Skip to main content
sharethis

นายเดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในเวทีสัมมนาโต๊ะกลม "ชำแหละ ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….."
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548

=================================

สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ข้าพเจ้าในฐานะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้ทำการศึกษาพร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวโดยละเอียด และมีความเห็นว่า การดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอเสนอประเด็นข้อห่วงใยดังกล่าวโดยจำแนกเป็น 5 ประเด็นด้วยกันคือ

1. กระบวนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เนื่องจากร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้เปิดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมกว้างขวาง ทั้งเพื่ออุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงอาจจะกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง กระบวนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงควรมีความรอบคอบ โปร่งใส และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาได้เต็มที่

แต่ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้ กลับกำหนดไว้เพียงแต่ว่า "ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา" (ม.16) และก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบในร่างพระราชกฤษฎีกาให้ "ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทราบ " (ม.16) โดยไม่มีการกำหนดกระบวนการในการพิจารณาหรือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่า การกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุให้สำนักงานฯ ทำหน้าที่ "ศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขต ผลกระทบและความคุ้มค่าในประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ" (ม.12) แต่ก็เป็นไปเพื่อ "เสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย" (ม.16) เท่านั้น มิได้ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่อย่างใด และการระบุถึงผลกระทบก็มิได้เน้นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจนด้วย

เช่นเดียวกับการระบุในม.13 (3/1) ให้สำนักงานฯ มีหน้าที่ "ให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในพื้นที่ เพื่อประกอบการศึกษาวิเคราะห์ และ เสนอแนะแนวทางป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบ ต่อประชาชนในพื้นที่ทังก่อนและหลังการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ" แต่การให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ก็มิได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ขณะเดียวกัน การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวก็มีขึ้นเพียงเพื่อเสนอแนะแนวทางป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบต่อประชาชน มิใช่ประกอบการตัดสินใจในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเปิดให้เฉพาะประชาชนในพื้นที่เท่านั้น ทั้งๆ ที่ผลกระทบจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ย่อมส่งผลต่อประชาชนนอกพื้นที่ด้วยเช่นกัน กรณีมลพิษทางอากาศจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ในทางวิชาการ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) เพื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถ (Carrying Capacity) ความเหมาะสม และความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคำว่า "พื้นที่" นี้ก็มิได้หมายถึงเฉพาะพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หมายรวมถึงระบบภูมินิเวศน์หรือระบบฐานทรัพยากร (เช่น ลุ่มน้ำ) หรือภูมิภาค เพื่อป้องกันมิให้การจัดตั้งและการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจไปสร้างหรือก่อให้เกิดผลกระทบทั้งกับประชาชนภายใน และ ภายนอก พื้นที่ ซึ่งใช้ทรัพยากรและชีวิตร่วมกันอยู่

แต่ปรากฏว่า ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจนอกจากจะมิได้กำหนดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ หรือแผนอื่นๆ ของจังหวัด ให้สอดคล้องและเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ" (ม.21)

ดังนั้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามร่างพ.ร.บ.นี้จึงขาดกระบวนการที่รอบคอบ โปร่งใสและมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตจะไม่ครอบคลุมถึง "แนวทางป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบต่อประชาชน" แต่กลับระบุถึง "สิทธพิเศษที่ผู้ประกอบการหรืออยู่อาศัยจะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้" (ม.17(5))

2. กิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ให้อำนาจเขตเศรษฐกิจพิเศษในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากมาย รวมถึงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อาทิต

• การถมทะเล (ม.50(2)) โดยจะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการนโยบาย แล้ว (ม.29)
• การครอบครอง พัฒนาหรือใช้ประโยชน์ หรือจัดหาประโยชน์ในเขตป่า สงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตอุทยานแห่งชาติได้ตามความจำเป็น "แต่ต้องไม่ทำให้สภาพแห่งป่าดังกล่าวต้อง เสียหายจนเกินสมควร" (ม.30) โดยที่การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องถูกปรับให้ "สอดคล้องกับแผนและแนวทางการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษ" (ม.30)
• การสิ้นผลบังคับผังเมืองเดิม (ม.32) และการจัดทำผังเมืองได้เองตามกฎหมายผังเมือง (ม.50(3))
• การจัดระบบชลประทาน เพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรม หรือเพื่อใช้ในการบริโภค หรือการอุตสาหกรรม (ม.50(9)) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ และระบบนิเวศน์ทางน้ำของพื้นที่อื่นๆ
• การประกอบกิจกรรมอื่นๆ ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การอุตสาหกรรม การสร้างที่อาศัย หรือการท่องเที่ยว

ดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจสร้างผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน แต่การดำเนินการดังกล่าวกลับไม่มีกระบวนการในการพิจารณาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมใดๆ เลย (ยกเว้นการถมทะเล) รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้การจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม การจัดระบบชลประทาน และการจัดสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน

ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการนโยบายฯ ในการอนุมัติการถมทะเล แทนที่จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามกฎหมายเดิม ซึ่งในอนาคต การให้อำนาจแก่เขตเศรษฐกิจพิเศษในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะกลายเป็นช่องโหว่สำคัญในการคุ้มครองสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

3. การวิเคราะห์และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

การวิเคราะห์และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการที่สำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสภาพแวดล้อม ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยเป็นกระบวนการที่จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ร่วมกับการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชน

แต่ต่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษกลับระบุให้ "การดำเนินการ หรือการกระทำการใดภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีกฎหมายใดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำจะต้องได้รับอนุมัติ อนุญาตหรือใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้น" สามารถ "ได้รับอนุมัติ อนุญาตหรือใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจาก ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ" โดยถือว่า "ผู้ดำเนินการหรือผู้จะกระทำนั้นได้รับอนุมัติ อนุญาตหรือใบอนุญาตหรือความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นแล้ว" (ม.52)

ดังนั้น จึงเท่ากับว่า "ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้ที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น" ทั้งนี้ โดยที่จะต้อง "ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายนั้น และแจ้งให้ส่วนราชการและคณะกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทราบ" (ม.52)

ถึงแม้ว่าร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการระบุให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด แต่การพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับหลักวิชา โดยอาศัยความชำนาญของผู้ชำนาญการแต่ละด้านประกอบกับความเห็นของประชาชน ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ และของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ในกรณีที่เป็นโครงการของรัฐ)

ดังนั้น การยกอำนาจในการพิจารณาดังกล่าวให้ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้มีอำนาจเต็ม จึงถือเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาดและการขาดความรอบคอบในการวิเคราะห์ การจัดทำ และการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากการพิจารณาในขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปโดยขาดความชำนาญ ความถูกต้องและความรอบคอบแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก

4. การลดทอนอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญมนการรักษาและส่งเสริมสภาพแวดล้อมภายในท้องถิ่นของตน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด โดยปัจจุบันกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.เหมืองแร่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ในกรณีของกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) เป็นต้น ได้ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการอนุมัติ อนุญาต หรือให้ความเห็นชอบในการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงการยับยั้งการดำเนินการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือก่อเหตุรำคาญแก่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบ

แต่ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้กลับระบุว่า "บรรดาอำนาจการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ถือว่า "เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารด้วย"

ซึ่งเท่ากับว่าการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งของคณะกรรมการบริหาร ถือเป็น "การอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ไปโดยปริยาย (ม.55)

ดังนั้น อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงถูกลดทอนลงอย่างชัดเจน เพราะผู้ดำเนินการหรือผู้ประกอบการสามารถที่จะไปขอนุมัติ อนุญาต หรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมากรเขตเศรษฐกิจพิเศษแทนได้

ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เห็นด้วย หรือมีแนวโน้มจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และถึงแม้ว่าผู้บริหารหรือหัวหน้าคณะผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารอยู่ด้วย ก็เป็นเพียง "2 เสียง" จากกรรมการทั้งหมดไม่เกิน 10 คนเท่านั้น (ม.35)

ยิ่งไปกว่านั้น ในม.57(1) ยังได้มีการระบุว่า "ภายในเขตพื้นที่ที่เป็นที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษให้องค์กรส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เฉพาะส่วนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษร้องขอ" หรือแม้กระทั่งภายในเขตพื้นที่ที่มิได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเขตเศรษฐกิจประสานการดำเนินการให้สอดคล้องกัน ในกรณีที่มีปัญหาให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาวินิจฉัย"

ดังนั้นอาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ถูกลดทอนอำนาจของตนในการคุ้มครองสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนลงเกือบสิ้นเชิง ทั้งในกระบวนการพิจารณาอนุมัติก่อนการดำเนินการ และการใช้อำนาจควบคุมหลังการดำเนินการแล้ว แม้กระทั่งในพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังต้องประสานให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่ตั้งขึ้นตามร่างพ.ร.บ.นี้

5. การคานอำนาจหรือการสอบทานตามหลักธรรมภิบาล

ธรรมาภิบาลเป็นหลักการที่สำคัญมากในการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้อำนาจกับคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบาย ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และคณะกรรมการบริหาร ในการดำเนินการแทนหน่วยงานตามกฎหมายอื่นๆ หรือลดทอน

อำนาจของกฎหมายอื่นๆ ลงเป็นอย่างมาก ดังนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวจึงจะต้องเป็นไปโดยโปร่งใส และมีการคานอำนาจหรือสอบทานซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับละเลยการสอบทานซึ่งกันและกันตามหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว ดังจะเห็นในมาตรา 56 ที่ระบุว่า " ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมาย เห็นว่า การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 51 มาตรา52 หรือมาตรา 55 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้หน่วยงานรัฐ คณะกรรมการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น แจ้งให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องหรือเหมาะสมต่อไป ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายวินิจฉัย และเมื่อคณะกรรมการนโยบายวินิจฉัยเป็นประการใด ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการให้เป็นเช่นนั้น

จะเห็นได้ว่า การระบุดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืนยันการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยปราศจากการสอบทานจากองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะแทนที่เมื่อมีการขัดกันในการใช้อำนาจตามกฎหมายระหว่างกฎหมายอื่นๆ กับกฎหมายนี้ จะใช้องค์กรที่เป็นกลางในการตัดสินกลับใช้คณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งเป็นกลไกตามร่าง พ.ร.บ.นี้ และเป็นผู้เสนอแนะต่อคณะ
รัฐมนตรีในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ(ม.10(2)) เป็นผู้พิจารณาชี้ขาด อนึ่ง ประเด็นการขาดการคานอำนาจและการสอบทานซึ่งกันและกันเช่นนี้ ยังพบได้ในมาตราอื่นๆ เช่น ในมาตรา 21 หรือมาตรา 57 ซึ่งได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายฯ จะพบว่า ในจำนวนรัฐมนตรีที่เป็นกรรมการนโยบายทั้งสี่ท่าน(ไม่รวมนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี) ก็มิได้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมเป็นกรรมการด้วย ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิอีก7-10 คน ก็ระบุไว้เพียงว่า " เป็นบุคคลผู้ทรงความรู้และเชี่ยวชาญอันจะยังประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ" (ม.17) โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขความเชี่ยวชาญในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย เช่นเดียวกับ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจแต่ละเขต(ซึ่งกำหนดให้ไม่เกิน 15 คน) ก็มิได้กำหนดเงื่อนไขความเชี่ยวชาญในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า ข้อห่วงใยในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลางจะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมจากคณะกรรมการ นโยบายฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการผลักดันและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

6 สรุป

จากที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบนี้ ได้ทำให้มิติและกระบวนการทางสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ในกระบวนการพัฒนาถูกลดทอนความสำคัญลงไปอย่างมาก โดย(1) มิได้มีการกำหนดกระบวนการและเกณฑ์การพิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้อย่างชัดเจน (2) ให้อำนาจแก่เขตเศรษฐกิจพิเศษในการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (3) ให้อำนาจแก่ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(4) ลดทอนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนลง และ (5) มิได้สร้างระบบกาสอบทานการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.

ดังนั้นจึงสรุปว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยที่มิได้มีกลไกป้องกัน คุ้มครอง แก้ไขและรับผิดชอบที่รอบคอบรัดกุมและเป็นธรรมเพียงพอ น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกับประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ในที่สุด และเมื่อก่อผลกระทบดังกล่าวขึ้นแล้ว ก็จะมีความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ปัญหามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net