Skip to main content
sharethis

สุเมธ  ปานเพชร


อับดุลเลาะ  หวังนิ


สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


แนวทางใหม่เพื่อดับไฟสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ด้วยการพบปะ พูดคุยกับแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบกลุ่มต่างๆ เริ่มปรากฏจริงจังมากขึ้น ด้วยท่าทีของผู้นำรัฐบาลและผู้นำหน่วยรับผิดชอบ


 


สำหรับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญญาชนที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมากว่า ครึ่งศตวรรษ อย่างอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการทางด้านสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) สนับสนุนแนวทางนี้อย่างยิ่ง เพราะเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณทางเลือกที่จะใช้แก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนแนวทางนี้ถูกปิดตาย


 


 "อย่าลืมว่าสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ยังเคยมีความพยายามส่งคนไปเจรจาในสวีเดน กับกลุ่มขบวนการทั้งหลาย แต่มารู้ตัวเองว่าไม่มีอำนาจ ก็เมื่อ 28 เมษายน 2547 ในเหตุการณ์กรือเซะ  ผมมองว่า ตรงนั้นทำให้แนวทางการเจรจาคงไม่เกิดขึ้นแล้ว"


 


เขาย้อนอดีตให้เห็นถึงความล้มเหลวการเจรจา เพราะที่ผ่านมา ตัวแทนการเจรจาเป็นฝ่ายทหาร แต่ไม่มีชุดใดได้รับอำนาจเต็มในการตัดสินใจ สิ่งที่ทำได้เพียงแค่เข้าถึงระดับสมาชิกของขบวนการในต่างประเทศ  ซึ่งในเบื้องต้นก็ส่งสัญญาณที่ดี แต่มีบางกลุ่มเปรยๆออกมาว่า เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากการเจรจา บางชุดที่เข้าทำการเจรจา รู้ตัวว่าไม่มีอำนาจแต่อยากจะทำ ทำให้กลุ่มขบวนการต่างๆ ไม่ค่อยจะให้ความเชื่อถือในเรื่องของการเจรจาสักเท่าไร


 


 "ผมมองว่า เมื่อสัญญาณที่ดี จาก พล.อ.สนธิ ตอนเป็น ผบ.ทบ.ก็ยังมีการเปรยๆในเรื่องของการเจรจา ทั้งที่ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณไม่มีแนวความคิดนี้เลย ทั้งที่ในอดีต กอส. ก็เคยเสนอ ตัวผมเองก็เคยเสนอว่า น่าจะมีการพูดคุยกัน แต่ก็มาติดอยู่เพียงคำพูดที่เคยออกมาจากทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยพูดออกมาว่า จะเจรจากับใคร สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของโจร เป็นเรื่องของคนติดยาเสพติด"


 


กรณี ของของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานขบวนการเบอร์ซาตู ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามเสนอแนวคิดนี้ ผ่านทางเจ้าหน้าที่ซึ่งเคยไปพบและพูดคุย แต่ทางรัฐบาลในการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงถึงแนวทางการเจรจา


 


ในความเห็นของผู้มีอยู่ในพื้นที่และมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เขาเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการพยายาม ให้แกนนำขบวนการก่อความไม่สงบและตัวแทนรัฐบาลไทยได้พบปะพูดคุยกัน ซึ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมองเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่า ทางออกที่เหมาะสมที่สุด ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ควรมีการพบปะพูดคุยกัน ประกอบกับผู้นำรัฐบาลกล่าวอยู่เสมอว่า การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นั้น คนร้ายก่อเหตุแล้วก็หลบหนีไปยังฝั่งประเทศมาเลเซีย  ซึ่งทำให้มาเลเซียกระทบตลอด ดร.มหาเธร์   โมฮัมมัดอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จึงเชิญขบวนการต่างๆที่มีอยู่ ยกเว้นขบวนการบีอาร์เอ็น มาพูดคุยเพื่อพยายามนำไปสู่การเจรจา


 


 "แต่การเจรจาก็ไม่เกิดขึ้น เพราะทางรัฐบาลไทยพยายามที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของขบวนการมาโดยตลอด ด้วยอคติว่าการเจรจาเป็นการทำลายศักดิ์ศรีในสิ่งที่เคยพูดออกไป จึงได้ปล่อยเลยตามเลยมาตลอด ความตายที่เกิดขึ้นกับกับเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ตลอด 30 -40 ปีที่ผ่านมามีเป็นหมื่นๆ ชีวิต ซึ่งมีคนเคยรวบรวมเอาไว้ รัฐก็ยังไม่ยอมรับว่ามันมีกลุ่มขบวนการทั้งที่มันมีอยู่จริง"


 


นอกเหนือจากการไม่ยอมรับการมีอยู่ของขบวนการซึ่งเป็นสาเหตุความล้มเหลวของการเจรจาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นโยบายการแก้ปัญหาที่ผ่านมาล้มเหลวมาโดยตลอดก็คือ แนวทางการแก้ปัญหาตั้งโจทย์ผิด โดยมองเห็นว่าเป็นเรื่องของ "โจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน" ซึ่งหมายถึงเป็นการกระทำของปัจเจกชน มิใช่ในรูปขององค์กร หรือขบวนการที่มีระบบการจัดตั้ง เครือข่ายและสมาชิก


 


 "มันไม่ใช่แค่ทำลายหนึ่งคนแล้วองค์กรจะล่มสลาย หรือจับหัวหน้าฝ่ายกองกำลังแล้วเรื่องมันจะจบมันไม่ใช่ หนึ่งคนถูกจับหรือถูกจับ ตัวองค์กรก็ยังคงอยู่และขับเคลื่อนไปได้ วันนี้มีการส่งสัญญาณดีๆจากทางฝ่ายรัฐแล้ว หมายความว่า มีการยอมรับ แต่ในอดีตไม่เคยเลย ไปเปลี่ยนขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นโจรก่อการร้าย เพียงแค่มุ่งหวังจะทำลายเครดิตกลุ่ม ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร"


 


เขาวิเคราะห์ให้เห็นถึงหลักแนวคิดที่ผ่านมาของฝ่ายรัฐว่า เป็นการมองว่าขบวนการเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2500 และยังได้มีการพัฒนารูปแบบของต้นเองมาตลอด อย่างเมื่อองค์กรอ่อนแอลงก็พยายามตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา เช่น พูโลเก่า มาเป็น พูโลใหม่ หรือเมื่อในองค์กรมีแนวความคิดไม่ตรงกัน ก็แยกตัวออกมาเป็นองค์กรใหม่อย่าง ขบวนการมูจาฮีดิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการพัฒนาในรูปแบบองค์กรเหล่านี้ แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ บังเอิญว่าบางกลุ่มบางขบวนการ มันเกิดขึ้นมาโดยกลไกของรัฐเอง


 


เขาเปรียบเทียบโดยยกกรณีที่เกิดขึ้นแบบเดียวกันในภูมิภาคให้เห็นว่า ในประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มอาบูซายาฟ (Abu Sayyaf ) ถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อสนองตอบให้สหรัฐฯมีความชอบธรรมในการส่งกำลังทหารไปยังเกาะมินดาเนา แต่สำหรับปัญหาชายแดนภาคใต้อของไทยเป็นคนละกรณีกัน  และต่างกับกรณีของกบฎอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย


 


 "ทั้งสองกรณีนี้ผมใช้เวลาศึกษามาพบว่า กระบวนการการเคลื่อนไหวเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เงื่อนไขการเคลื่อนไหวก็อีกแบบหนึ่ง ทั้งสองกรณีนี้ สมควรที่จะมีขบวนการการต่อสู้เกิดขึ้น เพราะประชาชนถูกละเลยจากรัฐ แต่พื้นที่สามจังหวัดประชาชนไม่ได้ถูกละเลยจากรัฐมากนัก แต่ทำไมถึงมีขบวนการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ตรงนี้คือจุดสำคัญ ว่าทำไมจึงมีขบวนการในประเทศไทย เป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนจริง หรือมีนัยอื่นที่มีความสำคัญกว่าแต่ไม่สามารถบอกได้"


 


เขาเห็นว่า นัยของขบวนการแบ่งแยกดินแดน น่าจะมีความหมายในมิติของ การร้องขอความเป็นธรรม ในเรื่องของ เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้ถูกละเลยไป ซึ่งในช่วงเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 1- 5 มุ่งเน้นไปในเรื่องของความมันคงเพียงอย่างเดียว ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้าหลัง


 


 "เบื้องหลังของความมั่นคงที่เกิดขึ้น มันมีความมั่นคงของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ ดังนั้นที่ผ่านมาหากมีการเจรจาที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น จะต้องกระทบต่อความมั่นคงของคนกลุ่มนี้ พฤติกรรมของการสร้างและเกิดความไม่สงบในพื้นที่ มันมีคำตอบที่แตกต่างกับที่รัฐคิด โดยประชาชนมองเป็นอย่างอื่น รัฐได้ตั้งโจทย์ว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่ยอมรับว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดน ปัญหาก็คือตั้งคำถามเองแต่ตอบไม่ถูก แก้ไขอะไรไม่ได้"


 


อุปสรรคที่เกิดขึ้น สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อพล.อ.สนธิเสนอแนวคิดเรื่อวการเจรจา ก็ถูกตอบโต้และต้านทันที ทั้งที่ผู้ต่อต้านยังไม่รู้เลยว่า แนวทางการเจรจาจะมีรายละเอียดหรือรูปแบบอย่างไร และเมื่อไหร่ แค่เป็นเพียงแค่การเปรยขึ้นมา 


 


เขายกตัวอย่างกรณีของอาเจะห์ มีการเจรจา 4- 5 ปี ก่อนที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกโดยไม่มีเงื่อนไข ความรู้สึกดีๆก็ตามมา ยิ่งหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ประชาชนเดือดร้อน จึงกลายเป็นตัวเร่งให้มีการเจรจาเร็วขึ้น ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้อาเจะห์ใช้เวลากว่า 20 ปี  สองฝ่ายฆ่าฟันล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นมุสลิมด้วยกัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเริ่มมีการเจรจา แต่ก็ยังไม่อาจนำไปสู้สันติภาพได้เลยในทันที


 


สำหรับปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย ณ เวลานี้ เขาเสนอแนวทางว่า การเจรจาต้องให้ความสำคัญในเรื่องของศักดิ์ศรีของทุกฝ่าย อย่ามองว่าเป็นการเข้ามอบตัว การจัดใครไปพบใครนั้น เป็นเรื่องของรายละเอียด แต่จะเหมาะสมกว่าหากมอบอำนาจให้ใครเป็นผู้ปฏิบัติอย่างชัดเจน


 


"ผมเชื่อว่าการเจรจาวันนี้ ไม่ใช่จะต้องความสงบขึ้นในวันพรุ่งนี้ แต่หากเกิดเร็วขึ้นก็เป็นความโชคดีของคนในพื้นที่  แต่อย่างน้อยความตึงเครียดในระดับพื้นที่ก็ลดลง ความหวาดระแวงไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิม จะลดลงไปด้วย  อยากให้มองว่า  การเจรจาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา  อย่าได้ไปกังวลถึงรายละเอียดมากนัก ให้เริ่มต้นก้าวที่หนึ่งก่อน ถึงจะมีก้าวที่สองรายละเอียดจะต้องพูดกันอีกยาว  ต้องมีความหวังว่าการเจรจาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในวันนี้ ให้ทุกคนยอมรับ  ต้องมองว่าคนไทยในจังหวัดชายแดนใต้ เดือดร้อนมาไม่ใช่แค่ 2 ปี แต่เกิดขึ้นมา 30 กว่าปีแล้ว"


 


เหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ มิได้ถูกจำกัดเป็นเพียงปัญหาภายในประเทศตามที่ผู้นำรัฐบาลไทย พยายามจะให้ทุกคนมองเช่นนั้น เพราะในโลกมุสลิมปัญหานี้ได้รับความสนใจไม่น้อย  เขาเห็นว่าศักยภาพของคนสามจังหวัดภาคใต้ ขายได้ในโลกมุสลิม และจะสร้างโอกาสที่ดีให้กับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกและนำเข้าสินค้าต่างๆ


 


อีกสิ่งหนึ่งที่เขาชี้ให้เห็นก็คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโลกมุสลิมหลายคน มีพื้นเพกำเนิดจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังคงเฝ้ามองปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในมาตุภูมิ พร้อมจะยืนมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่รัฐบาลไทยในอดีตไม่ค่อยจะเปิดรับ


 


"หากเจรจาเสร็จสมบูรณ์ ผมเชื่อว่าไม่ใช่เพียงแค่สามจังหวัดจะสงบสุข และได้รับผลประโยชน์ แต่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากความสงบที่จะเกิดขึ้นด้วย" เขาฝากความหวังทิ้งท้ายไว้ในการสนทนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net