Skip to main content
sharethis

องค์กรชาวอุยกูร์ และองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ผู้ลี้ภัยอุยกูร์เสียชีวิตในห้องกัก สตม. อย่างน้อย 2 รายในปีนี้ องค์กรสิทธิฯ มองกรณีนี้สะท้อนความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของผู้ลี้ภัยในห้องกัก และเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยอย่างมีมนุษยธรรม


28 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (28 เม.ย.) สภาอุยกูร์โลก โครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ และฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์จากกรณีที่มีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เสียชีวิตในห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เป็นรายที่ 2 และเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกไม่ควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด และปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างมีมนุษยธรรม 

องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน อย่าง ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่มีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เสียชีวิตในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู เป็นรายที่ 2 ในปีนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า นายมัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ อายุ 40 ปี เสียชีวิต ขณะถูกคุมขังในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู มานานกว่า 9 ปี หรือถูกคุมขังมาตั้งแต่ 13 มี.ค. 2557 

มัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ อายุ 40 ปี (ที่มา: Private)

สภาอุยกูร์โลก และโครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า พวกเขาได้รับทราบข่าวในเรื่องที่ มัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยที่เขาอยู่ในสถานกักตัวผู้อพยพของทางการไทยมาเป็นเวลามากกว่า 9 ปี

ทางองค์กรอุยกูร์ ระบุว่า มัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน เป็นชายอายุ 40 ปี มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตของเขาว่า "ไตวาย" นั้นถือเป็นเรื่อง "ฟังดูน่าสงสัย" และในตอนนี้ก็ไม่ทราบว่าครอบครัวของเขาอยู่ที่ไหน

สำหรับมัตตูร์ซุน เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังชาวอุยกูร์เกือบ 50 ราย ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักตัว สวนพลู กรุงเทพฯ และเขาเป็นชาวอุยกูร์รายที่สองในกลุ่มนี้ที่เสียชีวิตในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

มัตตูร์ซุน เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2557 พร้อมกับผู้อพยพชาวอุยกูร์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รายอื่นๆ ที่หนีการประหัตประหารออกจากประเทศจีน รวม 350 ราย ทางการไทยทำการควบคุมตัวและคุมขังพวกเขา จนกระทั่งในเดือน ก.ค. 2558 ทางการไทยก็ทำการส่งตัวผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้หญิงและเด็กอย่างน้อย 170 รายไปที่ตุรกี อีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นก็มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยชายและหญิงกลับประเทศไปที่ประเทศจีน โดยที่ไม่มีข้อมูลว่ามีการปฏิบัติอย่างไรกับพวกเขาและไม่ทราบว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกส่งไปอยู่ที่ไหน

ทางองค์กรสภาอุยกูร์โลก ได้รับรายงานว่า มัตตูร์ซุน เจ็บป่วยด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาเจียนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ สภาพร่างกายของเขาแย่ลงเรื่อยๆ ตาขาวของตูร์ซันกลายเป็นสีเหลือง มีการติดเชื้อจนทำให้ลิ้นของเขาเป็นสีเหลืองจนทำให้เขาพูดไม่ได้ มีการส่งตัวตูร์ซันไปยังโรงพยาบาลเมื่อช่วงเวลาหนึ่งของวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา และเป็นไปได้ว่าเขาเสียชีวิตไม่นานหลังจากถูกส่งโรงพยาบาล

โอเมอร์ คานัต ผู้อำนวยการบริหารของโครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ กล่าวว่า "จะต้องปล่อยให้เกิดการสูญเสียชีวิตอีกมากเท่าใด ทางการไทยถึงจะกระทำในสิ่งที่มีมนุษยธรรมอย่างการปล่อยตัวประชาชนบริสุทธิ์ผู้ที่แค่ต้องการที่พักพิงที่ปลอดภัย ... ชาวอุยกูร์ทั่วโลกมีความเจ็บปวดที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกปล่อยให้ทนทุกข์นานเป็นเวลา 9 ปี และโลกก็ไม่ได้ทำอะไรที่จะเป็นการช่วยเหลือพวกเขาเลย"

องค์กรสภาพอุยกูร์, โครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ และองค์กรเอ็นจีโออื่นๆ เคยเรียกร้องให้มีปฏิบัติการเร่งด่วนในเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่มีผลตอบรับใดๆ ในปี 2565 พวกเขาเคยสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้และเรียกร้องให้มีการยุติการกักตัวชาวอุยกูร์เป็นระยะเวลายาวนานในไทย

โดลคุน อิซา ประธานสภาอุยกูร์โลกกล่าวว่า ประชาคมโลกล้มเหลวในการที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในไทยตลอดระยะเวลายาวนาน 9 ปี และบอกว่าพวกเขาจะยังคงมีความเป็นห่วงต่อเรื่องสภาพที่ย่ำแย่ในที่กักตัว ซึ่งพวกเขาเกรงว่า "มันจะกลายเป็นสาเหตุให้ผู้ต้องขังทั้งหมดเสียชีวิต" ไปด้วย

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ในเรื่องความกังวลต่อสภาพของสถานที่กักตัวชาวอุยกูร์ในไทย โดยอีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า "ทางการไทยกำลังทำให้ผู้คนที่แสวงหาการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยต้องเผชิญความเสี่ยงร้ายแรงโดยการกักตัวพวกเขาเป็นเวลาหลายปีในสภาพที่ย่ำแย่ภายในสถานกักตัวผู้ลี้ภัย"

เพียร์สัน ระบุว่า การเสียชีวิตของมัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน ควรจะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้มีการยุตินโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างการคุมขังผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยเป็นระยะเวลายาวนานเช่นนี้

ก่อนหน้าการเสียชีวิตของตูร์ซัน เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังชาวอุยกูร์อีกคนหนึ่งซึ่งถูกคุมขังในสวนพลูเช่นเดียวกับตูร์ซัน ชื่อ อาซิซ อับดุลลาห์ ก็เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ถูกระบุว่าเป็นการเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม โดยที่อะซิซ ถูกกักตัวมาเป็นเวลานานเกือบ 9 ปี มีอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 คือกรณีของ บิลาล ที่เสียชีวิตในสถานกักตัวของไทยด้วยวัยเพียง 27 ปี

ทางองค์กรอุยกูร์โลก และโครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวชาวอุยกูร์ในที่กักตัวโดยไม่มีเงื่อนไขโดยทันที และแสดงความกล้าหาญในการหลีกเลี่ยงไม่ส่งตัวผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศ และขอให้มีกระบวนการให้ทางเลือกผู้ขอลี้ภัยได้ไปตั้งรกรากใหม่

สององค์กรอุยกูร์ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยให้โอกาสชาวอุยกูร์ในการขอลี้ภัยและให้ย้ำเตือนทางการไทยว่าพวกเขามีพันธกิจในเรื่องนี้ด้วย

‘ฮิวแมนไรท์วอทช์’ ชี้ไทยควรปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยแบบมีมนุษยธรรม

‘ฮิวแมนไรท์วอทช์’ ระบุว่า ชาวอุยกูร์เป็นชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายเติร์กอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอยู่ที่เขตปกครองตนเองซินเจียงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ฮิวแมนไรท์วอทช์ รายงานว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ได้ยกระดับการปราบปรามอย่างหนักต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เคยระบุว่า การปราบปรามชาวอุยกูร์โดยทางการจีนนั้น "อาจจะจัดว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุอีกว่า สภาพสถานกักตัวผู้อพยพในประเทศไทยนั้นต่ำกว่ามาตรฐานมาเป็นเวลานานแล้ว แต่รัฐบาลไทยก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเคยทำการบันทึกเรื่องที่มีการคุมขังเด็กผู้อพยพในไทยเมื่อปี 2557 และการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้ลี้ภัย รวมถึงการคุมขังผู้ลี้ภัยเขตเมืองเมื่อปี 2555 ด้วย

จากการที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐภาคีที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยปี 2494 (ค.ศ. 1951) และไม่ได้ออกกฎหมายใดๆ ที่จะรับรองสถานะผู้ลี้ภัยรวมถึงไม่มีกระบวนการที่จะประเมินการขอสถานะผู้ลี้ภัย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องว่า เนื่องจากที่ไทยขาดกระบวนการเช่นนี้ ทางการไทยจึงควรเคารพต่อผู้ที่ได้รับการรับรองเป็น "บุคคลในความห่วงใย" (Person of Concern - POC) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ด้วยการไม่กักตัวผู้ที่ขอรับการคุ้มครองจากนานาชาติ

นอกจากเรื่องการยกเลิกการกักตัวหรือคุมขังผู้ขอลี้ภัยแล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังขอให้ไทยใช้วิธีในแบบประเทศอื่นที่มีประสิทธิภาพในการจัดการผู้ลี้ภัย อย่างวิธีการตั้งศูนย์รองรับผู้ลี้ภัย และโครงการปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไข

เพียร์สัน กล่าวว่า "รัฐบาลไทยควรจะเล็งเห็นว่านโยบายการกักตัวแบบไม่มีกำหนดในเชิงลงโทษต่อผู้ลี้ภัยนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งไร้มนุษยธรรม และไม่ก่อให้เกิดผลดี ... การกักกันตัวชาวอุยกูร์ไว้แบบขังลืมนั้น ไม่ได้เป็นการหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาหนีสถานการณ์ที่เลวร้ายในซินเจียง แต่จะกลายเป็นการทำให้พวกเขาทนทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้น"

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ร่วมในกรณีเดียวกัน โดยเรียกร้องไปยังทางการไทยจำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย

1. ปล่อยตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยทันทีและยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีกําหนดและโดยพลการ

2. อนุญาตให้ทนายความ องค์กรเพื่อสิทธิผู้ลี้ภัย และองค์กรทางการแพทย์เข้าถึงผู้ลี้ภัยรวมถึงผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยได้อย่างสม่ำเสมอ 

3. อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในประเทศไทยเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

4. ดําเนินการสืบสวนและสอบสวนการเสียชีวิตของมัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน และ อาซิซ อับดุลลาห์ อย่างเต็มรูปแบบและเปิดเผยต่อสาธารณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 


เรียบเรียงจาก

PRESS RELEASE: WUC AND UHRP GRIEVED BY THE DEATH OF A UYGHUR REFUGEE IN A DETENTION CENTER IN THAILAND, World Uyghur Congress, 25-04-2023

Thailand: Detained Uyghur Asylum Seeker Dies, Human Rights Watch, 27-04-2023
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net