Skip to main content
sharethis

สะท้อนปัญหาทัศนคติ การให้ความรู้ วิธีการของสถานศึกษาในการรับมือกับการท้องอย่างไม่พร้อมจากสถิติของสายด่วนปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 1663 วอนแก้ทัศนคติเด็กห้ามมีเซ็กซ์ หยุดเอาเรื่องใต้สะดือซุกไว้ใต้พรม ร้องศึกษาธิการ สอนเพศวิถีที่ใช้ได้จริง ต่อเนื่อง ปรับปรุงทัศนคติ กระบวนการช่วยเด็กท้อง อยากเรียนต้องได้เรียน

ภาพ: อิศเรศ เทวาหุดี

พรุ่งนี้ก็วนเวียนมาถึงอีกครั้งกับเทศกาลลอยกระทง เทศกาลขอขมาพระแม่คงคาที่คนไทยหลายคนรู้จักกันในชื่อของเทศกาลเสียตัว จากการสำรวจในหัวข้อ “วัยรุ่นไทยกับประเพณีลอยกระทงและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ของมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาและมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จำนวน 1,042 กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการเมื่อปี 2555 พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40 ระบุว่าเทศกาลลอยกระทงเป็นโอกาสที่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมากที่สุด รองลงมาคือวันวาเลนไทน์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38 ยังระบุว่าเคยพบเห็นหรือทราบว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในวันลอยกระทง ร้อยละ 61 เห็นว่าการดื่มสุราเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟเคยนำเสนอสถิติการคลอดบุตรจากผู้หญิงอายุ 13-19 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2556 พบว่า ในปี พ.ศ. 2556 จำนวนผู้หญิงที่คลอดบุตรเมื่ออายุ 13-15 ปีมีจำนวนถึง 3,349 คน ในขณะที่กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีตัวเลขอยู่ที่ 6-7 พันคน

สถิติการคลอดบุตรจากผู้หญิงอายุ 13-19 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2556 (ที่มา:UNICEF)

สถิติต่างๆ สะท้อนว่าการตั้งครรภ์และมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อยยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย แต่ปัญหาที่พบคือสถานศึกษาไม่ว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยยังคงมีทัศนคติกีดกันผู้เรียนที่ตั้งท้องในขณะที่ยังศึกษาอยู่และมีวิธีการรับมือที่ต่างกันออกไปตั้งแต่ช่วยเหลือด้วยมาตรการบางอย่างจนถึงให้ออก

“รายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีในสถานศึกษาไทย” โดยศูนย์นโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟและความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ และยูเนสโก โดยได้สำรวจข้อมูลจากนักเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาจำนวน 8,837 คน และครู 692 คนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 398 แห่งในช่วงเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 เพื่อทบทวนความสำเร็จและความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา พร้อมสำรวจทัศนคติของครูและนักเรียน ชี้ให้เห็นว่าวิธีการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทยมักเน้นไปที่การบรรยาย ซึ่งไม่เอื้อให้นักเรียนได้สามารถพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ การสื่อสารและต่อรอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาในการจัดการเรื่องเพศวิถีและชีวิตทางเพศของตน

วาเลรี ตาตอน รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่โรงเรียนแทบทุกแห่งในประเทศไทยมีการสอนเพศศึกษาถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในขณะเดียวกัน การที่นักเรียนจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นในการมีสุขภาวะทางเพศยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง การที่เราจะลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหรือลดจำนวนการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในหมู่เยาวชนได้นั้น เราต้องช่วยให้เด็กรู้จักตนเองและมีทักษะที่จำเป็น ตลอดจนมีความมั่นใจในการตัดสินใจที่ถูกต้องต่อวิถีทางเพศของพวกเขา”

ปลายปี 2559 ไทยบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นเพื่อออกแบบแนวทางการเสริมสร้างความรู้ให้กับวัยรุ่นเกี่ยวกับเพศวิถีศึกษาและป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

เพศวิถีศึกษา : ‘ปีศาจ’ ของ ‘วัฒนธรรมไทย’ ตลอดกาล

เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่ พ.ร.บ. ถูกบังคับใช้ จนวันนี้  (2  พ.ย. 60)  ที่งานแถลงข่าว “เด็กที่ท้องในวัยเรียน อยู่ในวิกฤติ สถานศึกษาหยุดซ้ำเติม” ที่ห้องอาศรมสุขภาวะ อาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ประธานโครงการสายด่วน 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม และธิติพร ดนตรีพงษ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลสายด่วน 1663 เป็นผู้ให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวถึงข้อมูลที่ทางสายด่วนฯ ได้รับและยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้พัฒนาการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาและระบบดูแลนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์

คนปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมเยอะขึ้น คุมกำเนิดผิดวิธี ประสิทธิภาพต่ำยังมีเยอะเกือบร้อยละ 50

ซ้ายไปขวา: ธิติพร ดนตรีพงษ์ สมวงศ์ อุไรวัฒนา

ธิติพรกล่าวว่า ผู้รับบริการสายด่วน 1663 เพิ่มขึ้นทุกปี อาจจะคงที่อยู่จำนวน 4 หมื่นกว่าคน ก่อนที่จะเริ่มทำงานเรื่องท้องไม่พร้อมที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 ได้พบว่าตัวเลขคนที่โทรเข้ามาเรื่องเอดส์เยอะกว่าโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 70 ต่อ 30 แต่คนปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมตอนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 60 ต่อ 40 แล้วโดยเดือน ต.ค. 2559 - ก.ย. 2560 สายที่ขอคำปรึกษาเรื่องเอดส์อยู่ที่ร้อยละ 58.33 เรื่องท้องไม่พร้อมอยู่ที่ร้อยละ 41.67

ตัวเลขของผู้มาปรึกษาปัญหาเรื่องโรคเอดส์เมื่อปีที่แล้วค่อนข้างคงที่ อาจเป็นเพราะเพราะโรคเอดส์มีสถาบันที่รับหน้าที่ดูแลแล้ว แต่เรื่องท้องไม่พร้อมยังไม่มี ตัวเลขทั้งหมดเก็บมาจากผู้รับบริการที่โทรเข้ามาจากหลากหลายอายุ เคยมีสมมติฐานว่าท้องไม่พร้อมเป็นเรื่องของวัยรุ่น แต่ว่าพอทำงานจริงพบว่าเป็นเรื่องของคนทุกวัย คนอายุ 30 ขึ้นไปก็มีปัญหาท้องไม่พร้อมเหมือนกัน ทั้งนี้เด็กที่ร้องเรียนผ่านสายด่วนฯ มาจากทั่วประเทศและทุกจังหวัดแต่ว่ากรุงเทพฯ มีจำนวนมากที่สุด

สำหรับช่องทางการให้คำปรึกษาในเพจเฟซบุ๊กพบว่าเป็นช่องทางที่ผู้ขอคำปรึกษาเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนซึ่งหากดูจากสถิติเยาวชนที่ขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์คิดเป็นเพียงร้อยละ 26 เยาวชนในที่นี้ก็ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ตนมีหน้าที่เข้าไปตอบคำถามในเฟซบุ๊กด้วยก็พบว่าเจอเรื่องเด็กท้องจำนวนมากบอกว่ามีปัญหาเรื่องการเรียน ทั้งๆ ที่ใน พ.ร.บ. ระบุว่าการท้องไม่เป็นอุปสรรคแต่ชีวิตจริงเป็น

 

มาตรา 5 วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้

ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัด

สวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์

ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ

พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

พ.ศ. 2559 หมวด 1 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

 

หนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราส่วนระหว่างคนที่รู้สถานะว่าตั้งท้องแล้วกับคนที่ยังไม่รู้สถานะว่าตั้งท้องอยู่ที่ร้อยละ 50 ต่อ 50 แต่ถ้านับจากปีที่แล้วจะพบว่าคนที่ตั้งครรภ์แล้วโทรหา 1663 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 นอกจากนั้น ตัวเลขยังแสดงให้เห็นว่าคนที่มีไม่ได้คุมกำเนิดอะไรเลยอยู่ที่ร้อยละ 57.23 จากทุกกลุ่มอายุ คนที่คุมกำเนิดผิดวิธีหรือเลือกวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำเช่นการใช้ยาคุมฉุกเฉิน การหลั่งนอก การนับหน้า 7 หลัง 7 อยู่ที่ร้อยละ 41.67 ซึึ่งเกิดจากการมีข้อมูลที่ไม่รอบด้าน หรือเกิดจากการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นกรณีที่ฮิตมาก เคยมีร้านขายยาส่งข้อความเฟซบุ๊กมาถามหาแผ่นพับประชาสัมพันธ์จากทาง 1663 ไปไว้ที่ร้านขายยา เพราะมียอดขายยาคุมฉุกเฉินสูงมาก

สมวงศ์กล่าวว่า ตนนั่งอ่านในสลากของยาคุมฉุกเฉินแล้วก็ไม่พบว่ามีข้อมูลเพียงพอในการให้ความรู้กับเด็กว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินจะมีความเสี่ยงการตั้งครรภ์เท่าไหร่ แปลว่าถ้าครูไม่บอก หรือเภสัชกรไม่ชี้แจง เด็กจะไม่สามารถรับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนจากสลากยาเลยเมื่อใช้งานยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมจึ้งฉุกเฉินเป็นทางออกทางวัฒนธรรมกับการห้ามเด็กมีเพศสัมพันธ์ เพราะว่าเขาไม่เสี่ยงกับการถูกพ่อแม่หรือครูตรวจกระเป๋าแล้วเจอถุงยางอนามัย

1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ต่อมาในปี 2555 ถูกตั้งให้เป้นสายด่วนเอดส์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขตั้งให้เป็นสายด่วนปรึกษาเรื่องเอดส์ระดับชาติ ปี 2556 สสส. มานั่งคุยว่าควรตั้งสายเรื่องท้องไม่พร้อมไหม เมื่อเห็นว่าว่าเรื่องเอดส์และเรื่องท้องไม่พร้อมมีปัญหาร่วมกันคือเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันจึงลงท้ายด้วยการตั้งสายด่วนขึ้นมา

สายด่วนปรึกษาเอดส์ ท้องไม่พร้อมเปิดบริการ 10 คู่สาย วันละ 12 ชั่วโมงตั้งแต่ 9.00-21.00 น. ของทุกวัน มีการให้บริการปรึกษาผ่านเฟซบุ๊กทางเพจ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม” เพราะเด็กมีปัญหาเรื่องค่าโทรศัพท์ไม่สามารถคุยปรึกษาต่อเนื่องยาวนานได้ มีข้อจำกัดเรื่องโทรศัพท์เพราะที่บ้านอาจจับสังเกตได้ แต่การคุยทางเฟซบุ๊กสามารถทำได้แม้อยู่ในห้องนอน พบว่ามีคนใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีคนขอคำปรึกษาตอนนี้ 30 รายต่อวัน ให้บริการตั้งแต่ปี 2557 มีแอดมินดูแลให้ปรึกษาวันละสามรอบตั้งแต่ 10.30-12.30 น. 14.30-16.30 น. และ 20.00-22.00 น.

วอนแก้ทัศนคติเด็กห้ามมีเซ็กซ์ หยุดเอาเรื่องใต้สะดือซุกไว้ใต้พรม

สมวงศ์คิดว่าเป็นทัศนคติที่เราไปรับมาว่าวัยเรียนไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ สมัยก่อนตอนที่ไม่มีระบบการศึกษาก็ออกเรือนกันเร็ว 14-15 ปีด้วยซ้ำ พอมีระบบการศึกษาเข้ามาเราก็นิยามใหม่ว่านี่คือวัยเรียน ไม่ควรมีนู่น ไม่ควรมีนี่ การมีเซ็กซ์จะเป็นอุปสรรคกับการเรียน ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง ผมเคยเจอนักเรียนที่อยู่ด้วยกันเป็นคู่ๆ เขาก็ดูแลกันจนเรียนจบ มันหลายเรื่องผสมผสานกันทำให้เด็กคนหนึ่งเรียนไม่จบได้ คนมักจะเอาค่านิยมตัวเองไปโยงกับศาสนา จารีตหรืออะไรไม่รู้ที่ทำให้คนอีกคนหนึ่งขาดโอกาส

ถึงเวลายอมรับความจริงกัน อย่าเอาเรื่องนี้ลงใต้ดิน เรื่องนี้มันทำให้คนเจ็บและตายได้ อย่าไปชี้นิ้วด่ากันว่าไอ้นี่ใจแตก ทำครอบครัวแตกแยก ไม่มีประโยชน์ เราจะทำอย่างไรให้เด็กมีความสามารถในการจัดการวิถีชีวิตทางเพศของตัวเอง เด็กที่มีปัญหาแล้วอย่าซ้ำเติม มีช่องทางเปิดให้เขาได้ไหม

ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่ล้วนๆ เพราะเด็กเข้าไม่ถึงความรู้ คนที่กุมทรัพยากรของประเทศคือผู้ใหญ่ เด็กไม่มีโอกาสกำหนดอะไร คุณไปกำหนดว่าเด็กต้องได้เรียนอย่างนั้นอย่างนี้ อายุเท่านี้ห้ามทำเรื่องนี้ ราคาถุงยางราคาเท่านี้ การที่เด็กท้องคนหนึ่งหรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันผู้ใหญ่ก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าเราทำอะไรลงไป ผู้ใหญ่จะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงทรัพยากรในด้านความรู้ อุปกรณ์ทั้งหลาย อย่างถุงยางอนามัย เด็กก็บอกว่ามันแพงเกินไป เราก็บอกว่ามีแจก แต่ทัศนคติของคุณก็ไม่เอื้อให้เด็กไปรับอีก อันนี้มันจะโยงกับเรื่องที่ให้ยอมรับความจริง ต้องจัดการกับผู้ใหญ่ว่าอย่าขวาง แต่ก่อนนี้เราทำงานเรื่องเพศศึกษาก็มีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งบอกว่าเรื่องนี้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก เราก็บอกว่าเรากำลังชี้จริงๆ เพราะเราชี้โพรงให้กระรอกปลอดภัย ไม่ใช่มานั่งปิดตาไม่รู้ไม่เห็น

ประธานโครงการสายด่วน 1663 ให้คำตอบในประเด็นทัศนคติของคนทำงานในด้านสาธารณสุขต่อปัญหาท้องไม่พร้อมที่ได้รับมาจากการให้คำปรึกษาที่ผ่านมาว่า บางที่ก็ให้บริการและให้คำแนะนำดี ยิ่งเดี๋ยวนี้มีการฝังยาคุมกำเนิดฟรี ไม่ต้องมีพ่อแม่มาเซ็นรับรองด้วยซ้ำ แต่ก็มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกตำหนิกลับมาจากโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลที่ไม่ใช่เครือข่าย มีผู้รับบริการรายหนึ่งอายุ 19 ปี อยู่ในเกณฑ์ที่ยังรับบริการได้ฟรีส่งเฟซบุ๊กมาเล่าว่า พอไปโรงพยาบาลก็มีบุคลากรบอกว่าถ้ายังไม่ท้องจะไม่ฝังยาให้ คือจะต้องเป็นวัวหายแล้วค่อยล้อมคอกหรือไม่ มีกรณีที่เด็กมาปรึกษาเรื่องยุติการตั้งครรภ์ ก่อนที่เด็กจะมาหาเราก็ไปปรึกษาโรงพยาบาล แต่ทางโรงพยาบาลก็พยายามจะจับฝากท้องและไม่ฟังเรื่องการยุติการตั้งครรภ์

“หน่วยงานรัฐต้องฟังว่าชีวิตเขาเจออะไรมาอย่างตั้งใจ ผมเคยเจอกรณีที่เด็กท้องแล้วกลับมาท้องอีก ผู้ให้บริการคนหนึ่งก็บอกว่าทำไมมันไม่เข็ด คุณต้องฟังว่าชีวิตเขาเจออะไร เขาไม่ได้อยากท้องมาให้คุณยุติหรือมาให้คุณตำหนิ มันต้องไปแก้ปมเขา เหมือนครูที่เจอเด็กท้องซ้ำซากทุกปีแล้วไปประมาณการเขาว่าจะเรียนไม่จบ เราก็ต้องฟังเด็กด้วย” สมวงศ์กล่าว

สถิติระบุ ท้องแล้วบอกคู่รักมากสุด แม่รองลงมา บอกครูน้อยสุด ตั้งคำถามทัศนคติ แนวทางของสถานศึกษาซ้ำเติมผู้เรียน

ธิติพรแสดงสถิติคนที่เยาวชนขอคำปรึกษาเมื่อตั้งท้อง พบว่า แม่คือบุคคลที่สามที่สำคัญมากในชีวิตของเด็กที่ท้องไม่พร้อม จากการเก็บข้อมูลผู้รับบริการ อายุน้อยกว่า 15-20 ปี พบว่าบอกคู่รักเยอะที่สุด ลำดับต่อมาเป็นแม่ ส่วนครูเป็นตัวเลือกสุดท้าย จากการสอบถามเด็กที่มาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กบอกว่าเพราะ “ครูรู้ โลกรู้” อาจไม่ใช่เพราะครูเป็นคนเก็บความลับไม่ได้ แต่ว่ากระบวนการช่วยเหลือในโรงเรียนต้องผ่านการประชุมครู ซึ่งก็คือโลกรู้จริงๆ กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องมีทางเลือกช่วยเหลือที่ไม่ทำให้เด็กบอบช้ำกว่าเดิม

สมวงศ์กล่าวว่า มีทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มองว่า เด็กที่ท้องไม่พร้อมคือครอบครัวแตกแยก กลุ่มเสี่ยง ไม่มีคนดูแล แต่เด็กส่วนใหญ่ที่โทรหาเราคือเขาอยากมีอนาคตทางการศึกษา ผลการเรียนค่อนข้างดี ถ้าพ่อแม่ส่งสัญญาณดีๆ ว่ามีอะไรมาคุย พร้อมจะรับฟังและอยู่เคียงข้างเสมอก็จะทำให้เด็กคุยกับพ่อแม่มากขึ้นเพราะเด็กมีแนวโน้มที่ดีอยู่แล้ว ฉลาดกว่าที่ผู้ใหญ่บอกเยอะ สถานการณ์แบบนี้ต้องแก้ไข ผมคิดว่าเด็กที่ตั้งครรภ์หรือเด็กทั้งหลายอยู่ในวิกฤติ เขาก็พลาดจริงๆ ใครๆ ก็พลาดได้แต่เราก็ต้องช่วยกัน จากที่่คุยกับเด็กมาก็พบว่าทำใจได้ถ้าถูกพ่อแม่ด่าหรือตี แต่ทำใจไม่ได้ถ้าพ่อแม่เสียใจ เรื่องจะทำให้พ่อแม่จะทำให้เสียใจก็มีหลายเรื่อง เช่น จะเรียนอย่างไร เรียนจบไหม สารพัดที่จะเสียใจ

จากที่ทำสายด่วนมาตั้งแต่ปี 2559 พบว่ามี 4 รายที่มาร้องเรียนอย่างจริงจัง มีรายหนึ่งถูกไล่ออกจากโรงเรียนหลังตัดสินใจท้องต่อ อีกรายสังกัดอาชีวะศึกษา อยู่ ปวช. ปี 1 แม่บอกว่าต้องการให้น้องเรียนต่อแล้วไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ แต่สิ่งที่บอกคือครูบอกว่าไม่มีนโยบายให้เรียนต่อเพราะเพิ่งเริ่มต้นเรียนปี 1 ถ้าเป็นปีท้ายๆ จะยังพออนุโลมได้

อีกสองรายศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย อยู่ในคณะที่จบไปจะต้องเป็นครู ช่วงตั้งท้องเป็นช่วงฝึกสอนของเขาและก็ตัดสินใจที่จะท้องต่อ ซึ่งต้องใส่ชุดคลุมท้องไปฝึกสอน อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าให้ยุติการฝึกสอนแล้วไปฝึกสอนปีหน้า แล้วเขาก็เครียดมากเพราะเขากำลังจะไปเป็นแม่ เขาต้องออกไปประกอบวิชาชีพซึ่งมันเหลือแค่ตรงนี้ (ฝึกสอน) แล้วทำไมเขาต้องพลาดโอกาสนี้ เราจะสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง แต่สถาบันการศึกษากลับทำลายอนาคตเขา แล้วก็บอกว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ในขณะที่ทั่วโลกบอกว่านี่คือโอกาสการเรียนรู้ของเด็กถ้าได้มีการพูดคุยกับครูในเรื่องดังกล่าว

ธิติพรกล่าวว่า พ่อแม่ก็ท้อเมื่อเจออุปสรรคจากโรงเรียน ก็มีโทรมาปรึกษา ลูกเขาจะไม่ได้เรียนต่อ โรงเรียนจะย้ายให้ไปเรียนที่อื่นหรือไม่ก็ไล่ออก ระบบการศึกษาต้องช่วยเด็กเหล่านี้ด้วย ทั้งยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการตั้งท้องก่อนวัยอันควรไม่ใช่ตัวชี้วัดทางวิชาการที่จะทำให้โรงเรียนถูกลดขั้น แต่ว่าเป็นทัศนคติของผู้บริหารโรงเรียนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ประเด็นหลักคือการรายงานแต่ละปี

เสนอ 4 ข้อกระทรวงศึกษาฯ สอนเพศวิถีศึกษาใช้ได้จริง ต่อเนื่อง ปรับปรุงทัศนคติ กระบวนการช่วยเด็กท้อง อยากเรียนต้องได้เรียน

สมวงศ์กล่าวว่า มีกรณีที่บางคนพร้อมมีลูกแล้ว แต่ปัจจัยภายนอกกลับทำให้ไม่พร้อม เช่น พ่อแม่ลูก ครอบครัวพร้อมเลี้ยงหลาน แต่โรงเรียนกลับทำให้เขาไม่พร้อมไปอีก ทางมูลนิธิฯ จึงอยากจะเสนอเครือข่ายเยาวชนและผู้ปกครองจำนวนหนึ่งถึงการยื่นข้อเสนอกับกระทรวงศึกษาธิการ

หนึ่ง เราพบสาเหตุการตั้งครรภ์ ไม่ใช่เพราะเด็กอยากท้อง แต่การให้การศึกษาเรื่องเพศวิถีมันไม่เคยถูกสร้าง มีแต่ห้าม แล้วใครจะสร้างการเรียนรู้เพราะชีวิตคนมันแตกต่างกันแล้วเรายอมรับว่าเด็กอยู่วัยเจริญพันธุ์ แล้วคุณเอาเด็กที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มารวมกันแล้วบอกว่าห้ามมีเซ็กซ์ สังคมมันเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องทำอย่างไรให้การเรียนการสอนทำให้เขาจัดการชีวิตตัวเองได้ ไม่ได้แปลว่าจับเด็กหนึ่งพันคนมานั่งรับการอบรมทีเดียว ชูถุงยางอนามัยให้ดูแล้วแปลว่าเด็กจะมีเกิดความสามารถ ต้องจัดการเรียนรู้เหมือนวิชาทั่วๆ ไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะ ทัศนคติที่สำคัญขึ้นๆ ไป

ใน พ.ร.บ. กำหนดว่าโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา แต่ว่าไม่ได้บอกรายละเอียด หมายความว่าครูสอนอย่างไรก็ได้ สัปดาห์หนึ่งสอนวิธีการใช้ถุงยางอนามัยก็ถือว่าได้แล้ว ดังนั้น เราจะขอเรียกร้องว่าสถานศึกษาต้องจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แม้ว่าการสอนเพศวิถีจะไม่เป็นตัวชี้วัดสำคัญเท่าการอ่านออกเขียนได้ ทักษะคณิตศาสตร์ ไม่มีการสอบวัดผลในโอเน็ต แต่เรื่องนี้มันมีผลกับชีวิตของเด็กจริงๆ ว่าเขาจะอยู่รอดหรือก้าวข้ามจังหวะนี้ในชีวิตได้หรือไม่ เพศวิถีศึกษาจึงไม่ใช่การให้ข้อมูลแบบแบนๆ เช่น ถุงยางอนามัยคืออะไร กายวิภาคร่างกาย รังไข่ซ้ายขวา ที่พอถึงเวลาเด็กเอาไปใช้ไม่ได้เวลามีเพศสัมพันธ์ โจทย์ก็คือต้องสอนเพศวิถีศึกษาอย่างครอบคลุมทั้งด้านทัศนคติ วิถีชีวิตและทักษะที่สำคัญของเด็กหญิงและชาย โรงเรียนต้องจัดหาครูที่มีทัศนคติเปิดกว้าง มีความรู้ และพร้อมจะนั่งคุยกับเด็กและสามารถเป็นข้อมูลให้เด็กเอาไปใช้ได้จริง

สำหรับเด็กที่ตั้งครรภ์แล้ว ขอเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการว่า หนึ่ง ต้องห้ามให้เด็กออก เพราะใน พ.ร.บ. ระบุว่าสิทธิการออกเป็นของเด็ก ถ้าเขาไม่ประสงค์จะออกหรือจะย้าย เขาก็มีสิทธิที่จะเรียนอยู่ที่เดิม ถ้าเด็กไม่อยากย้ายเด็กต้องมีสิทธิที่จะเรียนต่อที่เดิม โรงเรียนก็มีวิธีการด้วยการไม่ไล่ออก แต่ให้ย้ายไปเรียนที่อื่น เด็กคนหนึ่งถูกย้ายจากโรงเรียนประจำจังหวัดไปเรียนที่ โรงเรียนมัธยมประจำตำบล ผู้บริหารชอบอ้างว่าเด็กจะได้ไม่ถูกกดดัน เครียดจากบรรยากาศเดิมๆ ครูชอบบอกว่าเด็กแพ้ภัยตนเอง แต่คนที่เราคุยด้วยก็พบว่าเด็กอยากเรียนที่เดิม เพื่อนก็ไม่เคยมีปัญหา เพื่อนรักกัน มีอะไรก็ช่วยกัน แต่เป็นผู้ใหญ่ที่กดดัน

สอง เด็กควรได้เรียนต่อ ไม่ใช่ไปพักการเรียนเขา ไม่ใช่บอกว่าดรอปเรียนไปก่อน นั่นหมายความว่าเด็กจะเรียนไม่ทันเพื่อน มันจะทำให้เด็กล้า คุณลองหยุดเรียนไปหนึ่งปีแล้วกลับไปเรียนใหม่จะรู้ว่ามันไม่ฟื้นแล้ว เพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันก็ไปหมดแล้ว โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับเด็ก เช่น ถ้าอยากเรียนจบแล้วค่อยคลอด หรือจะเรียนต่อที่บ้านเพื่อเตรียมคลอดก็ต้องวางแผนการเรียนการสอน มีกรณีเด็กมัธยมต้นรายหนึ่งที่ตั้งครรภ์ 2 เดือนทั้งที่ยังไม่มีอาการอะไรทั้งสิ้นแต่ครูก็ให้อยู่บ้านแล้วจะเอางานไปให้ทำ เด็กก็นั่งเคว้งอยู่ที่บ้านเพราะเขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรกับชีวิต แล้วลองคิดว่ากว่าจะคลอดก็คงมีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาถ้าคุณไม่สร้างแรงจูงใจให้เรียนต่อ

สาม ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนควรเป็นมิตรและเก็บความลับได้ ไม่ใช่พอครูคนหนึ่งรู้ว่าเด็กคนหนึ่งตั้งครรภ์ สิ่งที่มักทำคือถ้าไม่บอกครูประจำชั้นหรือไม่ก็รายงานไปตามลำดับชั้น แล้วก็มีเรียกประชุม กรณีตัวอย่างที่เราพบคือมีการเรียกประชุมกันตั้งแต่ระดับชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ คิดว่าจะเป็นความลับเหรอ เด็กหลายคนที่โทร. มาหาก็ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เพราะครูส่งสัญญาณมาตลอดด้วยการยกตัวอย่างเด็กที่ท้องไม่พร้อมคนอื่นๆ หมายความว่าไม่มีความลับอะไรเลย เด็กรู้กันทั้งโรงเรียนเลย เด็กเลยกลัวและบอกว่าไม่สามารถปรึกษากับครูได้เพราะว่าระบบช่วยเหลือต่างๆ ไม่เป็นมิตรกับการช่วยเหลือเด็กเลย

สุดท้าย หลายโรงเรียนที่ลงพื้นที่พบว่ามีทั้งครูที่มีทัศนคติอยากช่วยเหลือเด็กและกระแสที่คิดว่าเด็กผิด เป็นตัวอย่างไม่ดี เสียชื่อเสียงสถานศึกษา หรือเด็กไม่ควรเรียนแล้ว และพบว่ากระแสที่เสียงดังกว่ามักเป็นอย่างหลัง กระทรวงต้องมีการปรับท่าทีแบบนี้กัน ผู้บริหารของสถานศึกษาต้องมีหน้าที่ปรับทัศนคติครู จูนกันใหม่ว่าบทบาทโรงเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกเด็ก เด็กคนไหนสร้างชื่อเสียงก็ประกาศขึ้นไวนิล แต่เด็กที่พลาด มีแนวโน้มที่จะทำให้โรงเรียนอับอายยิ่งต้องช่วยให้มากที่สุด ไม่ใช่เขี่ยเขาทิ้งแล้วเอาใจแต่เด็กที่ดี โรงเรียนอย่าซ้ำเติมเด็กที่มีวิกฤติ

ระบบช่วยเหลือดูแลเด็กควรเริ่มตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่นฐานะครอบครัวของเด็ก แต่อีกเรื่องหนึ่ง ครูไม่มีทางเห็นชีวิตเด็ก ถ้าเด็กไม่รู้ว่าบอกคุณเช่นการตั้งครรภ์ แล้วคุณเป็นคนที่เด็กไว้ใจได้หรือยัง ระบบต้องสร้างครูที่น่าไว้ใจและส่งสัญญาณที่ดีพอว่าเด็กจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อเข้าไปขอคำปรึกษา อยากให้กระทรวงศึกษาธิการแสดงจุดยืนให้สถานศึกษาตระหนักถึงท่าทีที่ชัดเจนด้วย

ธิติพรกล่าวว่า เด็กกลุ่มหนึ่งไม่สามารถประเมินการตั้งครรภ์ของตัวเองได้ เช่น เด็กมัธยมต้น เช่น ไม่รู้ว่าไปทำโครงงานด้วยกันจะนำไปสู่สถานการณ์การมีเพศสัมพันธ์ อันนี้ก็ไม่ทราบว่าเป็นปัญหาที่โรงเรียนหรือครอบครัวต้องให้ความรู้อย่างไร

อีกสึ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือครูต้องหยุดละเมิดเด็ก เช่นจับตรวจปัสสาวะเมื่อคาดว่าเด็กตั้งท้อง ตนคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเด็กมากไม่ว่าจะมาจากความตั้งใจดี ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการเองต้องออกแนวปฏิบัติไม่ให้ครูละเมิดสิทธิ์ในเรื่องเหล่านี้ได้ ซึ่งถ้าดูจากสถิติการรับรู้เรื่องเด็กตั้งท้องก็เห็นอยู่ว่าครูเป็นคนที่รับรู้เรื่องเด็กท้องน้อยที่สุด ก็ไม่รู้ว่ารับรู้จากเด็กตั้งใจบอกหรือจับเด็กตรวจปัสสาวะ โดยจากนี้มีแผนว่าจะไปยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ให้ออกแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่คำพูดกว้างๆ แล้วก็ครูสามารถเอาไปตีความเองได้ เราเคยเจอครูที่ไล่เด็กออกเพราะครูบอกว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ขัดกับกฎโรงเรียน แปลว่าครูก็ยังขาดความรู้เรื่องกฎหมายด้วย เราคิดว่ากระทรวงฯ อาจจะต้องมีแนวปฏิบัติิที่เป็นรูปธรรมให้กับโรงเรียนเลยว่าถ้าพบเด็กที่ท้องไม่พร้อมแล้วโรงเรียนจะต้องทำอย่างไร

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net