Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย บังหมัด


 


ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูหนาวพอดี ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศลาว ดินแดนที่ผมเคยฝันและหวังไว้ว่าจะมาที่นี่ซักครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อ 6 ปีก่อน


 


ไม่ผิดหวังครับ กับครั้งแรกของการเดินทางไปเที่ยวลาว ที่นั่นมีเรื่องที่น่าประทับใจหลายอย่าง โดยเฉพาะความประทับใจผู้คนที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย นิสัยดี แต่สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง ไม่ใช่เรื่องคน แต่ผมจะเล่าถึงเรื่องการเดินทางนี่แหละ แล้วสอดแทรกในสิ่งที่ผมเห็นและผมคิดอย่างไรกับมัน


 


จากเกือบใต้สุดสยาม ไปตั้งหลักที่เชียงใหม่ แล้วจึงได้เริ่มต้นทริปหรรษานี้ที่ท่าเรือเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงหลวงพระบาง โดยการล่องลำน้ำโขงใช้เวลา 3 วัน 2 คืน และจะเดินทางจากหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ต่อไปจนถึงดินแดนสมรภูมิรบสมัยสงครามเวียดนาม แคว้นเชียงขวางของลาว ใช้เวลารวม 10 วัน


 



ภาพประกอบโดย 'ภู เชียงดาว'


 


สองฟากฝั่งน้ำ


การเดินทางครั้งนี้น่าสนใจครับ เพราะคณะของเรามีทั้งหมด 11 คน หัวเรือใหญ่คือหลวงพี่กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ จากมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ และยังมีพระสงฆ์อีก 2 รูปมาจากใต้เหมือนกัน


 


งานนี้มุสลิมใต้ไปกับพระครับ เป็นการเดินทางที่ท้าทายมาก!


 


นอกจากพระสงฆ์ 3 รูปแล้ว ทริปนี้ยังมี นักข่าว นักเขียน เอ็นจีโอ นักศึกษาปริญญาโท เจ้าของร้านเช่าหนังสือ นักเขียนนิทาน รวมทั้งนายน้ำ หรือคนขับเรือกับภรรยา และเด็กเรืออีกหนึ่ง


 


คนขับเรือชื่อ "บุญมี" คนลาวอารมณ์ดี แต่ฝีมือหลบหลีกเกาะแก่งต่างๆ ที่ร่ำลือกันถึงความหฤโหด ได้อย่างแพรวพราวนัก


 


ระหว่างล่องเรือ ผมสังเกตว่าธรรมชาติสองฝั่งโขงมีความหลากหลายมาก มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะช่วงที่แม่น้ำโขงลึกเข้าไปในแผ่นดินลาวแล้ว แม้ว่าแนวทิวเขาสลับซับซ้อน จะมีลักษณะเหมือนรอยปะ ทั้งรอยใหม่ รอยเก่า สลับกันไป หมายถึงร่องรอยการตัดไม้ทำลายป่าครับ ผมว่าน่าจะอีกซัก 30 - 40 ปี หรือเป็นร้อยปีถึงจะเป็นป่าสมบูรณ์เหมือนเดิม


 


เรือแล่นไป หลวงพี่กิตติศักดิ์ก็เล่าให้ฟังว่า เวลาน้ำลดมากๆ จะมีชาวบ้านมาร่อนทองด้วย ตามหาดทรายริมน้ำ ส่วนแก่งหินแต่ละแก่ง ก็จะมีชื่อของมันแลดูก็สวยงามดีครับ


 


แต่ความสวยงามเหล่ามันกำลังจะถูกคุกคาม เพราะรัฐบาลจีนต้องการระเบิดแก่งหินเพื่อเปิดทางให้เรือสินค้าที่ส่งมายังประเทศที่อยู่ตอนล่าง ยังดีที่พลังนักอนุรักษ์ยังเข้มแข็ง ทางการจึงทำได้แค่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง 7 แห่งไว้แล้วในเขตประเทศจีน จากที่วางเป้าไว้ 15 แห่ง เพื่อควบคุมระดับน้ำให้เรือสินค้าแล่นผ่านได้


 


สร้างเสร็จปล่อยให้คนริมน้ำรับผลกระทบเอาเอง ซึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้ว


 


ความหลากหลายบนโต๊ะอาหารและข้อควรระวังของมุสลิม


มุสลิมที่ออกเดินทางมี 2 อย่างที่ต้องใส่ใจ คือ อาหารการกิน และการปฏิบัติศาสนกิจ


 


อย่างเวลากินข้าวโต๊ะเดียวกัน เพื่อนไทยพุทธบอกว่า "อาหารบนโต๊ะนี่ไม่มีหมูนะ มีแต่ไก่กับปลา กินได้"


 


มุสลิมที่ที่ตกอยู่ในสภาพนี้จะทำอย่างไร ผมขออนุญาตยกคำอธิบายของอาจารย์วินัย ดะห์ลัน ผู้รู้เรื่องอาหารฮาลาลที่กล่าวในคอลัมน์ฉลาดบริโภค เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 ใน มาแทรกให้ความรู้ก็แล้วกัน


 


"....ย่านถนนเดวอนที่เราไปเยี่ยมกันครั้งนี้ เป็นย่านมุสลิมจริงๆ พอผ่านเข้าไปนั้นแหละ ภาพของเมืองชิคาโกของอเมริกันหายไปแทบจะทันที....ทั้งเมืองมีแต่ร้านค้าของมุสลิม มีทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านขายเนื้อฮาลาล ซึ่งที่นี่เขาเรียกว่าซาบีฮะ ไม่ได้เรียกว่าฮาลาล


 


คำว่าซาบีฮะ แปลว่าสัตว์ที่ถูกเชือดตามหลักการอิสลาม หรือจะแปลว่าเนื้อที่ได้จากสัตว์ที่เชือดตามหลักการอิสลามก็ได้


 


เชือดตามหลักการอิสลาม หมายถึง มีมุสลิมเป็นผู้เชือด โดยมุสลิมผู้นั้น จะต้องเป็นมุสลิมที่ปฏิบัติตนตามหลักการอิสลาม ประเภทที่กินเหล้าเมายาถือว่าใช้ไม่ได้


 


อย่างโรงเชือดสัตว์ในบ้านเรา ผมเจออยู่หลายโรงที่พนักงานเชือดเป็นมุสลิมก็จริง แต่กินเหล้าเมายา ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำงานเชือดสัตว์ในโรงเชือดฮาลาลได้อย่างไร


 


ซาบีฮะนั้น ทำให้มุสลิมมั่นใจได้ว่า สัตว์ถูกเชือดตามหลักการอย่างแน่นอน โดยเชือดด้วยมีดที่คมกริบ ตัดหลอดลม หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดดำใหญ่ได้พร้อมกัน สัตว์ตายได้เร็ว ไม่ทรมานนัก


 


ที่สำคัญคือ ผู้เชือดต้องท่องภาษาอาหรับในคัมภีร์อัล - กุรอ่านสั้นๆ ว่า "บิสมิ้ลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร" อ่านแล้วจึงเชือด


 


เมื่อสัตว์นั้นตายแล้ว จึงจะนำไปสู่กระบวนการขั้นต่อไป ถ้าสัตว์ยังไม่ตาย ห้ามนำไปชำแหละเด็ดขาด..."


 


อย่างว่าครับ มุสลิม การเดินทางและอาหารการกิน ดูจะเป็นเรื่องซีเรียส เพราะประเภทของสัตว์ที่เป็นที่อนุมัติ (ฮาลาล) ของมุสลิมนั้นคือ ต้องไม่เป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร ต้องไม่เป็นสัตว์ที่ใช้เขี้ยวและเล็บเป็นอาวุธ ต้องไม่ใช่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต้องไปใช่สัตว์เลื้อยคลาน ต้องไม่ใช่สัตว์ที่มีพิษ ส่วนสัตว์น้ำประเภทปลา ปู กุ้ง หอย หมึก ไม่ต้องเชือดครับ


 


แต่ระหว่างที่แวะรับประทานอาหารกันริมแม่น้ำโขง ผมพบว่า นอกจากความหลากหลายทางธรรมชาติแล้ว เรายังพบความหลากหลายบกโต๊ะอาหารด้วยครับ อาหารลาวมีรสชาติดี โดยเฉพาะผักตามธรรมชาติ ผักที่ขึ้นชื่อมากคือผักน้ำ คล้ายๆ ผักน้ำแถวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา แต่นุ่มกว่า หวานกว่า


 


เจ้าของร้านอาหารคนหนึ่งในหลวงพระบางบอกเราว่า ผักน้ำจะขึ้นในบริเวณน้ำนิ่ง ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ถ้าน้ำขุ่นมาก ลำต้นจะมีสีดำ หรือถ้าน้ำสกปรกมากๆ จะเป็นสีดำทั้งต้น ยกเว้นใบ


 


อืม.. ผมว่า ธรรมชาติก็มีตัววัดคุณภาพน้ำที่ดีด้วยเหมือนกัน ถ้าผักน้ำมีสีดำหมด ใครจะกินบ้าง


 


นอกจากผักแล้วก็จะเป็นปลาในน้ำโขง ส่วนใหญ่มีก้างเยอะ แต่รสชาติดีเช่นกัน


 


เยือนเมืองปากแบ่ง


การเดินทางพร้อมหน้าพร้อมตาระหว่างมุสลิมกับพระสงฆ์ เป็นไปด้วยการให้เกียรติกันครับ หลักคำสอนที่เป็นหลักการทางศาสนา ในคัมภีร์อัล - กุรอาน ความว่า "สำหรับพวกท่านคือศาสนาของท่าน สำหรับเราก็คือศาสนาเรา" ตามหลักการนี้ ผู้รู้ทางศาสนาอิสลามอธิบายว่า อยู่ร่วมกับคนต่างศาสนิกได้ ยกเว้นจะไปมีส่วนร่วมในส่วนที่เป็นพิธีกรรม


 


เมื่อถึงเมืองปากแบ่ง ซึ่งเป็นเมืองท่าระหว่างทางไปหลวงพระบาง เรือทุกลำต้องจอดแวะที่นี่ คนที่ล่องเรือจากท่าห้วยทราย (ตรงข้ามเขียงของ) จะไปหลวงพระบาง ถ้าไม่ใช้เรือเร็ว ก็จะต้องนอนที่ปากแบ่ง


 


หลังจากนั้น เราแวะได้ตามหมู่บ้านต่างๆ ของชนเผ่าด้วย มีทั้งเผ่าขมุและไทลื้อ ได้สัมผัสวิธีชีวิตชาวบ้านริมน้ำ จากนั้นเรานอนค้างคืนบนหาดทรายริมน้ำโขง 2 คืน บรรยากาศดีครับ


 


ระหว่างที่อยู่บนเรือ หลวงพี่กิตติศักดิ์ เล่าว่าชาวขมุเดิมจะอยู่บนภูเขา ต่อมาถูกรัฐบาลลาวสั่งย้ายให้มาอยู่ริมน้ำโขงหรือริมทางหลวง โดยให้เหตุผลว่า เป็นพวกที่ชอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งที่จริงคนพวกนี้จะหากินอยู่กับป่า คนที่ทำลายป่าจริงๆ ก็คือคนสัมปทานทำป่าไม้ในลาว แต่เมื่อถูกโจมตีจากนักอนุรักษ์มากเข้า รัฐบาลลาวเลยสั่งย้ายชนเผ่านี้ลงมา แล้วบอกว่าเพราะทำลายป่า เลยกลายเป็นจำเลยสังคมไป


 


ชนเผ่าขมุ อยู่ในกลุ่มลาวเทิง หมายความว่า คนลาวแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่อยู่ที่ราบซึ่งเป็นคนลาวแท้ นับถือศาสนาพุทธ เรียกว่า ลาวลุ่ม


 


กลุ่มที่ต่อมา คือพวกที่อยู่บริเวณความสูงระดับกลางๆ ของภูเขา เรียกว่า ลาวเทิง มีชนเผ่าขมุมากที่สุด พวกนี้จะนับถือผี จะมีสถานที่ที่ใช้สำหรับไหว้ผีโดยเฉพาะ


 


อีกกลุ่มคือลาวสูง พวกนี้อาศัยอยู่บนยอดดอย เช่น ชนเผ่าม้ง เป็นต้น


 


แน่นอนที่อยู่ใหม่ของพวกขมุนี้ ย่อมสร้างความอึดอัดมาก แต่เพราะความไม่อยากมีปัญหา จึงไม่ได้แสดงอาการขัดขืนอะไร โดยเฉพาะพวกที่ย้ายมาอยู่ริมทางหลวง น่าสงสารครับ หน้าบ้านอยู่ติดถนน ใต้ถุนหลังบ้านเป็นหน้าผา เพราะหาที่ราบไม่ค่อยได้


 


แต่เมื่อเราไปถามชาวบ้านเผ่าขมุเอง เขากลับบอกว่า มาอยู่ที่ใหม่เพราะสบายกว่า ซื้อของอะไรได้สะดวก โดยเฉพาะเกลือ


 


อย่างพ่อบุญมี ชุลีเดช แห่งบ้านภูคูนเหนือ หมู่บ้านระหว่างทางหลวงพระบาง - เชียงขวาง บอกกับเราว่า ย้ายมาจากบ้านเดิมได้ประมาณ 10 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะย้ายมาในช่วงนั้น


 


ไม่เพียงที่อยู่อาศัยที่ถูกจัดการโดยรัฐเท่านั้น แม้แต่ความเชื่อก็ยังถูกจัดการหรือถูกควบคุมไว้ ซึ่งพ่อบุญมี บอกว่า ตอนย้ายมาใหม่ มาสร้างบ้านแล้วจะตั้งหิ้งไหว้ผีด้วย แต่ถูกทางการห้ามไว้ เจ้าหน้าที่บอกว่ามันดูไม่ดี แต่ก็ยังนับถืออยู่ในใจ


 


เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นระเบิดเวลาหรือเปล่า เพราะชาวขมุก็มีจำนวนมิใช่น้อย


 


หลวงพระบางที่เปลี่ยนไป


สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่แรกที่ไปถึง คือ ถ้ำติ่ง อยู่ก่อนจะถึงหลวงพระบางไม่ไกล มีฝรั่งเยอะมากครับ แต่ก็มีชาวบ้านจูงลูกหลานมาขายมันแกว ผมว่าดีครับ ยังดีกว่ามาแบมือขอเงิน ที่เป็นพฤติกรรมที่มากับการท่องเที่ยว ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นมาแล้วแถบเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่ผมเห็น


 


ที่เมืองหลวงพระบาง ผมพบว่า เมืองไม่ใหญ่ แต่สวยงามครับ บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย วางผังเมืองได้ดี แต่ไม่น่าเชื่อว่า ในเขตชุมชนดั้งเดิม มีการดัดแปลงบ้านเป็นเกสต์เฮ้าส์ซะครึ่งหมู่บ้าน


 


ไฮไลท์การท่องเที่ยวของหลวงพระบาง อยู่ที่การเป็นเมืองมรดกโลกครับ โดยเอื้อยสมจิต ซึ่งเป็นไกด์นำเที่ยวบอกกับเราว่า ยูเนสโก้ได้ยกย่องเป็นมรดกโลกไม่ใช่เฉพาะโบราณสถานเท่านั้น แต่รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนด้วย ซึ่งเราจะพบว่าผู้คนมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ดูเหมือนความบริสุทธิ์จะลดลง เพราะการท่องเที่ยวนั่นเอง


 


ที่เที่ยวในหลวงพระบางมีหลายแห่งครับ วัดทั้งนั้น กับพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตลาว นอกจากนี้ ตลาดมืด คือเป็นตลาดกลางคืนครับ ตั้งอยู่บนถนนข้าวเหนียวกลางเมืองหลวงพระบาง ผมว่านับเป็นสุดยอดของตลาดสินค้าทางวัฒนธรรมจริงๆครับ เพราะสินค้าที่ขาย เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น 99 เปอร์เซ็นครับ โดยเฉพาะเสื่อผ้า เครื่องแต่งกาย


 


วิถีชีวิตของประชาชนยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น ผู้คนนิสัยดี มีร่องรอยบ่งบอกถึงความเป็นคนที่มีอารยะธรรมสูง ที่มีกษัตริย์ปกครอง และการที่ประชาชนอยู่ใกล้ชิดกับศาสนา ทำให้คนส่วนใหญ่มีคุณธรรมสูง มีการแสดงความมีน้ำใจต่อกัน ผมรู้สึกว่า นี่คือสังคมศาสนธรรมอย่างแท้จริง


 


เพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่งบอกผมว่า การอยู่ใกล้ชิดศาสนาที่สังเกตง่ายๆ จากจำนวนเณรที่อยู่ในวัด ซึ่งแต่ละวัดมีจำนวนมาก มากกว่าวัดในเมืองไทยเสียอีก


 


การได้อยู่ในเมืองที่เป็นสังคมศาสนธรรม ทำให้รู้สึกเหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้คนอยู่ใกล้ชิดกับศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม ถ้าตัดความรุนแรงออกไป ผมว่าจะเหลือสังคมที่เป็นสังคมศาสนธรรมเหมือนกันครับ


 


ผมเทียบโดยไม่ได้ยกว่าเป็นศาสนาใด แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ศาสนาสอนยอมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ทางกลับกันสิ่งที่ศาสนาห้าม ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน


 


วัจนะของท่านนบี มูฮัมหมัด ศาสนทูตแห่งอิสลาม ที่ว่า "ศาสนาคือการตักเตือน" หากอยู่ใกล้ชิดศาสนา ก็เหมือนกับได้รับการตักเตือนมิให้ลุ่มหลง อยู่กับสิ่งที่ไม่ดีอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน


 


แต่ก็นั่นแหละ น้ำหลากโลกาโกลากลภิวัฒน์ไหลเข้าแรงและเร็วมาก ความบริสุทธิ์ในหลวงพระบางดูเหมือนจะลดลงจริงๆ เมื่อผมได้ฟังสิ่งที่น้องโอ๋ นักเขียนนักเล่านิทานที่ร่วมมากับเราด้วยพูดว่า เคยมาที่หลวงพระบางหลายครั้งแล้ว ครั้งแรกก็เมื่อ 4 ปีที่แล้ว


 


ผมเลยถามโอ๋ว่า แล้วมันมีอะไรที่ต่างกับตอนนั้นบ้าง โอ๋บอกว่า มีเยอะมาก


 


"เมื่อก่อนพวกผู้หญิง เด็กสาว นุ่งซิ่นกัน เดี๋ยวนี้เห็นน้อย มีแต่ใส่ยีนส์"


"เมื่อก่อนสามล้อถีบมีมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็น"


"เมื่อก่อนไม่เห็นคนใช้มือถือ เดี๋ยวนี้ใช้กันเกร่อ"


 


ครับ เมื่อ 4 ปีก่อน ผมยังใช้มือถือไม่เป็นเลย!


 


มีหลายเรื่องครับ ที่โอ๋บอกว่ามันเปลี่ยนไป มันจะคล้ายกับในเมืองไทยมากขึ้นทุกที โอ๋บอกไม่ชอบเลย มันน่ารำคาญมากกว่าจะมองว่าเป็นการพัฒนา…


          


เอวังที่เชียงขวาง - เมืองสมรภูมิสงคราม


เมื่อสำรวจหลวงพระบางเรียบร้อยแล้ว เป้าหมายต่อไปที่พวกเราได้ไปเยือนคือเมืองสมรภูมิสมัยสงครามอินโดจีน หรือ "เชียงขวาง" ปัจจุบันยังมีกับระเบิดฝังดินอยู่อีกมาก


 


เมืองโพนสะหวัน คือเมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง ซึ่งเป็นเมืองใหม่ ย้ายมาจากเมืองคูน ที่ถูกทำลายสมัยสงครามอินโดจีน บรรยากาศดีครับ สภาพภูมิประเทศเป็นทุ่งหญ้าอยู่กลางหุบเขา อากาศเย็นสบายตลอดปี


 


ที่นี่ ผมได้รู้จักกับนายทหารยศนายพันคนหนึ่ง เป็นอดีตทหารขบวนการปะเทดลาว ผู้เคยผ่านสมรภูมิรบเขียงขวาง ผมได้คุยกับแกที่เพิงขายบะหมี่ของเมียแกเอง


 


ทักทายเสร็จ เมื่อแกรู้ว่าผมมาจากเมืองไทย คำแรกที่แกถามคือ ประเทศไทยน่าเป็นห่วงอยู่นะ เมื่อกี้ผมดูข่าวทีวีไทย มีเหตุระเบิดที่โชว์รูมรถยนต์ 6 แห่ง มีคนตายด้วย


 


"เปลี่ยนตัวนายกฯแล้ว ก็ยังไม่ยอมหยุดนะ ปัญหามันอะไรกันแน่" แกถามผม


 


ผมเลยบอกไปว่า ปัญหามันมีมานานแล้ว แล้วมันก็มาถึงจุดที่มันรุนแรงมากขึ้น


 


ผมตอบแค่นั้น แต่ดูเหมือนแกแสดงท่าทางว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทยแกก็รับรู้พอๆ กับคนไทย และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นดี


 


"บางครั้งการปฏิบัติของรัฐ มันทำให้คนไม่พอใจได้นะ" แกพูด แล้วต่อด้วยประโยคว่า "สงครามไม่มีอะไรดีเลย มีแต่การสูญเสีย ผมเห็นมากับตาแล้ว"


 


จากนั้นแกก็ร่ายยาว


"สงครามไม่มีอะไรดีเลยจริงๆ มีแต่ความตาย ผมเห็นมากับตา ตอนสงครามเวียดนาม ที่นี่เป็นสมรภูมิใหญ่ ตอนนั้นผมอายุ 15 ปี สมัครเป็นทหารแล้ว ตอนนี้อายุ 54 ปี ก็ยังเป็นทหาร


 


ตอนนั้นอเมริกายึดสนามบินเชียงขวาง แล้วมีพวกทหารไทยมารับจ้างอเมริการบกับลาวด้วย ฝ่ายลาวคือขบวนการปะเทดลาว ร่วมมือกับเวียดนาม มีทั้งลาวดำ ลาวแดง อยู่ตามภูเขา ในป่ารอบๆ คอยโจมตี พวกอเมริกากับไทยไม่ชำนาญภูเขา ก็เลยตายกันมาก


 


หลังสงคราม ผมเดินไปดูทุกที่ที่มีการยิงกัน ไม่ว่าตามภูเขา ในป่า จุดปะทะต่างๆ ดูแล้วสลดใจมาก ผมเห็นศพทหารไทยมีพระเต็มคอนอนตายกันเกลื่อน ส่วนศพของพวกเวียดนาม เขาจะเอากลับไป พอสงครามจบก็ไม่มีอะไรเหลือ บ้านเมืองถูกทำลายหมด ไม่รู้จะรบกันไปทำไม"


 


ครับ... ผมฟังแล้วสลดครับ สงคราม ความตาย การพลัดพราก เดี๋ยวนี้ยังเกิดขึ้นตำตา


 


ความรู้สึกสลด มีมากขึ้น เมื่อวันรุ่งขึ้นคณะของเราได้ไปที่ถ้ำปิว ห่างจากเมืองโพนสะหวันไปประมาณ 70 กิโลเมตร ที่สลดเพราะว่า เป็นหลุมหลบภัยของชาวบ้าน ที่ถูกระเบิดจากเครื่องบินของอเมริกา ตายทันที 374 คน นี่คือผลของสงคราม


 


เอ... ผมว่า มันเหมือนที่เกิดขึ้นในสงครามอิรักเปี๊ยบ รู้สึกว่ามีคนตายในหลุมหลบภัยใต้ดินถึง 400 กว่า เพราะฤทธิ์การทะลุทะลวงของจรวด


 


กลับมาที่วงสนทนาในเพิงขายบะหมี่ต่อครับ…


 


ผลของสงครามคือความสูญเสีย และยังเกิดขึ้นจนปัจจุบัน นั่นคือกับระเบิด รวมทั้งระเบิดจากเครื่องบิน B52 ที่ตกฝังดินอยู่


 


นายทหารผ่านศึกบอกผมว่า ระเบิดพวกนี้กู้ไปหมดแล้ว ที่ยังมีอยู่ก็อยู่แถวๆ ป่านอกเมือง พื้นที่ห่างไกล แต่เป็นระเบิดจากเครื่องบิน ไม่ใช่กับระเบิด


 


เดี๋ยวนี้ไม่คนถูกระเบิดแล้ว เมื่อก่อนคนที่ถูกระเบิดพิการ ตายไปเยอะ เพราะว่าไปขุดดิน เช่น เวลาจะสร้างบ้านลงเสา ไปเจอเอาระเบิดตาย จะเป็นแบบนี้มากกว่า


 


สิ่งที่แกเล่ามา ต่างกับข้อมูลที่ได้จากตันลอร์ โล เจ้าหน้าที่องค์กรแม็กชาวเขาเผ่าม้ง ที่ผมได้พบกับเขาอีกวันหนึ่ง โดยองค์กรแม็กเป็นองค์กรเอกชนจากอเมริกา ที่มาช่วยกู้ระเบิดในลาว


 


ตันลอร์ บอกว่า ยังมีระเบิดฝังดินอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่แขวงเชียงขวาง


 


ฟังแล้วน่าตกใจ


 


"อาสาสมัครของเราออกไปกู้ระเบิดทุกวันและยังมีคนถูกระเบิดประจำ อาสาสมัครเกือบทั้งหมดเป็นคนต่างชาติ รัฐบาลลาวไม่สนใจเลย ที่นี่มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดขายด้วย ราคาประมาณ 4 - 5,000 บาท มีคนมาสั่งซื้อบ่อย หรือไม่ก็ถ้าชาวบ้านจะใช้ที่ดินตรงไหน ก็จะมาขอให้อาสาสมัครของเราไปตรวจหาระเบิด ถ้าไม่ตรวจก่อนก็ไม่กล้าใช้ที่ดิน"


 


สงครามผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่ผลของสงครามยาวนานนัก


 


ที่สำนักงานของตันลอร์ มีระเบิดหลายชนิดตั้งแสดงอยู่ ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก วันที่ผมไปที่สำนักงานนี้ มีฝรั่ง กลุ่มหนึ่ง มาถามหาระเบิดชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองมีพู่สีเงิน ลูกขนาดกระป๋องโค้ก แต่สั้นกว่า ดูฝรั่งกลุ่มนี้จะให้ความสนใจมาก


 


ผมถามเขาว่ามันสำคัญยังไง ตันลอร์บอกผมว่า มันเป็นระเบิดชื่อ 3-B บรรจุสารเคมี แต่เขาเองก็มีความรู้เรื่องระเบิดจำกัดมาก ไม่สามารถอธิบายได้มากไปกว่านั้นได้


 


มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ความสูญเสียจากสงคราม ประจักษ์แล้ว


 


ขอจบแบบทื่อๆ แล้วกันว่า ความแตกต่าง ไม่ใช่ความแตกแยก ความขัดแย้งมีเป็นเรื่องปกติ แต่มันจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง หากเราเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net