Skip to main content
sharethis

ญาติเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ร้องเรียน กมธ.สันติภาพ ถูกบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เข้าคุกคาม หลังจากรวมกลุ่มเตรียมฟ้องร้องคดีอาญาเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเอง ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ญาติระบุหวังให้ความจริงเปิดเผย แม้ได้รับเงินเยียวยาแล้วแต่ก็ยังค้างคาใจ ตราบใดที่ยังไม่คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต

 

12 มี.ค.2567 เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ถูกกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจคุกคาม โดยเชื่อว่าเป็นการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว หลังจากได้มอบหมายให้ทนายความพิจารณาฟ้องคดีอาญาผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมตากใบ

โดยญาติยื่นหนังสือดังกล่าวในเวที ประชาชนออกแบบสันติภาพ”: การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี นำโดยนางลาตีปะ มูดอ ที่อยู่ 44/2 ม.3 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ลูกของสะมะแอ มูดอ ผู้ตาย และสะรียะ มัยเช่ง ที่อยู่ 2/3 ม.1 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แม่ของอับดุลฮาดี อุเซ็ง ผู้ตาย

 

หนังสือร้องเรียนระบุว่า ทั้งสอง 2 คน เป็นตัวแทนของบรรดาครอบครัวญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ เขียนว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2567 เป็นต้นมามีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่แสดงบัตรประจำตัวและไม่ได้แต่งเครื่องแบบไปพบ โดยบางคนถูกสั่งให้ไปพบที่สถานีตำรวจในพื้นที่ บางคนถูกให้ไปรวมตัวที่บ้านผู้ใหญ่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบ และจะมีค่าพาหนะให้ครอบครัวละ 300.-บาท อ้างว่าจะช่วยเหลือเรียกร้องเงินเยียวยากรณีเหตุตากใบ บางคนถูกข่มขู่ให้ไปพบ หากปฏิเสธจะถูกนำตัวไปค่ายอิงคยุทธฯ เป็นต้น

“ข้าพเจ้าจึงขอท่านโปรดให้ความคุ้มครอง และตรวจสอบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นใคร มีวัตถุประสงค์ใด และหากเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ขอให้ยุติการกระทำ เนื่องจากเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนที่ดำเนินการใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต”

มูฮัมหมัด บินอับดุเลาะห์ พี่ชายของผู้เสียชีวิตคนหนึ่ง เปิดเผยว่า คดีนี้มีเวลาอีก 8 เดือนก็จะหมดอายุความ พวกผมและญาติผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบ จึงได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่าเราจำเป็นต้องค้นหาความจริงให้ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตในครั้งนั้น เราจึงร้องขอไปยังทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ เพราะยังไม่มีการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

“เพราะเราคิดว่าเรายังไม่ได้รับความยุติธรรมจากคดีนี้ สวนการเยียวยาที่ได้รับนั้นถือว่าเพียงพอแล้ว แม้ว่ามีบางคนที่บอกว่า แม้จะเยียวยาเท่าไหร่ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนชีวิตที่สูญเสียไปแล้วก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือจะให้มีการหาคนผิดเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมนั้นมีจริง” มูฮัมหมัด กล่าว พร้อมระบุว่า ในวันนี้อาจไม่มีใครพูดออกมา แต่ในใจของเขานั้นยังรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม ยังไม่พึงพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็อาจไม่เข้าใจความรู้สึกที่พวกเขามีอยู่ เราจึงฟ้องร้องเพื่อให้เปิดเผยความจริงและหาผู้รับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิตทั้ง 85 กว่า การมีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้เป็นเรื่องไม่ปกติ จะบอกว่าพวกเขาเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจนั้นพวกเรารับไม่ได้

มูฮัมหมัด กล่าวต่อไปว่า คนที่อ้างเป็นตำรวจบอกให้ไปเซ็นเอกสาร แต่ญาติส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเพราะไม่รู้เอกสารอะไร แต่มีบางคนที่ไปอาจเพราะมีแรงกดดันบางอย่าง จึงรู้สึกกังวล เมื่อเจอแบบนี้แล้วบางคนถึงกับนอนไม่หลับ กังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก จึงโทรศัพท์มาถามผมว่าจะเอาอย่างไรต่อ ทำให้ต้องมาร้องเรียนในวันนี้

มูฮัมหมัด เปิดเผยด้วยว่า สำหรับญาติผู้ตายที่ร่วมกันลงชื่อเพื่อจะเป็นผู้ฟ้องมีจำนวนประมาณ 40 คนแล้ว

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความและผู้ประสานงาน กล่าวว่าคดีนี้จะฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และข้อหาพยายามฆ่าด้วยวิธีการอันทารุนโหดร้าย ตามมาตรา 289(5) รวมถึงความผิดตามมาตรา 309 และ 310 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย เป็นต้น

อัยการสั่งไม่ฟ้อง ญาติก็จะฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่เอง

เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 85 ราย โดยเสียชีวิตระหว่างขนย้ายผู้ชุมนุมจากหน้า สภ.ตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี 78 ราย และเสียชีวิตในที่ชุมนุม 7 ราย

คดีนี้ศาลจังหวัดสงขลา(เนื่องจากคดีถูกโอนไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดสงขลา) มีคำสั่งไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต

ต่อมา พนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงสิ้นสุดลง โดยไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ ดังนั้น ฝ่ายผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจึงต้องใช้สิทธิฟ้องเองต่อศาลก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 2567 นี้

เปิดข้อมูลการเยียวยาตากใบ

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบนั้น ในปี 2554 เป็นต้นมา รัฐได้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีผู้เสียชีวิต 85 คนรายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท กรณีทุพพลภาพรายละ 7.5 ล้านบาทเช่นกันซึ่งมี 1 คน กรณีบาดเจ็บ พิการ รายละ 4.5 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 33,140,000 บาท

กรณีบาดเจ็บสาหัสรายละ 1,125,000 บาท จำนวน 11 ราย เป็นเงิน 11,705,000 บาท กรณีบาดเจ็บปานกลางรายละ 675,000 บาท มี 22 ราย รวมเป็นเงิน 13,970,000 บาท กรณีบาดเจ็บเล็กน้อยรายละ 225,00 บาท จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 1,640,000 บาท รวมกลุ่มบาดเจ็บทั้งหมด 49 ราย เป็นเงิน 60,455,000 บาท

กรณีผู้ถูกดำเนินคดี รายละ 30,000 บาท จำนวน 85 ราย รวมเป็นเงิน 2,025,200 บาท กรณีถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี รายละ 15,000 บาท จำนวน 794 ราย รวมเป็นเงิน 11,532,000 บาท รวมทุกกรณี 987 ราย เงินเยียวยาทั้งสิ้น 641,493,200 บาท (ที่มา https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/103636-takbaiheal.html)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net