Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 มี.ค 48 นักวิชาการชี้ไทยไม่ทันเกมจีน ทำนิคมอุตสาหกรรมเชียงราย แฉจีนวางแผนเปลี่ยนเชียงราย เป็นประตูสู่ตอนใต้-ทำเกษตรอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำโขง

"ผมเชื่อว่าซีอีโอของไทยตามไม่ทัน เพราะจีนสร้างเส้นทางการค้าทางบกเรียบร้อยแล้ว ส่วนการที่บอกว่าจะระเบิดแก่งจากเชียงแสนไปเชียงของไปหลวงพระบาง คงเป็นไปได้ยาก เพราะว่าทำแล้วไม่คุ้มทุน" รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระกล่าว

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์มนุษย์วิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) จัดการประชุมมานุษยวิทยาครั้งที่ 4 เรื่อง "วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง" ซึ่งในเวทีย่อยมีการบรรยายเรื่อง "เชียงของ : การเปลี่ยนแปลงการค้าที่ชายแดน"

รศ.ศรีศักดิ์ อธิบายว่า เหตุผลที่จีนเลือก จ.เชียงรายเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่รองรับการเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นหนึ่งในเส้นทางระบายสินค้าขอจีน

ในขณะที่จีนกำลังวางแผนให้คนไทยหลงเชื่อว่า เราจะเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้ แต่แท้
จริงแล้วการที่จีนมุ่งมาทางเชียงราย และเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ เพราะหวังให้เป็นทางผ่านเข้าสู่พม่าต่อไปยังมาเลเซีย ดูได้จากการที่จีนพัฒนาท่าเรือที่เชียงแสนและเชียงของ เพื่อเป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากจีนก่อนลำเลียงไปยังประเทศที่3

ด้านนางโสภิดา วีระกุลเทวัญ นักวิจัยอิสระ ระบุว่า ผลการวิจัยเรื่องเมืองเชียงของ การค้า ชาติพันธุ์และพรมแดนทางวัฒนธรรมชายแดน พบว่า ชาวเชียงของกำลังผจญกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่น จากทุนใหญ่โดยที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน

อำเภอเชียงของเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงรายอยู่ในบริเวณชายแดนไทย - ลาว โดยรัฐบาลไทยได้พัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและจีน และกำหนดให้เชียงของเป็นเมืองท่าสำหรับขนส่งสินค้าแทนเชียงแสนที่ถูกคัดค้าน ทำให้เชียงของเกิดโครงการขนาดใหญ่หลายๆ โครงการ เช่น โครงการระเบิดแก่ง และโครงการสร้างสะพานเชียงของข้ามไปลาว แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ลงมือสร้าง

ทั้งนี้นักวิจัยได้ยกตัวอย่างกรณีการสร้างท่าเรือบั๊ค หรือท่าเรือหัวเวียง ซึ่งงานวิจัยพบว่า เป็นเงื่อน ไขที่สำคัญต่อการจัดการความสัมพันธ์ของผู้คนในเขตการค้าเมืองเชียงของ โดยผลทำให้ท่าเรือบ้านสบสม ซึ่งเดิมทีเป็นท่าเรือดั้งเดิมของชาวบ้านหมดความสำคัญ เพราะท่าเรือไม่สามารถใช้เคลื่อนย้ายสิ่งของและผู้คนอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

นางโสภิดากล่าวว่า ชาวเชียงของที่มีทุนน้อยไม่สามารถทำการค้าได้ ส่วนคนที่มีทุนมากสามารถเข้าถึงช่องทางการค้าได้มากกว่า เพราะสามารถมีอำนาจต่อรองและใช้ช่องทางการค้าที่ถูกควบคุมโดยรัฐได้ ซึ่งการที่รัฐเข้ามาควบคุมทำให้ผู้ค้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ค้ารายย่อยก็ยังมีการค้าขายผ่านท่าเล็กๆ น้อยๆ โดยใช้ความสัมพันธ์ของชาติพันธุ์ และเครือญาติของชาวบ้านทั้งสองฝากฝั่งไทย - ลาวเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้รอดพ้นหรือหลีก เลี่ยงกับอำนาจรัฐได้

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net