Skip to main content
sharethis

สำนักข่าว S.H.A.N รายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2549 โดยอ้างจากคำให้สัมภาษณ์หนึ่งในแกนนำรัฐบาลเฉพาะกาลไทยใหญ่ ISG - Interim Shan Government เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับความเป็นมาในการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล รวมถึงความคิดเห็นทางการเมืองในปัจจุบัน


 


ผู้ให้สัมภาษณ์ได้แก่ เจ้าขุนโห่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เล่าถึงความเป็นมาในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลว่า เป็นผลมาจากการประชุมกลุ่มผู้แทนชุมชนต่างๆ ในรัฐฉาน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2546 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐฉาน ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอน้ำจ๋าง และอำเภอลายค่า เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล และในที่ประชุมได้แต่งตั้งเจ้าเสือโห่ม อดีตเจ้าฟ้าเมืองป๋อน เป็นประธานาธิบดี แต่เนื่องจากเจ้าเสือโห่ม ไม่สามารถที่จะรับหน้าที่ดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าเสือขั่นฟ้า ณ หยองห้วย บุตรชายคนโตของเจ้าฟ้าหยองห้วย ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน จนถึงปัจจุบัน


 


เจ้าขุนโห่ม ให้สัมภาษณ์อีกว่า การประชุมในครั้งนั้น เป็นไปตามการจัดเก็บประชามติของประชาชนในรัฐฉานจาก 48 เมือง ในจำนวน 56 เมือง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้สนับสนุนให้เกิดเอกราชแก่รัฐฉาน นอกจากนั้นก็มีสมาชิกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยรัฐฉาน SNLD - Shan National League for Democracy เข้าร่วมด้วย ต่อมาในวันที่ 25 เดือนมีนาคม 2547 ได้มีการประชุมขึ้นอีกครั้งที่บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นไปตามมติประชุมครั้งแรก โดยมีการคัดเลือกแกนนำสำคัญเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลทั้งหมด 17 คน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 23 คน โดย 15 คน อยู่ในพม่า ซึ่งไม่สามารถระบุชื่อได้ทั้งหมด เหตุผลด้านความปลอดภัย มีเพียง 8 คน ที่สามารถเปิดเผยชื่อ ได้แก่ 1. เจ้าเสือขั่นฟ้า ตำแหน่งประธานาธิบดี 2. เจ้าสี่ฮ่า รองประธานาธิบดี 3. เจ้าแสงแจ๊ด นายกรัฐมนตรี 4. เจ้าเครือเสือ รมต.มหาดไทย 5. เจ้าขุนโห่ม รมต.ต่างประเทศ 6. เจ้าทุนเอ รมต.กลาโหม 7. เจ้าจายยอด รมต.การคลัง และ 8. เจ้าล้อนเมือง รองรมต. มหาดไทย


 


เจ้าขุนโห่ม ได้ตอบข้อซักถามถึงความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลว่า นับตั้งแต่ออกแถลงการณ์ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2548 ที่ผ่านมา ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั่วรัฐฉาน และที่อยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนชาติคะยา อาระกัน และมอญ บางส่วน ให้การสนับสนุนเช่นเดียวกัน ซึ่งทาง ISG ได้พยายามเรียกร้องการรับรองจากหลายประเทศ และมีอย่างน้อย 3 ประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหากมีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่าการให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้านจะตามมา


 


ขณะเดียวกันเจ้าขุนโห่ม ยังได้กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า รัฐฉานจะหลุดพ้นจากการปกครองรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในเร็วๆ นี้ ซึ่งเขาได้เปิดเผยอีกว่าหากแผนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามดังที่คาดไว้ ทาง ISG ได้เตรียมแผนอื่นรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อย


 


ต่อข้อถามที่ว่า ปัจจุบัน ISG มีกำลังทหารประมาณเท่าใดนั้น เจ้าขุนโห่ม เปิดเผยว่า กองกำลังชนชาติ


 


ต่างๆ ในรัฐฉานที่ยังไม่ได้มอบตัวให้กับรัฐบาลพม่า ถือว่าเป็นกำลังอิสระทั้งหมด ซึ่งจะสามารถให้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้


 


ส่วนความร่วมมือกับกองกำลังไทยใหญ่ SSA-S มีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น เจ้าขุนโห่มตอบว่า ที่ผ่านมาได้พยายามที่จะพบปะเพื่อให้เกิดความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายแล้ว 8 ครั้ง แต่ทางฝ่าย SSA-S ยังไม่พร้อม อีกทั้งที่ผ่านมา SSA-S ได้กล่าวหาตนว่า ทรยศต่อกองทัพ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2537 - 2547 ตนได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพรัฐฉาน SSA-S ซึ่งในความเป็นจริง ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการการเมือง ตนตั้งใจที่จะทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าเฉพาะกลุ่ม ขณะที่บางกระแสกล่าวหาตนว่าเป็นผู้ชักชวน พ.ท.เมืองจื้น ผบ.กองพลน้อยที่ 758 ของ SSA-S พร้อมด้วยทหารในสังกัดเข้าร่วมกับ ISG ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะตั้งแต่ ISG ยังไม่ประกาศจัดตั้งรัฐบาล ทาง SSA-S ก็เริ่มมีความแตกร้าวภายในอยู่ก่อนแล้ว


 


อย่างไรก็ตามเขาเชื่อมั่นว่า ทั้ง SSA-S และ ISG จะปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันในเร็วๆ นี้ อีกทั้งหวังว่าจะได้ร่วมมือกันต่อไป ขณะเดียวกันเขาได้แสดงความเห็นถึงอนาคตการเมืองรัฐฉานอีกว่า ทุกชนชาติที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานจะต้องได้รับความเสมอภาค และอาจเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหพันธรัฐฉาน (Federated Shan State) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมแทนรัฐฉาน (Shan State) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากในรัฐฉานมีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ ส่วนการปกครองจะให้เป็นไปตามความเห็นชอบของประชาชนเป็นหลัก


 


พร้อมกันนั้น เจ้าขุนโห่มได้กล่าวถึงนโยบายหลักของ ISG ว่ามีอยู่ 6 ประการ ได้แก่ 1. พยายามหาเห็นชอบจากต่างประเทศ 2. เพื่อให้กองทัพพม่าถอนกำลังออกจากรัฐฉาน ภายใต้การนำของ UN 3. เพื่อจัดการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม 4. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญรัฐฉาน 5. เพื่อกวาดล้างยาเสพติด และ 6 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชานรัฐฉาน พร้อมจัดหาที่อยู่ที่ทำกินให้กับผู้อพยพหนีภัยสงครามที่กลับสู่มาตุภูมิ


 


ทั้งนี้ รัฐบาลเฉพาะกาลไทยใหญ่ ISG จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยจากหลายๆ ฝ่าย จากนั้นในวันที่ 17 เม.ย. 48 ได้ประกาศรัฐฉานเป็นเอกราช อีกสองวันต่อมารัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ประกาศว่า ISG เป็นรัฐบาลนอกกฎหมาย ขณะที่พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย NLD ของนางอองซาน ซูจี ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านรวมทั้งประณามการจัดตั้ง ISG อีกทั้งพรรคสันนิบาตชาติไทยใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNLD ประกาศคัดค้านไม่เห็นด้วยเช่นกัน ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย. 48 กองพลน้อยที่ 758 ของ SSA-S นำโดยพ.ท. เมืองจื้น ประกาศให้การสนับสนุนและเข้าร่วมกับ ISG


 


ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2548 ทหารพม่าได้นำชาวบ้านทั่วรัฐฉานชุมนุนคัดค้านการจัดตั้งรัฐบาลของ ISG พร้อมส่งกำลังทหารหลายกองพันเข้าในเขตพื้นที่กองพลน้อยที่ 758 และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมากองทัพพม่าได้ส่งบก.ควบคุมหน่วยยุทธการทหารที่ 5 ที่ประจำอยู่ในรัฐอาระกัน เข้าไปในรัฐฉาน เพื่อกวาดล้างกองพลน้อยที่ 758 ซึ่งทั้งหมดนี้คือความเป็นมาของรัฐบาลเฉพาะกาลไทยใหญ่ หรือ ISG [Interim Shan Government] ในปัจจุบัน


 


--------------------------------------------------------------------------------


ข่าวทั้งหมดแปลและสรุปความโดยสำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N (Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ข่าวสาละวิน (Salween News Network) ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chuem@cm.ksc.co.th และ snn_news@cm.ksc.co.th พร้อมติดตามอ่านข่าวสารย้อนหลังรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่าภาคภาษาไทยได้ที่ www.salweennews.org ภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net