนั้นควรปรับโครงสร้างการแบ่งเงินงบประมาณระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นใหม่ เพื่อให้ท้องถิ่นจะมีเงินไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นรวมถึงปัญหาคนไร้บ้านด้วย

ประการที่สอง ท้องถิ่นไม่มีอิสระในการบริหารจัดทำแผนการต่าง ๆ ที่ส่วนกลางทำเพราะจะเกิดความซ้ำซ้อน 

กฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายช่วยเหลือคนไร้บ้าน

พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนไร้บ้านอยู่ ได้แก่

มาตรา 16 (12) ระบุให้ เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล สามารถจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับการปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

มาตรา 17 (27) ระบุให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส (คนไร้บ้านนับว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส)

พระราชบัญญัติเทศบาล มาตรา 53 (5) ระบุไว้ว่า ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา มาตรา 62 (5) ระบุไว้ว่า ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม

แต่ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านมิติต่าง ๆ ไว้ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็ตาม แต่ในแง่ปฏิบัติท้องถิ่นไม่สามารถทำแผนที่ซ้ำซ้อนกับการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้มี พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 มาตรา 15 ไว้ว่า

“ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์การสวัสดิการชุมชน องค์กรเอกชนอื่น สถาบันศาสนาหรือคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จัดให้มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือมีส่วนร่วมในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง”

บรรณ กล่าวว่า ความซับซ้อนในอำนาจหน้าที่ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นนี้นี่เองที่ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดการเรื่องคนไร้บ้านในท้องถิ่นของตนเองได้ และไม่เคยมีท้องถิ่นไหนเคยทำได้ เพราะถูกล็อกการใช้จ่ายงบประมาณจากระเบียบกระทรวงมหาดไทย กล่าวคือ ในตัวระเบียบกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้ว่า ‘ท้องถิ่นจะเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อมาทำโครงการอย่างใดอย่างหนึ่งได้นั้นต้องมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยมารองรับ’ ซึ่ง พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับ หรือพูดง่ายๆ ว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทยใหญ่กว่า พ.ร.บ. ซึ่งนี่จัดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการจัดการเรื่องคนไร้บ้าน

บรรณเสนอแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านว่า ควรแก้ไขกฎหมาย ควรจะปรับ พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 และ พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ซึ่งมีอยู่แล้วให้ตราเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น และยกให้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจัดตั้งตัวเองเป็นรัฐวิสาหกิจ และบริหารจัดการงบประมาณตนเอง รวมถึงแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในท้องถิ่นของตนเอง

นอกเหนือไปจากเรื่องของที่อยู่อาศัยก็ควรช่วยเหลือในด้านของการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวอีกด้วย บรรณ กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net