Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 พ.ย.2549 ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้


 


เห็นชอบข้อเสนอสร้างความสมานฉันท์ของที่ปรึกษาฯคมช.


ร.อ.น.พ.ยงยุทธ แถลงว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอเกี่ยวกับการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดยคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตามที่สำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเสนอ


 


เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แจ้งว่า คณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม เสนอประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ การเสริมสร้างสมานฉันท์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


โดยเห็นว่า แก่นของปัญหาคือความไม่ยุติธรรมในสังคม การถูกลิดรอนสิทธิ์ในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง และมีศักดิ์ศรี ความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของชุมชน การขาดการพัฒนาที่เหมาะสมด้านการศึกษา และโอกาสที่พึงมี รวมทั้งเยาวชนไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร


 


ดังนั้นเพื่อความสมานฉันท์ในพื้นที่ดังกล่าว คณะที่ปรึกษาจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้


 


1. การดำเนินการขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น กรณีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร ควรเร่งรัดดำเนินการให้ความจริงปรากฏโดยเร็วที่สุด กรณีดำเนินการพิจารณาคดีตากใบ ที่กล่าวหาประชาชน 58 คน อย่างไม่เป็นธรรม ต้องสืบพยาน 1,900 ปาก ขณะที่ผ่านไปครบ 2 ปี ในวันที่ 26 ตุลาคม 2549 แต่มีการสืบพยานเพียงไม่กี่ปาก นี่เป็นข้อเสนอจากคณะที่ปรึกษาว่า ควรดำเนินการถอนฟ้อง กรณีวิสามัญฆาตกรรม เช่น สะบ้าย้อย กรือเซะ ควรเร่งดำเนินการให้ความจริงปรากฏโดยเร็วที่สุด กรณีที่ทำกินของประชาชนในพื้นที่ และกรณีชาวประมงพื้นบ้านที่ถูกประมงพาณิชย์รุกล้ำพื้นที่ทำกินชายฝั่ง ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน


 


2. เรื่องการลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนโครงการสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีการปฏิบัตินำร่องอย่างได้ผล


 


- ให้ความคุ้มครองและหลักประกันประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.เพื่อประสานการปฏิบัติอย่างมีเอกภาพ ทั้งการข่าว การสื่อสาร และการปฏิบัติ


 


- ให้เปลี่ยนกำลังทหารมาใช้ทหารจากบุคคลในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ และอาจใช้แนวทาง "สันติเสวนา" ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. หาทางออกของปัญหาความรุนแรง โดยการสานเสวนา หรือ Dialogue กับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี เป็นภาษาทำงานอีกภาษาหนึ่ง และให้มีสัดส่วนผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสมในหน่วยงานของรัฐ ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษามลายูได้ ส่งเสริมให้มีการพูดคุยหรือการสานเสวนากับผู้นำทางความคิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


- มีการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนในส่วนอื่นของประเทศ โดยการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์


      


3. การสร้างหลักประกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความเป็นธรรม โดยถือหลักยุติธรรมอย่างเคร่งครัด


 


- สร้างความยุติธรรมทั้งทางกฎหมาย หรือ Legal Justice และความยุติธรรมทางสังคม หรือ Social Justice ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว


 


- ส่งเสริมให้มีการยอมรับกระบวนการยุติธรรมชุมชน หรือ Community Justice และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ Restorative Justice ให้สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย


 


- ส่งเสริมการสร้างกฎกติกาของชุมชน ตำบล เพื่อแก้ปัญหากันเองในกรอบของกฎหมาย รวมถึงกติกา การมีสิทธิ ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติบนฐานความเชื่อของศาสนา


 


- ให้ใช้หลักการดำเนินการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการค้นหาความจริง งดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ สร้างความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาต่างๆ


 


- ส่งเสริมระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและหลากหลาย ให้โอกาสการเรียนรู้ทางศาสนา และทางวิชาการสายสามัญ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กนักเรียนพุทธกับมุสลิม เช่น มีศูนย์กิจกรรมร่วม


 


- ส่งเสริมระบบสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลาม โดยปรับแก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในระบบ


 


โดยในวันนี้คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ หนึ่งในกรรมการที่ปรึกษาฯ เป็นผู้ชี้แจงเพิ่มเติม โดยเน้นเรื่องการให้เยาวชนไทยพุทธ - ไทยมุสลิม มาเรียนร่วมกันตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย


 


ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่อนข้างหลากหลาย เป็นเวลานานพอสมควร จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้สรุปในช่วงท้ายว่า เรื่องของปัญหาภาคใต้นั้น เป็นปัญหาที่รัฐบาลซึ่งมีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นเพียง 1 ปี จะทำหน้าที่ในการวางรากฐานในการแก้ปัญหา โดยปัญหาที่มองเห็นก็คือ ปัญหาเรื่องเอกภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องมีเอกภาพ ต้องมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง


 


ส่วนเรื่องงบประมาณ และระเบียบปฏิบัติราชการ ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะระเบียบในการปฏิบัติราชการในยามปกตินั้นมีอยู่ แต่ในยามฉุกเฉินนั้นยังไม่มี ฉะนั้นจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนนี้ด้วย


 


นอกจากนั้น เรื่องของความคล่องตัวในเรื่องงบประมาณ เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้ฝากว่า ในการลงไปทำงาน จะต้องให้มีความคล่องตัวในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งได้มีการนัดหมายกับทาง ครม. ว่าจะมีการประชุม ครม.วาระพิเศษ ที่บ้านพิษณุโลก ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2549 เวลา 17.00 น.ในลักษณะคล้ายกับวาระพิเศษที่มีไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยครั้งนี้จะมีการนำข้อเสนอต่างๆ ที่ได้จาก คมช. ในวันนี้ รวมถึงข้อพิจารณาอื่นๆ ที่นำเสนอใน ครม.วาระพิเศษ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้


 


นายกฯหนุนเยาวชนชาติเอเปกในสหรัฐพบปะกัน


นายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงกรณีที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ของมาเลเซีย ว่าอยากมีการประสานกัน ให้ครูและเยาวชนในจังหวัดภาคใต้ไปดูการจัดการเรียนการสอนในมาเลเซีย ซึ่งทางการมาเลเซียพร้อมรับรอง และจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเวทีเอเปกในกรณีของเยาวชนเช่นเดียวกัน ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเสนอในที่ประชุมเอเปกว่า อยากให้เยาวชนของกลุ่มประเทศเอเปกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้พบปะกัน และพบกับผู้นำของสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนแนวคิดของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในครั้งนี้ เพื่อเสริมโลกทัศน์ของเยาวชน


 


ทั้งนี้ ในเรื่องการพัฒนาเยาวชน และเรื่องการนำเยาวชนภาคใต้เดินทางไปเยี่ยมชมงานพืชสวนโลกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับจะไปดำเนินการ โดยจะเตรียมให้เยาวชนภาคเหนือเป็นเจ้าภาพ เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน และจะขอการสนับสนุนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น ขอเครื่องบินซี-130 บินจากภาคใต้ไปเชียงใหม่


 


นอกจากนั้น ยังจะมีเยาวชนจากภาคอื่นด้วย เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาให้เยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสไปเที่ยวชมพืชสวนโลกฯ ด้วยเช่นกัน


 


อนุมัติเงินตอบแทนพิเศษครูอัตราจ้างชายแดนใต้


เรื่องขออนุมัติจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนแก่ครูอัตราจ้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นการช่วยเหลือครูอัตราจ้างในพื้นที่ที่มีปัญหาเป็นพิเศษ ผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทำให้ขาดแคลนครู ทำให้ต้องมีครูอัตราจ้างเข้ามาทดแทน สิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ควรต้องเสมอภาคกับบุคลากรอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลต้องการเร่งดำเนินการ


 


ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนแก่ครูอัตราจ้าง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงศึกษาธิการ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย จำนวน 3,695 คน ในอัตรา 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป โดยเบิกจ่ายจากงบบุคลากรของส่วนราชการ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ


 


สำหรับครูอัตราจ้างถือว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวประเภท 1 ไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2550 ตามที่คณะปฏิรูปฯ มีมติเมื่อ 30 กันยายน จะเห็นได้ว่ามีการขยายกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้กว้างขวางมากขึ้น เช่น พนักงานราชการ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น แต่ครูอัตราจ้างของกระทรวงศึกษาธิการต้องทำหน้าที่ลักษณะเดียวกับข้าราชการครู นี่เป็นเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในทางปฏิบัติให้ครูอัตราจ้างได้เงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการครูของกระทรวงศึกษาธิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net