Skip to main content
sharethis

เมื่อ 14 ปีที่แล้ว สถาปนิกหนุ่มวัย 36 ปี ตัดสินใจลาจากกรุงเทพมหานครบ้านเกิด ขึ้นมาปักหลักทำมาหากินที่เชียงใหม่ หลังจากเทกโอเวอร์กิจการโรงงานอุตสาหกรรมผลิตของเล่นเด็กจากไม้แห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง

การเบนเข็มมาสู่บทบาทนักธุรกิจของเขา ถูกสั่งสมประสบการณ์จากอาชีพสถาปนิก ที่คิดหางานเสริมรายได้ด้วยการรับออกแบบของเล่นเด็กจากไม้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และฝึกทักษะเด็ก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง และมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานด้านดีไซน์ในต่างประเทศหลายครั้ง จึงเริ่มมองเห็นโอกาสและช่องทางเติบโตของตลาด ความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่นในด้านการออกแบบของเขา ทำให้การก่อตัวของธุรกิจ "ลานนาวู้ดเด้นโปรดักส์" เริ่มต้นขึ้นนับแต่บัดนั้น พร้อม ๆ กับเจ้าของกิจการที่ชื่อ "ณพงษ์ สงวนนภาพร"

แม้วันนี้ธุรกิจอุตสาหกรรมของเล่นเด็กจากไม้ ซึ่งเปรียบดั่งเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเขาและคนในองค์กรมาตลอดระยะเวลา 14 ปี จะกลายเป็นดาวที่ลดแสงความเจิดจ้าลงไปมาก และอาจเทียบรัศมีที่แจ่มจรัสของธุรกิจดาวรุ่งหลายธุรกิจในยุคนี้ไม่ได้ก็ตาม แต่ด้วยเพราะความเป็นมืออาชีพที่สามารถบริหารจัดการธุรกิจโดยองค์รวม เขาจึงสามารถฝ่าวงจรอุปสรรคและทำให้ธุรกิจที่เขาสร้างมากับมือลอยติดลมบนอยู่ได้ตราบวันนี้ กระนั้นเขาก็ยังไม่กล้าที่จะบอกว่านี่คือจุดแห่งความสำเร็จ เพราะทุกธุรกิจล้วนมีวงจรชีวิตที่ยังต้องเฝ้าดูกันต่อไป

จากสถาปนิกผันสู่นักธุรกิจ

หลังจากรับงานเสริมออกแบบของเล่นเด็กจากไม้ของบริษัทแห่งหนึ่งได้พักใหญ่ ๆ "ณพงษ์" เริ่มมองเห็นช่องทางการเติบโตของธุรกิจนี้มากขึ้น แม้ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน แต่มั่นใจในจุดแข็งที่มีอยู่คือ "ความสามารถด้านการออกแบบ" เขาไม่รีรอที่จะทำฝันให้เป็นจริง เขาเริ่มติดต่อหาโรงงานที่จะผลิตสินค้าให้ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะโรงงานหลายแห่งต่างก็ผลิตสินค้าของตัวเองแทบจะไม่ทันอยู่แล้ว เขาจึงคิดที่จะสร้างโรงงานเล็ก ๆ เพื่อผลิตสินค้าเอง โดยมุ่งหน้ามายังภาคเหนือ เพราะมีความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบและแรงงานฝีมือ และเหมือนโชคเข้าข้าง ช่วงนั้นเองโรงงานผลิตของเล่นเด็กจากไม้แห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง กำลังจะเลิกผลิต เขาจึงสบโอกาสเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการต่อด้วยเงินทุนไม่กี่ล้านบาท พร้อมกับทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการออกแบบสินค้าของตัวเองอย่างเต็มที่และจริงจัง ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

ย่างก้าวที่สวยงาม
7 ปีเติบโตสุดขีด

ด้วยความโดดเด่นของสินค้าที่มีดีไซน์ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ออร์เดอร์สินค้าครั้งแรกของ "ลานนาวู้ดเด้นโปรดักส์" มียอดขายถึง 2,000,000 บาท และยังได้รับคำแนะนำที่ดีจากลูกค้าเกี่ยวกับขบวนการผลิตต่าง ๆ เมื่อเริ่มมีลูกค้าหลายรายสนใจ เขาจึงเริ่มเดินทางนำสินค้าออกไปแสดงตามงานต่าง ๆ ในตลาดต่างประเทศถี่ขึ้น อาทิ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะตลาดแถบยุโรปให้ความสนใจสินค้าประเภทนี้มากเป็นพิเศษ

"ระยะ 7 ปีถือเป็นช่วงเวลาที่กิจการของเราเติบโตแบบสุดขีด เราเจอกับภาวะออร์เดอร์ล้นมือทุกปี ต้องขยายโรงงานเพิ่มอีกเป็น 3 แห่ง ก็ยังไม่พอที่จะรับออร์เดอร์ได้ทัน จึงต้อง Outsource ให้โรงงานอื่นเป็น Sub-Contract อีกที ที่ไหนทำให้เราได้เราไปหมด ไม่ว่าจะเป็นที่โคราช ลำปาง ลำพูน สมุทรปราการ ระยอง ลงไปถึงจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งยอดขายเราเติบโตมาก เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ต่อปีก็ประมาณ 50 ล้านบาท เป็นอย่างนี้มาตลอด 7 ปี ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ผมพอใจมาก แต่อีกด้านคุณภาพชีวิตก็แทบไม่มีเลย แต่พอกระจายงานให้โรงงานอื่นผลิตให้ ก็เกิดปัญหาตามมา เพราะไม่สามารถควบคุมระยะเวลาการผลิตและคุณภาพสินค้าได้ ทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ไม่เน้นตลาด Mass แต่จะเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเยี่ยม เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้ได้มากและนานที่สุด"

ความได้เปรียบแข่งขันลดลง
จีน-เวียดนามตีตลาดกระจุย

ขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้มีทิศทางที่ดีในตลาดโลก ซึ่งในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าของเล่นเด็กจากไม้ของไทยก็สามารถเข้าไปแชร์ตลาดได้มาก ก็เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมนี้ของจีนและเวียดนาม เริ่มขยับตัวและก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย ซึ่งทั้งสองประเทศมีความได้เปรียบหลายด้าน ทั้งเรื่องวัตถุดิบที่เป็นแหล่งปลูกไม้ยางพาราและค่าแรงงานที่ถูกกว่าไทยหลายเท่าตัว สินค้าที่ทำออกมามีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับของไทยค่อนข้างมาก เพราะเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ ซึ่งจุดนี้เองที่เขาเริ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตลาดถูกแชร์ไปมากขึ้น ความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ของไทยก็เริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ

รายใหม่เข้ามาเหนื่อย

ณพงษ์ บอกว่า จากความได้เปรียบในการแข่งขันที่เริ่มลดลง เขาจึงเริ่มปรับกลยุทธ์ใหม่ ลดกำลังการผลิตลง โดยผลิตเองเพียง 50 % จากโรงงานที่มีอยู่เดิม 3 แห่ง ยุบเหลือเพียง 2 แห่ง และสัดส่วนการผลิตอีก 50 % ที่เหลือใช้วิธี Sub-Contract ไปยังโรงงานอื่น ๆ 3 แห่งที่โคราช สมุทรปราการ และลำปาง ซึ่งสามารถควบคุมเรื่องคุณภาพสินค้าและการผลิตได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันเรามียอดขายเฉลี่ยต่อปีประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งเราพยายามควบคุมให้อยู่ในระดับนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่พอใจแล้วในสภาวะตลาดปัจจุบัน

เขายอมรับว่า ธุรกิจนี้เป็น 1 ใน 10 ของกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งเมื่อกว่าทศวรรษ แต่ปัจจุบันเหลือผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายทั่วประเทศ เพราะนอกจากเจอคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามแล้ว หลายรายที่ปิดตัวไปเพราะแบกรับภาระไม่ไหวก็คือ ต้นทุนทั้งระบบที่เพิ่มขึ้น เฉพาะของลานนาวู้ดเด้นโปรดักส์ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีประมาณ 15 % ซึ่งแบ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญของการผลิต ขณะเดียวกันผลจากการควบคุมประชากรของโลก ทำให้ทิศทางการเกิดของเด็กลดลง ขณะที่มีสินค้าของเล่นแปลกใหม่ที่ช่วยในเรื่องพัฒนาทักษะความรู้เด็กผลิตขึ้นมาเป็นทางเลือกมากขึ้น ทำให้ตลาดโดยรวมเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งวันนี้หากใครที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจนี้คงต้องบอกว่าเหนื่อยแน่ ๆ

ไม่หยุดนิ่งพัฒนาดีไซน์
วางเกมเพิ่มมูลค่าสินค้า

ทุกวันนี้ถือว่าธุรกิจของเขาอยู่ตัวแล้วและสามารถรักษาฐานตลาดเดิมไว้ได้ ลูกค้าที่มีอยู่คือลูกค้าประจำ แต่เขาไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้ากลุ่มนื้ถือเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่นที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นต้องรวดเร็วในการติดตาม เทรนด์ตลาดว่ามีแนวโน้มอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เขายังเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้ยังสามารถไปได้ดีในตลาดโลก แม้จะไม่ดีมากเท่ากับเมื่อก่อน ขนาดตลาดอาจเล็กลง แต่ความต้องการสินค้าประเภทนี้ก็ยังมีอยู่และจำเป็นต้องใช้สำหรับพัฒนาทักษะความรู้เด็ก เพียงแต่ต้องปรับทิศทางเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ต้องทำงานหนักกว่าเดิมในด้านการออกแบบ และพยายามใช้คลัสเตอร์ในกลุ่มธุรกิจนี้มากขึ้น ไม่มุ่งที่จะผลิตเองทั้งหมด

"ตอนนี้เรากำลังหาช่องทางขยายไลน์สินค้าใหม่ ๆ จริง ๆ ถ้าถามว่าผมพอใจกับสิ่งที่ผมทำอยู่ไหม ก็พอใจในระดับหนึ่ง ยังไม่ถือว่าเป็นจุดแห่งความสำเร็จ เพราะบางครั้งจุดแห่งความสำเร็จไม่ได้วัดแค่ว่ายอดขายต้องโตขึ้นทุกปี ๆ เพียงแต่เวลานี้ผมเข้าใจมันแล้ว และกำลังเฝ้าดูวงจรธุรกิจนี้ต่อไป"

********************

เส้นทาง SMEs
สุธิดา สุวรรณกันธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net