Skip to main content
sharethis

บริษัทไลน์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน Shein พยายามแก้ภาพลักษณ์ให้ตัวเองหลังถูก์วิจารณ์ว่าบังคับใช้แรงงานและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเอาอินฟลูเอนเซอร์ชาวอเมริกัน 6 ราย มาช่วยโปรโมทสร้างภาพเกี่ยวกับโรงงาน จนอินฟลูเอนเซอร์เองก็ถูกวิจารณ์ไปด้วย

บริษัทเสื้อผ้า Shein ดูเหมือนจะรับรู้กลุ่มฐานลูกค้าของตัวเองเป็นอย่างดีว่าเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่น Gen Z ผู้เสพ TikTok และในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียล เพราะมีประเภทของเสื้อผ้าให้เลือกเป็นจำนวนมาก ขายในราคาที่ต่ำ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่รายได้น้อยเข้าถึงได้

แต่ทว่าแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติจีนบริษัทนี้ก็มีปัญหาเรื่องที่พวกเขาดำเนินธุรกิจแบบทำลายสิ่งแวดล้อมและยังถูกตั้งคำถามในเรื่องมาตรฐานการจ้างงาน หลังจากที่ในปี 2565 มีรายงานหลายฉบับที่เปิดเผยว่าบริษัท Shein มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงาน เช่นการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องที่ Shein ลอกแบบเสื้อผ้าจากดีไซเนอร์อื่นๆ และมีการใช้วัตถุดิบที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย

ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา Shein ได้จ้างอินฟลูเอนเซอร์และออกค่าเดินทางให้พวกเขาเดินทางไปเยือนกว่างโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อให้ไปทัวร์โรงงานผลิตเสื้อผ้าของพวกเขา ในการสร้างภาพให้เห็นว่าโรงงานของพวกเขา "สะอาด" และมีแรงงานที่ "ยิ้มแย้ม มีความสุข" ที่ไม่ได้ทำงานหนักแต่อย่างใด

เดสทีน ซัดดุท ครีเอเตอร์โซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามมากกว่า 4 ล้านฟอลโลว์ กล่าวถึงการไปเยี่ยมชมโรงงานว่า "ในตอนที่มีการสัมภาษณ์คนงาน มีคนงานจำนวนมากที่ดูสับสน(กับคำถาม) และพูดโต้ตอบข้อกล่าวหาเรื่องแรงงานเด็ก และข้อกล่าวหาเรื่องที่ว่ามีสารตะกั่วในเสื้อผ้าของพวกเขา" ซุดดุท กล่าวอีกว่า คนงานเหล่านี้ "ไม่มีเหงื่อออกเลยแม้แต่น้อย" และเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เองต่างหากที่เหงื่อออก

อย่างไรก็ตามเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ก็เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกลับ ที่บอกว่าเหล่าคนดังในโลกโซเชียลเหล่านี้ไปเข้าร่วมช่วยโฆษณาชวนเชื่อให้กับบริษัทในจีนที่พยายามสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้ลูกค้าของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ข้อความวิจารณ์ที่ระบุว่า "พวกนั้นแค่นำเสนอสิ่งที่พวกเขาอยากให้คุณเห็นเท่านั้น" หรือ "ฉันขอชื่นชมจอมวายร้ายด้านการตลาดที่คิดแผนการแบบนี้ขึ้นมาเลย" หรือ "รู้สึกว่าพวกนั้นแค่ใช้พวกคุณมาเป็นตัวช่วยแก้ภาพลักษณ์ที่เสียไปแล้วเท่านั้น น่ารังเกียจจริงๆ"

มีนักวิจารณ์อีกส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ามีการจัดให้กลุ่มดาราโซเชียลเดินทางไปเยือน "ศูนย์นวัตกรรม" ของบริษัทเท่านั้น ไม่ได้ให้ได้เห็นโรงเก็บสินค้าหรือโรงงานอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย

ทางด้าน Shein โต้ตอบกลับโดยแถลงว่า "ทาง Shein มีพันธกรณีต่อความโปร่งใสและการมาเยือนของอินฟลูเอนเซอร์ในครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นในทางหนึ่งว่าพวกเขารับฟังเสียงติชม มีโอกาสแสดงให้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เห็นว่า Shein ทำงานยังไง ผ่านการเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมของพวกเรา และปล่อยให้พวกเขาได้แชร์สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้แก่ผู้ติดตามของพวกเขา"

Shein เป็นบริษัทแบบไหน และถูกกล่าวหาเรื่องอะไร

Shein เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ในเมืองนานกิง ซึ่งในปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์แต่ยังมีโรงงานผลิตในจีน Shein ระบุถึงตัวเองว่าเป็นบริษัทร้านค้าออนไลน์ด้านไลฟ์สไตล์และแฟชั่นระดับโลก ที่ "มีพันธกรณีในการทำให้แฟชั่นความงามสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน" ทางบริษัทมีการจ้างงานลูกจ้างราว 10,000 คนทั่วโลก และมีการส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ประเทศ

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา Shein ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและมีรายได้มากขึ้น พวกเขามีส่วนแบ่งตลาดฟาสต์แฟชั่นในสหรัฐฯ จากเดิมร้อยละ 12 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นร้อยละ 50 ในเดือน พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นไปตามกระแสการใช้ อีคอมเมิร์ซ หรือการซื้อขายทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของ COVID-19 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ Shein ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้าช่วยด้วย อย่างเช่นการให้อินฟลูเอนเซอร์โซเชียลมีเดียโพสต์ "วิดิโอสั่งซื้อทีละมากๆ" ผ่าน TikTok หรือ Youtube เพื่ออวดว่าซื้อมาจากแบรนด์นี้

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2565 บริษัท Shein ก็เผชิญกับข้อกล่าวหาต่างๆ เช่น การสืบสวนสอบสวนของสื่ออังกฤษในปี 2565 พบว่ามีคนงานบางคนที่ถูกใช้งานมากกว่า 18 ชั่วโมงต่อวันเพื่อที่จะผลิตสินค้าให้ทัน ซึ่งการใช้งานยาวนานขนาดนี้ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่แรงงานได้รับค่าจ้างต่ำ รวมถึงจะถูกหักค่าจ้างด้วยถ้าหากทำงานผิดพลาด

มีกรณีรายงานด้านแฟชั่นกับความยั่งยืนของ Synthetics Anonymous 2.0 ระบุว่า Shein ใช้วัตถุดิบเป็นโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ทีละมากๆ และใช้น้ำมันเป็นจำนวนมากในการผลิต ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 180 โรง

นอกจากนี้ยังมีรายงานของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ในชื่อ "ฟาสต์แฟชั่นกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์" ออกมาเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ระบุว่า Shein ทำการอาศัยช่วงโหว่หลบเลี่ยงมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากแรงงานทาสชาวอุยกูร์ที่ออกมาเมื่อปี 2564 ด้วยการอาศัยเส้นสายซัพไพลเออร์ชาวจีนและใช้วิธีการแบบส่งตรงถึงมือผู้บริโภค

ข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดแรงงานส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงงานในกว่างโจวที่อินฟลูเอนเซอร์เดินทางไปเยือน แต่เกิดขึ้นที่ห่วงโซ่อุปทานจากซินเจียงที่มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์มากกว่า ทำให้สหรัฐฯ ออกมาตรการนำเข้าจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 ในรายงานการวิจัยของสภาคองเกรสระบุว่า จากการวิจัยในเบื้องต้นที่ยังคงอยู่ในระหว่างการค้นคว้าพวกเขาพบว่ายังคงมี "สินค้าที่ผลิตโดยการบังคับใช้แรงงานปนเข้ามาในการนำเข้าของสหรัฐฯ"

ทาง Shein แถลงโต้แย้งว่า พวกเขาไม่ได้มีซัพไพลเออร์จากซินเจียง และ "จะไม่ยอมให้มีการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้น"

Shein เป็นบริษัทที่มีการผลิตสินค้าประเภทที่ต่างสไตล์กันออกมามหาศาลเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น จากงานวิจัยของ Sheng Lu ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ที่ศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอโลกระบุว่า ภายในช่วงระยะเวลา 12 เดือน Shein เป็นบริษัทที่มีสินค้าต่างประเภทกันลงวางจำหน่ายในเว็บมากที่สุดแห่งหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับแบรนด์ใหญ่อื่นๆ อย่าง Gap ที่มีอยู่ 12,000 ชิ้น H&M ที่มีอยู่ประมาณ 25,000 ชิ้น และ Zara อยู่ที่ประมาณ 35,000 ชิ้น

อย่างไรก็ตามการที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อินฟลูเอนเซอร์ล่าสุดทำให้มีอินฟลูเอนเซอร์อย่างน้อยหนึ่งรายประกาศตัดสัมพันธ์กับ Shein และยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาดที่ไปช่วยโปรโมทให้

อินฟลูเอนเซอร์รายดังกล่าวนี้คือ ดานี คาร์โบนารี ที่ใช้ชื่อในวงการว่า Dani DMC เป็นนางแบบพลัสไซส์ที่ประกาศทางอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า "ฉันยุติความสัมพันธ์กับ Shein หลังจากที่เดินทางกลับจากการไปเยือนโรงงาน และฉันจะไม่ไปเกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขาหรือทำงานร่วมกับพวกเขาอีกไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน ทั้งในตอนนี้และในอนาคต"

อย่างไรก็ตาม คาร์โบนารี ก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เป็นปัญหาของ Shein หรือข้อกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง แต่แค่บอกว่า "ฉันได้กระทำผิดพลาดไป ฉันพยายามจะนำทางตัวเองโดยคำนึงถึงตัวฉันเองในวัยเยาว์และชุมชนของฉัน แล้วฉันก็ทำให้พวกเราเองผิดหวัง ฉันทำผิดพลาดต่อพวกเราเอง"

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net