Skip to main content
sharethis
  • ศูนย์ทนายฯ หารือ กสม. ให้ข้อมูลสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ก.ย. 66 และปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว พร้อมเสนอ 3 ข้อ ให้ กสม.เยี่ยมผู้ต้องขัง เพื่อฟังข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-ติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพ จัดทำรายงาน-ข้อเสนอเรื่องสิทธิการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีทางการเมือง ต่อสภาฯ และ รมว.ยธ. และขอ กสม.ทำข้อเสนอยุติคดีทางการเมืองหรือการนิรโทษกรรมต่อสภาฯ 
  • ด้าน กสม. รับหารือเยี่ยมผู้ต้องขังเรื่องเดียว แต่อีก 2 ข้อเสนอ การทำรายงาน-ข้อเสนอสิทธิเรื่องการประกัน และทำข้อเสนอยุติการดำเนินคดีทางการเมือง หรือนิรโทษกรรมต่อสภาฯ ยังไร้ความชัดเจน


7 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (7 ก.ย.) ระบุว่า ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าพบตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูลเรื่องผู้ต้องขังทางการเมืองในปัจจุบัน ความจำเป็นในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง และย้ำประเด็นการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัวของจำเลยในคดีอาญาทางการเมือง ด้าน กสม.รับหารือภายในก่อนตัดสินใจเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง หวังเชิญรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทวี สอดส่อง ร่วมงาน     

ในวันดังกล่าวตัวแทน กสม. ประกอบด้วย ปิติกาญจน์ สิทธิเดช, สุภัทรา นาคะผิว, วสันต์ ภัยหลีกลี้ และสุชาติ เศรษฐมาลินี พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) เข้าร่วมรับฟังสถานการณ์ ชี้แจงภารกิจองค์กร และหารือต่อกรณีปัญหา     

ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่า การเข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำเป็นหน้าที่หนึ่งของ กสม. เพราะเรือนจำเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และการเข้าเยี่ยมยังเป็นการป้องปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกทางหนึ่ง โดย กสม.ชุดนี้กำลังดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ 

  • สนับสนุนการแยกสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งมีจำนวนกว่า 60,000 ราย แยกออกจากนักโทษเด็ดขาด และทั้งสองกลุ่มต้องไม่ถูกปฏิบัติเหมือนกัน
  • หารือกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อแก้ไขกฎกระทรวง เรื่อง การใช้สถานที่ขังแทนเรือนจำ ตามมาตรา 89/1 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2566 เมื่อคราวที่มีกรณีผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในภาวะวิกฤต คือ แบมและตะวันอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งเรื่องนี้เคยอยู่ในความดูแลของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนเดิม คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน โดยทาง กสม. ยังต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป
  • ทาง กสม.ยังจัดเตรียมทำข้อเสนอต่อรัฐบาลประเด็นเกี่ยวกับผู้ป่วยที่อยู่ในเรือนจำควรถูกปฏิบัติอย่างไรอีกด้วย 

ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอแนะให้ กสม. เข้าพบผู้ถูกคุมขังที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อรับฟังข้อเสนอและติดตามสถานการณ์ ทาง กสม. เองขอเวลาในการปรึกษากันภายในก่อนตัดสินใจ และเกริ่นว่าอาจจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไปด้วยในคราวนี้ 

ในวันนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ตลอดมาถึงช่วงการชุมนุมใหญ่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน พร้อมเสนอข้อเสนอแนะต่อบทบาทของ กสม. ในเรื่องสิทธิการประกันตัวตลอดจนถึงการยุติการดำเนินคดีอาญาต่อประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ ตัวแทน กสม. ที่เข้าร่วมประชุมยังไม่มีท่าทีตอบรับที่ชัดเจนที่จะนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไปในทั้ง 2 ประเด็นนี้       

กสม. รับทราบถึงสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง รอบ เม.ย.-ก.ย. 66

ในส่วนของสถานการณ์ของผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯ ยื่นต่อ กสม. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ระบุว่า ตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มีคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และกลุ่มคดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่ดินแดงหลายคดี ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะจำเลยยังต้องการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา กลับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยบางรายถูกคุมขังในเรือนจำแล้วกว่า 200 วัน 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ย.) ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 19 ราย เฉพาะเดือน ส.ค. มีผู้ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีเพิ่มขึ้นมากถึง 10 ราย ในจำนวนทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 7 ราย และมี 2 ราย อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการปล่อยชั่วคราวมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว  

ศูนย์ทนายฯ เห็นว่า บุคคลเหล่านี้ควรได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ให้เป็นไปตามประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 และสิทธิตามรัฐธรรมนูญของบุคคลผู้ถูกดำเนินคดีอาญา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อ กสม.   

  • ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าพบผู้ถูกคุมขังที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อรับฟังข้อเสนอ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” และติดตามสถานการณ์ “ด้านสุขภาพ” ของผู้ต้องขังที่อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  
  • ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรายงานสถานการณ์ สรุป และทำข้อเสนอแนะเป็นวาระเร่งด่วน เรื่องสิทธิในการประกันตัวระหว่างการพิจารณาของผู้ต้องขังทางการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 
  • ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาจัดทำข้อเสนอในการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองหรือการนิรโทษกรรมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net