Skip to main content
sharethis

ฟ้ารุ่ง ศรีขาว


 


เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าสมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบไปด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการ นักวิชาการ บุคคลจากองค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ และสื่อมวลชนก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนี้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นการดีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ได้มีตำแหน่งแห่งที่ในการทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะมีโอกาสได้ช่วยผลักดันสนับสนุนกระทั่งคัดค้าน กลั่นกรอง ตัวบทกฎหมายที่จะออกมาใช้บังคับ


 


แต่คำถามสำคัญคือ ลำพังความเป็นสื่อมวลชน โดยตัวของตัวเองไม่เคยมีโอกาสได้กระทำการเช่นนั้นเลยหรือ? ในเมื่อการตรวจสอบอำนาจรัฐ การคัดคานกับความไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สื่อมวลชน มีพื้นที่ของตัวเองอยู่แล้วโดยสภาพของวิชาชีพ เว้นแต่จะยอมรับโดยดุษฎี ว่าวิชาชีพเช่นนี้ไม่มีน้ำยาพอที่จะไปคัดค้านความไม่ถูกต้องดังนั้นจึงอาศัยตำแหน่งอื่นด้วยอำนาจเฉพาะกาลแห่งชาติ


 


แม้ผู้เขียนให้ความเคารพต่อการตัดสินใจส่วนตัวในฐานะปัจเจกของแต่ละท่านที่เข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สิ่งที่ยังเป็นข้อกังขาคือความเป็น "ตัวแทน" ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ "ตัวแทนสื่อมวลชน" เพราะท่านกำลังจะแทนในสิ่งที่แทนกันไม่ได้ มิพักต้องกล่าวถึงว่าเมื่อไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว จะกลับมาชี้นำสังคมวิพากษ์ วิจารณ์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภาฯ ได้จริงหรือไม่ เพราะประเด็นนี้ เป็นเรื่องในอนาคต แต่ละท่านต้องพิสูจน์ตัวเอง   


 


กลับมาที่เรื่องความเป็น "ตัวแทนสื่อมวลชน" ตามข้อเท็จจริงมีบุคคลที่เป็นสื่อมวลชนหลายท่านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง 3 ท่าน ใน 3ตำแหน่งขององค์กรวิชาชีพ ได้แก่ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้เขียนมิได้ตั้งคำถามต่อการตัดสินใจในฐานะปัจเจกบุคคลหรือความเป็นส่วนตัวต่อทั้ง 3 ท่าน เพราะเชื่อว่าทุกท่านเป็นคนดี ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง จริงใจแน่วแน่ในการจะตรวจสอบทำให้ประเทศดีขึ้น แต่ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยต่อสถานะโดยตำแหน่ง กล่าวคือเป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือไม่ที่จะเหมารวม ความเป็น "ตัวแทน" เข้าไปอยู่ในสภาวะที่อิหลักอิเหลื่อเช่นนี้


 


ความคิดการมี "ตัวแทน" จำเป็นต้องมาพร้อมกับ "ความเป็นเอกภาพ" ในจุดใดจุดหนึ่ง ที่สมาชิกในกลุ่มก้อนยอมรับร่วมกันสถาปนาตัวแทนเพื่อกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหากเป็นตัวแทนแล้วกระทำการนอกขอบข่ายอำนาจในฐานแห่งความเป็นตัวแทน ความชอบธรรมในส่วนนั้นก็ไม่อาจเป็นผล แม้ว่ามีเจตนาดีก็เป็นได้เพียงแค่จัดการงานนอกสั่ง


 


ด้วยสภาวะทางการเมืองที่รัฐบาลพยายามสร้างความแข็งแกร่งของทีมคณะที่ปรึกษาและสภาฯ ด้วยบุคคลจากหลากหลายองค์กรมาเป็นกันชน เพื่อประกันว่าศูนย์กลางอำนาจอันอ่อนไหวในเรื่องความชอบธรรม จะไม่ถูกกระแทกจากมวลชนโดยตรง เพราะบรรดาเปลือกหอยอันหลากหลายที่หุ้มห่อรัฐบาล จะต้องรองรับความเสียดทานจากกลุ่มคนที่ตนถูกอุปโหลกเป็นตัวแทน


 


สิ่งที่จะถูกบดขยี้แหลกละเอียดเป็นอันดับแรกนั้นไม่ใช่เนื้อในอ่อนนุ่มของอำนาจศูนย์กลาง แต่คือเปลือกหอยที่โอบเสริมความชอบธรรมให้เกิดขึ้นนั่นเอง


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net