Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางการเฉลิมฉลองการบังคับใช้พิธีสารเกียวโต ซึ่งมุ่งจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมทั่วโลกจึงต้องวิตกกังวลกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกกันมากมาย

หากเราดูตามรายงานคณะกรรมการนานารัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในสังกัดยูเอ็นจะพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยวของโลกเพิ่มขึ้นราว 0.6 องศาเซลเซียส จากปี 1900 ไปจนถึงปี 1990 และน่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก 5.8 เซลเซียสเมื่อถึงปี 2100 ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นไปในอากาศ

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ใช่เพียงจะทำให้มนุษย์โลกรู้สึกร้อนขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบอย่างน่ากลัวต่อโลกนี้ในอีกหลายๆ ด้าน สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกชีวิตบนโลกนอกเหนือจากมนุษยชาติด้วย

ข้อมูลของกรีนพีซระบุว่าหากอุณภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.4-5.8 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 14-90 เซนติเมตร เอาแค่น้ำทะเลสูงขึ้น 50 เซนติเมตร ก็จะกระทบกับประชากรโลกประมาณ 92 ล้านคน เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 1 เมตร จะทำให้อียิปต์เสียที่ดินเพิ่ม 1% เนเธอร์แลนด์ 6% บังคลาเทศ 17.5% และหมู่เกาะฮูโรในเกาะมาร์แชล 80% ยังไม่นับรวมความเสียหายของระบบนิเวศน์ชายฝั่ง การรุกล้ำของน้ำเค็ม

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยประเมินผลกระทบต่อประเทศไทยว่า มีความไปได้ว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเกิดอุทกภัยที่ถี่ขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่ราบลุ่ม เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของระดับน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งของกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตรเท่านั้น ระดับการรุกของน้ำเค็มจะเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม และยังเสี่ยงต่ออุทกภัยอย่างมาก

ตัวอย่างอื่นๆ ของพื้นที่ที่จะได้รับความเสียหาย คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานีหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 1 เมตร พื้นที่ร้อยละ 34 ของจังหวัดจะถูกกัดกร่อนและพังทลาย ก่อให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่การเกษตรและนากุ้งอย่างมาก

ข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว และส่งผลถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรงในทุกภูมิภาคทั่วโลก
• นับจากปี พ.ศ. 2393 เป็นต้นมา พื้นที่ Alpine Glaciers ในทวีปยุโรปลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาลของสหรัฐคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 ธารน้ำแข็งจะละลายหมดไปจาก Montana's Glacier National Park
• ปลาแซลมอนที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนเหนือลดจำนวนลงอย่างมากเนื่องจากน้ำทะเลในบริเวณนั้นร้อนขึ้นกว่าปกติถึง 6 องศาเซลเซียส
• ทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้นกทะเลหลายร้อยตัวจากจำนวนนับพันบริเวณชายฝั่งแคลิฟอเนียตายลงเนื่องจากขาดแคลนอาหาร
• ปะการังทั่วโลกกำลังถูกทำลายจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ และถ้าอัตราการทำลายยังคงที่ในระดับปัจจุบัน แนวปะการัง Great Barrier Reef ทั้งหมดอาจจะตายได้ภายในหนึ่งชั่วอายุคน
• มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นรังสีความร้อนเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังตัวอย่างในเมืองชิคาโก เอเธนส์ และนิวเดลี
• ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อทุกประเทศที่มีพื้นที่
ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก ทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดีย เช่น เกาะตูวาลู ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฟิจิ ประชากรกว่า 10,000 คน ต้องอพยพไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจนท่วมที่อยู่อาศัย
• ยุโรปกลางเกิดน้ำท่วมครั้งที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษถึง 3 ครั้งภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำฝนได้เพิ่มขึ้นเพราะอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดตามมา
• การเพิ่มจำนวนของพายุเฮอริเคน
• น้ำท่วม ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น มาลาเรีย ซึ่งจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหามาก่อน อันจะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร และเกิดความขัดแย้งในระดับภูมิภาคเนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติ
• ป่าไม้ของโลกจำนวนหนึ่งในสามอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกทำลาย เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยป่าไม้เพื่อความอยู่รอด

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ*
สาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนกว่าร้อยละ 80 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของ CO2ในชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการเปลี่ยนแปลงของ CO2 ในช่วง 10,000 ปี ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมว่ามีไม่ถึงร้อยละ 10 และธรรมชาติสามารถปรับตัวให้สมดุลกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ แต่ในช่วงระยะเวลาเพียง 200 ปีที่ผ่านมาระดับ CO2 ได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 30 ถึงแม้บางส่วนจะถูกดูดซับไปโดยมหาสมุทรและพืช แต่ปริมาณ CO2 ก็ยังคงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในทุกๆ 20 ปี ซึ่งขณะนี้มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากที่สุดในรอบ 420,000 ที่ผ่านมา

ใครปล่อย CO2
ปี พ.ศ.2541 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) ปล่อย CO2 รวมกันถึง ร้อยละ 79 ของปริมาณที่ปล่อยจากประเทศที่พัฒนาแล้ว 25 ประเทศ (OECD) ในปี พ.ศ.2542 กลุ่มประเทศ G8 ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ และรัสเซีย ได้ปล่อย CO2 รวมกัน คิดเป็นร้อยละ 48.7 ของการปล่อยจากทั่วโลก

*ข้อมูลจากเว็บไซต์ WWF Thailand

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net