Skip to main content
sharethis

นับเป็นความพยายามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อีกระลอกในการผลักดันโครงการการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ภายใต้ชื่อ "โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่" ที่มีกำหนดจะดำเนินการขึ้นกว่า 10,866 หมู่บ้านจาก 70 จังหวัดทั่วประเทศ

โครงการดังกล่าวเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2547 และเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2547 ที่ผ่านมา ที่ได้เห็นชอบโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติระบุว่า "ต้องการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานปฏิบัติหลักคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช "

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพื้นที่เป้าหมายการดำเนินโครงการจะมีมากถึง 10,866 หมู่บ้านจาก 70 จังหวัดทั่วประเทศนั้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวทางสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 12 (เดิม) ได้คัดเลือกพื้นที่หมู่บ้านห้วยปลาหลด หมู่ 8 ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินการโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อช่วงเดือน ก.ย.2547 ที่ผ่านมานี้

ห้วยปลาหลด หนูทดลองของกระทรวงทรัพย์ฯ

หมู่บ้านห้วยปลาหลดเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลาหู่ (มูเซอ) ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ห่างจากตัวจังหวัดตากไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอดประมาณ 35 กิโลเมตร จนถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 28 เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร

หมู่บ้านแห่งนี้ถือเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวน 354 คน 122 หลังคาเรือน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและค้าขายสินค้าเกษตรที่ปลูกขึ้นได้เองโดยมีตลาดขายสินค้าที่สำคัญคือตลาดดอยมูเซอตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหมู่บ้านห้วยปลาหลดจะถูกประกาศเป็นหมู่บ้านต้นแบบของโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่มาตั้งแต่เดือน ก.ย.2547 ที่ผ่านมา ทว่าปัจจุบันชาวบ้านกลับรู้รายละเอียดในโครงการดังกล่าวน้อยมาก

"ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่คืออะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร ชุมชนจะได้และเสียอะไรจากโครงการนี้ ปัจจุบันชาวบ้านวิตกกันว่าหากโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไปโดยที่ชุมชนไม่รู้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ แล้ว เท่ากับว่า " ชาวบ้านห้วยปลาหลดตกอยู่ในสภาวะเป็นหนูทดลองให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยที่ชุมชนไม่มีโอกาสรับรู้ว่าโครงการนี้ในอนาคตจะสร้างปัญหาใดๆ ขึ้นบ้าง

ป่าไม้แผนใหม่ ความพร่ามัวที่รอคำอธิบาย

แม้ว่าคำชี้แจงต่อรายละเอียดโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ยังไม่มีการอธิบายต่อชุมชนห้วยปลาหลดอย่างชัดเจนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ แต่ในทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมากลับมีคำสั่งจากทางอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชออกมาว่า " ให้ชาวบ้านห้วยปลาหลดลดพื้นที่ทำกินลงโดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่โดยอ้างว่าการปลูกข้าวไร่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ "

คำสั่งดังกล่าวสร้างความระส่ำระส่ายแก่ชุมชนที่นี่เป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงในวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ และที่สำคัญคำสั่งดังกล่าวชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแต่อย่างใด

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯยังมีการรังวัดและปักหมุดแนวเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อไม่ให้เพิ่มขยายมากขึ้น กรณีดังกล่าวสร้างความวิตกแก่ชาวบ้านห้วยปลาหลดเป็นอย่างมากเพราะวิตกว่าแท้จริงแล้วโครงการนี้ต้องการอะไรกันแน่ เพราะหากยังดำเนินไปตามแนวทางดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านได้

"นายจักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด " เปิดเผยว่า เท่าที่ตนทราบรายละเอียดของโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่คือเป็นโครงการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งดำเนินงานตามแนวพระราชดำริฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งแนวคิดนี้โดยภาพรวมตนเห็นว่าดี แต่ปัจจุบันการเข้ามาดำเนินการของทางป่าไม้กลับไม่มีการชี้แจงรายละเอียดใด ๆ ในตัวโครงการให้ชาวบ้านรับรู้ว่าโครงการนี้จะทำอะไรกับชุมชน ชุมชนต้องปรับตัวอย่างไร และชุมชนจะได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง

แม้ว่าโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่จะประกาศนำร่องที่บ้านห้วยปลาหลดมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2547 แต่ปัจจุบันคนห้วยปลาหลดเกือบทั้งหมดแทบไม่รู้เรื่องเลยว่าโครงการนี้เขาจะทำอะไรกันบ้าง ชาวบ้านเห็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาที่หมู่บ้านเพียงครั้งเดียวตอนมาเปิดป้ายโครงการและบอกชาวบ้านเพียงว่าให้ลดพื้นที่ทำกินลงเท่านั้น กรณีนี้ชาวบ้านต่างวิตกกันว่าอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่จะเกิดขึ้นจากโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่นี้ปัจจุบันที่พอเห็นเค้าลางคือความมั่นคงในที่ดินทำกินของชาวบ้านที่จะต้องลดลง เนื่องเพราะมีการจำกัดที่ดินทำกิน

""ผมมองว่าทางราชการที่คิดระบบอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าไม่มีการเตรียมการรองรับที่รัดกุมชาวบ้านก็จะลำบาก ถ้าเตรียมการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดชาวบ้านก็ไม่ต้องรับภาระมาก เพราะรู้และเข้าใจมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งโดยหลักการโครงการหมู่บ้านแผนใหม่ให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนแต่เมื่อชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกินเช่นนี้แล้ว ผลสุดท้ายเหลือแต่ป่าคนตายหมด" " ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลดกล่าว

แนวคิดสวนทางการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาวัตถุประสงค์ของโครงการนี้จะเห็นว่าต้องการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน

แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะเห็นได้ชัดเจนว่าโครงการนี้เบียดขับชุมชนห้วยปลาหลดในมิติของการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกรณีการรังวัดและปักหมุดพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อแบ่งแยกพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นพบว่า พื้นที่บางส่วนที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงปักหมุดแบ่งเป็นเขตป่าไป ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

ดังนั้น กรณีดังกล่าวทำให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านลดน้อยลง และนั่นย่อมส่งผลกระทบไปถึงความมั่นคงในครอบครัวด้วย

ปัญหาดังกล่าว ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด มีข้อเสนอแนะว่า โครงการนี้ในแง่หลักการถือว่าดีแต่ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้คงต้องทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดเจตนารมณ์ของโครงการให้มากกว่านี้ และก่อนเปิดโครงการควรมีการลงพื้นที่ศึกษาบริบทวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ของชุมชนก่อน ไม่ใช่นึกอยากจะทำก็ทำหรือทำไปอย่างผิดหลักการอย่างที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านห้วยปลาหลดแห่งนี้

นอกจากนี้ ก่อนจะประกาศโครงการนี้ทั่วประเทศต้องเตรียมแผนรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนให้ชัดเจน เช่น ปัญหาที่ทำกิน อาชีพ ส่วนเรื่องการดูแลรักษาป่าชาวบ้านโดยเฉพาะคนบนพื้นที่สูงนั้นมีชีวิตอยู่กับป่า ดูแลรักษาป่าอยู่แล้ว จะให้คนออกจากป่าคงไม่ได้

เสียงจากคนห้วยปลาหลด

"นายไพรรัตน์ กีรติยุคคีรี สมาชิก อบต.ห้วยปลาหลด " กล่าวว่า ชาวบ้านจำนวนมากมีความสับสนในเจตนารมณ์ของโครงการนี้ที่ต้องการหยุดยั้งการทำลายป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้เพราะ ชุมชนห้วยปลาหลดตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้มานับร้อยปีมีการจัดการดูแลรักษาป่าอย่างดีมาโดยตลอด สังเกตได้จากสภาพป่าบริเวณหมู่บ้านรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงยังอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์มากจะมีหรือไม่มีโครงการนี้ชาวบ้านก็จัดการป่ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

"ผมเห็นว่าในแง่การรักษาป่าหรือการอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างยั่งยืนนั้น โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่จะมีหรือไม่มีก็ค่าเท่ากัน เพราะเรื่องนี้ชาวบ้านทำมานานแล้ว และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียด้วย" นายไพรรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้ความเป็นต้นแบบขึ้นที่หมู่บ้านห้วยปลาหลดไปอย่างเงียบ ๆ แต่เสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ในแง่มุมต่าง ๆ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องพิจารณาและนำไปปฏิบัติ

ทั้งนี้เพราะหากเกิดความผิดพลาดล้มเหลวขึ้นมา ต้องไม่ลืมว่ายังมีอีกกว่า 10,865 หมู่บ้านที่จ่อคิวเข้าสู่โครงการดังกล่าว

อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net