Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำทีม แสดงพลังยื่น จม.เปิดผนึกถึงศาลฎีกา ให้มีการสอบกระบวนการตุลาการ เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข พิจารณาคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเป็นธรรม

 

8 มี.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ CrCF ได้ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (8 มี.ค.) เวลา 13.30 น. ณ สำนักศาลฎีกา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรภาคประชาสังคม ประชาชน ร่วมแสดงพลังยื่นจดหมายถึงศาลฎีกา เพื่อขอให้ประธานศาลฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังทางการเมือง การกำหนดหลักประกัน และเงื่อนไขการถอนประกันตัว 

การยื่นจดหมายวันนี้สืบเนื่องจาก เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมการเมืองอิสระ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร นักกิจกรรมการเมืองอิสระ กำลังอดอาหารประท้วง จนสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลงอย่างรุนแรง และสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องการพิจารณาคดีผู้เห็นต่างทางการเมือง 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่  20 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด และระบุว่า ศาลยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองรวม 15 คน ได้แก่ อุดม, “กัลยา” (นามสมมติ), 'บัสบาส' มงคล, วีรภาพ, 'แม็กกี้' (นามสมมติ), จิรวัฒน์, ทีปกร, ถิรนัย, ชัยพร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, ธนายุทธ, ไพฑูรย์, สุขสันต์ และประวิตร  อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หลังจากเมื่อวันที่ 8-9 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 15 คน ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 7 คน และคดีอื่นที่มีมูลเหตุสืบเนื่องจากการเมืองอีก 8 คน ที่ศาลอาญา, ศาลอาญากรุงเทพใต้, ศาลจังหวัดนราธิวาส และศาลจังหวัดเชียงราย 

โดยศาลสั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของประชาชน ถึงการใช้อำนาจของผู้พิพากษาบางคนที่อาจไม่เป็นธรรม รวมถึงการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเห็นได้ว่าก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair trial) และไม่เคารพหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (Presumption of innocence)

ก่อนยื่นหนังสือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า นับเป็นเวลา 6 เดือนที่มีการคุมขัง อานนท์ นำภา นักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน และเป็นคนๆ แรกที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถูกยัดเยียดการดำเนินคดีมาตรา 112

สมยศ พฤกษาเกษมสุข (ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท)

สมยศ เล่าว่า อานนท์เคยโพสต์โซเชียล ระบุว่าระหว่างการสืบพยานในศาลที่ผ่านมา ยังไม่สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงในสิ่งที่อานนท์ได้พูด เพราะว่าอานนท์พูดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าของสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย เป็นเจตนาที่ดีที่จะทำเพื่อชาติบ้านเมือง สาธารณะประโยชน์ และการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม อานนท์ ยังถูกคุมขัง และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว 

สมยศ ระบุต่อว่า สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องปล่อย เพื่อให้อานนท์ได้ต่อสู้คดีอย่างเที่ยงธรรม ดังนั้น การตัดสินคดีต่อไปในอนาคตที่จะเกิดกับ อานนท์ นำภา และคนอื่นๆ จะถือว่าเป็นการตัดสินคดีหรือการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม เพระว่าการฝากขังอานนท์ และพรรคพวก ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความสะดวกในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เป็นความบิดเบี้ยวและไม่ถูกต้องชอบธรรม

"เรามากันอีกครั้งเพื่อให้ศาลเคารพกฎหมาย และเราไม่ควรจะมาพูดด้วยซ้ำไปว่า ขอให้ศาลปฏิบัติตามกฎหมาย" สมยศ กล่าว 

ส่วนกรณีที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่อ้างว่าปล่อยตัวมาแล้วจะกระทำผิดซ้ำ ไม่ว่าจะกรณีนักกิจกรรมคนใด สมยศ มองว่า เขายังไม่ได้ทำผิด และไม่ได้มีการตัดสินใดๆ ดังนั้น จะบอกเขาจะทำผิดซ้ำอีกไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่จะฝากขังด้วยเหตุผลนี้

อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมการเมือง กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ และให้คำตอบกับผู้เห็นต่างทางการเมือง คือการใช้กฎหมายปิดปาก บังคับสูญหายอุ้มฆ่า และอื่นๆ นี่เป็นสิ่งที่บิดเบี้ยว และขอให้กำลังใจประชาชน ยังคงยืนหยัดต่อสู้ อย่าสยบยอมต่ออำนาจ และขออย่าลืมผู้ต้องขังในคดีการเมือง

อรวรรณ ภู่พงษ์ (ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท)

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข สมาชิกมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ CrCF กล่าวยืนยันว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานสิทธิการประกันตัว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และตัวแทนองค์กรที่รวบรวมรายชื่อมายื่นหนังสือวันนี้ กล่าวว่า เธอขออ่านรายรามองค์กรที่ร่วมลงชื่อในจดหมายถึงประธานศาลฎีกาในการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของศาลโดยตรง บทบาทของอัยการ บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะไปถอนประกันของนักกิจกรรมทางการเมือง 

โดยองค์กรเหล่านี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โมกหลวงริมน้ำ 24มิถุนาประชาธิปไตย Thumb Rights ทำไรท์ - เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมือง คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่มคนงาน Try Arm ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เฟมินิสต์ปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสหภาพคนทำงาน 

องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหมดในรายนามนี้ขอยืนยันว่า การที่นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนและในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และไม่ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหมือนอย่างบุคคลที่อยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหมด ยังมีบุคคลที่อยู่ในการควบคุมและคุมขังของกรมราชทัณฑ์ และมีอีกหลายคนที่อดอาหารและต้องการที่จะได้รับการตอบสนองในเรื่องการเปลี่ยนแปลง

พรเพ็ญ กล่าวว่า ข้อที่หนึ่ง เป็นการเรียกร้องในเรื่องของการดำเนินคดีที่ต้องการให้มีความเป็นธรรม คือกรณีที่เป็นการแสดงออกทางความคิด ความเชื่อทางสังคม ที่มีความแตกต่างจากผู้มีอำนาจ หลักการเราเรียกว่าสิทธิอันสัมบูรณ์ ไม่ควรจะมีใครถูกตัดสินลงโทษในเรื่องของการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นความเชื่อไม่เป็นอาชญากรรม บุคคลทั้งหลายจึงได้รับการรับรองว่าเป็นนักโทษทางความคิด ข้อเรียกร้องของเราก็คือการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข เงื่อนไขกฎหมายในประเทศ เป็นเพียงเงื่อนไขภายในประเทศ ที่ยังไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

ประการที่สอง คือศาลโดยเฉพาะศาลในระดับที่สูงขึ้นไป ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา จะต้องใช้อำนาจถ่วงดุลตุลากรด้วยกันเองตามหลักนิติธรรม ระบบของไทยยังไม่มีกลไกหรือสถาบันอื่นๆ ถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายตุลาการ จึงมีความหวังต่อหน่วยงานตุลาการระดับสูงขึ้นไป เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของพวกท่านกันเองตามหลักนิติธรรม โดยที่ศาลเองจะมีบทบาทยุติการปิดปากประชาชนด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนที่สาม เราอยากให้กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งศาลฎีกา ใช้ดุลยพินิจที่เป็นธรรมต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอประกันตัว การถอนประกันตัว อยากให้ทั้งคำสั่งขอถอนประกันตัว และขอประกันตัวมีความเป็นธรรม

สี่ ผู้ต้องหา จำเลย และนักกิจกรรมทางสังคมและทางการเมือง กรณีที่เขาจะต้องถูกถอนประกันตัว ขอให้ศาลพิจารณาว่าบุคคลที่มีทัศนคติทางการเมือง และต้องการเรียกร้องสิทธิของเขา ไม่มีพฤติกรรมที่จะหนี กรณีที่จะมีการถอนประกันตัว ขอให้ศาล ตุลาการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมกับบุคคลเหล่านี้ 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ผู้ถือไมโครโฟน) (ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท)

ผู้อำนวยการ CrCF กล่าวต่อว่า ห้า กระบวนการกลั่นแกล้งและลงโทษผู้เห็นต่าง มันทำไม่ได้ด้วยสถาบันเดียว ฝ่ายบริหารมีอำนาจหน้าที่ในฝ่ายบริหารของตน ปฏิบัติทุกลำดับชั้นให้เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน คิดว่าสิทธิต่างๆ เหล่านี้เราควรได้ตั้งแต่กำเนิด ไม่ควรมายืนร้องขอแบบนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนใช้อำนาจและดุลยพินิจใช้บทบาทของตนเอง และใช้จิตใจที่มีความเป็นธรรม 

พรเพ็ญ กล่าวต่อว่าเรียกร้องถึงกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมเป็นการเฉพาะ เพราะว่ามีบุคคลที่กำลังอดอาหาร และร่างกายอ่อนแอ และอยากให้พิจารณาเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่เขาประสงค์จะไป

"ขอให้ทุกคนยึดมั่นในหลักการและการไม่ใช้ความรุนแรง การชุมนุม และการดำเนินการต่างๆ ด้วยความสงบ เคารพรัฐธรรมนูญ และก็สิทธิสากล" พรเพ็ญ ทิ้งท้าย  

ประกายดาว กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เราได้รัฐบาลได้รับเลือกมาจากเสียงประชาชน ก็หวังว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในเร็ววัน หลังทางองค์กรภาคประชาชนยื่นประเด็นข้อสังเกต และข้อเสนอแนะประเด็นปัญหาเหล่านี้ 

จากนั้น ประกายดาว ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึงตัวแทนศาลฎีกา โดยผู้รับหนังสือไม่ยอมพูดใส่ไมโครโฟน แต่กล่าวว่าจะรับเรื่องไปประสานต่อ

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข (ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท)

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net