Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความมุสลิมเผย บุคคลอ้างว่าเป็นตำรวจเรียกผู้เสียหายญาติผู้ตายคดีตากใบหลายรายไปพบตำรวจโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ หลังญาติเตรียมฟ้องคดีอาญา ก่อนคดีตากใบหมดอายุความ จี้กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ เร่งตรวจสอบ

11 มี.ค.2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า วานนี้ (10 มี.ค.67) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา ตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ยื่นหนังสือกับ จาตุรงค์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) ร้องเรียนให้เร่งตรวจสอบกรณีพฤติกรรมกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจคุกคาม และให้ยุติการกระทำหากเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนที่ดำเนินการใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต

เนื้อหาในหนังสือระบุ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลากลางวัน ได้มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่บอกสังกัด  ไม่มีการแสดงบัตรประจำตัวและไม่ได้แต่งเครื่องแบบ เดินทางไปพบชาวบ้านที่เป็นญาติผู้ตาย มีพฤติกรรมทำนองบังคับ ลักษณะข่มขู่ โดยแจ้งให้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจ เพื่อพูดคุยเรื่องการเยียวยาคดีตากใบ จะมีเงินค่าพาหนะให้ด้วย โดยตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายได้มอบหมายให้ทนายความพิจารณาฟ้องเป็นคดีอาญาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบเมื่อ 20 ปีก่อน

จากเหตุการณ์การคุกคามดังกล่าว มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมชี้แจงว่า การฟ้องหรือการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ เป็นการใช้สิทธิตากฎหมาย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และพิสูจน์ความจริงต่อสาธารณะ เพื่อให้พ้นจากวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล จึงขอให้ท่านหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไป

1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการกระทำของจนท.ตำรวจของกองบังคับการภาค9 ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดปฏิบัติการณ์เช่นนี้จริงหรือไม่ด้วยคำสั่งใด

2. ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าวเพราะสร้างความหวาดกลัวและอาจเป็นการกระทำที่ขัดขวางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนหรือไม่

กรณีการฟ้องคดีอาญากรณีตากใบ สืบเนื่องจาก มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของคดีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกเจ้าพนักงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้ว ปรากฏว่าในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการได้ นั้น

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเห็นว่า เหตุการณ์ตากใบ มีผลเป็นอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมา 20 ปี เพระเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ และมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ระหว่างขนย้ายเป็นจำนวนมาก โดยวิธีการที่ทารุณโหดร้ายและเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดความตายในระหว่างขนย้ายแต่ในคดีอาญากลับไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่ตัดสิทธิญาติผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีเอง จึงได้ชี้แจงข้อกฎหมายให้แก่ญาติผู้ตายทราบ และทางญาติผู้ตายบางคนมีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีเอง

การดำเนินคดีอาญาก่อนคดีความหมดอายุก็เพื่อให้ศาลอาญานำผู้กระทำผิดเข้าสู่การพิจารณาคดีและเปิดเผยความจริงและพฤติกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  แม้ชาวบ้านกว่า 1,300 คนไม่เสียชีวิต แต่สภาพจิตใจได้รับผลกระทบทนทุกข์ทรมานมากว่า 20 ปี ชาวบ้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้การเยียวยาแต่อย่างใด  การแสดงให้เห็นถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการรวบรวมเอกสารเพื่อประกอบการฟ้องคดีต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ขอเชิญชวนติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่ากลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้คุกคามครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายนั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่ สังกัดใด และด้วยคำสั่งใด เพื่อคุ้มครองครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายที่ได้ใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต รวมถึงร่วมจับตาการฟ้องคดีอาญากรณีตากใบที่จะมีขึ้นก่อนกรณีดังกล่าวหมดอายุความ เพื่อค้นหาความจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ กรณีตากใบส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และการฟ้องคดีอาญาในครั้งนี้จะมีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ฯ ในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net