Skip to main content
sharethis

เดือน มี.ค. 2567 ครบ 10 ปี ที่ชาวอุยกูร์ลี้ภัยมาที่ประเทศไทย และถูกควบคุมตัวโดยตำรวจตรวจเข้าเมืองไทยตั้งแต่ปี'57 เป็นต้นมา ปัจจุบัน มีชาวอุยกูร์ถูกคุมขังในห้องกักกัน ตม.ไทย ราว 43 ราย และยังไม่รู้ว่าต้องถูกคุมขังอีกนานเท่าไร 

รายงานจาก 'สภาอุยกูร์โลก' (World Uyghur Congress) เผยว่า ระหว่างปี 2557-2566 มีชาวอุยกูร์ เสียชีวิตในห้องกักของ ตม. ไทยแล้ว 5 ราย ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยในห้องกัก ตม.

แม้ว่าเมื่อปีที่แล้ว (2566) กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าให้รัฐบาลไทยคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ แต่ชาวอุยกูร์กลับยังต้องเผชิญความเสี่ยงต่างๆ อนาคตของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในไทยจะเป็นอย่างไร และรัฐบาลไทยควรปรับเปลี่ยนนโยบายนี้อย่างไร เพื่อยุติการกักผู้ลี้ภัยชาวอุย์กูร์อย่างไร้จุดหมาย

เมื่อ 9 มี.ค. 2567 องค์กรภาคประชาสังคม 'The Fort' จัดวงเสวนา หัวข้อ "เสรีภาพที่รอคอย: สิบปีผู้ลี้ภัยอุยกูร์ในห้องกักของไทย" เชิญภาคประชาสังคมจากหลายภาคส่วนมาร่วมพูดถึงปัญหาและความเป็นมาของปัญหาควบคุมตัวชาวอุยกูร์ในประเทศไทย คุณภาพชีวิตในเรือนจำและห้องกัก และทางแก้ไขอาจอยู่ที่การนำหลัก 'มนุษยธรรม' นำการเมืองระหว่างประเทศ

ไทม์ไลน์ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทย

- 12-13 มี.ค. 2557 ตม.พบชาวอุยกูร์ เมืองซินเจียง ประเทศจีน จำนวน 220 คน คาดว่าเป็นผู้ชาย 78 คน ผู้หญิง 60 คน และเด็กๆ อีก 82 คน บางคนเป็นเด็กทารก ที่สวนยางพารา อ.รัตภูมิ สงขลา และถูกนำตัวไปกระจายตามห้องกัก ตม.ทั่วประเทศ 

- ปลายเดือน มิ.ย. 2558 ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์จำนวน 170 กว่ารายไปประเทศตุรกี

- 8 ก.ค. 2558 ชาวอุยกูร์ จำนวน 109 ราย ถูกทางการไทยบังคับส่งกลับไปที่ประเทศจีน ใส่กุญแจมือ และคลุมถุงดำ ส่งตัวพวกเขาให้กับเจ้าหน้าที่จีนที่กรุงเทพฯ จากนั้น มีการส่งตัวขึ้นเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวจีนที่มารับตัวในระหว่างการส่งตัว และไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขาอีกเลยหลังจากนั้น 

แฟ้มภาพ ชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนถูกเอาถุงดำคลุมหัวและใส่กุญแจมือ ระหว่างถูกส่งตัวกลับประเทศจีน

- 27 ก.ค. 2565 ทางการไทยนำชาวอุยกูร์ 50 รายในสถานกันกัก ตม. ทั่วประเทศ มาอยู่ที่ ตม.สวนพลู กรุงเทพฯ และปัจจุบันมี 43 ราย ที่ยังถูกกักที่ ตม. สวนพลู กรุงเทพฯ 

- ทั้งนี้ รายงานของสภาอุยกูร์โลก เผยว่า ตั้งแต่ 2557 เป็นต้นมา มีชาวอุยกูร์เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังโดยทางการไทย อย่างน้อย 5 ราย กรณีล่าสุด 2 ใน 5 เสียชีวิต จากปัญหาด้านสุขภาพระหว่างถูกกักตัวในปี 2566

ขอให้พ่อของเขาได้กลับมาพบกับครอบครัวอีกครั้ง

เสวนาเริ่มต้นด้วยการอ่านจดหมายจากสมาชิกครอบครัวของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อยู่ในห้องกัก ตม. ถึงรัฐบาลไทย 

ผู้เขียนจดหมาย เคยเป็นหนึ่งในผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เดินทางมายังประเทศไทย และถูกจับกุมเมื่อ 14 มี.ค. 2557 ภายหลังเขา พี่น้อง และแม่ ได้ลี้ภัยไปยังที่ประเทศตุรกี เมื่อปี 2558 แต่พ่อของเขาต้องถูกควบคุมตัวอยู่สถานกักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รวม 10 ปี 

จดหมายของเขา ระบุว่า เขาขอโทษทางการไทยที่เข้ามาโดยไม่รับอนุญาตเมื่อคราวนั้น เขายืนยันว่าต้องหลบหนีการประหัตประหารเข้ามาในประเทศไทย แม้ว่าตัวเขาและแม่ได้เดินทางไปยังประเทศตุรกีแล้ว แต่พวกเขายังคงคิดถึงและยังหวังว่าพ่อของเขาจะได้กลับมาพบหน้าครอบครัว

จดหมายทิ้งท้ายถึงการขอความเมตตาถึงรัฐบาลไทยที่จะปล่อยตัวพ่อของเขาจากสถานกักกันคนต่างด้าวของ ตม. และขอให้พ่อของเขาได้กลับมาพบครอบครัวอีกครั้ง

"การพลัดพรากจากครอบครัวสร้างความเจ็บปวดในหัวใจ และเรายังฝันที่จะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง แต่สิ่งนี้ไม่อาจจะเกิดขึ้นถ้าไม่ได้รับความเมตตาจากท่าน ผมขอให้ท่านคำนึงถึงผลระทบต่อมนุษย์ที่ต้องพลัดพราก และช่วยให้มีการปล่อยตัวพ่อของผม เพื่อให้เราสามารถอยู่รวมกันเป็นครอบครัวได้อีกครั้งหนึ่ง" จดหมายระบุ

ข้อเสนอจาก กสม.ต่อการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยอุยกูร์

รัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึงข้อเสนอของ กสม. หลังจากที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมห้องกักคนต่างด้าวของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เมื่อปี 2566 เธอพบว่า สภาพความเป็นอยู่ของผู้กักกันในสถานกักกันคนต่างด้าวตอนนี้ทำให้พวกเขามีปัญหาด้านสุขภาพ และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง

ที่ปรึกษา กสม. เผยปัญหาว่า ชาวอุยกูร์ในห้องกักฯ ตม. สวนพลู เข้าไม่ถึงสิทธิการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย หรือผู้ถูกกักกัน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง หรือ ICCPR

เนื่องด้วยชาวอุยกูร์เข้าไม่ถึงสิทธิการติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือสมาชิกครอบครัว ที่ปรึกษา กสม. เสนอว่า ชาวอุยกูร์ควรสามารถติดต่อกับที่ปรึกษาทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ และกรณีผู้นับถือศาสนาอิสลาม ควรได้ติดต่อกับจุฬาราชมนตรี โดยการสื่อสารอาจอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ หรือการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ตม.ได้ 

รัตติกุล จันทร์สุริยา (ถ่ายโดย The Fort)

รัตติกุล เสนอด้วยว่า ชาวอุยกูร์ควรเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข เช่น ให้มีแพทย์ และจิตแพทย์ เข้าไปตรวจสุขภาพในห้องกัก และเสนอให้มีการแยกเด็กและผู้หญิงในสถานที่ต่างหาก เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ และหลักการแมนเดลา 

หลักการพื้นฐาน 5 ประการสำคัญ หลักการแมนเดลา ประกอบด้วย

  1. ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
  2. ห้ามทรมานหรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ
  3. ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  4. วัตถุประสงค์ของเรือนจำ คือ การคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำความผิดซ้ำ
  5. ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการต่างๆ ในเรือนจำ และผู้เข้ามาเยี่ยมจะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา

รัตติกุล เสนอทางออกระยะยาวว่า ทางการไทยควรเปิดปรับปรุงห้องกักใหม่ จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามหลักการแมนเดลาและสิทธิมนุษยชน รวมถึงแก้ไขความแออัดในห้องกัก โดยมีช่องทางและโอกาสให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางไปประเทศที่ 3

ที่ปรึกษา กสม. เรียกร้องให้รัฐไทยปฏิบัติตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศต้นทาง และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองตามหลักการผู้แสวงหาการคุ้มครองในระดับสากล เธอยืนยันด้วยว่า กสม.จะติดตามตรวจสอบประเด็นคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่สถานการณ์ของอุย์กูร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น  

ชาวอุย์กูร์ยังไม่ได้ไปไหน เพราะการเมืองต่างประเทศ

ต่อมา วงเสวนา "เสรีภาพที่รอคอย: สิบปีผู้ลี้ภัยอุยกูรย์ในห้องกักของไทย" มีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานมูลนิธิศักยภาพชุมชน และ แอนเดรีย จิโอเก็ตตา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย International Federation for Human Rights โดยมี พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการเดอะฟอร์ท ดำเนินรายการ

ภายในวงเสวนา ได้ทำให้เห็นว่าหนึ่งในอุปสรรคที่ขวางกั้นการเดินทางลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ของชาวอุยกูร์คือ 'การเมืองระหว่างประเทศไทย-จีน' 

ทั้งนี้ ชาว 'อุย์กูร์' เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีประชากรอยู่ราว 10 ล้านราย ช่วงที่ผ่านมาพวกเขาเผชิญกับนโยบายกดขี่ทางวัฒนธรรม และศาสนา เนื่องจากจีนมีนโยบายไม่อนุญาตให้ชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้ง ไม่ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ทำให้เขามีความต้องการลี้ภัย เพื่อไปยังประเทศที่ 3 ที่อนุญาตให้พวกเขาดำเนินการใช้ชีวิตตามหลักศาสนกิจได้ 

แผนที่มณฑลซินเจียง ประเทศจีน (ที่มา: สถานทูตและสถานกงศุลสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย)

ชาวอุย์กูร์บางส่วนใช้เส้นทางลี้ภัยลงมาที่บริเวณภายใต้ของไทย หรือประเทศมาเลเซีย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 โดยประเทศที่พวกเขาต้องการลี้ภัยไปมากที่สุด และดีที่สุดคือประเทศตุรกี 

กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์สมัยที่เขาทำงานเป็นผู้ประสานงาน ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และได้เข้าไปช่วยติดต่อสถานทูตตุรกี เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอุยกูร์เมื่อ มี.ค. 2557 

กัณวีร์ กล่าวว่า เมื่อประมาณวันที่ 12 มี.ค. 2557 เขาได้รับแจ้งจาก ตม.ภาค 6 จ.สงขลา ให้ช่วยตรวจสอบผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่ง เพราะ ตม.ไม่แน่ใจว่าเป็นชาวโรฮีนจาหรือไม่ เพราะไม่มีใครให้สัมภาษณ์

เมื่อได้เข้าไปตรวจสอบ ทำให้ทราบว่าพวกเขาคือชาวอุย์กูร์ที่เดินทางมาจากจีน และต้องการจะลี้ภัยไปที่ประเทศตุรกี กัณวีร์จึงเริ่มติดต่อทางสถานทูตตุรกี ประจำประเทศไทย ให้เข้ามาคุย และทางตุรกียินดีรับผู้ลี้ภัย 220 คนนี้

กัณวีร์ สืบแสง (ถ่ายโดย The Fort)

สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่จะได้ 'ไฟเขียว' (ได้รับอนุญาต) เขาได้ติดต่อไปยังตำรวจตรวจเข้าเมือง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เดินทางไปยังประเทศตุรกี ซึ่งทางการไทยอนุญาตให้ดำเนินการ พร้อมกับขอให้ประเทศตุรกีรับผู้ลี้ภัยเพิ่ม ซึ่งทางตุรกีตกลง และได้ส่งเครื่องบินมาที่ไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศตุรกีส่งเครื่องบินจากกรุงอังการามารับผู้ลี้ภัยอุยกูร์ กัณวีร์ได้ทราบข่าวร้ายว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยในขณะนั้น (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ไม่อนุญาตให้ทางการตุรกีมารับผู้ลี้ภัยแล้ว 

"วันที่เครื่องบินจากอังการาบินมายังประเทศไทย เราได้รับข่าวร้ายจากรัฐบาลไทยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ต้องการให้เครื่องบินจากอังการามายังประเทศไทย และบอกว่าข้อตกลงล่มแล้ว" กัณวีร์ กล่าว และระบุว่า หลังจากนั้น เขาได้ทราบข่าวว่า ชาวอุยกูร์ถูกคุมขังในสถานกักกันทั่วประเทศไทย เช่น ภาคใต้ ภาคอีสาน และอื่นๆ 

อดีตผู้ประสานงาน UNHCR เผยว่า ในระหว่างที่เขาไปทำงานที่ซูดานใต้ ภูมิภาคแอฟริกา เขาได้ทราบข่าวว่า ทางการไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปที่ประเทศจีน เมื่อ 8 ก.ค. 2558 และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ไม่ทราบข่าวคราวของชาวอุยกูร์กลุ่มนี้อีกเลย

โรเบิร์ตสัน ตั้งข้อสังเกตว่า การส่งตัวกลับไปประเทศจีนนั้นอาจเป็นความพยายามเอาใจประเทศจีนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เพื่อให้ตะวันตกเอาใจประเทศไทย  

ฟิล โรเบิร์ตสัน (ถ่ายโดย The Fort)

รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์ วอตช์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปประเทศจีน ทำให้ประเทศไทยถูกโจมตีอย่างหนักเนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และด้วยกระแสการต่อต้านที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลไทย มองว่า การตัดสินใจที่ดีที่สุดคือ 'การไม่ตัดสินใจ' เพราะว่าส่งกลับจีนก็ถูกนานาชาติประณามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างใหญ่หลวง และจะไม่ส่งไปตุรกี เพราะกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน ทำให้อุยกูร์ราว 40 ราย ต้องอยู่สถานกักกันแบบไม่มีกำหนด หรืออาจจะต้องอยู่จนเสียชีวิต 

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานมูลนิธิศักยภาพชุมชน เสริมว่า เธอเคยนำเรื่องที่กักกันชาวอุยกูร์ไปถามในกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพราะเธอมองว่าพื้นที่เรือนจำ หรือห้องกัก ไม่ใช่พื้นที่ที่ควรกักชาวอุยกูร์ ห้องกักควรใช้ควบคุมตัวระยะสั้นๆ เพื่อรอส่งไปยังประเทศที่ 3 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กมธ.การต่างประเทศ ตอบกลับว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประเทศจีนมีการตรวจสอบเรื่องชาวอุยกูร์ในประเทศอย่างใกล้ชิด และถ้าต้องส่งคนเหล่านี้ไปประเทศที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตจากจีน นอกจากนี้ มีคนใน กมธ. ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมานั่งฟังจีนตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งบอกว่า ไทยต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน และมาตรการการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากจีน

คุมขังไม่มีกำหนด ขัดกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับกรณีการคุมขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในห้องกักอย่างไม่มีกำหนดนั้น แอนเดรีย ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำลักษณะนี้ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ICCPR ข้อที่ 9 กำหนดว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย และบุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้" ซึ่งไทยเป็นภาคี และก็ต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ แอนเดรีย มองว่า ถ้ามีการเสนอเคสต่างๆ ของอุยกูร์ ไปกับคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งดำเนินภายใต้สหประชาชาติ เขาเชื่อว่าจะมีหนังสือส่งข้อเสนอแนะส่งมาให้กับไทย เพื่อปล่อยตัวผู้ที่ถูกพรากไปด้วยเสรีภาพแน่นอน 

แอนเดรีย จิโอเก็ตตา (ถ่ายโดย The Fort)

โรเบิร์ตสัน เรียกร้องให้ประเทศไทยไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยอุยกูร์กลับไปที่จีน เพราะมีความเสี่ยงว่าบุคคลเหล่านี้จะถูกทรมาน และถูกลงโทษอย่างไม่เหมาะสม อีกทั้ง ยังเป็นการขัดต่อหลักอนุสัญญาที่ไทยเคยให้สัตยาบันไว้ และกฎหมายในไทยอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 13 บัญญัติว่า ห้ามส่งบุคคลใดก็ตามสู่ภัยอันตรายที่อาจจะเป็นภัยต่อชีวิต

"ไทยต้องมีความกล้าที่จะยืนหยัดว่าภายใต้กฎหมายในประเทศไทยและต่างประเทศ ไม่สามารถส่งกลับไป (จีน) ได้ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย" โรเบิร์ตสัน กล่าว 

'มนุษยธรรม' ควรมาก่อน

กัณวีร์ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลไทยมีการบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์ ทั้งหมด 109 คนกลับไปประเทจีน เขาพยายามคุยกับ กรรมาธิการทุกกรรมาธิการ รวมถึงกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย 

สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวต่อว่า หลังจากที่เขามาทำงานเป็นนักการเมือง เขาคิดว่ามีพื้นที่มากขึ้น แต่ยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอะไรถ้ายังไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็อยากจะอธิษฐานอย่างจริงๆ จังๆ ว่ารัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างนี้โดยเร็ว เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบว่าต้องถูกขังอีกกี่ปี หรือต้องเสียชีวิตอีกกี่คน 

ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน กัณวีร์ มองว่า หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา และพยายามบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศคือไทยกับจีนนั้นสำคัญกว่า แต่เขาอยากชี้ให้เห็นว่าเรื่อง 'คน' สำคัญกว่านั้นมาก 

"เรื่องของคนมันมีความสำคัญ หลายๆ คนอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับผม หลายๆ คนบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศสำคัญมากกว่า แต่ถ้าประเทศไม่มีมนุษย์ ประเทศก็ไม่สามารถไปต่อได้ " กัณวีร์ กล่าว 

กัณวีร์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้น เขาจะพยายามผลักดันทุกอย่าง และหวังว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไป และไม่อยากจะรออีก 2-3 ปี อยากให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมกัน พยายามด้วยกัน เพื่อหวังว่าอาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง 

พุทธณี กางกั้น พิธีกรเสวนา ตั้งคำถามว่า การยุติการควบคุมตัวชาวอุยกูร์ที่อยู่ใน ตม. 40 กว่าคนนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนล่มสลายเลยหรือ ‘เราต้องการความกล้าหาญจากรัฐบาลไทย’ 

ปัญหาของชาวอุยกูร์ในห้องกักฯ ตลอด 10 ปีคือเรื่องสุขภาพ

ชลิดา กล่าวว่า ที่มูลนิธิศักยภาพชุมชน พยายามที่จะจัดการช่วยเหลืออุยกูร์ในเรือนจำ และสถานกักกัน เธอมองว่า ข้อเสนอของเธอเหมือนทาง กสม. คือต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงการแพทย์ เพราะว่าพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย สภาพห้องกักขังที่เลวร้ายทำให้อย่างน้อย 5 รายอยู่ในสภาพใกล้เสียชีวิต และเธอไม่สามารถเยี่ยมเยียนเขาในห้องกักฯ และไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยม 

โรเบิร์ตสัน เห็นด้วยกับข้อเสนอว่า ผู้ต้องขังในสถานกักกันควรมีสิทธิในการเข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อไปต่อในประเทศที่ 3 และควรได้รับการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขทั้งในและนอกสถานกักกัน หรือเรือนจำ

แอนเดรีย เน้นย้ำว่า สิ่งที่ขอจากรัฐบาลไทยไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษ หรืออภิสิทธิ์ใดๆ แต่เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ทำตามกรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ยากเลย แต่ว่าสภาพห้องกักไทยตอนนี้ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน และปีนี้รัฐบาลไทยจะอาสาไปเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (HRC) ดังนั้น เรื่องบางเรื่องไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวเกินไปอย่างการปรับปรุงห้องกัก ซึ่งรัฐบาลไทยควรให้คำมั่นในการพัฒนาในเรื่องนี้

คดีของผู้ต้องหาอุยกูร์ กระบวนการที่ลากยาวนับสิบปี

ชลิดา ชวนติดตามกรณีที่ชาวอุยกูร์ 2 ราย คือ 'อาเด็ม คาราดัก' และ 'เมียไรลี ยูซุฟู' ตกเป็นผู้ต้องหาคดีวางระเบิดศาลเจ้าพระพรหมฯ เมื่อปี 2558 โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ยังคงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา 

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ (ถ่ายโดย The Fort)

ชลิดา กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด โดยเชื่อว่าทั้ง 2 รายเป็นผู้บริสุทธิ์ และหลักฐานในชั้นศาล ไม่ได้เป็นหลักฐานที่ดีเท่าไร แต่เป็นห่วงเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาคดี แม้ว่าจะมีการตัดบัญชีรายชื่อพยานจากเดิม 700 ปาก ล่าสุดเหลือเพียง 140 ปากแล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะทำให้การดำเนินคดีใช้เวลาราว 2 ปี (จนถึงปี 2569) ถึงจะมีการอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในศาลชั้นต้น 

พุทธณี ให้ความเห็นกรณีการดำเนินคดีอาญากับชาวอุย์กูร์ใช้เวลานานเกินความจำเป็น ทำให้ความยุติธรรมล่าช้าออกไป ซึ่งไม่ควรจะช้าขนาดนี้ 

กรณีคุณภาพชีวิตในเรือนจำ ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายได้รับความลำบากเรื่องอาหาร เนื่องจากอาหารที่เรือนจำจัดเตรียมไม่ได้เป็นอาหารฮาลาล ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถทานอาหาร น้ำหนักลด 10-12 กก. จึงมีการร้องเรียน และล่าสุดศาลมีคำสั่งทบทวนและจัดหาอาหารฮาลาลให้พวกเขาได้แล้ว 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เกิดขึ้นเมื่อ 17 ส.ค. 2558 โดยมีผู้บาดเจ็บจำนวนอย่างน้อย 120 ราย และเสียชีวิต 20 ราย เป็นคนไทย 6 ราย และต่างชาติ 14 ราย

เหตุระเบิดดังกล่าวมีการตั้งคำถามมากว่าเป็นการตอบโต้ของชาวอุยกูร์หรือไม่ จากกรณีที่ไทยบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยอุยกูร์ให้จีนเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2558 ขณะที่ทางการไทยปฏิเสธความเกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net