Skip to main content
sharethis

เก็บตกวัน May Day เชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกันจัดกิจกรรมเดินขบวนในหัวข้อ "ความรวยของเขามาจากความจนของเรา" เนื่องในวันแรงงานสากล จากลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์มายังลานท่าแพ มีการชูป้ายเรียกร้องสิทธิเพื่อแรงงาน อาทิ “ค่าแรง 600 บาท ทั่วประเทศกี่โมง” “คุมกำเนิดนายทุน” “เก็บภาษีคน 1 % สร้างรัฐสวัสดิการให้คน 99%” “ยกเลิกข้อจำกัดอาชีพลูกแรงงานข้ามชาติ” “เมนส์มาลาได้” “RICH EATS THE SOUL” เรียกร้องสิทธิให้แรงงานได้รับค่าจ้างค่าแรงที่เป็นธรรมจากกลุ่มนายทุน

 

2 พ.ค. 2567 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 17.30 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation), มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), มูลนิธิการศึกษาประกายแสง (BEAM Education Foundation), สหภาพบาริสต้า และเครือข่ายจัดกิจกรรมเดินขบวนในหัวข้อ "ความรวยของเขามาจากความจนของเรา" เนื่องในวันแรงงานสากล หรือวัน May Day โดยมีการเดินขบวนจากลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์มายังลานท่าแพ มีการชูป้ายเรียกร้องสิทธิเพื่อแรงงาน อาทิ “ค่าแรง 600 บาท ทั่วประเทศกี่โมง” “คุมกำเนิดนายทุน” “เก็บภาษีคน 1 % สร้างรัฐสวัสดิการให้คน 99%” “ยกเลิกข้อจำกัดอาชีพลูกแรงงานข้ามชาติ” “เมนส์มาลาได้” “แรงงานไร้พรมแดน” “RICH EATS THE SOUL”

เชียงใหม่                                                                               เชียงใหม่

เชียงใหม่

                                                                                            บรรยากาศการเดินขบวน

 

เวลาประมาณ 18.30 น. ขบวนแรงงานเดินทางมาถึงลานท่าแพ เริ่มเวทีปราศรัยปัญหาของแรงงาน ทั้งปัญหาค่าจ้างค่าแรง, การละเมิดสิทธิแรงงาน , สิทธิของแรงงานข้ามชาติ , ปัญหาของแรงงานบาริสต้า และตัวแทนไรเดอร์ เครือข่ายแรงงานระบุว่า บ้านหลังใหญ่จะก่อสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หากไม่ใช้แรงงาน รถยนต์สุดหรูจะประกอบขึ้นมาได้อย่างไร หากไม่ใช้แรงงาน สินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะผลิตออกมาได้อย่างไร หากไม่ใช้แรงงาน บ้านเมืองจะสะอาดได้อย่างไร หากไม่ใช้แรงงาน ความก้าวหน้าของสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่ใช้แรงงาน ทุกๆ สิ่งจะถูกสรรค์สร้างขึ้นมาได้อย่างไร หากมิใช่จากการใช้แรงงาน "ความรวยของเขามาจากความจนของเรา"

ภาสกร ญี่นาง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นเวทีพูดถึงประเด็น UBI (Universal Basic Income) หลักประกันรายได้ถ้วนหน้า ในอัตราที่เพียงพอการเลี้ยงชีพ รัฐต้องจ่ายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สวัสดิการถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาในยามที่รัฐล้มเหลวในการคุ้มครองคนทำงานและแรงงานทุกคน UBI จะเข้ามาทดแทนส่งเสริมและอุดช่องว่างทางกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่หลังไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทุกวันนี้เทคโนโลยีนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้กับทุนและนายจ้าง ที่พยายามหลบซ่อนการกระทำอันฉ้อฉล เอารับเอาเปรียบ ไว้อยู่ภายหลังของสิ่งที่เรียกว่าแพลตฟอร์ม ผู้ใช้แรงงานควรได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องดูแลครอบครัว ดูแลคนที่บ้าน แม่ที่เลี้ยงลูกมนุษย์ทุกคนที่คอยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม UBI ควรเป็นเสมือนสิ่งตอบแทนของการลงแรง ของมนุษย์ทุกคน กล่าวเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องแบกรับภาระการดูแลทั้งจากคนจนก่อนหน้านี้แล้วเจนสภาวะดังกล่าวทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถตั้งตัวได้ไม่สามารถทำตามความฝัน ครอบครัวเพราะภาระภาระรับผิดชอบทั้งหมดที่สังคมมอบให้ UBI เครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนทุกคนสามารถเข้าร่วมต่อสู้บนเวทีการเมืองได้อย่างมี ความเสมอภาคเท่าเทียม การขับเคลื่อนปัญหาสังคม ออกมาต่อสู้กับความยุติธรรมในสังคม ในรัฐที่มีแต่ความเหลื่อมล้ำจำเป็นต้องอาศัยต้นทุน ทุกวันนี้จะเห็นว่ามีแต่คนรวยคนที่มีต้นทุนอยู่เบื้องหลังสามารถเข้าเวทีการเมืองได้ แต่หาได้จากแรงงานหรือผู้ใช้แรงงานทั่วไป ไม่มีตัวแทนที่มาจากแรงงานมากเท่าที่ควร สุดท้าย หากรัฐล้มเหลวในการผลักดัน UBI ให้เกิดขึ้นจริง ท่ามกลางสังคมที่ความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกหย่อมหญ้า คำสวยหรูที่มักกล่าวอ้าง เส้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม หรือแม้กระทั่ง soft power ก็คงเป็นแค่ฝันเท่านั้น 

เชียงใหม่

 

ก่อนสิ้นสุดกิจกรรมได้มีการอ่านแถลงการณ์วันแรงงานสากล เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ดังนี้ วันนี้คือวันแรงงานสากล วันของแรงงานผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แต่ทว่าภายใต้รอยยิ้มและหยาดเหงื่อของพวกเรายังแฝงไว้ด้วยความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ขูดรีดที่ล้วนเป็นบาดแผลลึกฝังใจจากการเอาเปรียบกันของเพื่อนมนุษย์ 

“เราคือผู้สร้าง แต่เราไม่ได้รับผลตอบแทนที่สมควร” พวกเรา “แรงงาน” คือผู้ผลิตสินค้าและบริการ สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับนายทุน แต่เราไม่ได้รับผลตอบแทนที่สมควร เงินเดือนที่น้อยนิด ไร้สวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของแรงงาน หากมองไปรอบๆ เราจะเห็นบ้านเมืองที่เจริญเติบโตจากน้ำมือของแรงงาน บ้านหลังใหญ่จะก่อสร้างขึ้นมาได้อย่างไรหากไม่ใช้แรงงาน รถยนต์สุดหรูจะประกอบขึ้นมาได้อย่างไรหากไม่ใช้แรงงาน สินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะผลิตออกมาได้อย่างไรหากไม่ใช้แรงงาน บ้านเมืองจะสะอาดได้อย่างไรหากไม่ใช้แรงงาน  ความก้าวหน้าของสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากไม่ใช้แรงงาน ทุกๆ สิ่งจะถูกรังสรรค์ขึ้นมาได้อย่างไร ...หากมิใช่จากการใช้แรงงาน “แต่ทว่าความร่ำรวยของใครบางคน มาจากความยากจนของเรา”

ในขณะที่คนรวยได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง คนขยัน มีความสามารถ จนประสบความสำเร็จ ได้รับผลกำไรจากการลงทุนแต่ความมั่งคั่งที่พวกเขาได้รับเหล่านั้นล้วนมาจากหยาดเหงื่อและชีวิตของชนชั้นแรงงานจำนวนมหาศาลและล้วนมาจากเงินภาษีทรัพยากรที่รัฐประเคนให้กลุ่มทุน แต่แรงงานกลับมิได้อะไรเลยชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับการทำงานหนัก ไม่ได้พักผ่อน เงินก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าอาหารก็แพง ค่าเดินทางก็แพง ค่าน้ำมันก็แพง ค่าไฟก็แพง ค่าเช่าที่อยู่อาศัยก็แพง แต่ค่าแรงกลับน้อยนิดราวเศษเงิน เมื่อเทียบกับการใช้แรงที่ต้องแลกไป กฎหมายที่มีอยู่ก็บังคับใช้ไม่ได้ พวกเราโดนใช้งานเกินเวลาได้ค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดนหักเงินเป็นการลงโทษ ทั้งที่กฎหมายไม่อนุญาติให้ทำ อีกทั้ง ลางานก็ไม่ค่อยได้ ถูกเรียกไปดุด่าราวกับคนรับใช้ ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไร้อำนาจต่อรองใด ๆ

เชียงใหม่

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเชียงใหม่ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเศรษฐกิจโตแล้วทุกคนจะได้ประโยชน์เท่าเทียมกันคงเป็นแค่คำหลอกลวงของพวกเขา หนำซ้ำพวกเรากลับต้องทำงานหนักขึ้นจากการมีนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น โดยที่พวกเราไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลย เหล่าผู้ประกอบการและนายทุน ร่ำรวยจากการกดขี่แรงงาน จ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นบ้างก็อ้างว่าเพราะเป็นเด็กจบใหม่ไม่มีสกิล บ้างก็อ้างว่าเงื่อนไขความเป็นแรงงานข้ามชาติจนยากจะมีทางเลือก การบังคับให้ทำงานหนักเกินเวลา สภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ ไร้สวัสดิการและความปลอดภัย เป็นสิ่งที่แรงงานเผชิญอยู่ทุกวัน

จิตวิญญาณแห่งทุนไม่ต่างอะไรกับ “ผีดิบ” ที่ดูดเลือดแรงงานโดยที่ตัวเองไม่ได้ออกแรงหรือทำอะไรเลย นายทุนจึงเสมือน “แรงงานที่ตายแล้ว” แต่ยังหิวโหยอยากเขมือบขย้ำ “แรงงานที่มีชีวิตอยู่” เยี่ยงมนุษย์หมาป่าพวก เขามุ่งแต่จะกดค่าแรงให้น้อยที่สุด เขามุ่งแต่จะยืดวันแห่งการทำงานไปให้ยาวนานที่สุด โดยไม่แยแสว่าจะไปบั่นทอนสุขภาพและอายุขัยของแรงงานให้สั้นลง ไม่แยแสว่าลูกของเราจะไม่มีเงินกินข้าวหรือเรียนหนังสือ เมื่อสังคมมีกระแสอยากเพิ่มค่าแรง เพิ่มสวัสดิการให้แรงงาน พวกเขาก็จะใช้สื่อ ใช้เครือข่ายในมือล็อบบี้รัฐบาลไม่ให้ทำเพื่อแรงงาน เพราะไม่ต้องการให้ตัวเองเสียประโยชน์

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลุกขึ้นสู้ วันนี้จะไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองคุณุปการของแรงงานเพียงเท่านั้น แต่เป็นการตอกย้ำถึงความอยุติธรรมที่เราเผชิญอยู่ทุกวัน วันแรงงานสากลปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ หากยืนหยัดคนเดียว เราจะถูกบดขยี้ แต่เมื่อใดที่เรารวมพลังเป็นหนึ่ง เสียงของเราก็จะดังก้องไปทั่ว  แผ่นดิน นายทุนจะต้องสั่นสะเทือน พวกเราจะยืนหยัดกอดคอกันเข้าไว้ไม่ให้ใครกดขี่ขูดรีด เอาชีวิตไปสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยและบังคับยัดเยียดความยากจนให้แก่เราอีกต่อไป

พวกเราในนามของแรงงาน ไม่มีอะไรที่จะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวนที่พวกเขาล่ามพวกเราไว้  “สิทธิแรงงานที่ชนชั้นแรงงานทั่วโลกมีทุกวันนี้ ล้วนได้มาจากการต่อสู้มิใช่ร้องขอ” ขอพี่น้องแรงงานทั้งผองจงรวมตัวกัน แล้วทวงคืนความมั่งคั่งจากเขา เหล่านายทุนผู้ขูดรีด ให้กลับมาสู่ชนชั้นแรงงานผู้สร้างโลกนี้กับมือ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net